- เพราะสถานที่ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการสร้างความรู้ ชวนเปลี่ยนบ้านให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยมีผู้ปกครองเป็นคนออกแบบหลักสูตรผ่านวิธีการ HOME-BASED LEARNING การประยุกต์การเรียนรู้เข้ากับกิจวัตรที่เด็กๆ ทำทุกวัน เช่น การทำงานบ้าน การเล่น เพียงเปิดโอกาสให้เด็กๆ สังเกตสิ่งต่างๆ ลองทำการทดลองง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยที่ผู้ปกครองช่วยจัดพื้นที่การเรียนรู้ให้พร้อมทั้งอุปกรณ์ แสง บรรยากาศในบ้าน
- ชวนเปลี่ยนบ้านให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยมีผู้ปกครองเป็นคนออกแบบหลักสูตรด้วยวิธีการ HOME-BASED LEARNING
- ผ่านงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘KID FORUM SERIES 01: PARENTING ROLE ON HOME-BASED LEARNING บทบาทผู้ปกครองในวันที่ลูกต้องเรียนแบบ homemade’ จัดโดย ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ (CUD4S)
ภาพ: CUD4S
สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้ปิดสถานศึกษาทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้นักเรียนทุกช่วงวัยต้องเรียนที่บ้านโดยมีผู้ปกครองเป็นคุณครู หลักการเรียนรู้แบบ Home Based Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่บ้านโดยอาศัยความร่วมมือของโรงเรียนและครอบครัว จึงเป็นแนวทางสำคัญอย่างยิ่งในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19
ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ (CUD4S) จึงจัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘KID FORUM SERIES 01: PARENTING ROLE ON HOME-BASED LEARNING บทบาทผู้ปกครองในวันที่ลูกต้องเรียนแบบ homemade’ เผยแพร่สดผ่านทางเฟซบุ๊ก CUD4S ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองและโรงเรียนออกแบบการเรียนรู้ที่บ้านให้เด็กในช่วงโควิด-19
โดยวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประกอบไปด้วย
- คุณธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ คุณแม่และรองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย
- คุณพนิดา เอี่ยมศิรินพกุล คุณแม่และเจ้าของเพจเที่ยวรอบลูก รับหน้าที่แบ่งปันประสบการณ์และให้ความรู้ในการเลี้ยงลูกแบบ Home Based Learning
- คุณมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว
- คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาฟินแลนด์และเป็นประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า เพื่อนำวิธีการสอนแบบ Home Based Learning ของทั้งสองโรงเรียนมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียนอื่น
- พญ.พร ไตรรัตน์วรกุล กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้คำปรึกษาในแง่วิชาการและตอบปัญหาที่เป็นความกังวลใจของผู้ปกครอง พร้อมให้คำแนะนำอย่างที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกครอบครัว
เมื่อผู้ปกครองกลายเป็นครู: HOME-BASED LEARNING ในสายตาพ่อแม่
คุณธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ คุณแม่และรองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย แบ่งปันหลักการ Home Based Learning จากประสบการณ์ส่วนตัวว่ากิจกรรมในการเรียนรู้ควรประกอบไปด้วย 3 รูปแบบนี้
- Home Based Learning (กิจวัตรประจำวัน) เป็นการประยุกต์การเรียนรู้เข้ากับกิจวัตรที่ลูกทำทุกวัน
- Self Directed Learning (กิจกรรมตามความสนใจ) เป็นการเรียนรู้ที่ให้ลูกรับผิดชอบในการวางแผนการเรียนของตนเอง
- Community Based Learning (กิจกรรมกับชุมชน) ให้ลูกเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
คุณพนิดา เอี่ยมศิรินพกุล คุณแม่และเจ้าของเพจเที่ยวรอบลูก เปิดเผยว่าจากที่คุณแม่เคยมีเวลาว่างวันละ 3-4 ชั่วโมงตอนที่ลูกไปโรงเรียน แต่เมื่อสถานศึกษาถูกสั่งปิดในช่วงโควิด-19 คุณแม่จึงจำเป็นต้องหากิจกรรมมาใช้เวลาร่วมกับลูกทั้งวัน โดยจะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้
- ทำตารางอาหารล่วงหน้าทั้งสัปดาห์ วันละ 3 มื้อ เพื่อที่จะวางแผนการจ่ายตลาด เมื่อเตรียมพร้อมไว้แล้วจะช่วยประหยัดเวลาระหว่างมื้ออาหารให้คุณพ่อคุณแม่
- จัดตารางเวลาร่วมกับลูก ให้มีทั้งกิน เล่น เรียนรู้อย่างเหมาะสม โดยที่มีเวลาส่วนตัวให้ทั้งลูกและผู้ปกครองตามที่ตกลงร่วมกัน
เมื่อโรงเรียนกลายเป็นโคช: การปรับตัวของโรงเรียนและแนวทางสำหรับผู้ปกครองในยุค HOME-BASED LEARNING
คุณมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าโรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นโรงเรียนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน เด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ในช่วงประกาศปิดสถานศึกษา ทางโรงเรียนได้ออกแบบกิจกรรมให้ผู้ปกครองและนักเรียนทำร่วมกัน ผ่านกระบวนการ STEAM Design Process ซึ่งเป็นกระบวนการแบบ Design Thinking โดยใช้ Learning Box ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองจัดการเรียนการสอนให้ลูกที่บ้าน ซึ่งกิจกรรมต่างๆ นั้นสามารถหาวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุจากบ้านมาใช้ได้ เช่น การทำอาหาร การแปรรูปอาหาร การนำเอาวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ ซึ่งผลงานเหล่านี้จะกลายเป็นนวัตกรรมของเด็กๆ
กิจกรรมใน Learning Box ประกอบไปด้วย
- กิจกรรม 3R การอ่าน การเขียน การคิดเลขเป็น
- กิจกรรมสร้างสรรค์ (Makerspace)
- กิจกรรมพัฒนาทักษะ (การช่วยเหลือตัวเอง การเข้าห้องน้ำ การรับประทานอาหาร เป็นต้น)
ทางโรงเรียนมีเว็บไซต์สำหรับพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้ปกครอง ซึ่งมีบทเรียนและคำแนะนำในการทำกิจกรรม Home Based Learning
คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาฟินแลนด์และประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่ ได้แบ่งการเรียนรู้ตามสถานการณ์ไว้ทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่
- Home Based Learning (HBL) 100%
- Outdoor Facilities + HBL (ฐานสิ่งกีดขวาง, ทางจักรยาน, สนาม, สนามเด็กเล่น)
- เรียนที่โรงเรียน 1-3 วันต่อสัปดาห์ + HBL
- เรียนที่โรงเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ (ไม่มี HBL)
สำหรับการเรียนแบบ Home Based Learning ทางโรงเรียนจะจัดส่ง Tonkla Story Box ที่มีนิทาน หุ่นเงาและอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ไปให้นักเรียนที่บ้าน นอกจากนี้โรงเรียนต้นกล้ายังจัดทำคู่มือ HBL ไว้ให้คุณพ่อคุณแม่นำไปประยุกต์ใช้ในการสอนลูกที่บ้าน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของโรงเรียนต้นกล้า
เมื่อการเล่นกลายเป็นการเรียนรู้: นวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ปกครอง
บริษัทแปลนทอยส์ ออกแบบชุดของเล่นที่เติบโตได้ตามวัยและพัฒนาการของเด็ก (Growth Toy Set) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง โดยของเล่นชุดนี้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นได้หลากหลาย เหมาะสมกับเด็กทั้งสิ้น 5 ช่วงวัย ได้แก่ เด็กอายุ 4 เดือน+, 6 เดือน+, 12 เดือน+, 2 ปี+, 3 ปี+
เมื่อบ้านกลายเป็นห้องเรียน: เปลี่ยนข้อจำกัดของบ้าน เป็นโอกาสเล่นและเรียนรู้ของลูก
พญ.พร ไตรรัตน์วรกุล กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กเพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองต้องประสบกับภาวะเครียด ทำให้มีความอดทนอดกลั้นต่ำ อาจเผลอทำร้ายจิตใจหรือร่างกายลูก หลายท่านถูกให้ออกจากงานหรือลดเงินเดือน ส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายลดลงและทำให้การจัดหาปัจจัยสี่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเป็นเรื่องยากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อโภชนาการของเด็ก ที่มีผลต่อสติปัญญาและสุขภาพของเด็ก นอกจากนี้เด็กยังขาดการเข้าสังคมที่สำคัญต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็ก พญ.พรเสนอให้ใช้คำว่า Physical Distancing แทน Social Distancing เราเพียงต้องห่างกันแค่ร่างกาย แต่ความรู้สึกและความสัมพันธ์นั้นยังคงต้องมีต่อกัน
พญ.พร กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญของ Home Based Learning คือการจัดตาราง ซึ่งจะลดความไม่แน่นอน ลดความกลัว และช่วยให้ลูกรู้ว่าแต่ละวันจะได้ทำอะไรบ้าง การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากสิ่งรอบตัว ลองให้ลูกสังเกตสิ่งต่างๆ ลองทำการทดลองง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยที่ผู้ปกครองควรช่วยจัดพื้นที่การเรียนรู้ให้พร้อมทั้งอุปกรณ์ แสง บรรยากาศในบ้าน ฯลฯ พญ.พร ฝากว่าอยากให้ผู้ปกครองทุกคนเชื่อมั่นในตัวเองว่าคนที่พยายามเพื่อลูกได้ดีที่สุดก็คือตัวผู้ปกครองเอง ถึงแม้พยายามแล้วออกมาไม่สมบูรณ์แบบลองให้อภัยตนเองแล้วเริ่มใหม่อีกครั้ง
ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตตัวเองเพื่อให้เข้าใจขีดจำกัดทางอารมณ์ของตัวเอง เพื่อระงับความเครียดไม่ให้ไปลงกับลูก เมื่ออารมณ์เดือดพล่านใกล้ถึงขีดสุดให้ขอเวลาเพื่อไปปรับอารมณ์ตัวเองให้เย็นลงตามกฎ Rule of Pause แล้วจึงค่อยกลับมาหาลูก ควรสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในแต่ละวัน เวลาไหนที่ใช้ร่วมกัน เวลาไหนเป็นเวลาทำงานของผู้ปกครอง ให้ลูกคิดกิจกรรมที่อยากทำ หากกิจกรรมนั้นไม่สามารถลงมือได้จริงให้ผู้ปกครองอธิบายให้ลูกเข้าใจ
กลวิธีในการจัดการเรียนรู้ควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น Home School Learning, Home Based Learning หรือเรียนที่โรงเรียน ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมสำหรับเด็ก
สามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook : CUD4S