- การ disrupt ของวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้การเรียนของเด็กๆ เปลี่ยนไป การเรียนที่บ้านจะเป็นความเคยชินใหม่ เกิดนวัตกรรมการศึกษาใหม่ๆ คนจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น
- บทความชิ้นนี้อธิบายว่าการเรียนที่บ้านมอบโอกาสทองต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างไร แนะนำพ่อแม่จะจัดการศึกษา ชวนลูกทำกิจกรรมด้วยวิธีการอย่างไรดี
- กำกับตัวเองได้ เรียนรู้ระดับลึกและเชื่อมโยงไปยังสิ่งรอบตัว ใช้ความสงสัยใคร่รู้และความสนุกจากการเล่นนำทาง นี่คือ ‘การเรียนรู้ที่บ้าน’ มอบให้เด็กๆ ได้
Photo by Anna Earl on Unsplash
ถ้าจะมี ‘สิ่งดี’ อยู่บ้างในวิกฤตโคโรน่าไวรัสในประเทศไทย อย่างหนึ่งคือช่วงเวลาการระบาดเกิดขึ้นขณะโรงเรียนปิดเทอมพอดิบพอดี ทำให้การปิดโรงเรียนในฐานะมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อระบบจัดการในรั้วโรงเรียนน้อยกว่าที่ควร ผู้ปกครองเตรียมใจและตั้งตัวทัน (ระดับหนึ่ง) ว่าในช่วงสองถึงสามเดือนนี้ เด็กๆ จะกลับมาอยู่ที่บ้านตามฤดูกาลปิดเทอม
แต่ที่ไม่ทันตั้งตัวคือ ผู้ปกครองก็ต้องกลับมาทำงานที่บ้าน รักษาระยะห่าง ฝากลูกไว้กับสถานศึกษา พี่เลี้ยง หรือคุณตาคุณยายในช่วงปิดเทอมเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ และการต้องเตรียมแผนทางการเงินของที่บ้านใหม่
แต่ที่พูดถึงช่วงเวลาระบาดที่ชนกับฤดูปิดเทอมบ้านเราพอดี ก็เพราะว่าบางประเทศประกาศปิดเรียนกลางคัน เด็กหลายล้านคนต้องเปลี่ยนไปเรียนผ่านออนไลน์หรือผ่านถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ (อ่านเพิ่ม ที่นี่) นักการศึกษาคาดการณ์ว่าการ disrupt ของวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้วิธีการเรียนของเด็กๆ เปลี่ยนไปจากเดิม จะมีนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ คนในแวดวงการศึกษาจะชินและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น
สำคัญที่สุด เด็กๆ อาจไม่จำเป็นต้อง ‘เรียนตามคำบอก’ อีกต่อไป
หนึ่งในความเห็นเกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา ช่วงวิกฤตโควิด-19’ คือบทความเรื่อง Why Learning at Home Should Be More Self-Directed—and Less Structured (ทำไมการเรียนที่บ้านจึงต้อง กำกับตัวเองมากขึ้น และ สั่งสอนให้น้อยลง) โดย ไซมอน เคิน (Simone Kern) ครูและผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา โดยเฉพาะแนวทาง Montessori และเธอยังเป็นคุณแม่ที่จัดการเรียนรู้ให้ลูกๆ เองที่บ้านด้วย ตีพิมพ์เว็บไซต์ชุมชนการศึกษา Edutopia
เธอบอกว่า การเปลี่ยนมาเรียนที่บ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ถือเป็นโอกาสทองด้วยซ้ำที่เด็กๆ จะได้ กำกับตัวเองโดยไม่ต้องให้คาบเรียนมากำกับ แต่ใช้ความสงสัยใคร่รู้และความสุขจากการได้เล่นนำทาง พ่อแม่จัดการเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาสมุดการบ้าน
เธอเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อแชร์และแนะนำการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน ซึ่งเคินเรียกว่า Authentic learning หรือการเรียนรู้ที่แท้จริง เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นคว้า ทดลอง จัดระเบียบข้อมูล คิดทบทวนกับมันอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ยืดหยุ่นมากพอที่จะสนใจว่าเขาอยากเลือกศึกษาด้วยวิธีอะไร ค้นหาจากหนังสือเล่มไหน และหนังสือเล่มนั้นพาเขาต่อยอดไปสู่อะไรบ้าง ซึ่งวิธีการนี้เป็นจริงไม่ได้ในห้องเรียนที่มีนักเรียนราว 20-30 คน
ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ดัดแปลง คือทักษะอย่างน้อยที่เด็กๆ จะได้จากการเรียนที่บ้านแบบตัวต่อตัวกับพ่อแม่ แน่นอน
ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
สำหรับเด็กเล็ก การเล่นคือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการจับเขวี้ยงของเล่น กดบีบฟองน้ำหรือสิ่งนุ่มยืดหยุ่น หรือการจับหมุนของเป็นวงกลม และยังเป็นการเล่นเพื่อสร้างกล้ามเนื้อร่างกายด้วย เคินแนะนำว่าควรใช้เวลาช่วงนี้สนับสนุนการเล่นอิสระ (free play) กับสิ่งของในบ้านได้เลย ไม่ว่าจะเป็นต่อบล็อกไม้ ติ๊ต่างว่าผ้าพันคอคือเสื้อผ้า เปลี่ยนผ้าห่มเป็นเต็นท์หรือกั้นเป็นห้องส่วนตัว นี่คือการเล่นที่จะเข้าไปสร้างจินตนาการข้างในของลูกอย่างทรงพลัง
สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็เขยิบไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ (หรือที่เราเรียกอย่างคุ้นหูว่า Science Show) กับสิ่งของในบ้านได้ เช่น การทดลองทางอาหาร ลองเอาช็อกโกแลตไปอุ่นในเตาแล้วเอาขนมมาดิปกิน ละลายลูกกวาดให้เป็นกาวเหนียวที่มีสี หรือ เอาขวดพลาสติกมาดูดไข่แดงออกจากไข่ขาว (ดูการทดลองอื่นๆ ได้ที่นี่) จากนั้นให้เด็กๆ จดวิธีการ ตั้งสมมติฐาน และลองหาคำตอบว่าทำไมมันจึงเปลี่ยนแปลงหรือปรากฎผลอย่างที่เห็นตรงหน้า
หรือเอาให้ง่ายกว่านั้น แค่เด็กๆ ออกไปอยู่กับธรรมชาติ ชวนกันคุยถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นสีของแหล่งน้ำ ระบบนิเวศที่อิงอาศัยอยู่ การเดินทางของอาหารที่หยิบมาปิกนิกด้วย หรืออาจจะไปหยิบดอกไม้นานาพันธ์ุ สังเกตสีสันและตามหาว่าดอกไม้ชนิดนี้มีชื่อว่าอะไร ทั้งหมดนี้ก็คือการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว
ทำความเข้าใจประเด็นสังคม
