EF (executive function) มีหน้าตาเป็นอย่างไร
EF มีหน้าตาเป็นอย่างไรนี้เป็นคำเปรียบเปรย เพื่อให้ผู้อ่านนึกภาพได้ว่า EF นั้นมีตัวอยู่ จับต้องและลูบคลำได้ แต่ที่แท้แล้ว EF มิได้มีรูปร่างทางกายภาพ
บางตำราเขียนว่า EF มีลักษณะเป็นโมดูล (module) คือกลุ่มก้อนของความสามารถหรือความสัมพันธ์บางประการที่ประสานการทำงานเป็นวงจร (circuit) หรือเป็นร่างแห (network)
น่าจะเป็นคำบรรยายถึงรูปร่างหน้าตาของ EF ที่เข้าใจง่าย
หรือแม้จะไม่ใช่ก็ใกล้เคียง
โมดูลของ EF ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ การควบคุมตัวเอง ความจำใช้งาน และการคิดยืดหยุ่น ทั้ง 3 ส่วนมีพัฒนาการมาพร้อมกันหรือไล่เลี่ยกัน อาจจะมีความแตกต่างด้านระยะเวลาหรือคำอธิบายอยู่บ้าง แต่โดยรวมๆ แล้วทั้งสามส่วนถือกำเนิดมาจากความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
ตอนที่ทารกอายุ 3-6 เดือน เมื่อคุณแม่เดินเข้ามาในห้อง เวลานั้นทารกกำลังนอนหงายมองโมไบล์ที่ห้อยลงมาจากเพดาน ทารกควรจะหยุดดูโมไบล์แล้วเปลี่ยนไปดูหน้าแม่ นี่เป็นปฏิกิริยาที่ทำนายได้
กระบวนการ ‘หยุด’ แล้ว ‘เปลี่ยน’ นี้เป็นระยะแรกของ EF เรียกว่า proto-EF คือก่อน-EF
ทารกจะต้องยับยั้งปฏิกิริยา (response inhibition) ที่มีต่อโมไบล์ แล้วเปลี่ยน (shift) ไปดูใบหน้าแม่ คือความสามารถขั้นต้นของการควบคุมตัวเอง
อย่างไรก็ตามทารกจะทำเช่นนั้นได้เมื่อแม่มีอยู่จริง หรือ ‘ใบหน้า’ ของแม่มีอยู่จริง นั่นคือทารกจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะจดจำใบหน้าของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่ (face recognition) กล่าวคือวงกลมสองดวงด้านบน สันจมูกตรงกลาง และริมฝีปากวงพระจันทร์ด้านล่าง นี่คือใบหน้าแม่ผู้เมตตาและอบอุ่น ผู้ให้ความอบอุ่นและปลอดภัยตลอด 9 เดือนที่อยู่ในครรภ์มารดา และอีกหลายเดือนนอกครรภ์
ใบหน้าแม่เป็นต้นแบบของใบหน้ามนุษย์ เด็กที่ดูจอมากเกินไปก่อน 2 ขวบจะเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับจอสี่เหลี่ยมและอาจจะขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับใบหน้ามนุษย์ไปเลย ทำให้เด็กไม่สบตา และไม่พูดในเวลาต่อมา
ที่ระยะ 8 เดือนอันเป็นช่วงเวลาที่เด็กพัฒนาวัตถุที่มีอยู่จริงต่อเนื่องจากแม่ซึ่งเป็นต้นแบบของวัตถุอื่นในจักรวาล เมื่อเราเอาผ้าคลุมของเล่น เขาหยุดเล่นเพราะไม่เห็นคือไม่มี วัตถุของเล่นมิได้มีอยู่จริงในจักรวาล
หลังอายุ 8 เดือน เขาพลิกผ้าขึ้นเพื่อเล่นต่อ เพราะวัตถุมีอยู่จริงในจักรวาลแล้วและอยู่ใต้ผ้า
