Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
Transformative learning
21 July 2025

ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 

เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บันทึกชุด ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ นี้ ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Hidden Potential : The Science of Achieving Greater Things นำสู่การตีความหนังสือออกเป็นบันทึกชุดนี้ แต่เป็นการตีความที่ต่างจากบันทึกชุดก่อนๆ คือ ผมได้เสริมข้อคิดเห็นของตนเอง จากความรู้เดิมที่มีและจากความรู้ที่ขอให้ปัญญาประดิษฐ์หลายสำนักช่วยค้นและให้ข้อสรุปด้วย

ตอนที่ 4 เสนอข้อตีความจากบทที่ 2 Human Sponges สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุดหรือแข็งแรงที่สุด แต่เป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด การมีชีวิตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานหนัก แต่ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ที่ดี

เหนือกว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’

เขายกตัวอย่างชีวิตของ Mellody Hobson เป็นคนดำที่เป็นลูกหนึ่งใน 6 คนของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยากจนสุดๆ และเริ่มต้นการเรียนในสภาพเด็กเรียนอ่อนต้องเข้าชั้นเรียนของเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่เราเรียกว่า เด็กพิเศษ แต่เธอได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา คือ มหาวิทาลัยพริ้นซตัน เวลานี้เธอประสบความสำเร็จสูงยิ่งในฐานะนักธุรกิจหญิง เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของชีวิตคนที่เปลี่ยนจากยากจนสุดๆ สู่ฐานะร่ำรวยสุดๆ

เคล็ดลับความสำเร็จของเธอ อยู่ที่การมีทักษะเชิงลักษณะนิสัย (Character Skills) นั่นเอง

Max Weber เสนอทฤษฎีจริยธรรมการทำงาน แบบโปรเตสแต็นท์ (Protestant work ethic) ที่เน้นความอดทนมานะพยายาม (Persistence) ว่าเป็นเส้นทางสู่ความเจริญก้าวหน้าของยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ยึดถือกันมาเป็นร้อยปี บัดนี้ อดัม แกรนท์ ในหนังสือ Hidden Potential รวบรวมหลักฐานจากงานวิจัยมาเสนอว่า ความสำเร็จดังกล่าวมีผลจากการเรียนรู้มากกว่าความมานะพยายาม หรือกล่าวใหม่ว่า ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยุโรปตะวันตก เกิดจากการทำงานแบบชาญฉลาด (Working Smarter) มากกว่าทำงานหนักขึ้น (Working Harder)

ทักษะด้านการรู้คิด (Cognitive Skills) มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ที่นำสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่ไม่เพียงพอ ยังต้องการทักษะเชิงลักษณะนิสัย (Character Skills) ที่ช่วยให้มีการเรียนรู้เชิงรุก (Proactive Learning) ที่เรียนความรู้ใหม่ (Relearn) ได้เร็ว และกรองความรู้เก่าที่ล้าสมัยออกไป (Unlearn)

ขอทบทวนว่า ทักษะเชิงลักษณะนิสัยประกอบด้วย 4 ทักษะย่อย คือ (1) พฤติกรรมเชิงรุก (Proactive) (2) เห็นแก่ส่วนรวม (Prosocial) (3) มีวินัย (Disciplined) (4) ตั้งจิตมั่น (Determined)

เหนือกว่าความพยายามคือการเรียนรู้เชิงรุก ที่ขับดันโดยทักษะเชิงลักษณะนิสัย

สนองการเรียนรู้และพัฒนา ไม่ใช่สนองอัตตา 

อดัม แกรนท์ นำชีวิตหรือพฤติกรรมของ เมลโลดี ฮ็อบสัน มาเล่าเพื่อเชื่อมโยงสู่หลักการเรียนรู้แบบ ‘ดูดซับอย่างมีเป้าหมาย’ (Absorptive Capacity) โดยให้นิยาม Absorptive Capacity ว่าหมายถึง ความสามารถในการมองเห็น (Recognize) ให้คุณค่า (Value) ดูดซับ (Assimilate) และประยุกต์ใช้ (Apply) สารสนเทศใหม่ (New Information) โดยเสนอว่า การดูดซับอย่างมีเป้าหมายนี้ จะส่งผลต่อความก้าวหน้าของบุคคลหรือไม่เพียงใดขึ้นกับปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ (1) ผู้นั้นมีนิสัยหรือพฤติกรรมเชิงรุก (Proactive) ในการแสวงหาความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ มุมมองใหม่ และ (2) เมื่อได้ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ มุมมองใหม่ มาแล้ว ผู้นั้นเลือกสำหรับนำไปใช้สนองการเรียนรู้และการพัฒนาของตน ไม่ใช่เอาไปสนองอีโก้ของตน   

กล่าวใหม่ว่า ท่าทีของพฤติกรรมเชิงรับ (Reactive) กับการรักษาอัตตา หรือรักษาหน้า (Ego-driven) เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่จะช่วยปลุกพลังซ่อนเร้นในตัวบุคคลออกมา เพราะจะทำให้ผู้นั้นปฏิเสธสารสนเทศ หรือประสบการณ์ ที่ทำให้ตนเสียหน้า อดัม แกรนท์ กล่าวอย่างเจ็บแสบว่า คนหน้าบาง มีกระโหลกหนา คือไม่เรียนรู้       

