หากคิดว่าความคลั่งไคล้แผ่นเพลงโมซาร์ทสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะเป็นเรื่องสุดท้าย ลองอ่านเรื่องการสอดไอพอดเข้าไปในช่องคลอดของคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อเปิดเพลงกระตุ้นความฉลาดของลูกน้อยเสียก่อน
ข้อเขียนนี้แปล ถอดความ เก็บความ เขียนใหม่ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง ‘Can You Super-Charge Your Baby?’ ของ Erik Vance ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American ฉบับพิเศษ Your Inner Genious, winter 2019 หน้า 72-77
ต่อจากตอนที่แล้ว
“ถ้าลูกของดิฉันเดินได้เมื่ออายุ 10 เดือนแทนที่จะเป็น 13 เดือน เขาจะได้เป็นหนึ่งในทีมนักวิ่งเร็วกว่าคนอื่นหรือเปล่า?” เป็นคำถามของ คาเรน อดอล์ฟ นักจิตวิทยาเด็กที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค “การเร่งพัฒนาการของกล้ามเนื้อจะมีผลระยะยาวหรือเปล่า?”
ถัดจากเรื่องการเร่งพัฒนาการด้านภาษาและคณิตศาสตร์ด้วยสินค้าที่โฆษณาว่าเร็วกว่าดีกว่าในตอนที่แล้ว ตอนนี้เรามาดูเรื่องการเร่งพัฒนาการของกล้ามเนื้อ
เราพบว่าเราสามารถเร่งให้ทารกนั่ง คลาน และเดินได้จริงๆ เรื่องนี้ทำได้ไม่ยากแต่ประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่าจริงหรือเปล่า ในปี 1935 นักจิตวิทยามัยร์เทิล แม็คกรอว์ ได้ฝึกทารกคนหนึ่งของเขาให้ว่ายน้ำ ปีน และเล่นสเก็ตในขณะที่ปล่อยให้ลูกแฝดอีกคนหนึ่งนั่งคลิปแบบที่ทารกทั่วไปจะได้นั่งกันอีกนาน เขาพบว่าเมื่อถึงเวลาลูกแฝดคนที่สองนี้ทำได้ทุกอย่างที่อีกคนหนึ่งทำ
การเร่งพัฒนาการของกล้ามเนื้อนี้มิได้มีผลเฉพาะกล้ามเนื้อแต่มีผลต่อความคิดอ่านด้วย เด็กที่นั่งได้เร็วกว่าจะเอื้อมมือคว้าของได้ไกลกว่า เด็กที่เดินได้เร็วกว่าจะสำรวจโลกได้ไวกว่า มองในแง่นี้เร็วกว่าย่อมดีกว่า อย่างไรก็ตามพัฒนาการด้านการคิดมิได้มาจากพัฒนาการกล้ามเนื้อที่เร็วกว่าเพียงอย่างเดียว นั่งเร็วยืนเร็วกว่าแล้วจะฉลาดกว่าจึงมิใช่แน่ๆ
คาเรน อดอลฟ์ เล่าต่อไปว่านักวิ่งทาราอูมารา (Tarahumara) ที่เม็กซิโกเริ่มวิ่งตั้งแต่อายุน้อยแต่ไม่มีใครคลานหรือเดินเร็วกว่าเด็กทั่วไป ทุกวันนี้เธอทำงานที่คาจิกิสถานที่ซึ่งแม่มัดลูกไว้กับตัวทั้งวันก็ไม่พบว่าเด็กจะเดินช้ากว่าเด็กทั่วไป ประการหลังนี้ชวนให้นึกถึงชาวเขาบ้านเราที่กระเตงลูกบนตัวออกไปทำไร่ทั้งวัน น่าสนใจมากว่าเด็กเหล่านี้เดินช้าหรือเปล่า แต่เท่าที่เห็นด้วยตาเปล่าพวกเขาวิ่งเร็วมากบนไหล่เขาและหยุดกึ้กได้เมื่อถึงหน้าผา
ถึงปัจจุบันไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนการ supercharge เด็กเล็กว่าจะมีประโยชน์อะไร แต่มีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการละเล่นพื้นฐานว่ามีประโยชน์มากมายแน่ อาหารสำคัญต่อร่างกาย การเล่นคืออาหารของจิตใจ การเล่นพัฒนาการภาษา การคิด มิติสัมพันธ์ และเสริมสร้างพรสวรรค์ด้วยกลไกที่นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจ (แปลว่ายังไม่เข้าใจ)
