ข้อเขียนต่อไปนี้ แปล เก็บความ ตัดทอน ตีความ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียง คือ
Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al; AAP COMMITTEE ON PSYCHOSOCIAL ASPECTS OF CHILD AND FAMILY HEALTH, AAP COUNCIL ON COMMUNICATIONS AND MEDIA. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics. 2018;142(3):e20182058
นิพนธ์ต้นฉบับนี้เขียนต่อไปว่า Play is not frivolous; it is brain building. แปลว่าการเล่นเป็นการสร้างสมอง ขยายความต่อไปว่าการเล่นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง
การเล่นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ และระดับพฤติกรรม
ระดับโมเลกุล อธิบายด้วยเรื่องอภิพันธุกรรม
ระดับเซลล์ อธิบายด้วยการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท
ระดับพฤติกรรม อธิบายด้วยเรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม รวมทั้ง EF (executive function)
คุยกันเรื่องระดับโมเลกุลและอภิพันธุกรรมก่อน
เริ่มด้วยงานวิจัยในหนู ซึ่งมีคำเตือนว่ามิได้หมายความว่าเรื่องที่เกิดกับลูกหนูจะใช้อธิบายลูกคนได้ทั้งหมด
หนูเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นปล้ำกันมากที่สุด และส่งเสียงที่อาจจะเทียบเคียงได้ว่าเป็นเสียงหัวเราะของหนู
การเล่นในหนูทำให้เกิดสารที่เรียกว่า BDNF (brain-derived neurotrophic factor) ซึ่งมีบทบาทในการดูแลรักษาเซลล์ประสาทที่มีชีวิตอยู่ สร้างเซลล์ประสาทใหม่และจุดเชื่อมต่อใหม่ๆ มีบทบาทต่อความจำระยะยาวและการเรียนรู้สังคม
การเล่นทำให้เกิดการสร้างแฟคเตอร์นี้มากขึ้นใน RNA ของสมองหนู 4 ส่วนคือ amygdala, dorsolateral frontal cortex, hippocampus และ pons อธิบายเพิ่มเติมว่า RNA คือสารพันธุกรรม พบว่าการเล่นนาน 30 นาทีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับยีนที่ประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนทั้งหมด 1,200 ยีน
ในทางตรงข้าม หนูที่ถูกห้ามเล่น อารมณ์เศร้า และความตึงเครียด ทำให้เกิดกระบวนการเติมเมธิลกรุ๊ปและลดการทำงานของยีนที่รับผิดชอบ BDNF นี้ที่บริเวณสมองส่วนพรีฟรันทัลคอร์เท็กซ์ (methylation & down regulation)
อธิบาย-แปลกแต่จริงที่พบว่าการเล่นส่งผลที่ระดับยีน กล่าวคือทำให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นทำให้สารพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงด้วย จากนั้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการสร้างเซลล์ประสาท การประคับประคองเซลล์ประสาท รวมทั้งการสร้างจุดเชื่อมต่อใหม่ๆ เราเรียกการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมว่า อภิพันธุกรรม (epigenetics)
ดังที่ผู้นิพนธ์เขียนเตือนไว้ว่าข้อค้นพบนี้เป็นของลูกหนู มิใช่ลูกคน ดังนั้นเด็กเล็กที่เครียดจากการเรียน ถูกห้ามเล่นในห้องเรียน ไปจนถึงมีอารมณ์เศร้าบ่อยครั้งจากการถูกดุ ตำหนิ หรือตีที่โรงเรียน กลับบ้านแทนที่จะได้เล่นกลับต้องคร่ำเคร่งทำการบ้าน เหล่านี้อาจจะไม่มีผลกระทบที่ระดับกรรมพันธุ์ก็ได้