แชมเปี้ยนที่โค้ชตนเอง   

ชีวิตของ Julius Yego แชมเปี้ยนโลกพุ่งแหลนชาวเคนยา ให้ข้อเรียนรู้เรื่องคุณค่าของทักษะเชิงลักษณะนิสัย เขาเกิดมาในครอบครัวยากจน เล่นพุ่งไม้แข่งกับพี่ชาย และเป็นฝ่ายชนะเสมอ นำสู่ความใฝ่ฝันเป็นนักพุ่งแหลนชั้นนำตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม เขาหมั่นฝึกฝนเอง โดยไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม ไม่รู้วิธีการฝึก และไม่มีครูฝึก   

แต่เขารู้จักหา ‘โค้ช’ ให้ตนเอง นี่คือพฤติกรรมเชิงรุก โค้ชดังกล่าวคือ ยูทูบ เขาศึกษาเทคนิคการพุ่งแหลนจากยูทูบ นำมาฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ (มีวินัย และตั้งจิตมั่น) จนในที่สุดแข่งชนะนักพุ่งแหลนชาวอียิปต์ชื่อ Ihab Abdelrahman ได้เป็นแชมเปี้ยนพุ่งแหลนของอัฟริกา และในปีต่อมาได้เป็นแชมเปี้ยนโลก ทั้งๆ ที่ร่างกายของเขาไม่มีความได้เปรียบต่อการเป็นนักพุ่งแหลน คือสูงเพียง 5 ฟุต 9 นิ้ว หนักเพียง 187 ปอนด์ แต่เขาเอาชนะ Ihab Abdelrahman ที่สูง 6 ฟุต 4 นิ้ว หนัก 212 ปอนด์ ได้ ที่เปรียบเสมือนเดวิดชนะโกไลแอธ

นักพุ่งแหลนทั้งสองเป็นคนอัฟริกันเหมือนกัน มาจากครอบครัวยากจนเหมือนกัน และ Ihab เคยเป็นแชมเปี้ยนพุ่งแหลนของอัฟริกามาก่อน เอาชนะ Julius อย่างง่ายดาย แต่ Julius ไปไกลกว่าด้วยพลังของทักษะเชิงลักษณะนิสัย ที่ Ihab ไม่มี

ความได้เปรียบทางทักษะเชิงลักษณะนิสัย ที่ได้มาจากการพัฒนาตนเอง (Nurture) ชนะความได้เปรียบทางกายที่ได้มาจากธรรมชาติ (Nature)       

เราต้องการโค้ช ไม่ใช่นักติหรือกองเชียร์ 

เพื่อพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง เราต้องการคนแนะนำจุดที่ต้องปรับปรุงและวิธีปรับปรุง นั่นคือหน้าที่ของโค้ช อย่าหลงตั้งคำถามลอยๆ ว่าผลงานของตนเป็นอย่างไร ซึ่งจะได้กองเชียร์หรือนักติ (Critics)

‘นักติ’ จะบอกสารพัดจุดอ่อนหรือข้อด้อยของผลงาน โดยไม่มีคำแนะนำให้ปรับปรุง ‘กองเชียร์’ ยิ่งแล้วใหญ่ ให้แต่คำชมลอยๆ หรือชมที่บางจุด แต่ไม่มีคำแนะนำให้ปรับปรุง

คนที่ต้องการพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพสูงเด่น ต้องตั้งคำถามหาจุดที่ควรปรับปรุง และวิธีปรับปรุง ก็จะได้คำแนะนำแบบโค้ชมาฟรีๆ ยิ่งตั้งคำถามให้จำเพาะลงไปอีก ว่าผลงานที่จุด ก ที่ดีกว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสร้างผลงานระดับนั้นได้ ก็จะยิ่งได้รับคำแนะนำที่จำเพาะยิ่งขึ้น นี่คือวิธีหาโค้ชให้ตนเองของคนทั่วไป

คนเป็นครูในสมัยนี้ ต้องทำหน้าที่ 2 อย่างในเรื่องโค้ชให้แก่ศิษย์ คือ (1) ตนเองช่วยโค้ช ตามแนวทางข้างต้น และ (2) ฝึกให้ศิษย์รู้จักตั้งคำถามต่อผลงานของตน เพื่อแสวงหาโค้ชให้แก่ตนเอง ไม่หลงถามด้วยถ้อยคำหรือท่าที่แสวงหาคำชม หรือคำติชมลอยๆ

สร้างแหล่งเรียนรู้หรือโค้ชให้แก่ตนเอง

เรื่องเล่าย้อนกลับไปที่ Mellody Hobson ตอนจะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยพริ้นซตันสนใจเธอและเชิญไปรับประทานอาหารเช้าร่วมกับศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง และได้นั่งติดกันกับ Bill Bradley อดีตดารากีฬาบาสเกตบอล ที่เวลานั้นเป็นวุฒิสมาชิก ความช่างซักของเธอทำให้ Bill Bradley ประทับใจ และกลายเป็นติวเตอร์ให้เธอ

