ข้อเขียนต่อไปนี้ แปล เก็บความ ตัดทอน ตีความ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียง คือ
Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al; AAP COMMITTEE ON PSYCHOSOCIAL ASPECTS OF CHILD AND FAMILY HEALTH, AAP COUNCIL ON COMMUNICATIONS AND MEDIA. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics. 2018;142(3):e20182058
ตอนนี้เป็นตอนที่ 3
โดยสรุป การเล่น มีประโยชน์ดังต่อไปนี้
- เพิ่ม EF (executive function)
- เพิ่มความสามารถด้านภาษา
- เพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ ระบบจำนวน และ มิติสัมพันธ์
- เพิ่มทักษะสังคม
- เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน
- ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสุขภาพ
ทั้งนี้โดยอ้างอิงเอกสาร 9 ฉบับที่ได้ทบทวนประโยชน์ของการเล่นอย่างเป็นระบบ
การขาดการเล่นทำให้เป็นโรคสมาธิสั้นมากขึ้น ประโยคนี้อ้างอิงจากเอกสาร 1 ฉบับคือ Christakis DA. Rethinking attentiondeficit/hyperactivity disorder. JAMA Pediatr. 2016;170(2):109–110. ใครแคลงใจตามไปอ่านเอง
ก่อนจะไปต่อ ขอหยุดอธิบายประโยชน์ทีละข้อก่อน เผื่อแผ่สำหรับท่านที่มิใช่แพทย์และอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์เหล่านี้
เพิ่ม EF (executive function) อธิบายว่าเพราะการเล่นทุกชนิดต้องได้ฝึกความสามารถของสมองที่จะใช้ควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อเล่นให้บรรลุเป้าหมาย หรือเพื่อเอาชนะ ดังนั้นเล่นมาก EF มาก อันนี้ตรงไปตรงมา
เพิ่มความสามารถด้านภาษา อธิบายว่าเวลาเด็กเล่น จะมากน้อยก็จะพูด ต่อให้เล่นคนเดียวก็จะพูดคนเดียว เล่นหลายคนยิ่งต้องพูด การพูดเป็นกลไกการกำกับตัวเอง ทั้งกำกับความคิดและอารมณ์ ดังนั้นการพูดดีแน่นอน โดยเฉพาะหากพ่อแม่สละเวลาลงไปเล่นบทบาทสมมติกับลูก ไม่ใช้ของเล่นสำเร็จรูป ใช้มือเปล่าและวัสดุเหลือใช้ในบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีมากมายที่เราทิ้งขว้างลงขยะ เก็บเอามาเล่นกับลูก ภาษาจะก้าวไกล คำศัพท์ที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แปลไม่ค่อยจะออก จะหลุดออกมาจากปากเด็กจะรู้จักและใช้คำนั้นเป็น
เพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ ระบบจำนวน และ มิติสัมพันธ์ (spatial relation) อธิบายว่าคณิตศาสตร์ที่แท้มิได้หมายถึงบวกลบคูณหาร พีชคณิต เรขาคณิต หรือตรีโกณมิติแบบที่การศึกษาบ้านเราเน้น
แต่คณิตศาสตร์ที่แท้คือเรื่องของการจัดสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งในจักรวาลซึ่งจะนำไปสู่ระบบเหตุผล คือตรรก(logic) รวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ (symbolization) ด้วยระบบตัวเลข การเล่นทุกชนิดคือการจัดสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งอยู่แล้ว
เพิ่มทักษะสังคม และ เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน สองข้อนี้ไม่เหมือนกัน
ทักษะสังคมหมายถึงความสามารถที่จะดำรงชีวิตในสังคม มิได้หมายถึงมีเพื่อนมาก มิได้หมายถึงเข้าสังคมเก่ง ไปงานเลี้ยงบ่อย มีความกว้างขวาง แต่หมายถึงอยู่ได้ ไม่กลัว ไม่ปิดตัวเอง มนุษย์เราสื่อสารกับมนุษย์ผู้อื่นด้วยภาษาพูดเป็นหลัก แต่เราสื่อสารด้วยภาษาท่าทางมากพอๆ กันด้วย พูดง่ายๆ ว่าเราสื่อสารกันด้วยการทายใจเสียมาก
