ข้อเขียนต่อไปนี้ แปล เก็บความ ตัดทอน ตีความ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง คือ
Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al; AAP COMMITTEE ON PSYCHOSOCIAL ASPECTS OF CHILD AND FAMILY HEALTH, AAP COUNCIL ON COMMUNICATIONS AND MEDIA. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics. 2018;142(3):e20182058
เฉพาะชื่อบทความแปลว่า พลังของการเล่น: บทบาทของกุมารแพทย์ต่อการเสริมสร้างพัฒนาการในเด็กเล็ก
การเล่นสำคัญต่อพัฒนาการ EF และความสำเร็จในอนาคต
การเรียนหนังสือมากเกินไปในช่วงปฐมวัยมีข้อเสียสำคัญคือ เสียเวลาเล่นและผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มค่า
ความเก่งด้านคณิตศาสตร์ตอนปฐมวัยไม่ได้บ่งชี้ความเก่งที่ชั้นประถมแต่อย่างใด (Watts TW, Duncan GJ, Clements DH, Sarama J. What is the long-run impact of learning mathematics during preschool? Child Dev. 2018;89(2):539–555)
การเล่นคืออะไร การเล่นคือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเอง (spontaneous) จากภายใน (intrinsic) มีส่วนร่วม (engage) และมีความสนุก (joyful) การเล่นเป็นพื้นฐานของการทำตามกติกาและเชื่อฟัง ผิดกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าการเข้าห้องเรียนแล้วสั่งให้ทำตามเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า
การเล่นสร้าง EF และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรงเรียน แต่นั่นหมายถึงโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องการทักษะการแก้ปัญหา (problem solving) การร่วมมือกันทำงาน (collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การเล่นมิใช่แค่สนุก และที่จริงแล้วความสนุกนั้นเกิดจากความเสี่ยง การทดลอง และการทดสอบขอบเขต (taking risk, experiments, testing boundaries)
การเล่นพบในลูกสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีความสำคัญเป็นพิเศษในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การเล่นของลูกสัตว์เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากล้ามเนื้อทุกมัด ทดสอบสัตว์ตัวอื่น และช่วยให้ลูกสัตว์เรียนรู้ขอบเขตว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่าอะไรคือเหยื่อและอะไรคือผู้ล่า
สำหรับลูกคน Lev Vygotsky บรรยายการเล่นได้ดีที่สุดจากข้อสังเกตสำคัญของเขาที่ว่าการเล่นเป็นเหมือนห้างร้านแห่งพัฒนาการ เด็กได้พัฒนาทักษะหลากหลายจากง่ายไปหายาก ทั้งเรื่องกล้ามเนื้อและทักษะสังคม กล่าวคือเด็กพัฒนาได้ด้วยตัวคนเดียวแต่เมื่อถึงขีดหนึ่งจะถึงอุปสรรค และเมื่อถึงตอนนั้นเขาต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น ความช่วยเหลือนี้จะมากับการเล่นได้อย่างกลมกลืนมากที่สุด เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำอธิบายเรื่อง Zone of Proximal Development (ZPD) (Vygotsky LS. Play and its role in the mental development of the child. In: Bruner J, Jolly A, Sylva K, eds. Play. New York, NY: Basic Books; 1976:609–618)
การเล่น แบ่งง่ายๆ เป็น
Object Play การเล่นวัตถุ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการสำรวจ พัฒนาประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ ไปจนถึงการพัฒนาการให้สัญลักษณ์และบทบาทสมมุติ (symbolization และ role play) เช่น การใช้กล้วยต่างโทรศัพท์ เป็นต้น
Rough and Tumble Play การวิ่งเล่น วิ่งไล่จับ ไปจนถึงกอดรัดฟัดเหวี่ยง เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากล้ามเนื้อ และที่มากกว่าคือกลไกทางสังคม เด็กๆ ต้องเรียนรู้การเล่นที่ไม่ทำให้คนอื่นเจ็บ มากเกินไป หรือทำให้ตัวเองเจ็บ มากเกินไป แต่มิใช่ไม่ยอมให้เจ็บเลย ดังที่ว่าความเสี่ยงคือการพัฒนา
Outdoor Play เล่นกลางแจ้ง การเล่นชนิดนี้เหมือนเอาการเล่นวัตถุและการวิ่งเล่นมารวมกัน เด็กได้วิ่งเล่นกลางแดด สายฝน หิมะ กอดรัดฟัดเหวี่ยงบนพื้นดิน พื้นทราย พื้นน้ำ เหล่านี้ส่งเสริมพัฒนาการของประสาทสัมผัสและการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากในห้องเรียนหรือบริเวณโรงเรียนที่คับแคบ
เด็กๆ เปิดโลกทรรศน์และได้เรียนรู้ระบบสามมิติของสภาพภูมิศาสตร์อันจะเป็นรากฐานของการคิดวิเคราะห์ในอนาคต
Role Play การเล่นบทบาทสมมุติ เป็นการละเล่นที่พัฒนาความสามารถทุกด้านของเด็กๆ พร้อมๆ กันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาและทักษะสังคม แน่นอนว่าเด็กเล่นบทบาทสมมุติกับพ่อแม่เป็นจุดเริ่มต้น แต่การเล่นนี้จะขยายไปที่พี่น้อง ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ในสนามเด็กเล่น และที่โรงเรียนในที่สุด การเล่นบทบาทสมมุติทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กติกาการอยู่ร่วมกันในโลกของผู้ใหญ่ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และด้วยสถานการณ์ที่เป็นอิสระ เด็กๆ จะพัฒนาภาษาพูดเพื่อสื่อความต้องการในใจตนเองได้ดีและเร็วกว่า
บอร์ดเกมมักถูกจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มนี้ คือเป็นการเล่นบทบาทสมมุติที่มีกฎ กติกา ความซับซ้อนและต้องการยุทธวิธีคล้ายคลึงชีวิตจริง ที่รู้จักกันดีเช่น เกมเศรษฐี Monopoly แต่ปัจจุบันมีบอร์ดเกมมากมายให้เลือก
จุดสูงสุดของการเล่นบทบาทสมมุติคือการเล่นละครเต็มรูปแบบ มีเครื่องแต่งกายตามจริงและบทพูดตามที่กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนอนุบาลที่ใส่ใจทุกแห่งจะจัดให้มี
การเล่นพัฒนามาอย่างไร?
