ข้อเขียนต่อไปนี้ แปล เก็บความ ตัดทอน ตีความ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียง คือ
Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al; AAP COMMITTEE ON PSYCHOSOCIAL ASPECTS OF CHILD AND FAMILY HEALTH, AAP COUNCIL ON COMMUNICATIONS AND MEDIA. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics. 2018;142(3):e20182058
ตอนนี้เป็นตอนจบ
ในตอนท้ายของบทความชิ้นนี้บอกว่าทั่วโลกกำลังประสบชะตาเดียวกัน มิจำเพาะบ้านเรา
ครอบครัวทุกวันนี้เผชิญความกดดันจากเรื่อง ‘ความสำเร็จ’ และเชื่อว่าความสำเร็จของชีวิตเกิดจากการรีบเข้าโรงเรียนดีๆ มีการบ้านมากๆ อ่านออกเขียนได้คิดเลขได้เร็วๆ มีการสอบมากๆ คะแนนสอบดีๆ เข้าสู่โรงเรียนมัธยมที่ดีกว่า ตามด้วยมหาวิทยาลัยที่ดีกว่า นำไปสู่การงานที่มั่นคงกว่า ร่ำรวยกว่าและเครือข่ายทางสังคมที่สูงกว่า
ความคาดหวังเหล่านี้นำมาซึ่งความเครียด เป็นความเครียดที่เสาะหามาเองเพื่อกดดันตนเอง ความต้องการเหล่านี้นำมาซึ่งเวลาที่เด็กได้เล่นโดยอิสระลดลง เวลากินข้าวร่วมกับครอบครัวลดลง และการอ่านนิทานก่อนนอนลดลง
อาจจะมีพ่อแม่ที่ไม่อยากจะทำกับลูกแบบนี้ แต่เมื่อเห็นเพื่อนบ้านส่งลูกไปเรียน เพื่อนที่ทำงานส่งลูกไปติว ญาติผู้ใหญ่พร่ำเตือนว่าลูกจะไม่ทันคนอื่น ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นเอาชนะความไม่มั่นคงที่มีอยู่ก่อนแล้ว สุดท้ายทุกๆ คนก็ส่งลูกไปเรียนตั้งแต่เล็กๆ แล้วบ้านก็เต็มไปด้วยการบ้านในที่สุด
ไม่ได้เล่น ไม่ได้กินข้าวกับพ่อแม่ และไม่มีนิทานก่อนนอน
โทรทัศน์ เกม สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เพิ่มปริมาณเวลาที่เด็กอยู่กับตัวเองมากขึ้น เรียกว่า passive play แย่งเวลาที่เด็กได้เล่นในสนามหรือเล่นกับพ่อแม่มากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า active free play การเรียนรู้ที่แท้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับมนุษย์มากกว่าเด็กกับเครื่องจักร แต่แล้วพ่อแม่ที่ไม่มั่นคงก็จะเริ่มหวั่นใจว่าลูกของตนขาดโอกาสอะไรไปหรือไม่ ดูลูกเพื่อนบ้านหรือลูกของเพื่อนที่ทำงานเขาใช้เครื่องมือไอทีคล่องแคล่ว พูดภาษาอิเล็กทรอนิกส์ และมีของเล่นเกี่ยวกับเกมมากมายในขณะที่ลูกของเราเอาแต่ปีนป่ายต้นไม้ ความรู้สึกผิดนี้ทำให้พ่อแม่ที่ไม่มั่นคงอยู่ก่อนแล้วอดซื้อเครื่องเล่นอิเล็คทรอนิกส์หรือเกมคอมพิวเตอร์เข้าบ้านไม่ได้
และหลงเชื่อว่าคลิปดีๆ มีประโยชน์มากกว่าสนามดีๆ
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเด็กที่เล่นบล็อคไม้มีพัฒนาการด้านภาษาและทักษะการคิดวิเคราะห์สูงกว่าเด็กที่ดูเทปเบบี้ไอนสไตน์
ปัญหาเรื่องการเล่นในสนามโดยอิสระนี้เป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำด้วยดังที่ทราบกัน ครอบครัวที่ยากจนกว่าอาศัยอยู่ในย่านที่เป็นอันตรายมากกว่ากลับจะยอมลงทุนซื้อเกมคอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นมากกว่าที่จะปล่อยเด็กๆ ออกไปในสนาม นั่นยิ่งเท่ากับทำให้ความฉลาดรอบด้านของเด็กๆ ลดลงไปอีกส่งผลต่ออนาคตที่ยากจนหนักขึ้นอีก นอกเหนือจากที่เด็กเล่นเกมมักนำไปสู่โรคอ้วนมากกว่าเด็กเล่นในสนามอีกด้วย
ครอบครัวจำนวนมากไม่รู้จริงๆ ว่าของเล่นที่สำคัญและมีคุณค่าสูงสำหรับพัฒนาการด้านการคิดของเด็กคือบล็อคไม้ ดินน้ำมัน ชุดวาดเขียน วัสดุเหลือใช้ที่นำมาเล่นบทบาทสมมติ หรือลูกบอลสักลูกหนึ่ง มิใช่ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์หรือเกม
นอกจากนี้การเล่นกับพ่อแม่บนพื้นดินหรือในสนามมีประโยชน์มากกว่าการเล่นเกมด้วยกันโดยหันหน้าไปทางจอเดียวกัน แม้ทั้งสองอย่างจะอ้างว่าเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ก็ตาม
พ่อแม่ทำงานมากขึ้น พื้นที่เล่นที่ปลอดภัยลดลง ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์และเกมคอมพิวเตอร์ที่มากขึ้น คลิปเสริมสร้างพัฒนาการที่วางขายมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ มีโอกาสเล่นจริงๆ น้อยลงอย่างมากในหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กไม่พร้อมเข้าสู่สังคมอย่างแท้จริง มีโรคทางกายแทรกซ้อนนานาประการ และเสียหายต่อ executive function (EF)
มีคำพูดให้ได้ยินเสมอว่ารีบไปโรงเรียนเพื่อไปเข้าสังคม แต่สังคมที่ว่านั้นมีนิยามแคบๆ เพียงว่าให้อยู่ในกรอบของระเบียบโรงเรียนหรือระเบียบสังคมที่กำหนด แต่ไม่มี ความยืดหยุ่น (resiliency) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากกว่าของการเข้าสังคม
มากกว่านี้คือไม่มีใครเชื่อว่าการเล่นช่วยเพิ่ม executive function (EF) พัฒนาการด้านภาษา และความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่า
ดีที่สุดคือการเล่นเป็นการเปิดวาล์วนิรภัย ระบายความกดดันออกไปจากใจเด็ก ระบายพลังที่ล้นเกิน เป็นท่อระบายของเสียที่เด็กได้รับมาในแต่ละวัน
เวลาพบปัญหาพฤติกรรมเด็ก อย่างไม่รู้อะไรเลย คือพาเด็กออกไปเล่น อะไรๆ จะดีเอง