- สภาพแวดล้อม สไตล์การเลี้ยงดู และความอ่อนแอทางจิตใจ คือ 3 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาลักษณะนิสัยของเด็ก
- ถ้าเด็กต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว หรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่คาดไม่ถึง อาจทำให้สมองของเด็กทำงานแบบหยุดชะงัก
- ครอบครัวที่มีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือการเป็นลูกบุญธรรม และระดับการศึกษาของพ่อแม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างลักษณะนิสัย ตราบใดที่ผู้ปกครองเชื่อมั่นในศักยภาพการเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเอง
เราเคยพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาตัวเองให้มีลักษณะนิสัยที่ดีไปแล้ว ทั้ง ความขยันหมั่นเพียร (application) การควบคุมตนเอง (self-regulation) และการเอาใจใส่และเข้าใจผู้อื่น (empathy) 3 อย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยความสำเร็จ และเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิต กระทั่งมีความหวังจากงานวิจัยที่ยืนยันว่าลักษณะนิสัยเป็นทักษะที่ ‘สร้างได้’ ซึ่งหากใครมีคุณลักษณะเหล่านี้อยู่ในตัว จะส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้และหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง และส่งผลต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการเข้าสังคมและการเป็นที่ยอมรับในสังคม
แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการสร้างลักษณะนิสัยของเด็กตั้งแต่แรกเกิด?
นอกจากบุคคลรอบตัวโดยเฉพาะพ่อแม่จะมีอิทธิพลต่อการสร้างลักษณะนิสัยของเด็กแล้ว ค่านิยม วัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม ที่ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่ในวงแคบแค่ชุมชนรอบบ้านหรือในรั้วโรงเรียนอีกต่อไป แต่ได้ขยายขอบเขตเชื่อมโยงเครือข่ายไปทั่วโลกผ่านการรับรู้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และการเดินทางที่ง่ายขึ้น สภาพแวดล้อมเสมือนจริงในโลกอินเทอร์เน็ต และประสบการณ์ในชีวิตจริงทั้งจากการใช้ชีวิตและการเดินทาง มีส่วนประกอบสร้างให้เกิดลักษณะนิสัยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
หนังสือ ‘Parents are the Principal Architects of a Fairer Society…’ หรือ ‘พ่อแม่คือสถาปนิกคนสำคัญต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม’ ผู้เขียน เจน เลกซ์มอนด์ (Jen Lexmond) และ ริชาร์ด รีฟส์ (Richard Reeves) เผยแพร่โดย DEMOS ประเทศอังกฤษ บอกว่า มีปัจจัย 3 อย่างที่ส่งผลต่อการพัฒนาลักษณะนิสัยของเด็กและเยาวชน ได้แก่
หนึ่ง สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ชีวิต (structural circumstances) ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ เชื้อชาติ เพศสภาพ และสิ่งที่มีที่มาจากพื้นฐานครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่เห็นได้อย่างชัดเจนทางกายภาพ
สอง สไตล์การเลี้ยงดู (parenting style) เช่น วิธีการให้ความรักความอบอุ่นและความเอาใจใส่จากพ่อแม่ รวมถึงการปลูกฝังความรับผิดชอบและความมีระเบียบวินัย เป็นต้น
สาม ความอ่อนแอทางสภาพจิตใจ (psychological vulnerability) ซึ่งมีที่มาจากความผิดปกติตามธรรมชาติตั้งแต่แรกเกิด เช่น การคลอดก่อนกำหนดและความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจของเด็ก เป็นต้น
สำหรับปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ชีวิต ยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ ผู้พัฒนาโมเดลการพัฒนาของมนุษย์ กล่าวว่า การพัฒนามนุษย์เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างบุคคลและความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัว การพัฒนาด้านสุขภาพของเด็กขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการสร้างปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ด้วย
ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ขวบอยู่ในช่วงวัยที่ปรับตัวเองไปตามสภาพแวดล้อมได้ง่าย แต่หากเด็กต้องเติบโตอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ตึงเครียด หรือต้องเผชิญหน้ากับภาวะฉุกเฉินจากความผิดปกติของร่างกายในช่วงเวลานี้ เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างเปราะบางทั้งทางกายและทางใจ
หากกำลังอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนความตื่นตระหนกเป็นความเข้าใจ แล้วหันมาเอาใจใส่ดูแลลูกเป็นพิเศษเพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว
นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า ไม่ว่าเด็กจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือมีผู้ปกครองเป็นใครก็ตาม การได้รับความรักความอบอุ่นจากบุคคลที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วย การสร้างระเบียบวินัยและข้อตกลงในครอบครัว รวมทั้งทัศนคติของผู้ปกครองต่อการเรียนรู้และการศึกษา หัวข้อบทสนทนาที่คนในครอบครัวพูดคุยกันเมื่ออยู่บ้าน ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างลักษณะนิสัยอย่างแยกไม่ออก
ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวสามารถสร้างให้เกิดขึ้นจนสำเร็จได้ มีพื้นฐานครอบครัวและปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมทางประชากรศาสตร์ ที่เด็กใช้ชีวิตเติบโตขึ้นมา เช่น สถานภาพทางการเงินของครอบครัว โครงสร้างครอบครัว และการศึกษาหรือการประกอบอาชีพของผู้ปกครอง เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กในแต่ละวันและในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ภาพรวมของการพัฒนาเด็กจึงต้องคำนึงถึงสิ่งรอบตัวที่มีอิทธิพลต่อเด็ก ซึ่งแต่ละคนต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้แตกต่างกัน
ศูนย์พัฒนาเด็ก (Center on Developing Child) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา สรุปปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กในช่วงก่อนและระหว่างปฐมวัย สนับสนุนสิ่งที่เลกซ์มอนด์ รีฟส์ และบรอนเฟนเบรนเนอร์ ได้ศึกษาไว้ ผลการศึกษายืนยันว่า สถานการณ์รอบตัวและประสบการณ์ชีวิตมีความสำคัญต่อการสร้างลักษณะนิสัยของเด็ก
ทารกและเด็กสามารถรับรู้ได้ถึงภัยคุกคามเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นกับครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบตัว ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว หรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่คาดไม่ถึง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้สมองของเด็กทำงานแบบหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการทำงานร่างกายในระยะยาว รวมไปจนถึงการแสดงออกทางพฤติกรรมและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
นอกจากปัจจัยด้านสถานการณ์แวดล้อมทั่วไปและประสบการณ์การใช้ชีวิตแล้ว สไตล์การเลี้ยงดู (parenting style) ก็เป็นสิ่งสำคัญ
สตีเฟน สก็อต (Stephen Scott) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและพฤติกรรมเด็ก จาก King’s College London และหัวหน้าแผนกวิจัย National Academy of Parenting Practitioners บอกว่า ‘ความขาดแคลน’ หรือ ‘Poverty’ แม้ไม่ใช่ปัจจัยหลักแต่ก็มีผลต่อการสร้างลักษณะนิสัยของเด็ก ความขาดแคลนที่ว่าไม่ใช่ความขาดแคลนทางการเงินหรือทางวัตถุ ที่มักทำให้นึกถึงความยากดีมีจน แต่หมายถึงการขาดประสบการณ์หรือความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูบุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครอง
แล้วพ่อแม่ควรสวมบทบาทอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้ลูกพัฒนาลักษณะนิสัยได้?
ไดอะนา บามรินด์ (Diana Baumrind) นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกัน ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ 2 คู่ ได้แก่ ความอบอุ่นกับการตอบสนอง (warmth/responsiveness) และการควบคุมกับความต้องการ (control/demandingness)
ความอบอุ่นกับการตอบสนอง (warmth/responsiveness) สะท้อนให้เห็นได้จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ หากเด็กได้รับความอบอุ่น พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับการเอาใจใส่ ส่งผลให้การตอบสนองทางอารมณ์ของเด็กเป็นไปในเชิงบวก กล่าวคือ พฤติกรรมของเด็กจะไม่ก้าวร้าว เพราะสามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางพฤติกรรมได้
การควบคุมกับความต้องการ (control/demandingness) สะท้อนความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของพ่อแม่ เมื่อต้องดูแลและรับมือกับลูกขณะที่พวกเขาดื้อและไม่เชื่อฟัง รวมถึงการทำให้เด็กรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม ก่อนที่พวกเขาจะรู้จักตัวเองและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เมื่อถึงเวลาพวกเขาจะสามารถสื่อสารสิ่งที่พวกเขาต้องการได้
การเลี้ยงดูแบบ ‘Tough Love’ เป็นคำตอบของคำถามนี้
Tough Love เป็นวิธีการเลี้ยงดูที่บาลานซ์ความนุ่มนวลกับความแข็ง ใช้ทั้งการชื่นชมและการเข้มงวดในระเบียบที่ตกลงร่วมกัน วิธีนี้ช่วยสร้างความมั่นคงทางใจให้เด็กที่มีความบกพร่องตามธรรมชาติตั้งแต่แรกเกิดได้ด้วย ช่วยแก้ปัญหาปัจจัยข้อที่สามเกี่ยวกับความอ่อนแอทางสภาพจิตใจที่มีผลต่อการสร้างคุณลักษณะทางความสามารถของเด็ก
เด็กจะได้ความรักความอบอุ่นจากการดูแลของผู้ปกครอง ขณะเดียวกันมีการวางข้อตกลงที่มีแบบแผนปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ เป็นการเลี้ยงดูที่ใช้เหตุผลพูดคุยกันมากกว่าการลงโทษ จากการศึกษาพบว่า เด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวลักษณะนี้มักมีลักษณะนิสัยที่ดี รู้จักการทำงานเป็นทีม สามารถควบคุมจัดการตนเองได้ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองแล้ว การที่ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นบ้างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับหลากหลายในสังคมและยอมรับความแตกต่าง ซึ่งมีผลต่อการสร้างลักษณะนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น (empathy)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่หลายคนนึกไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาของพ่อแม่ ปัจจัยเบื้องหลังที่ส่งผลต่อวิธีคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูก จากการศึกษา พบว่า ปัจจัยนี้มีผลเชิงบวกต่อการพัฒนาลักษณะนิสัยของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนกระทั่งอายุ 5 ปี ระดับการศึกษาของผู้ที่อยู่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่หรือบุคคลอื่น มีส่วนส่งเสริมให้เด็กพัฒนาลักษณะนิสัยได้ดี ขณะที่อาชีพหรือลักษณะการประกอบอาชีพไม่ได้มีผลกระทบต่อเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม แม้เด็กจะเติบโตขึ้นจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์พร้อม ทั้งในแง่สถานการณ์การเงิน สถานภาพครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น
ครอบครัวที่มีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือการเป็นลูกบุตรธรรม รวมทั้งเงื่อนไขด้านระดับการศึกษาของพ่อแม่ เงื่อนไขเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างลักษณะนิสัย ตราบใดที่ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเอง (parental confidence)
ความมั่นใจที่ว่านี้ช่วยให้ผู้ปกครองดึงศักยภาพตามสัญชาตญาณของตัวเองออกมาใช้เลี้ยงดูบุตรหลานได้อย่างเต็มที่
จากผลการศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมด ยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือบุคคลใกล้ชิดรอบตัวเด็ก มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เป็นคุณภาพที่ดีทั้งต่อตัวเองและสังคม ใครก็ตามเป็นผู้ครอบครองลักษณะนิสัยเหล่านี้ ย่อมสะท้อนถึงความพร้อมในการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เมื่อชีวิตมีการพัฒนาก็ย่อมมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับชีวิต
คงไม่ใช่เรื่องกล่าวเกินจริงที่จะบอกว่า การมีลักษณะนิสัยที่ดี ช่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ง่ายขึ้น ทำให้สังคมเป็นสังคมที่ดีขึ้น และผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือการที่เราจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น