- การสอนให้เด็กผู้ชายเรียนเต้น ฝึกเด็กผู้หญิงให้ตะโกน คือส่วนหนึ่งของห้องเรียนไร้เพศ
- ดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา แต่การสอนแบบไม่ระบุเพศกำลังทำอย่างจริงจังในสวีเดน โดยเริ่มต้นที่ห้องเรียนเด็กเล็ก
- ไม่ระบุเพศ ดีหรือไม่ดีอย่างไร งานวิจัยส่วนหนึ่งชี้ว่า การสอนแบบนี้ทำให้การตัดสินของเด็กๆ ว่าอะไรเป็นอะไรตาม stereotype มีแนวโน้มลดลง เขาจะกลับมาเชื่อและฟังเสียงตัวเองมากขึ้น
เด็กผู้ชายเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย บ้างก็ตีกัน ขณะที่เด็กผู้หญิงร้องไห้ให้อุ้ม น่าจะเป็นภาพที่เราเห็นได้ทั่วไปในโรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนหรือเนอร์สเซอรี
แต่ที่ห้องเรียนของเด็กๆ ตัวน้อยโรงเรียน Seafarers – เนอร์สเซอรีย่านชานเมืองตอนใต้ของกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน คุณครูที่นี่กำลังเคลียร์ห้อง เอารถเด็กเล่นกับตุ๊กตาออกไป แล้วจูงมือเด็กผู้ชายมาเล่นทำครัว ขณะที่สอนเด็กผู้หญิงให้ตะโกนว่า “ไม่” จากนั้นก็เริ่มสำรวจและติดตามผลเชิงลึกพร้อมกับถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้
ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่เพื่อน
สังคมอาจแยกเพศตามร่างกายและวัฒนธรรมที่ปลูกฝัง แต่โรงเรียนเด็กเล็กหลายแห่งในสังกัดรัฐบาลสสวีเดนลงมือทำหลายอย่างเพื่อถอนรากความคิดดังกล่าวออกไป
เพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว คณะกรรมการร่างหลักสูตรแห่งรัฐ (state curriculum) กระตุ้นให้ครูและครูใหญ่ เข้าไปมีบทบาทในฐานะ ‘ผู้ออกแบบสังคม’ รวมถึงเรียกร้องให้บุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ ‘สวนทาง’ กับมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติทางเพศที่ประเพณีเดิมเคยวางเอาไว้
แนวทางปฏิบัติคือ ครูเนอร์สเซอรีหลายแห่งในสวีเดน จะไม่เรียกนักเรียนตามเพศ แทนที่จะใช้คำว่า เด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย ครูกลับเรียกเด็กๆ ว่า ‘เพื่อนๆ’ หรือไม่ก็เรียกชื่อเด็กไปเลย ลามไปถึงกิจกรรมการเล่นต่างๆ ก็ถูกออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ แบ่งเพศหญิงชายกันเองด้วย
ทั้งนี้คำสรรพนามเพศกลาง อย่างคำว่า ‘hen’ จึงถูกนำมาใช้ โดยคำว่า hen รู้จักกันครั้งแรกในปี 2012 (ในภาษาสวีเดน hon คือ she แทนผู้หญิง และ han ก็คือ he แทนผู้ชาย) และจากนั้นชาวสวีดิชก็รับและนำไปประยุกต์ใช้ เป็นธรรมดาที่คนจะต่อต้าน และรู้สึกลบต่อคำนี้ในช่วงแรก แต่ก็ค่อยๆ ยอมรับมากขึ้นในเวลาต่อมา มีการใช้คำว่า hen มากขึ้นในหลายบริบท ขณะที่ประเทศอื่นยังไม่มีแนวคิดเช่นนี้
มีงานวิจัยที่พยายามค้นหาว่า ‘การไม่ระบุเพศ หรือ Gender-neutral’ เช่นนี้ ส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้าง มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วในวารสาร ‘The Journal of Experimental Child Phychology’ สรุปว่า หลายๆ พฤติกรรมจะหายไปเมื่อเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้แนวคิด ‘ไม่ระบุเพศ’ ในโรงเรียนเด็กเล็ก
