ข้อเขียนต่อไปนี้ แปล เก็บความ ตัดทอน ตีความ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียง คือ Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al; AAP COMMITTEE ON PSYCHOSOCIAL ASPECTS OF CHILD AND FAMILY HEALTH, AAP COUNCIL ON COMMUNICATIONS AND MEDIA. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics. 2018;142(3):e20182058
ตอนนี้เป็นตอนที่ 4
ขั้วตรงข้ามของการเล่นและการเรียนเป็นความท้าทายต่อการศึกษายุคใหม่ ด้วยเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการเล่นของเด็กๆ โดยเฉพาะการเล่นเป็นกลุ่มของเด็กๆ ทำหน้าที่เป็นนั่งร้าน (scaffolding) สำหรับพัฒนาการ
หากเป็นพัฒนาการทางจิตสังคมของ อีริค เอช อีริคสัน (Erik H Erikson,1902-1994) นั่งร้านนี้ประกอบด้วยช่วงชั้นที่ 2,3 และ 4 คือ autonomy, initiation และ industry นั่นคือการศึกษาก่อนอนุบาล อนุบาล และประถม ซึ่งกินเวลาตั้งแต่อายุ 3-12 ปี
เลฟ ไวก็อตสกี (Lev Vygotski, 1896-1934) เป็นผู้ใช้คำว่า ‘นั่งร้าน’ นี้สำหรับบรรยายธรรมชาติของพัฒนาการเด็ก เด็กสร้างตัวเองขึ้นไปเป็นชั้นๆ พวกเขาจะพบสิ่งที่เรียกว่า zone of proximal development (ZPD) คือบริเวณที่เขาไปต่อไม่ได้หากมิได้รับความช่วยเหลือ เราเคยคิดว่าความช่วยเหลือนั้นควรมาจากโรงเรียนและครูด้วยการสอนหนังสือ และเด็กๆ ควรผ่านอุปสรรคนั้นด้วยการเรียนและท่องหนังสือ
แต่ที่แท้แล้วความช่วยเหลือนั้นควรมาจากการละเล่นในกลุ่มเพื่อน เพื่อนแต่ละคนช่วยเหลือกันและกันผ่านการเล่น ทำให้เด็กๆ แต่ละคนมีความยืดหยุ่น (resiliency) ของพัฒนาการและการใช้ชีวิตแล้วก้าวข้ามอุปสรรคไป
การเล่นเป็นการระบายของเสียออกจากใจแล้วสร้างกันชนขึ้นแก่จิตใจรวมทั้งสมอง เพื่อให้เขาทนทานต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การเล่นที่ดีเป็นการเล่นกับเพื่อนและการเรียนรู้ที่ดีเป็นการเรียนรู้โดยกลไกของกลุ่ม นั่นคือ compete, compromise และ coordination ตามพัฒนาการที่อีริคสันได้เขียนเอาไว้ นั่นคือการแข่งขัน การประนีประนอม และการร่วมมือ
หากใช้ภาษาการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก็จะว่าเด็กๆ เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกันคือ collaboration ซึ่งจะเป็นคำสำคัญสำหรับโรงเรียนทางเลือกสมัยใหม่และโฮมสคูลวันนี้
การเล่นโดยเฉพาะการเล่นเป็นทีมช่วยเสริมสร้าง executive function (EF) ทั้ง 3 องค์ประกอบคือการควบคุมตัวเอง การบริหารความจำใช้งาน และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น การคิดยืดหยุ่นมากับทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการแก้ปัญหามากับการเล่นหรือเรียนรู้เป็นทีมเพื่อแก้ปัญหาของทีมมากกว่าอย่างอื่น เด็กๆ ในทีมเดียวกันไม่สามารถสร้างนั่งร้านคนเดียวได้ พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อช่วยกันต่อนั่งร้านขึ้นไป
การศึกษาสมัยเก่านิยมพาเด็กไปทัศนศึกษาแล้วกลับมาเขียนรายงาน พาเด็กเข้าห้องสมุดเพื่อฝึกค้นคว้า หรือพาเด็กไปทำกิจกรรมอาสาสมัครแล้วกลับมาสะท้อนความรู้สึก กิจกรรมเพื่อการศึกษาเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีในตัวเอง แต่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้สมัยใหม่ เหตุเพราะเป็นกิจกรรมที่เด็กคนหนึ่งสามารถทำคนเดียวได้ จะดีกว่ามากหากครูสมัยใหม่ได้ร่วมมือกับนักเรียนช่วยกันออกแบบโจทย์ปัญหาที่นักเรียน 1 คนมิสามารถทำได้ มีแต่การทำงานเป็นทีม การถกเถียง การก้าวข้ามความเห็นต่าง และการช่วยเหลือกันเท่านั้นที่จะทำงานชิ้นนั้นแล้วแก้โจทย์ปัญหาได้สำเร็จ
การเล่นเสรีในสนาม (free play) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการเล่นช่วยเสริมสร้าง EF เด็กสมัยก่อนไม่มีปัญหากับการเล่นเสรีในสนามต่างจากเด็กๆ สมัยใหม่ที่มักจะยืนงงเมื่อปล่อยให้เล่นเสรีในสนามด้วยไม่รู้ว่าจะเล่นอะไรหากไม่มีใครกำหนดการเล่นให้
เด็กๆ จะเล่นเสรีในสนามได้เมื่อพวกเขากำหนด ‘เป้าหมาย’ ของการเล่น ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายนั้นเองคือ EF ที่สำคัญ เราอยากได้เด็กที่กำหนดเป้าหมายเป็น เป้าหมายระยะยาวคือโตขึ้นจะเป็นอะไรแล้วไปให้ถึง เป้าหมายระยะกลางคือสอบให้ได้ เป้าหมายระยะสั้นคือทำการบ้านให้เสร็จ ทั้งสามประการนี้เริ่มต้นด้วยการเล่นและการกำหนดเป้าหมายของการเล่น
การสร้างนั่งร้านและช่วยกันสร้างนั่งร้านนี้มิได้มีประโยชน์เพียงเรื่องการเล่นและการทำงาน งานวิจัยพบว่ามีประโยชน์ต่อการอ่านด้วย เพียงจับคู่เด็ก 2 คนอ่านหนังสือให้กันและกันฟัง พบว่าทักษะการอ่านพัฒนาได้ดี เร็ว และง่าย รวมทั้งสามารถสาธิตพัฒนาการทางกายภาพของเนื้อสมองให้เห็นได้ในเอกซเรย์ด้วย
ครูสมัยใหม่ไม่ควรหยุดอยู่ที่การสอนเด็กสะกดคำ คิดเลข ใช้แฟลชการ์ด สื่อการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ และสอนไปเพื่อไปสอบ แต่ควรเปลี่ยนบทบาทมาช่วยกันคิดค้นหนทางที่จะเพิ่มพูนความสนุกสนานที่เกิดจากการเล่น แล้วด้วยความสนุกสนานนั้นเองที่จะพาเด็กก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การทำงานเป็นทีม พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น
นำมาซึ่ง EF ที่ดีมากขึ้นทุกขณะ