ของเล่นสองชนิดที่ถูกกล่าวขวัญมากคือบล็อกไม้และเลโก้ ของเล่นสองชิ้นนี้เสริมสร้างความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์แน่ๆ และในบางรายงานเสริมสร้างความสามารถด้านคณิตศาสตร์ด้วย ผลการศึกษานี้ไม่น่าแปลกใจเพราะของเล่นสองชิ้นนี้ช่วยให้เด็กรู้จักสิ่งที่เรียกว่ารูปทรง การเปลี่ยนตำแหน่ง และแรงดึงดูดโลก ซึ่งก็คือพื้นฐานของฟิสิกส์
นึกภาพเด็กคนหนึ่งเล่นรถตักดินของเล่นบนกองทรายดูเถิด เขาจะฟิสิกส์ขนาดไหน มันน่าดูชมมาก
จะมีการเรียนรู้เรื่องแรงดึงดูดโลกอะไรที่สนุกสนานยิ่งกว่าการปีนอีกเล่า
เด็กคนหนึ่งสามารถใช้ขันเก่าๆ ตักทรายขึ้นมาเทลงไป แล้วทำซ้ำๆ เช่นนั้นได้นานสองนานโดยไม่เบื่อ เพราะอะไร เพราะเขาสนุกที่ได้เห็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ด้วย ‘ฝีมือ’ ของตนเอง คำสำคัญจึงเป็นคำว่าฝีมือ เขาเล่นกองทราย ต่อบล็อกไม้ ขัดใจก็ปา สร้างเสร็จก็เตะทิ้ง หรือถ้ารวยพอจะเล่นเลโก้ ทุกคนกำลังเรียนรู้ฟิสิกส์กันทั้งนั้น
หนึ่งในฟิสิกส์ที่เข้าใจยากและซับซ้อนคือเรื่อง ‘เวลา’
ดิมิตรี คริสทาคิส ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันได้อธิบายข้อเสียของการที่ปล่อยให้ทารกหรือเด็กเล็กดูหน้าจอว่ามิใช่เพราะจำนวนเวลาที่ดูเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่เป็นเพราะความเร็วของการเปลี่ยนภาพด้วย เกมสมัยใหม่ โฆษณาและการ์ตูนยุคใหม่มีการเปลี่ยนภาพหน้าจอที่รวดเร็ว ความเร็วนี้จะไปกำหนด ‘จังหวะ’ ของสมองเหมือนกับที่เครื่องเคาะจังหวะเมโทรนอม (metronome) ทำกับนักดนตรี
ทารกและเด็กจะสร้าง “เวลาที่เคลื่อนที่เร็วเกินไป” ขึ้นมาบนโลก จะเห็นว่าทารกและเด็กเล็กมิได้อยู่ภายใต้กฎทางฟิสิกส์ เขาสร้างกฎทางฟิสิกส์ขึ้นมาเอาเองต่างหาก
การกำหนดจังหวะของโลกเร็วเกินไปนี้เองทำให้พวกเขาสมาธิสั้น
การปล่อยให้เด็กวิดีโอคอลกับปู่ย่าตายายจึงเป็นเรื่องทำได้เพราะปู่ย่าตายายมิใช่การ์ตูน ดังนั้นท่านกรุณานั่งคุยให้เรียบร้อยอย่าทำเว่อร์มากไป
ดิมิตรี คริสทาคิส ได้วิจัยในหนูทดลองโดยใช้กลูตาเมท (glutamate) ซึ่งเป็นสารในสมองที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้และความจำเป็นตัวบ่งชี้ เขาพบว่าหนูที่ถูกกระตุ้นมากเกินไปจะมีความทนทานต่อโคเคนมากกว่าหนูทั่วไป ความรู้ข้อนี้มิได้แปลว่าเด็กติดจอจะติดยาในเวลาต่อมา แต่เขาพบว่าร้อยละ 10 ของเด็กที่ดูจอก่อน 2 ขวบเมื่อสิบปีก่อนจบลงด้วยการติดยา
กลไกหนึ่งของยาเสพติดคือมันทำให้จังหวะของโลกช้าลง ช้าลงมากพอที่พวกเขาจะก้าวทันได้
ทั้งหมดที่เขียนมามิได้บอกว่าของเล่นเด็กทันสมัยมีโทษ แต่เรามีคำถามเรื่องประโยชน์คุ้มค่า และเรามิอาจปฏิเสธความจริงที่ว่าเด็กต้องการการสบตาจากพ่อแม่ และการเล่นกับพ่อแม่ตัวเป็นๆ มากกว่าอย่างอื่น
กลับไปที่ตอนต้นของบทความนี้ เมื่อสองสามีภรรยาพบยางกัดสำหรับทารกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา พวกเขามิได้ซื้อของเล่นชิ้นนี้มาแต่ไปซื้อขนมปังแช่แข็งถุงละ 99 เซ็นต์กลับไปให้ลูกกัดเล่นเพื่อนวดเหงือกแทน