- คุณสมบัติหนึ่งที่นายจ้างมองหาคือ Empathy หรือความเข้าใจผู้อื่น
- นอกจากความฉลาดทางปัญญาแล้ว ณ ปัจจุบันและอนาคต คุณสมบัติที่สำคัญกว่าคือ ความฉลาดทางอารมณ์
- เพราะความฉลาดอย่างแรก หุ่นยนต์วิ่งไล่เรามาติดๆ บางอย่างก็วิ่งแซงด้วยซ้ำ แต่ความฉลาดอย่างหลัง ซับซ้อนเกินกว่าเครื่องจักรกลใดๆ จะเลียนแบบได้
ทำไมความฉลาดทางอารมณ์จึงเป็นคุณสมบัติจำเป็นที่ต้องมีในศตวรรษที่ 21?
เราคงได้ยิน ได้อ่าน ได้รับรู้มาระดับหนึ่งแล้วว่า ‘ฉลาดความรู้’ อย่างเดียว ก็อาจเอาตัวไม่รอดในยุคดิจิทัล ยุคเทคโนโลยีอัตโนมัติ หรือยุคหุ่นยนต์สมัยใหม่นี้
จอช คอบ์บ (Josh Cobb) ครูใหญ่กราแลนด์คันทรีเดย์สคูล (Graland Country Day School) เล่าในบทความ ‘Beyond Emoticons’ ของเขาว่า ครั้งหนึ่ง อลัน โนแวมเบอร์ (Alan November) ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีและการศึกษา เอ่ยถาม ซีอีโอของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งว่า
อะไรเป็นคุณลักษณะสำคัญที่คุณจะมองหาในตัวลูกจ้าง?
ซีอีโอ ท่านนั้นตอบเพียงสั้น ๆ คำเดียวว่า Empathy
Empathy หรือ ทักษะการเข้าใจผู้อื่น ในทางปฏิบัติคือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ เป็นความสามารถของแต่ละคนในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นอย่างลึกซึ้งและเข้าใจแบบหยั่งถึง จากมุมมองที่เขาใช้มองสิ่งต่างๆ หรืออาจจะบอกว่าเป็นคนที่อ่านความรู้สึกของคนอื่นออก (emotionally reading) และสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดีในแต่ละสถานการณ์ (tuning in)
ไม่ใช่แค่ซีอีโอท่านนั้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไหวพริบ (resourcefulness) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (problem solving ) และ การวิเคราะห์ข้อมูล (information analysis) เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นมากในโลกยุคใหม่ รวมทั้ง ทักษะการสื่อสาร (communication) การทำงานร่วมกัน (collaboration) การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความฉลาดทางปัญญาและทางอารมณ์
ยกตัวอย่างเช่น ความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ต้องอาศัยการเข้าใจผู้อื่น (empathy) ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ งานคิดออกแบบสร้างสรรค์ต้องอาศัยการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งเพื่อให้ผลิต
นวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและตรงตามความต้องการ เพราะฉะนั้นในกระบวนการออกแบบ การมีความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า หรือเข้าใจปัญหาที่มีอยู่ เป็นกระบวนการที่ควรเกิดขึ้นก่อนการระดมความคิด และลงมือสร้างชิ้นงาน
ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งนักเรียนของกราแลนด์ได้ออกแบบเครื่องซักผ้าที่ทำงานโดยใช้แรงโน้มถ่วงแทนไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ที่อาศัยอยู่ในชนบทในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้
เห็นได้ว่าคุณลักษณะทั้งหมดที่ว่ามานั้นไม่ได้เกี่ยวกับความรู้ความสามารถอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับความฉลาดในการจัดการอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence ด้วย
ในเมื่อคุณลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เราจะสอนเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเราได้อย่างไร? ครูจะสอนให้นักเรียนเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างลึกซึ้งได้จริงหรือ? แล้วเราจะสร้างให้เด็กและเยาวชนมีความฉลาดในการจัดการอารมณ์ด้วยวิธีการไหน?
ก่อนจะไปถึงวิธีการ เรามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันอีกสักหน่อยว่า ทำไมความฉลาดทางอารมณ์จึงสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) และผู้เขียนหนังสือ “The Second Machine Age: Work, Progress, and Prosperity in a Time of Brilliant Technologies” อิริค บรินโอล์ฟซัน (Erik Brynjolfsson) และ แอนดริว แมคเอฟี (Andrew McAfee) กล่าวถึง ยุคหุ่นยนต์ยุคที่ 2 (second machine age) ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่หุ่นยนต์เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองและพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งเข้าทำงานแทนแรงงานมนุษย์ในหลายส่วนที่แตกต่างกันมากขึ้น
แล้วมีอะไรบ้างที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ แต่มนุษย์อย่างเราทำได้และยังพอมีประโยชน์อยู่?
ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ความชำนาญกระฉับกระเฉง (dexterity) และความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคคล (interpersonal intelligence) เป็นทักษะที่มนุษย์เอาอยู่ ทั้งด้านอารมณ์ ความสัมพันธ์ การเอาใจใส่ดูแล การโคช การกระตุ้น การเป็นผู้นำและอื่น ๆ
เช่นเดียวกับที่ โทมัส เอช. ดาเวนพอร์ท (Thomas H. Davenport) และ จูเลีย เคอร์บี้ (Julia Kirby) เขียนไว้ใน “Beyond Automation” ว่า มนุษย์ยุคอัตโนมัติจะต้องรู้วิธีการทำงานกับผู้อื่น (interpersonal intelligence) รวมทั้งรู้และเข้าใจความสนใจ (interests) เป้าหมาย (goals) และจุดแข็งของตัวเอง (strengths) หรือเรียกว่า intrapersonal intelligence
กลับมาที่เรื่องวิธีการ เมื่อความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งจำเป็น แล้วโรงเรียนทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้มากกว่าแค่ความรู้
ที่กราแลนด์ พวกเขาเริ่มจากการจัดสรรเวลา 20 นาทีทุกวันให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสำหรับการให้คำปรึกษาแนะนำ และมีห้องเรียนที่ตอบสนอง (Responsive Classroom) ทุกเช้าสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา จากการลองผิดลองถูกในช่วงต้น ในที่สุดกราแลนด์ได้กำหนดช่วงเวลา 08:10 – 08:30 ช่วงเช้าทุกวันก่อนเริ่มบทเรียนให้เป็นเวลาสำหรับห้องเรียนที่ตอบสนองสำหรับชั้นประถมศึกษาและเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า Developmental Designs หรือ การพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ครูทุกคนจะได้เข้ารับการอบรมเพื่อเรียนรู้วิธีการโค้ชนักเรียน
ห้องเรียนที่ตอบสนองและการพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (The Responsive Classroom and Developmental Designs) คืออะไร?
คอบ์บ บอกว่า ทั้งสองอย่างมีความสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้ พวกเขานำการปฏิบัติอิงหลักฐาน (evidence-based programs) มาช่วยสร้างการเติบโตให้เด็ก ทั้งทางสังคม อารมณ์ และด้านวิชาการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและปรับปรุงบรรยากาศภายในโรงเรียนให้ส่งเสริมการเรียนรู้
การพัฒนาห้องเรียนที่ตอบสนองมุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบหลัก 4 ประการของการศึกษาระดับประถมศึกษา
- การมีส่วนร่วมทางวิชาการ (Engaging Academics)
- ชุมชนเชิงบวกในห้องเรียน (Positive Community)
- การจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Effective Management)
- การติดตามพัฒนาการของเด็ก (Development Awareness)
ส่วนการพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะตัวเอง 3 ด้าน ได้แก่
- สังคมและอารมณ์ (Social – Emotional)
- ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนในห้องเรียน และภายในโรงเรียน (Relationship and Community)
- วิชาการ (Academic)
โรงเรียนหลายแห่งกำลังเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อส่งเสริมความฉลาดทางวิชาการและทางอารมณ์ไปด้วยกัน ในบทความ“ Power Down or Power Up?” การศึกษาที่จำเป็นสำหรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โนแวมเบอร์ ย้ำว่า ผู้ใหญ่มักบอกเสมอว่าเด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของสังคมและประเทศชาติ เด็กและเยาวชนจะทำแบบนั้นได้ ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนหนุนเสริมเครื่องมือและประสบการณ์ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อโรงเรียนมีวัฒนธรรมการสอนที่สร้างการเรียนรู้โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่น ให้นักเรียนมีส่วนช่วยคิดออกแบบหลักสูตร ระบุเรื่องที่นักเรียนสนใจอยากเรียนรู้จากความต้องการของนักเรียนเอง เป็นต้น
ในบทความ “Rethinking Curriculum for the 21st Century อาร์เทอร์ คอสตา (Arthur Costa) และ เบนา คาลลิค (Bena Kallick) กล่าวไว้ถึง 3 ข้อคิดในวิถีการเรียนการสอนแบบใหม่ ว่า โรงเรียนต้องสร้างวิถีการเรียนรู้ด้วยวิธีคิดใหม่
หนึ่ง จากการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบ เปลี่ยนมาเป็นเรียนรู้ว่าควรคิดหรือทำอย่างไรเมื่อคำตอบคลุมเครือไม่ชัดเจน
สอง จากการสื่อความหมายในสิ่งที่เรียนรู้เพียงอย่างเดียว มาเป็นการต่อเติมสร้างความหมาย
และ สาม จากการประเมินโดยคนนอกมาเป็นการประเมินด้วยตัวเอง
ไม่ว่าโลกจะเดินทางไปในทิศทางไหน สิ่งที่พ่อแม่ โรงเรียนและผู้ใหญ่ทำได้ คือ การเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนมีทักษะการเอาตัวรอดที่เป็นประโยชน์ติดตัวไปใช้ในอนาคต เมื่อความรู้อย่างเดียวไม่ใช่ทางออก ผู้ใหญ่จึงต้องช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้พวกเขาด้วย อย่างที่ แฟรงคลิน ดี. โรสเวลส์ (Franklin D. Roosevelt) อตีดประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บอกว่า
“เราไม่สามารถสร้างอนาคตให้ลูกหลานของเราได้เสมอไป แต่เราสามารถสร้างลูกหลานของเราให้มีความพร้อมสำหรับอนาคตได้”
“We cannot always build a future for our youth, but we can always build our youth for the future.”