ในหมวดประเด็นสังคม อาจเริ่มจากลองดูว่าเด็กๆ สนใจประเด็นรอบตัวเรื่องอะไร จากนั้นลองชี้ชวนกันดูหนังสือประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมที่เขาสนใจสักเล่มเพื่อต่อยอดทำรายงานลึกๆ ในประเด็นนั้น (ประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ห้องสมุดดิจิตอลเพื่ออ่านหนังสือจากแอปพลิเคชันได้ฟรี) พอเด็กๆ อ่านหนังสือจบหรือรู้สึกว่าศึกษาจนหนำใจแล้ว อาจให้เขาจบโปรเจ็กต์ด้วยการนำไปดัดแปลงไปนิทาน ทำโปสเตอร์ หรือสรุปเนื้อหาที่ศึกษามาด้วยวิธีสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แค่มาเล่าให้ฟังว่าได้ค้นพบอะไร
อีกวิธีที่ใช้ได้เช่นกันและสนุกด้วยก็คือ ดูหนังหรือซีรีส์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่แค่ดูเฉยๆ แต่ผู้ปกครองชวนกันคุย ถามว่าเขาคิดต่อประเด็นหรือต่อตัวละครนี้อย่างไร ชี้ประเด็นในหนังที่คิดว่าเป็นข้อมูลเปี่ยมอคติหรือยังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน หรืออาจชี้ชวนประเด็นความแตกต่างวัฒนธรรมว่าเหมือนหรือต่างกับที่เรายึดถืออย่างไร เป็นการถกเถียงเพื่อต่อยอด และทำให้เขา ‘ลึกซึ้ง’ สนใจใคร่รู้ต่อเรื่องราวตรงหน้าด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์
หัวใจของการเรียนคณิตศาสตร์เหมือนวิชาอื่น นั่นคือ ‘ทำให้ง่าย’ ในเด็กเล็กอาจเริ่มต้นโดยการฝึกนับจากสิ่งของในบ้านจริงๆ และเอาเข้าจริง …การทำครัวก็มีคณิตศาสตร์อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นการชั่ง ตวง วัด ปริมาณวัตถุดิบในอาหาร การเพิ่มหรือลดสัดส่วนวัตถุดิบทำให้เข้าใจคอนเซ็ปต์เศษส่วนไปในตัว หรือให้สนุกกว่านั้น ในบอร์ดเกมก็ยังมีคณิตศาสตร์ ตั้งแต่การบวกนับเลข คำนวณเงิน การคำนวณทิศทางเคลื่อนไหวผ่านตัวเลขบนกระดาน และอื่นๆ แล้วแต่คาแรกเตอร์ของบอร์ดเกมนั้นๆ
ศึกษาภาษาอย่างมีศิลป์
ภาษาเป็นอีกหนึ่งทักษะที่เด็กๆ จำเป็นต้องมีอย่างแตกฉาน อาจเริ่มจากกระตุ้นให้เขาสนใจโดยให้เลือกหนังสือที่อยากอ่านเอง แต่การอ่านหนังสืออาจเป็นยาหอม(ซึ่งขม)สำหรับเด็กหลายคน แนะนำให้ผู้ปกครองใช้เวลาอ่านหนังสือร่วมกันไม่ใช่การบอกให้เด็กเข้ามุมอ่านอยู่คนเดียว จากนั้นให้ชวนกันคุยถึงหนังสือที่เลือกมาอ่านด้วย
ขั้นตอนการชวนคุยนี่เองที่สำคัญ เพราะนี่คือโอกาสชี้ชวนให้เขาเข้าใจสิ่งที่พูด เพิ่มคลังคำศัพท์ให้ตัวเอง นอกจากการพูดคุยจะช่วยสรุปใจความ บทสนทนาดีๆ – ซึ่งไม่จำเป็นต้องยากและซับซ้อน- จะช่วยเชื่อมโยงสิ่งที่เขาอ่านเจอขยายออกไปยังสิ่งรอบตัว และอาจเป็นข้อมูลฝังลึก เป็นคลังความรู้ติดตัวเขาไปตลอด
นอกจากการอ่าน การเขียนยังเป็นการฝึกทักษะทางภาษาชั้นดีอีกด้วย ในเด็กโตหน่อย อาจท้าทายให้เขาลองเขียนนิทาน เรื่องสั้นของตัวเอง หรือการเข้าค่ายเสริมประสบการณ์ในเด็กบางแห่งก็ใช้การเขียนนิยายเป็นจุดพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กๆ ด้วย มากกว่านั้น การฝึกให้เขียนด้วยวิธีการหลายๆ แบบจากเครื่องมือหลายชนิดยังเป็นการพัฒนาทักษะให้เขาด้วย เช่น เขียนด้วยการพิมพ์ เขียนด้วยมาร์กเกอร์ ด้วยดินสอเครยอน ด้วยการเพนท์ หรือให้แอดวานซ์ไปกว่านั้น จะฝึกร่างบนทรายก็ยังได้