เช่น เด็กจะไม่แสดงอย่างชัดเจนว่า ชอบเล่นกับเพื่อนที่เป็นเพศเดียวกันมากๆ และมีแนวโน้มตัดสินว่าอะไรเป็นอะไรตามเสียงส่วนใหญ่ (stereotype) ค่อนข้างน้อย
อย่าให้ stereotype มาขวางการเรียนรู้
ที่เมือง Hammarbyhojden ทางใต้ของกรุงสต็อกโฮล์ม เอลิส สโตร์ซัน (Elis Storesun) ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาพในสถานศึกษา จะนั่งทำงานร่วมกับครูอีกสองคนในห้องเรียนของเด็กวัย 4-5 ขวบ
เมลิซา เอสเทกา (Melisa Esteka) ครูวัย 31 อธิบายว่า “ชั่วโมงศิลปะ เราเห็นกลุ่มเด็กผู้หญิงวาดรูปเยอะมาก วาดรูปเด็กผู้หญิงที่แต่งหน้าหนาและขนตายาวมาก มันชัดเจนว่าพวกเธอเป็นเด็กผู้ญิ้งผู้หญิง แล้วเราก็ถามว่า อ้าว แล้วเด็กผู้ชายไม่มีขนตาด้วยเหรอ …พวกเธอก็ตอบมาว่า หนูรู้ค่ะว่ามันไม่เหมือนกับชีวิตจริงหรอก”
สโตร์ซัน วัย 54 เห็นคล้อยตามว่า “พวกเค้าแค่กำลังพยายามทำความเข้าใจว่าเด็กผู้หญิงควรเป็นอย่างไร”
ด้านครูเอสเทกากลับรู้สึกอึดอัดและไม่เข้าใจ เธอตั้งเป้าหมายส่วนตัวเอาไว้ว่า “ต้องหยุด ไม่ให้เด็กๆ แบ่งว่าของสิ่งไหนมีไว้เพื่อเด็กผู้ชายและของสิ่งไหนมีไว้เพื่อเด็กผู้หญิง” แต่เพียงไม่นาน เด็กๆ ในห้องก็เริ่มซึมซับ เรียนรู้ความเป็นชายหญิงแบบ stereotype จากป้ายโฆษณาและการ์ตูน จนทำให้ดูเหมือนว่ากระบวนการสลายเพศนี้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่งานเชิงระบบอย่างนี้โรงเรียน Seafarer เข้าใจดีว่าต้องค่อยๆ ทำไป เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดด้วยเวลา หรือกรอบสี่เหลี่ยมของห้องเรียน
“เด็กๆ ได้หลายอย่างจากกระบวนการนี้” พวกเขาได้โลกทั้งใบกลับบ้านไปด้วย ซึ่งพวกเราไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้ได้เลย”
ครูก็ต้องสอนแบบไร้เพศ
การทดลองใช้แนวคิดไม่ระบุเพศในโรงเรียนเด็กเล็กของสวีเดน เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1996 ในเมืองเล็กๆ ชื่อ Trodje อยู่ติดกับทะเลบอลติก คนที่ริเริ่มชื่ออินเกมาร์ เกนส์ (Ingemar Gens) เขาไม่ใช่นักการศึกษาแต่เป็นนักข่าวที่เริ่มจากความสนใจเรื่อง มานุษยวิทยาและทฤษฎีเพศสภาพ (gender) และเขาก็ได้ไปศึกษาค้นคว้าเรื่องชายชาวสวีเดนหาคู่ (ภรรยาคนไทย) ผ่านทางอีเมล สะสมความรู้ข้อมูลมาเรื่อยๆ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘โอกาสที่ต้องเท่าเทียม’ (equal opportunity)
เกนส์ต้องการรื้อแนวความเชื่อของ stoic หรือ ‘บุคคลผู้ซึ่งสามารถกดเก็บอารมณ์และมีความอดทน’ ซึ่งกลายมาเป็นบุคลิกของสุภาพบุรุษสวีดิช คือ เก็บความรู้สึก ไม่ระบายและไม่อ่อนแอ
เกนส์คิดว่าโรงเรียนเด็กเล็ก คือที่ที่เหมาะสมในการรื้อทิ้งระบบคิดดังกล่าว และสอดแทรกกระบวนการที่เรียกว่า การชดเชยทางเพศ (compensatory gender) เข้าไป
ช่วงแรกมี 2 โรงเรียนที่เอาด้วยกับสิ่งนี้