วันหนึ่ง ตอนรับประทานอาหารเที่ยงด้วยกัน Bill Bradley เล่าความหลังครั้งเป็นดาราบาสเกตบอลว่า ชื่อเสียงของเขามาจากการที่เขาไม่ครองลูกไว้เพื่อทำแต้มคนเดียว แต่ส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีมได้ทำต้มอย่างเหมาะสม และให้คำแนะนำป้อนกลับว่า เวลาประชุม Mellody มักผูกขาดการพูดอยู่คนเดียว ในทำนองนักบาสเกตบอลไม่ส่งลูกให้เพื่อนร่วมทีม

คำแนะนำตรงๆ นี้ทำให้ Mellody จุก และน้ำตาคลอเบ้า แต่เธอก็สะกดอารมณ์ได้และถามกลับแบบคนมองโลกแง่บวกว่า เธอขอคำแนะนำว่าเธอควรปรับปรุงตัวเองอย่างไร การตอบสนองเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Response) ของ Mellody นี้ เป็นการบอกทางอ้อมว่า เธอมองคำพูดของ Bill Bradley เป็น (Constructive Feedback) ส่งผลให้ Bill Bradley ยังคงทำหน้าที่โค้ชให้แก่เธอตลอดมา

นี่คือตัวอย่างของพฤติกรรมสร้างโค้ชให้แก่ตนเอง ที่น้อยคนจะทำเป็น ที่ Mellody ทำเป็น ก็เพราะเธอมีทักษะเชิงลักษณะนิสัย (Character Skills) ผสมกับกระบวนทัศน์เชิงบวก (Positive Mindset)

คำแนะนำสำหรับคนเก่งก็คือ ให้ระวังการใช้จุดแข็งของตนมากเกินไป (Strength Overuse) หรือใช้จุดแข็งผิดทาง (Strength Misuse) ในกรณีเช่นนี้ ความกระหายใคร่รู้ของ Mellody อาจทำลายบรรยากาศในห้องประชุม ที่ผมขอเสริมว่า คนเก่งต้องพัฒนา Soft skills (ที่ราชบัณฑิตเรียกว่า จรณทักษะ) ใส่ตัวด้วย

หลักการสำหรับเลือกให้ความสำคัญแก่คำแนะนำป้อนกลับคือ เป็นคำแนะนำที่น่าไว้วางใจ โดยที่ความน่าไว้วางใจ (Trustworthy) มี 3 องค์ประกอบคือ (1) เจตนาดี (Care) (2) ความน่าเชื่อถือ (Credibility) (3) ความคุ้นเคยต่อตัวเรา (Familiarity) ดังรูปข้างล่าง

Mellody ฉลาดพอที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินว่า คำพูดของ Bill Bradley มาจากเจตนาดี น่าไว้วางใจ และความฉลาดทางอารมณ์ของ Mellody ช่วยให้เธอเอาชนะอารมณ์ของตนได้ และตอบสนองต่อคำตักเตือนของ Bill Bradley ด้วยคำถามเชิงบวก ส่งผลให้เธอได้โค้ชชั้นยอดต่อไป

การซึมซับและปรับตัวของมนุษย์ คล้ายสัตว์ทะเลที่เรียกว่า ฟองน้ำ (Sponge) ที่มีธรรมชาติดูดซับสารอาหารเข้าตัว และปลดปล่อยสารพิษออกไป รวมทั้งปลดปล่อยสารอาหารออกไปช่วยให้สัตว์และพืชอื่นๆ เจริญเติบโต มนุษย์เราต้องไม่เพียงมีพฤติกรรมเชิงรุก (Proactive) เพื่อรับสิ่งดีๆ เข้าตัวเท่านั้น ยังต้องมีพฤติกรรมเห็นแก่ส่วนรวม (Prosocial) โดยแบ่งปันสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่นและสังคมด้วย

สามารถอ่านบทความ ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP1 – EP3 ได้ที่นี่

ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP1: บทนำ ‘มนุษย์ทุกคนมีพลังซ่อนเร้น’

ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP2: พัฒนาทักษะเชิงลักษณะนิสัย

ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP3: คุณค่าของความไม่สบายใจ

Tags:

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชการศึกษาการปรับตัวปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์หนังสือ Hidden Potential : The Science of Achieving Greater Things (2023)ทักษะเชิงลักษณะนิสัย (Character Skills)

Author:

illustrator

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานและมูลนิธิหลายแห่ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Transformative learning
    ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP3: คุณค่าของความไม่สบายใจ

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learning
    ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP1: บทนำ ‘มนุษย์ทุกคนมีพลังซ่อนเร้น’

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    กล้าพอไหม? ที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่จากในโรงเรียน (Dare the school build a new social order?)

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    หลักสูตรคืออะไรกันแน่?

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trend
    การศึกษาจะไปทางไหนและปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบลงง่ายๆ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel