- การค้นหา ‘เด็กอัจฉริยะ’ อาจทำให้เราพลาดที่จะเจอเด็กเก่งระดับเดียวกัน หากบังเอิญเด็กกลุ่มหลังทำคะแนนแบบทดสอบได้น้อย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และยังไปทำให้เด็กที่ไม่ผ่านแบบทดสอบโดนประทับ “ตราบาป” ว่าไม่ใช่เด็กอัจฉริยะทั้งที่อาจไม่จริง
- สิ่งที่ผู้ปกครองอาจเป็นห่วงคือ เด็กพวกนี้ควรจะข้ามชั้นเรียนจากมัธยมไปมหาวิทยาลัยตามความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาหรือเปล่า? และพวกเขาจะสามารถปรับตัวและปรับใจให้เข้ากับสังคมของเด็กที่โตกว่าได้ดีแค่ไหน? จะกลายเป็นเด็กฉลาดที่มีปัญหาการเข้าสังคมหรือไม่?
- การเปิดโอกาสให้เด็กเก่งเหล่านั้นเรียนเร็วกว่าคนอายุเท่ากันเป็นตัวเลือกที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยประหยัดเงินที่ต้องใช้ได้อีกมาก และอันที่จริงแล้วพวกเขาอาจไม่ต้องคอร์สพิเศษใดๆ นอกจากคอร์สที่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของเขา (ที่ไปเกินกว่าอายุหรือเด็กรุ่นเดียวกันไปมาก) แค่นั้น
ปกติแล้วถ้าพ่อแม่มีลูกที่มีสติปัญญาระดับเฉลี่ยหรือสูงกว่าเฉลี่ย ก็คงน่าจะดีใจหรือพอใจนะครับ อย่างน้อยก็ดีกว่าการมีลูกที่สติปัญญาต่ำกว่าเฉลี่ย แต่กระนั้นก็มีหลายๆ คนที่อยากมีลูกฉลาดมากๆ ระดับอัจฉริยะ แต่คนที่มีลูกเป็นอัจฉริยะจริงๆ อาจไม่ได้มีความสุขมากนักก็ได้นะครับ
ค.ศ. 1968 โจเซฟ เบตส์ (Joseph Bates) ที่จะกลายมาเป็นอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์คนหนึ่งอายุได้ 12 ปีในตอนนั้น ถ้าอยู่ในประเทศไทย เบตส์คงเรียนระดับประถมปลายหรือมัธยมต้นอยู่ แต่เขาล้ำหน้าเพื่อนในชั้นมากจนทำให้รู้สึกว่าบทเรียนในห้องเรียนเข้าขั้นน่าเบื่อสุดๆ ทีเดียว
พ่อแม่ของเบตส์เลยส่งลูกไปเรียนเพิ่มเติมวิชาที่เขาชอบคือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความปราดเปรื่องของเขาก็ล้ำหน้านักศึกษามหาวิทยาลัยในชั้นไปไกลแล้ว ก็เลยแก้เบื่อด้วยการแบ่งเวลาไปสอนการเขียนโค้ดภาษาฟอร์แทรน ที่เป็นภาษายอดนิยมในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้กับบรรดานักศึกษาบัณฑิตศึกษา
แต่อย่างน้อยการไปเรียนคอมพิวเตอร์ก็ยังมีข้อดีคือ เพราะอาจารย์ที่สอนวิชานั้นแนะนำให้เขารู้จักกับศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จูเลียน สแตนลีย์ (Julian Stanley) ซึ่งจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจต่อมาอีกยาวนาน ในตอนนั้นสแตนลีย์กำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับ ‘จิตมิติ’ (psychometrics) เพื่อตรวจวัดดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยส่งผลกับสติปัญญา
สแตนลีย์เห็นว่าเบตส์น่าจะเป็นตัวอย่างการศึกษาที่ดี จึงให้เบตส์ช่วยทำแบบทดสอบหลายแบบ รวมทั้งแบบทดสอบแบบใหม่ที่เขาคิดขึ้นเอง (เรื่องแบบทดสอบนี้จะกล่าวถึงอีกครั้งในภายหลัง) ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมากจนผ่านเกณฑ์เข้าเรียนที่จอห์น ฮอปกินส์ได้สบายๆ สแตนลีย์เลยไปหว่านล้อมให้คณบดีรับเบตส์เข้าเรียนในระดับปริญญาตรี
สแตนลีย์ใช้เบตส์เป็นตัวทดสอบและจัดทำแบบทดสอบเรียกย่อว่า SMPY (Study of Mathematically Precocious Youth) ซึ่งต่อมารู้จักกันในวงกว้างและมีการนำไปใช้ทดสอบหาเด็กอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวาง
ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ มีการใช้แบบทดสอบ SMPY กับพวกเด็กๆ อย่างต่อเนื่องมากถึง 5,000 คนในช่วงเวลา 45 ปี และมีการติดตามว่าผลการทดสอบมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในอาชีพการงานและชีวิตของเด็กพวกนี้แค่ไหน