แต่ละวัน เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงที่โรงเรียนก่อนวัยเรียนจะถูกแยกกันอยู่ช่วงหนึ่ง โดยครูจะสอนเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับเพศอื่น เด็กผู้ชายจะถูกสอนให้นวดเท้าซึ่งกันและกัน ส่วนเด็กหญิงจะถูกพาเดินบนหิมะด้วยเท้าเปล่า และสอนให้เปิดหน้าต่างแล้วตะโกนออกไปดังๆ
“เรากำลังสอนเด็กผู้ชายให้ทำในสิ่งที่เด็กผู้หญิงรู้อยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับเด็กผู้หญิง เราก็สอนเช่นนั้น” เกนส์ซึ่งตอนนี้อายุ 68 แล้ว บอกอีกว่า ที่ผ่านมาเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียหายเยอะมาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาคาดไว้อยู่แล้ว
“พวกเขาบอกว่าเรากำลังฝังหัวความคิดผิดๆ ให้เด็ก” เกนส์ยังบอกอีกว่า “ผมคิดว่า พวกเราเอง (ผู้ใหญ่) ก็ยัดเยียดทุกเรื่องให้เด็กๆ มาตลอด”
จากนั้น ครูก็ถูกขอความร่วมมือให้เช็คหรือสังเกต วิดีโอเทปการสอนของตัวเองอีกครั้งเพื่อแยกให้ออกว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่าง วิธีการสอนเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิง
ครูหลายคนพบว่า พวกเขาพูดเยอะ และใช้ประโยคที่ซับซ้อนกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย
เฮเลนา แบกสตรอม (Helena Baggstrom) ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ขอเรียกดูวิดีโอเทปของเธอ ขณะอยู่ในห้องน้ำซึ่งกำลังดูแลและแต่งตัวให้เด็กๆ มีอยู่ตอนหนึ่งทำให้เธอค่อนข้างตกใจกับสิ่งที่ทำลงไป…
ในวิดีโอเทป เธอเห็นตัวเองกำลังง่วนกับการช่วยแต่งตัวให้เด็กผู้ชาย ขณะที่เธอกลับปล่อยให้เด็กผู้หญิงแต่งตัวเอง เพราะคิด (เอาเอง) ว่า เด็กผู้หญิงจะแต่งตัวเองได้
“ยิ่งเราดู เรายิ่งเห็น เรายิ่งรู้สึกกลัวสิ่งที่เราทำ” แบกสตรอม สารภาพ
ในปี 1998 รัฐบาลสวีเดนได้เพิ่มภาษาใหม่ ในการหลักสูตรการศึกษาของประเทศ เรียกร้องให้โรงเรียนก่อนวัยเรียน ลดทอนบทบาทและหน้าที่ที่แบ่งตามเพศแบบดั้งเดิม และกระตุ้นให้เด็กๆ ได้สำรวจเองอย่างไร้ข้อจำกัดหรือกรอบทางเพศ ส่วนโรงเรียนไหนจะปรับใช้อย่างไร ให้อยู่ภายใต้นโยบายของแต่ละแห่ง
ช่วงแรกนักอนุรักษนิยม ก็ออกมาประท้วงและต่อว่านโยบายดังกล่าวเป็นการล้างสมองของฝ่ายก้าวหน้า
ยกตัวอย่างพรรคฝ่ายขวาอย่าง Sweden Democrat Party ได้ที่นั่ง 13 เปอร์เซ็นต์จากการเลือกตั้งในปี 2014 ให้คำสัญญาว่าจะนำการสอนแบบ “ค้นหาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการระบุเพศของเด็กๆ / คนรุ่นใหม่” กลับคืนมาให้ได้
แต่ในบรรยากาศการเมืองและสังคมขณะนั้น กลับให้ความสำคัญ นโยบายอย่างการอพยพ ความเท่าเทียมทางเพศ ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคหัวก้าวหน้า คือ The Center Left Social Democrat และ The Center Right Moderates จนได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากสำเร็จ
ทำไม สีฟ้า = ผู้ชาย?