โอบกอดศิลปะ
Visual arts หรือ ศิลปะที่รับรู้ด้วยสัมผัสสายตา มีผลต่อการทำงานสมองที่เชื่อมต่อถึงความสุขในชีวิตของผู้คน ขณะที่เสียงเพลงจะช่วยพัฒนาทักษะการจดจำและทักษะภาษา แต่ทั้งหมดทั้งมวล ศิลปะพัฒนาทักษะจำเป็นของชีวิตหลายอย่าง มันคือแรงขับในการใช้ชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ใช้ ‘ความสร้างสรรค์’ ไปกับการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์มาแก้ปัญหาชีวิต การเรียนรู้ที่บ้านจึงขาดศิลปะไม่ได้
ศิลปะที่บ้านเป็นได้ตั้งแต่ แป้งโดว์ที่ฮิตในหมู่เด็กๆ ขณะนี้ การเย็บปักถักร้อยอย่างการถักนิตติ้งหรือโครเชต์ หรือจะซับซ้อนน้อยลงมาหน่อย อย่างการทำเปเปอร์มาเช่ หรือศิลปะอื่นๆ
ดนตรีเป็นอีกหนึ่งอย่างที่จัดกิจกรรมได้ง่ายๆ ที่บ้าน อาจเริ่มจากการประยุกต์สิ่งของที่มีอยู่แล้วอย่าง กะละมัง หม้อ ไห แล้วลองดีด สี ตี เป่า ให้เกิดท่วงทำนอง และถ้ารู้สึกว่าเด็กๆ เริ่มมีความสามารถที่แอดวานซ์ขึ้นเรื่อยๆ อาจสนับสนุนให้เขาเล่นดนตรีอย่างเป็นกิจลักษณะไปเลยยังได้ หรืออาจจะให้เด็กจัดโชว์เล็กๆ อย่าง Puppet show หรือการแสดงหุ่นกระบอก โชว์เต้น โชว์เล่นดนตรีด้วยเพลงที่แต่งเอง
หากอยากเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เคนแนะนำโครงการห้องสมุดโน้ตเพลงนานาชาติ ดูเพิ่มเติมที่นี่
เรียนรู้ทักษะชีวิต
ยิ่งบ้านไหนมีผู้อยู่อาศัยเยอะ เท่ากับงานบ้านแปรผันตามกันไปด้วย ใช้โอกาสนี้ในการสร้างทักษะชีวิตให้เด็กๆ ในบ้านโดยเฉพาะทักษะการคิดแก้ปัญหา และในเด็กเล็ก การทำงานบ้านแบบนี้เป็นโอกาสดีช่วยสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ด้วย
ในเด็กเล็ก การสร้างเรื่องราวคล้ายว่านี่คือ ‘การเล่น’ มากกว่าทำงานบ้าน เป็นเคล็ดลับที่จะทำให้พวกเขาสนุกกับการทำงานบ้านมากขึ้น เช่น “ยักษ์ตัวใหญ่กำลังเดินทางมาที่บ้านหลังนี้ และมันเกลียดคนที่ทำพื้นสกปรกมากๆ ถ้าเราไม่ถูพื้นให้สะอาดก่อนที่มันจะมาถึง มันจะกินพวกเราทั้งหมด!”
ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย แรงจูงใจของเขาขึ้นอยู่กับบทบาทที่ผู้ปกครองกำหนดให้เขามีส่วนร่วม เช่น จัดประชุมครอบครัวเพื่อหารือว่าแต่ละวัน ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง (เพื่อความยุติธรรมและการมีส่วนร่วม)
มองให้เห็น ‘โอกาส’
ไม่ต้องทำให้ครบทุกวิชา และไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าทำทั้งหมดนี้ไม่ได้ เด็กๆ อาจใช้เวลาทั้งวันทำแค่หนึ่งหรือสองวิชาที่กล่าวไว้ในนี้ การเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic learning) จะมีความหมายในชีวิตจริง ในโลกจริง ตราบใดที่พวกเขายังเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ยังได้ทำ เล่น และเรียนรู้ ไม่ต้องกังวล ให้ความอยากรู้และความสนุกนำทางการเรียนรู้ของเด็กๆ เอง