เราพบว่าเด็กจะพยายามหาของเล่นบนผ้าสักระยะหนึ่ง แต่แล้วด้วยความจำใช้งานที่รับรู้ว่าของเล่นยังอยู่ที่เดิมมิได้หายไปไหนและมีอยู่จริง เด็กจึงจะ ‘หยุด’ หาของเล่นบนผ้า แล้ว ‘เปลี่ยน’ ไปหาของเล่นใต้ผ้า
คือกระบวนการยับยั้งปฏิกิริยาแล้วเปลี่ยน นี่คือระยะก่อน-EF จะทำได้เมื่อเด็กสามารถ ‘ถือครอง’ ความจำใช้งานได้นานพอ กล่าวคือถือครองความจำใช้งานผ่านห้วงเวลาหนึ่งได้เนิ่นนานพอ มิใช่ว่าพลันที่ผ้าคลุมของเล่น ของเล่นก็หายวับไปจากจิตใจ
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก่อนจึงเป็นการยับยั้งปฏิกิริยาและการเปลี่ยน
ตามด้วยการยับยั้งปฏิกิริยา-ความจำใช้งาน-การเปลี่ยน นี่คือโมดูลของ EF
หยุดงอแงไปอาบน้ำ
หยุดวิ่งเล่นไปนั่งกินข้าวให้เรียบร้อย
หยุดเล่นเกมไปทำการบ้าน
หยุดใช้ยาเสพติดไปทำงานทำการ
เหล่านี้เริ่มต้นมาจากระยะก่อน-EF และก่อนหน้านั้นคือแม่ที่มีอยู่จริง
จากกระบวนการง่ายๆแค่ ‘หยุด’ แล้ว ‘เปลี่ยน’ กลายเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น คือ ควบคุมตัวเอง-ความจำใช้งาน-คิดยืดหยุ่น ทั้งหมดนี้มีลักษณะเป็นโมดูลที่ทำงานไปด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
มีความสามารถหรือทักษะอีก 2 ประการที่มีลักษณะเช่นนี้คือความสามารถด้านภาษาและมิติสัมพันธ์
กล่าวคือเป็นโมดูลเบ็ดเสร็จในตัวเองที่ประกอบด้วยกระบวนการย่อยหลายกระบวนการมาเชื่อมต่อและประสานกัน ความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสองภาษาและความรู้ความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง เป็นความสามารถสองประการที่ดูจะลึกลับ น่าพิสมัย และเราไม่รู้อะไรมากนักว่าทำงานอย่างไร
เพราะ EF มีลักษณะเป็นโมดูลนี้เองทำให้เราสามารถพัฒนาเครื่องมือทดสอบและวัดได้ เช่น เครื่องมือประเภท sorting card ที่ให้เด็กจัดรูปทรงหรือสีตามที่กำหนด เด็กจะต้องยับยั้งรูปทรงแล้วดูแค่สี หรือยับยั้งสีแล้วดูแค่รูปทรง
หรือการทดสอบแบบ stroop ที่ให้เด็กอ่านคำและสีที่แตกต่าง เช่น เขียนตัวหนังสือที่อ่านว่า “เขียว” ด้วยสีแดง แล้วให้เด็กอ่าน เป็นต้น เด็กต้องยับยั้งสีเพื่ออ่านคำ หรือยังยั้งคำเพื่อบอกสี ความสามารถง่ายๆ เหล่านี้ผู้ใหญ่เห็นเป็นเรื่องง่ายและอาจจะดูตลก แต่เด็ก 3-4 ขวบทำไม่ได้ ในขณะที่เด็ก 4-5 ขวบมักจะทำได้
เป็นที่เห็นพ้องว่า EF น่าจะเริ่มที่ประมาณหลัง 3 ขวบ คือวันเวลาที่เด็กมีตัวตน (self) และมีอีโก (ego) เรียบร้อยแล้ว
เด็กหลายคนไม่ยอมทำงานบ้าน พ่อแม่สั่งก็ไม่ทำ สุดท้ายพ่อแม่ตัดรำคาญทำเองเร็วกว่า สะอาดกว่าด้วย
หารู้ไม่ว่ามิใช่เด็กนิสัยไม่ดีไม่อยากทำ แต่เขาไร้ความสามารถที่จะ ‘หยุด’ เล่น แล้ว ‘เปลี่ยน’ ไปทำงาน นี่คือ EF