ว่าที่คุณครูวัย 26 ปี อย่าง เอลิน เกอร์ดิน (Elin Gerdin) โดยรูปลักษณ์ภายนอก เธอดูเป็นผู้หญิงตามแบบฉบับ stereotype ผมยาวสีเข้มเป็นลอนสวยด้วยโรลไฟฟ้า เกอร์ดินบอกว่า ดูผ่านๆ เธอคือผู้ญิ้งผู้หญิง ซึ่งเป็นสัญญาณแรกเลยที่บ่งบอกเพศ แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากเสื้อกันฝนที่เราสามารถจะสวมหรือถอดมันออกก็ได้
“นี่เป็นสิ่งที่ฉันเลือกเพราะมันคือฉัน และ มันคือตัวฉันเพราะฉันคือผลผลิตของสังคม”
ตอนที่กำลังศึกษาอยู่ มีหลายช่วงย้อนกลับมาในความคิดของเกอร์ดิน
เพื่อนคนหนึ่งของเกอร์ดินกำลังมีลูก และเขาก็โพสต์รูปลงเฟซบุ๊ค แต่งรูปด้วยสีฟ้าไม่ก็สีชมพู สำหรับเกอร์ดินนี่คือการแบ่งเพศอันดับแรกๆ ในสังคม
เกอร์ดินรู้สึกผิดหวังกับสิ่งนี้ รู้สึกเสียใจกับเด็กๆ เธอจึงตัดสินใจไปหาเพื่อนคนนั้นและอธิบายเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าพวกเขากำลังทำผิด เกอร์ดินทำไปเพราะรู้สึกว่ามันคือความรับผิดชอบของเธอ
“เรากำลังแบ่งกลุ่มเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโต เรากำลังสอนเด็กให้ไปทางนั้นทางนี้ ซึ่งการเปลี่ยนสังคมทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”
สอนแบบไม่ระบุเพศ สอนอย่างไรดี
ที่โรงเรียนเด็กเล็ก Seafarer กระบวนการเรียนแบบไม่ระบุเพศเริ่มต้นในช่วงเช้า เด็กๆ กำลังปีนป่ายอย่างสนุกสนานในชุดหมี (ข้างนอกหิมะขาวโพลน) แต่ถ้ามองเข้าไปดีๆ จะเห็น ‘ออตโต’ เด็กชายวัย 3 ขวบเล่นรวมอยู่ในชุดเดรสของเด็กผู้หญิง
ออตโตชอบใส่ชุดกระโปรงมากกว่า เขาบอกว่าชอบที่สุดตอนหมุนตัวแล้วกระโปรงบานออก นั่นทำให้เขา ‘ไม่เหมือนใคร’ ที่นี่
จนถึงตอนนี้ไม่มีใครสักคนในครอบครัวออตโต ทั้งปู่ย่า พี่เลี้ยง หรือเพื่อนๆ ที่จะบอกให้ออตโตเลิกใส่กระโปรง
ลีนา คริสเตียนสัน (Lena Christiansson) แม่ของออตโตวัย 36 ปี ก็บอกว่าอยากให้ลูกชายแต่งอย่างนี้ไปนานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
“ความคาดหวังแบบนี้กำลังเพิ่มมากขึ้น” สโตร์ซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศของ Seafarer บอกอีกว่า “ตอนนี้พ่อแม่เริ่มหันมาถามเราว่า คุณคิดจะทำอย่างไรกับเรื่องเพศ”