สิ่งที่พบก็คือเด็กอัจฉริยะกลุ่มนี้จำนวนมากเลยที่ประสบความสำเร็จในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกคนก็ตาม
มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับแบบทดสอบนี้มากถึงกว่า 400 ชิ้นและหนังสืออีกหลายเล่ม และที่สำคัญคือเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ในการมองหาและนำเด็กๆ เหล่านี้มาเพิ่มศักยภาพในกลุ่มสาขาสะเต็ม (STEM) ที่กำลังฮิตกันอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งเน้นการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
สแตนลีย์ไม่เพียงแต่สนใจกลุ่มเด็กอัจฉริยะ แต่ยังสนใจกว้างออกไปยังเด็กเก่งทั่วๆ ไป และหวังว่าจะมีวิธีที่หล่อเลี้ยงหรือส่งเสริมสติปัญญาของพวกเขาให้งอกงามเต็มศักยภาพ ด้วยเชื่อว่าคนเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ระยะแรกเขาจึงรับนักศึกษาที่อยู่กลุ่ม 1% แรกของคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมโครงการ
ความยาวนานของโครงการทำให้พบว่า มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งในโครงการที่กลายเป็นคนสำคัญระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เทอร์เรนซ์ เต๋า และ เลนนาร์ด งอ ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชั้นนำที่คุณอาจไม่เคยรู้จัก แต่อีกสามคนนี้คุณน่าจะต้องรู้จัก และต้องเคยได้ยินผลงานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขามาแล้วไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ นั่นก็คือ นักดนตรีสาว สเตฟานี เกอร์มาน็อตตา หรือ “เลดี้กาก้า” อีกคนคือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค และสุดท้าย เซอร์เกย์ บริน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล
ผลการวิจัยว่าชี้ คนเหล่านี้เป็นอัจฉริยะที่ “เก่งมาแต่เกิด” ขัดแย้งกับความเชื่อทางวิชาการที่ปักหลักลงฐานกันมาช้านานว่า ความเชี่ยวชาญและความเก่งกาจมาจากการฝึกฝนมากกว่า
แม้แบบทดสอบพวกนี้ (นอกจาก SMPY ยังมีอีกหลายแบบ) จะช่วยให้เราค้นพบ “เด็กอัจฉริยะ” และนำมาส่งเสริมได้ในหลายกรณี แต่ก็มีข้อเสียคือ อาจทำให้พลาดที่จะเจอเด็กเก่งระดับเดียวกัน หากบังเอิญเด็กกลุ่มหลังทำคะแนนแบบทดสอบเหล่านั้นได้น้อย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และยังไปทำให้เด็กที่ไม่ผ่านแบบทดสอบโดนประทับ “ตราบาป” ว่าไม่ใช่เด็กอัจฉริยะเอาง่ายๆ ทั้งๆ ที่อาจจะไม่จริง
อันที่จริงเคยมีกรณีทีว่ามานี้คือ แบบทดสอบความเป็นอัจฉริยะที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ของเลวิส เทอร์แมน (Lewis Terman) ที่เริ่มใช้วัดไอคิวใน ค.ศ. 1921 และพยายามเปรียบเทียบกับความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่กลับล้มเหลว มีเด็กน้อยมากที่ได้คะแนนดีมากๆ และประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน คนที่แบบทดสอบคิดว่าได้คะแนนต่ำไปคือ 129 (เทียบกับคนทั่วไปที่ได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 100) กลับได้รางวัลโนเบลก็มี ได้แก่กรณีของวิลเลียม ช็อกลีย์ (William Shockley) ที่ได้รางวัลโนเบลจากการร่วมคิดค้นทรานซิสเตอร์ อีกคนก็คือ หลุยส์ อัลวาเรซ ที่ได้รางวัลโนเบลฟิสิกส์เช่นกัน
ความล้มเหลวของเทอร์แมนนี่เองที่ทำให้สแตนลีย์คิดสร้างแบบทดสอบใหม่ชื่อ SAT (Scholastic Aptitude Test) ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นแบบทดสอบมาตรฐานชนิดหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดให้นักศึกษาต้องทำเพื่อทดสอบความรู้เป็นเบื้องต้น
สแตนลีย์ประเดิมใช้ข้อสอบ SAT กับเบตส์นี่เอง
