- เริ่มต้นคาบเรียนด้วยการทักทายและรอยยิ้มแจ่มใส ช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมเชิงวิชาการของเด็ก สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมในห้องเรียนนักเรียน ทั้งยังช่วยลดความตึงเครียดของครูได้อีกด้วย
- การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในห้องเรียนจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคาบเรียน
- การใช้อวัจนภาษาในการทักทาย เช่น โบกมือ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างบรรยากาศให้น่าเรียน
งานวิจัยล่าสุดเผย เริ่มต้นคาบเรียนด้วยการทักทายและรอยยิ้มแจ่มใส ปล่อยพลังเชิงบวกให้กัน ไม่ว่าจะเป็นคาบแรกของวันหรือคาบแรกหลังจากพักเบรก ช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมเชิงวิชาการของเด็ก สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมในห้องเรียนนักเรียน ลดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งยังช่วยลดความตึงเครียดของครูได้อีกด้วย
ก่อนเริ่มต้นคาบเรียนเป็นช่วงเวลาที่สมองกำลังปรับตัว นักเรียนที่เพิ่งวิ่งหน้าตาตื่นมาจากสนามเด็กเล่นหรือรีบวิ่งมาเข้าเรียนให้ทันก่อนครูจะเช็คชื่อ – ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสภาวะอารมณ์
แน่นอนว่าการเจอหน้ากัน ทักทายด้วยการตำหนิติเตียนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น “เสื้อหลุดลุ่ยออกนอกกางเกง” หรือ “ส่งการบ้านหรือยัง?” งานวิจัยระบุว่า การปล่อยผ่านพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ แล้วปรับเปลี่ยนเป็นทักทายด้วยท่าทีเป็นมิตร สาดพลังเชิงบวกใส่กัน ช่วยลดพฤติกรรมและกระตุ้นให้เด็กสนใจการเรียนมากกว่า
จากการสำรวจพบว่าครูที่ทักทายนักเรียนด้วยท่าทีอย่างเป็นมิตรให้กับนักเรียนก่อนเริ่มต้นคาบ ตั้งแต่หน้าประตู เพียงยิ้มให้หรือโบกมือทักทาย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการมีส่วนร่วมด้านวิชาการให้กับนักเรียนมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์และอีก 9 เปอร์เซ็นต์สามารถลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในห้องเรียนได้อีกด้วย
ทำไมการสาดพลังสดใสถึงเวิร์ค?
เพราะการสร้างความรู้สึกเป็นมิตรกับนักเรียนคือการสร้างความเชื่อใจระหว่างครูและนักเรียนอย่างหนึ่ง เมื่อพวกเขารู้สึกเชื่อมั่น สิ่งที่แตกหน่อออกผลต่อมาคือความรู้สึกมีส่วนร่วมในห้องเรียนซึ่งกระตุ้นให้พวกเขาอยากเรียนรู้ตามมา
“การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในห้องเรียนจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคาบเรียนดังกล่าว สิ่งนี้สำคัญมากในการช่วยให้งานวิจัยของเราค้นพบแรงจูงใจในการสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสังคม (social belonging) ของตัวเอง ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อนักเรียนรู้สึกดีกับห้องเรียน พวกเขาก็จะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เองไปในตัว” หนึ่งในทีมวิจัยอธิบาย
สำคัญกว่านั้น ทีมวิจัยมองว่า ‘อวัจนภาษา’ นี่ล่ะดีที่สุดในการสร้างบรรยากาศดังกล่าวในห้องเรียน พร้อมแนะนำวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ได้แก่
– ยืนทักทายอยู่หน้าห้องเรียน
– เรียกชื่อพวกเขา
– ประสานสายตากับพวกเขา
– ใช้อวัจนภาษาในการทักทาย เช่น โบกมือ เชคแฮนด์หรือไฮไฟว์ เป็นต้น
แล้วการทักทายไปลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในห้องเรียนอย่างไร?
จุดนี้ ทีมวิจัยแนะนำว่า ให้ปรับมุมมองของตัวเอง จากที่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเล็กๆ น้อยๆ ของนักเรียน ให้เปลี่ยนเป็นมองด้านดีของเขาและพูดสิ่งเหล่านั้นออกมา จะช่วยทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นตามมา
อธิบายง่ายๆ คือ ให้เปลี่ยนวิธีคิดจาก “ฉันจะจัดการพฤติกรรมของพวกเขาอย่างไร?” เป็น “ฉันจะสร้างบรรยากาศที่ไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไร?”
ไม่ใช่ดีแค่กับนักเรียนแต่กับครูด้วยเช่นกัน
การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในห้องเรียนนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เด็กสนใจเรียน ลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถลดสภาวะความป่วยไข้ทางใจของครูด้วย
จากการสำรวจพบว่า ครูมากถึง 53 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกตึงเครียดที่นักเรียนไม่มีส่วนร่วมในห้องเรียนหรือก่อกวนระหว่างการเรียนการสอน – เป็นปัญหาสำคัญที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของครูเมื่อถูกถามถึงว่าอะไรคือข้อกังวลใจในการสอนมากที่สุดของปี 2014
แน่นอนว่า ยิ่งปัญหาในห้องเรียนเยอะ ครูก็ยิ่งต้องใช้พลังในการสอนมากขึ้น ทั้งการกระตุ้นให้เด็กสนใจและหันไปตำหนินักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือก่อกวนเพื่อนๆ และครูระหว่างเรียน
จริงอยู่ที่การหันไปตำหนิหรือทำโทษนักเรียนอาจช่วยให้ห้องเรียนสงบขึ้นแต่เป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น ในงานวิจัยชิ้นเดียวกันอธิบายว่า การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในห้องเรียนจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวในระยะยาวได้ดีกว่า
รู้แบบนี้แล้ว วันนี้คุณยิ้มให้นักเรียนของคุณหรือยัง?