ไม่ใช่แค่เฉพาะพ่อแม่ เด็กๆ ด้วยกันเองก็อาจทำให้กระบวนการเรียนรู้เรื่องนี้ขลุกขลักไปบ้าง
สโตร์ซันยกตัวอย่าง เด็กผู้ชายวัย 3 ขวบคนหนึ่ง ปฏิเสธที่จะวาดรูปหรือเต้น เด็กคนนี้เลยถูกแก๊งเพื่อนๆ ขู่ว่าถ้าไม่ทำจะตัดออกจากกลุ่มผู้ชาย
ร้อนถึงสโตร์ซันต้องเข้าไปแก้ปัญหา คลี่คลายด้วยการจัดกิจกรรม จนสุดท้ายเธอก็เกลี้ยกล่อมให้เด็กผู้ชายกลับมาเล่นกันได้เหมือนเดิมโดยไม่เกี่ยงเพศ
การรักษาบรรยากาศไร้เพศในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คารินา ซีฟบยอร์ค (Carina Sevebjork) วัย 57 ที่เคยสอนในโรงเรียนราว 1 ปีครึ่ง บอกว่ามีบ่อยครั้งที่เธอพูดอะไรผิดๆ ออกไป เช่น บ่นเรื่องการแต่งตัวของเด็กๆ โดยไม่ทันคิด
“คุณพูดออกไปในแบบของคุณโดยอัตโนมัติ แต่คุณต้องรับผิดชอบผลของมัน แทนที่จะบอกสวยไม่สวย คุณสามารถแสดงความเห็นเรื่องเสื้อผ้าเด็กๆ ด้วยวิธีอื่นๆ ได้ เช่น โอ้ว พระเจ้า มีโพลกาดอทกี่วงบนเสื้อหนูจ๊ะเนี่ย”
อีกหนึ่งตัวอย่าง …อิซาเบล แซนด์เบิร์ก (Izabell Sandberg) ครูวัย 26 ก็สังเกตเด็กหญิงวัย 2 ขวบที่พ่อแม่พามาส่งด้วยชุดกระโปรงสีชมพูอ่อนพอดีตัว ตลอดทั้งวันหนูน้อยคนนี่้จะระวังตัวไม่ให้สกปรก ถ้าเด็กๆ คนอื่นมาแย่งของเล่นเธอไป อย่างมากก็แค่ร้องไห้กระซิกๆ
“เธอเหมือนจะยอมให้กับทุกอย่าง” แซนด์เบิร์ก จับสังเกต “ฉันคิดว่ามันเป็นบุคลิกของเด็กผู้หญิงมากๆ เหมือนว่าเธอกำลังขออนุญาตทุกคนเพื่อให้มานั่งอยู่ตรงนี้”
จนเช้าวันหนึ่ง เด็กผู้หญิงคนนี้ใส่หมวกมาและกำลังจัดกระเป๋าสะพายให้เรียบร้อย เตรียมตัวเองให้พร้อมออกสำรวจในกิจกรรม จู่ๆ เพื่อนร่วมห้องคนหนึ่ง ก็เดินออกจากห้องพร้อมหยิบกระเป๋าของเธอไปด้วย เธอรีบยื่นมือขวางแล้วตะโกนเสียงดังมากๆ ว่า “ไม่” จนแซนด์เบิร์กต้องหันกลับมามอง
เวลาผ่านไป เด็กผู้หญิงคนนี้เริ่มพูดเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเด็กผู้ชาย ตกเย็นการแต่งตัวที่เคยเรียบร้อยก็กลับมอมแมม พ่อแม่ไม่ค่อยพอใจ และรายงานครูว่าตอนอยู่บ้าน ลูกสาวเริ่มดื้อและไม่เชื่อฟังมากขึ้น
ได้ฟังอย่างนั้น ครูแซนด์เบิร์กตอบกลับพ่อแม่ไปอย่างนี้
“นี่เป็นสิ่งที่โรงเรียนเราพยายามทำอยู่ ดังนั้นเราจะไม่ห้ามเด็กๆ ค่ะ” (ยิ้ม)