ในช่วงเดือนมีนาคม 1972 สแตนลีย์ให้เด็กเก่งอายุ 12-14 ปีรวม 450 คนทำแบบทดสอบ SAT ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้แบบทดสอบมาตรฐานสำหรับค้นหาเด็กเก่งในสถาบันการศึกษา แต่ SAT ในสมัยนั้นยังไม่รวมแบบทดสอบด้านภาษาและอื่นๆ อย่างที่มีในปัจจุบันนะครับ
การทดสอบครั้งนั้นทำให้รู้ว่า มีวัยรุ่นกลุ่มนี้จำนวนมากที่แก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในการเรียนได้ นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้จำนวนมากยังทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำทำได้เสียอีก
ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ความสามารถของกลุ่มเด็กอัจฉริยะที่เหนือกว่าเด็กทั่วไปมากเป็นพิเศษคือ การจินตนาการรูปทรงเรขาคณิตในหัวที่เรียกว่า spatial ability หลายคนคงพอนึกออก คำถามจำพวกรูปทรงแบบนี้ มีกริดสีดำหรือสีขาวตรงตำแหน่งจำเพาะ หากหมุนไปทางขวามือหรือซ้ายมือ 90 องศา หรือพลิกกลับตรงกันข้าม จะมองเห็นเหมือนในรูปใดในตัวเลือก กริดจะเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ตรงไหน…อะไรทำนองนั้น
ผลการติดตามข้อมูลกลุ่มอัจฉริยะเป็นระยะๆ ตอนอายุ 18, 23, 33 และ 48 ปี ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2013 ยืนยันว่า คะแนน SAT และการทดสอบ spatial ability มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำนวนสิทธิบัตรและผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ของกลุ่มอัจฉริยะกลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัด คือ ยิ่งตอนทำแบบทดสอบได้คะแนนสูง ก็ยิ่งทำสิทธิบัตรและเปเปอร์ได้มากในภายหลัง!
แต่สิ่งที่ผู้ปกครองอาจจะอยากรู้ที่สุดก็คือ เด็กพวกนี้ควรจะข้ามชั้นเรียนจากมัธยมไปมหาวิทยาลัยตามความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาหรือเปล่า? และพวกเขาจะสามารถปรับตัวและปรับใจให้เข้ากับสังคมของเด็กที่โตกว่าได้ดีแค่ไหน?
จะกลายเป็นเด็กฉลาดที่มีปัญหาการเข้าสังคมหรือไม่?
ผลการวิจัยระบุว่า พวกที่เรียนเร็วข้ามชั้นมีถึง 60% ที่ไปไกลถึงระดับปริญญาเอกหรือคิดค้นจนจดสิทธิบัตรได้ และมีจำนวนมากเป็นเท่าตัวของเด็กเก่งทั่วไปที่ได้เข้าเรียนจนได้ปริญญาเอกในสาขาจำพวกสะเต็ม
ส่วนความเป็นห่วงของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ว่า เด็กเก่งจัดพวกนี้จะปรับตัวทางสังคมได้ไม่ดีกลับไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะเด็กอัจฉริยะพวกนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวทางอารมณ์และสังคมให้เข้ากับกลุ่มคนที่อายุมากกว่าได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น การเปิดโอกาสให้พวกเขาเรียนเร็วกว่าคนอายุเท่ากันจึงเป็นตัวเลือกที่ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยประหยัดเงินที่ต้องใช้ได้อีกมาก และอันที่จริงแล้วพวกเขาอาจไม่ต้องคอร์สพิเศษใดๆ นอกจากคอร์สที่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของเขา (ที่ไปเกินกว่าอายุหรือเด็กรุ่นเดียวกันไปมาก) แค่นั้น
ข้อสังเกตสุดท้ายสำหรับพ่อแม่ที่เชื่อว่าลูกเก่ง แต่กลับทำคะแนนในแบบทดสอบต่างๆ ได้ไม่ดีนัก เรื่องนี้ไม่ได้น่าเป็นห่วงแม้แต่น้อย เพราะในขณะที่คะแนนสูงมากๆ อาจชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จอย่างมากในอนาคต แต่คะแนนน้อยๆ กลับไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับความสำเร็จ (หรือความสุข) ในอนาคตเลยแม้แต่น้อย
แม้พรสวรรค์ตั้งแต่เกิดอาจมีความสำคัญสำหรับบางคน แต่เรื่องของการฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดหย่อน และการกรอบความคิดหรือ mindset ที่ดี เป็นแบบล้มแล้วลุกได้ เติบโตได้ตลอดเวลาต่างหาก ที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคตของคนส่วนใหญ่