หลายครั้งที่เราเองพูดไม่ตรงกับใจตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เช่น ไม่กล้าพูดตรงกับใจ หรือความสามารถด้านภาษาน้อยเกินไป จนกระทั่งไม่มีคลังคำให้ใช้ (สอดคล้องกับข้อที่แล้วคือการเล่นเพิ่มความสามารถด้านภาษา) ผลคือเราพูดอะไรก็ไม่รู้ แต่หลายครั้งที่ผู้ฟังที่ดีก็รู้เรื่องเพราะเขาก็มิได้ฟังที่เราพูด แต่เขาอ่านสีหน้า ท่าที ท่าทาง และบริบทแวดล้อม ไปจนถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้นว่าที่แท้แล้วเราอยากพูดอะไรกันแน่ นี่คือทักษะสังคม
เรื่องมีเพื่อนมาก สามารถรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพของเด็กอายุ 7-12 ปีที่อิริคสันเรียกว่า Industry แปลว่าสร้างผลผลิต กล่าวคือ เด็กไปโรงเรียนเพื่อไปฝึกทักษะการทะเลาะ แก่งแย่ง ไม่ชอบหน้ากัน แล้วฝึกทักษะลงรอย ประนีประนอม อ่อนข้อ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ร่วมกันเล่นหรือทำงานด้วยกัน การเล่นและการศึกษาด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐานโดยการแบ่งกลุ่มทำงานจริงจึงส่งเสริมความสามารถและพัฒนาการด้านนี้ตรงๆ นั่นคือมีเพื่อนมาก
ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสุขภาพ เป็นที่เข้าใจง่าย วิ่งเล่นร่างกายก็แข็งแรง กระโดดหัวใจก็ทำงานหนัก ปีนที่สูงเพิ่มพลังแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ที่สำคัญมากคือการทรงตัว การประสานมือสายตา ระบบภูมิคุ้มกันและต่อมไร้ท่อ เล่นกลางแดดได้วิตามินดี แม้แต่เล่นคนเดียวในร่มนิ้วมือทั้งสิบนิ้วก็ขยับทำงานพร้อมๆ กันส่งผลกระทบถึงพัฒนาการของเซลล์สมองและจุดเชื่อมต่อประสาทในสมองที่ควบคุมการทำงานของนิ้วมือ
เหล่านี้คือรายละเอียดของประโยชน์แห่งการเล่น
บทความนี้ขยายความ EF ต่อไปว่าประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ คิดยืดหยุ่น ควบคุมตัวเอง และความจำใช้งาน โดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า cognitive flexibility, inhibitory control และ working memory แล้วขยายความการควบคุมอารมณ์ให้เห็นเด่นชัดขึ้นด้วยเรื่องการควบคุมอารมณ์ก้าวร้าวซึ่งสะท้อนผ่านการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่าอะมิกดาล่า (amygdala) อธิบายอย่างง่ายว่าการเล่นควบคุมวาล์วปิดเปิดการทำงานของอะมิกดาล่า
นอกจากนี้ EF ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่า “ตนเองเรียนรู้เรื่องที่อยากรู้อย่างไร” คือ How to Learn อธิบายว่าการเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีเรียนรู้ มิใช่เพื่อให้รู้เฉยๆ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญมากของการศึกษาสมัยใหม่ ที่ต้องการให้เด็กรู้วิธีที่จะเรียนรู้มากกว่าวิธีที่จะรู้หรือแค่รู้
การศึกษาบ้านเราทุกวันนี้แม้แต่วิธีที่จะรู้ยังไม่ต้องเลย อ้าปากก็พอครูจะป้อนความรู้ใส่ปากให้เอง
บทความเขียนต่อไปว่าเด็กที่ได้เล่นอิสระ จะพัฒนาภาษาได้ดีกว่าการเล่นประเภทที่ผู้ใหญ่กำหนดให้มากถึง 3 เท่า และการเล่นกับตุ๊กตาผ้าธรรมดาๆ พัฒนาภาษาได้มากกว่าการเล่นกับตุ๊กตาอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะอธิบายได้ว่าเป็นเพราะการเล่นตุ๊กตาผ้าธรรมดาๆ เด็กต้องเป็นฝ่ายโปรแอ็คทิฟจับมือจับขาตุ๊กตาให้เคลื่อนไหวแล้วพูดแทนตุ๊กตาทุกย่างก้าว
เมื่อเทียบกับการเล่นกับหุ่นยนตร์ผลลัพธ์ที่ได้จะต่างกัน เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับวัยด้วย กล่าวคือช่วงอายุ 2-7 ขวบยังคงเป็นระยะก่อน-ปฏิบัติการของเพียเจต์ (pre-operation) เด็กยังมี animism และ magic คืออะไรที่เคลื่อนไหวได้ล้วนมีชีวิตและเวทมนตร์มีอยู่จริง การเล่นตุ๊กตาผ้าไร้ชีวิตธรรมดาๆ จึงสำคัญเพราะเด็กจะเนรมิตรให้ตุ๊กตามีชีวิตได้ด้วยตัวเอง