- WHO บรรจุให้โรคติดเกมเป็นอาการใหม่ทางจิตในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (The International Classification of Diseases) ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2018
- ผู้ที่จะเข้าข่ายถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเกมนั้นจะต้องเป็นปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับตัวเองและคนรอบข้างอย่างรุนแรง
- ไม่จำเป็นต้องเลิกเล่น แค่จำกัดเวลาเล่นเกมอย่างเหมาะสม และเป็นเหตุเป็นผลกับตัวเองให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา WHO ได้ประกาศให้ ‘โรคติดเกม (Gaming Disorder)’ บรรจุลงคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (The International Classification of Diseases: ICD) หรือที่รู้จักกันว่า ICD-11 ฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2018
โดยผู้ที่เข้าข่ายมีอาการดังกล่าว WHO ระบุว่าจะต้องมี 3 พฤติกรรมดังต่อไปนี้ต่อเนื่องซ้ำเป็นเวลา 12 เดือนขึ้นไปจนส่งผลกระทบต่อตัวเองไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต สุขภาพร่างกาย การเรียน หน้าที่การงานและต่อเนื่องไปยังคนใกล้ตัว
- ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเกมได้
- ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือกิจกรรมใดๆ รวมไปถึงกิจกรรมหลักในแต่ละวัน
- ยืนยันที่จะเล่นเกมอย่างต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบในเชิงลบแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ WHO ยังอธิบายถึงสาเหตุที่บรรจุให้โรคติดเกมเป็นอาการทางจิตชนิดใหม่ผ่านหน้าเว็บไซต์ทางการว่า ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบของอาการดังกล่าว รวมถึงการรวบรวมผลสรุปของผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ภูมิภาค ทั้งยังพบว่ามีความเป็นไปได้ว่าโรคดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการในการบำบัดและแนวทางป้องกันที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี WHO พบว่า สัดส่วนผู้ที่มีอาการดังกล่าวนั้นมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบจากผู้ที่เข้าร่วมเล่นเกมดิจิตอลและเกมวิดีโอในระหว่างการศึกษาของ WHO อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เล่นเกมทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าข่ายเป็นโรคดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคนที่เล่นเกมคำนึงถึงการบริหารเวลาในการเล่นเกมอย่างเหมาะสมซึ่งเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
“หากลูกของคุณมีอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่อพวกเขาถูกห้ามเล่นเกม เป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าผู้ปกครองจะต้องจำกัดเวลาการเล่นเกมของพวกเขา” ดอกเตอร์จีนา โพสเนอร์ (Gina Posner) จาก MemorialCare Orange Coast Medical Center ในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าว
โดยโพสเนอร์เน้นว่าผู้ปกครองจำเป็นต้องจำกัดเวลาการใช้งานหน้าจอ (screen time) ในแต่ละวันอย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นเล่นเกม สมาร์ทโฟน แทบเล็ตหรือดูทีวี ไม่ให้เกิน 2 ชั่วโมงต่อวันและน้อยกว่านั้นได้ยิ่งดี ทั้งไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนลงไปสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าว
“ผู้ปกครองสามารถจำกัดและกำหนดเวลาการใช้งานหน้าจอได้อย่างง่ายๆ เช่น ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนถึงจะเล่นเกมได้หรือดูทีวีได้ โดยช่วงเวลาที่อนุญาตให้พวกเขาใช้งานหน้าจอจะต้องกำหนดชัดเจนว่าได้เท่าไหน”
ส่วนแนวทางในการบำบัดอาการเสพติดเกมนั้นโดยพื้นฐานขึ้นอยู่กับการบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) ดร.ไซมอน เรโก (Simon Rego) นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการ Montefiore Medical Center/Albert Einstein College of Medicine อธิบายว่าสามารถทำได้ 2 ขั้นตอน ได้แก่ การกระตุ้นให้ผู้ป่วยตระหนักว่าการเล่นเกมของพวกเขาขณะนี้คือปัญหาและมองหาตัวเร้าที่ส่งผลให้นิสัย/พฤติกรรมการเล่นเกมของพวกเขาดีขึ้นหรือแย่ลง โดยผู้เชี่ยวชาญอาจจะเสนอให้พวกเขาเล่นเกมต่อไปหรือสั่งให้เลิกเล่นเกมไปเลย ซึ่งวิธีการดังกล่าวเรโกอธิบายว่ามีเป้าหมายเพื่อให้พวกเขาค้นหาและสามารถจัดการด้วยตัวเองเพื่อนำไปสู่ ‘หนทางที่เป็นเหตุเป็นผล’ ของพวกเขา
เรโกเสนอว่า สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคติดเกม พวกเขาไม่จำเป็นต้องเลิกเล่นเกมอย่างเด็ดขาดในระหว่างการรักษาหรือห้ามเด็กๆ ไม่ให้เล่นเกมเพื่อป้องกันการเป็นโรคดังกล่าว สิ่งที่จำเป็นและควรทำคือการจัดสรรเวลาและบริหารเวลาให้เหมาะสม ไม่กระทบต่อตนเองและผู้อื่น
“พวกเขาไม่จำเป็นต้องเลิกเล่นเกมโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขาจำเป็นจะต้องหาวิธีที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการกับตัวแปรนั้น เช่น เล่นเกมเฉพาะตอนอยู่กับเพื่อนเท่านั้นในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ หรือจะเล่นเกมเฉพาะตอนอยู่คนเดียวในห้อง”