ต่อไป ไปที่ระดับเซลล์
การเล่นตุ๊กตา 2 ชั่วโมงต่อวันของลูกหนูส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองและพฤติกรรม พบว่าลูกหนูที่ถูกขังและไม่ให้เล่นตุ๊กตาจะมีทักษะการแก้ปัญหาลดลง และสมองส่วน medial prefrontal cortex ไม่พัฒนา การไม่ได้เล่นมีผลกระทบต่อการสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทและการตัดตอน (synaptogenesis & pruning)
ลูกหนูที่ถูกกักไม่ให้เล่นในวัยที่ชอบเล่นมากที่สุดคือช่วงอายุ 4-5 สัปดาห์ พบว่ามีความบกพร่องในการเรียนรู้สังคมเมื่อเติบโตขึ้น
อีกครั้งหนึ่ง เด็กเล็กลูกคนที่ไม่ได้เล่นตุ๊กตาอาจจะไม่ได้แย่เหมือนลูกหนูก็ได้นะ รวมทั้งเด็กเล็กที่ถูกจำกัดเวลาไม่ให้เล่นในวัยที่เขาควรได้เล่นมากที่สุด (คืออายุเท่าไร?) ก็อาจจะมิได้มีการเรียนรู้สังคมเสียหายเหมือนลูกหนูก็ได้
เพิ่มเติม-อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่าแม้แต่ในลูกคน การเล่นตุ๊กตาต่างหากที่สร้างการเรียนรู้สังคม การผลักเข้าสู่สังคมเร็วเกินไปต่างหากที่อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ตรงข้าม
งานวิจัยชิ้นถัดไปโหดหน่อย ลูกหนูที่สมองส่วนพรีฟรันทัลคอร์เท็กซ์ถูกทำลายแล้วเลี้ยงท่ามกลางหนูตัวอื่น เมื่อเปรียบเทียบกับลูกหนูที่ไม่ถูกทำลายสมองส่วนพรีฟรันทัลคอร์เท็กซ์แต่เลี้ยงโดยกักไว้มิให้เล่น พบว่าผลลัพธ์ที่ได้เหมือนกัน กล่าวคือกลายเป็นหนูที่ไม่มีทักษะการแก้ปัญหา กล่าวคือปล่อยไว้ในเขาวงกตแล้วออกไม่ได้เท่าๆ กัน
การเปลี่ยนแปลงของสมองเพราะการเล่นเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลูกหนูที่ได้เล่นตุ๊กตาพบว่าสมองมีขนาดโตกว่า สมองส่วนพรีฟรันทัลคอร์เท็กซ์มีขนาดใหญ่กว่า ทบทวนความจำว่านี่คือสมองส่วนที่รับผิดชอบ EF (executive function) หนูเหล่านี้แก้ปัญหาเขาวงกตได้เร็วกว่า
การเล่นเพิ่มระดับโดปามีน (dopamine) ช่วยให้ระบบการวางเงื่อนไข (reward system) ทำงานได้ดี การเล่นลดระดับคอร์ติซอล (cortisol) ทำให้ความเครียดลดลง การเล่นเพิ่มระดับนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) ทำให้การทำงานของจุดเชื่อมต่อเซลล์ประสาทดีขึ้น ส่งผลต่อระดับความยืดหยุ่นของเซลล์ประสาท (plasticity)
อีกครั้งหนึ่ง ที่เขียนมาวันนี้เป็นเรื่องของลูกหนู มิใช่ลูกคน
อย่างไรก็ตาม เราปิดท้ายตอนนี้ด้วยงานทดลองในเด็กอายุ 3-4 ขวบที่เกิดความเครียดจากการไปโรงเรียน พบว่า
เมื่อเพิ่มเวลาเล่น 15 นาทีต่อวัน เปรียบเทียบกับการนั่งฟังครูอ่านหนังสือ 15 นาทีต่อวัน เด็กที่ได้เล่นมีระดับความเครียดลดลงสองเท่า
และในอีกการทดลองหนึ่ง เด็กเกเรที่ได้เวลาส่วนตัวเล่นกับครูมากขึ้น มีระดับคอร์ติซอลในน้ำลายอันเป็นตัวบ่งชี้ความเครียดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