การเล่นพัฒนามาจากการยิ้มในทารก คือ social smile จากการยิ้มให้มีการยิ้มรับ การเล่นคือการแลกเปลี่ยน มีให้และมีรับ นำไปสู่เสียงอ้อแอ้เพื่อพูดกับพ่อแม่ เสียงที่ไร้ความหมายไปสู่เสียงที่มีความหมาย และการเล่นจ๊ะเอ๋ “จ๊ะเอ๋!” ให้เสียงหัวเราะระเบิดออกมา หัวเราะไป หัวเราะกลับมา แล้วการเล่นจึงทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ
การเล่นเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างลูกกับแม่ เพื่อพัฒนาจากจุดที่ตนเองต้องพึ่งพิงแม่ทุกเวลา เวลากินและเวลานอน จนถึงวันที่ตนเองเป็นอิสระจากแม่คือไม่กินและไม่นอน แต่กว่าจะถึงจุดนั้นเด็กจำเป็นต้องแลกมาด้วยความสามารถในการกำกับตัวเอง self regulation คือ EF นั่นคือกินและนอนให้เป็นเวลา แต่ด้วยความสามารถของตัวเอง
การกำกับตัวเองอย่างแรกเป็นเรื่องการรับและการให้ ยิ้มมายิ้มตอบ หัวเราะไปหัวเราะมา เล่นมาเล่นไป กลไกเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 3 เดือนแรกของชีวิต
อย่าลืมว่าอีกกลไกหนึ่งของ EF คือการควบคุมยับยั้งเกิดขึ้นเร็วกว่านี้อีก เมื่อทารกกำลังเหม่อมองดูโมไบล์แล้วแม่เดินเข้ามา ทารกจะพัฒนาความสามารถหยุดมองสิ่งหนึ่งเพื่อมองอีกสิ่งหนึ่ง
และอย่าลืมข้อสังเกตที่มีชื่อเสียงของ Jean Piaget ที่อายุ 8 เดือน ทารกจะมองหาของเล่นที่หายไปบนผ้าผืนหนึ่งก่อนที่จะยับยั้งตนเองให้หยุดมอง แล้วเริ่มต้นมองหาของเล่นที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้า นี่คือ ยับยั้งแล้วเปลี่ยน (response inhibition และ shifting)
การเล่นจ๊ะเอ๋ เมื่ออายุ 9 เดือน เป็นบทแรกๆ ของการเล่นที่ช่วยให้เด็กรู้จักการให้และการรับ เราทำอะไรออกไปจะได้อะไรคืนมา รวมทั้งการทำนายอนาคตอีกสักประเดี๋ยวแม่ต้อง “จ๊ะเอ๋!” ออกมาอีกแน่ๆ พื้นฐานการทำนายอนาคตผนวกกับการให้และการรับนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการจากความงอแงเอาแต่ร้องไห้เมื่ออายุ 12 เดือนไปเป็นความสามารถที่จะรับรู้ความต้องการของตัวเอง แล้วสื่อสารออกมาด้วยคำพูดเมื่อ 3 ขวบ โดยทำนายได้ว่าทำอะไรจะได้อะไร ถึงขั้นตอนนี้จะกล่าวว่าเด็กงอแงมากเพราะเล่นจ๊ะเอ๋น้อยเกินไปก็คงจะใช่
ที่อายุ 12 เดือน เด็กเตาะแตะไปจากแม่ด้วยมือเปล่าคือนาทีสำคัญของชีวิต เป็นความทรงจำของพ่อแม่ทุกคนและจะเป็นเรื่องน่าเสียดายมากสำหรับพ่อแม่ที่มิได้เห็นโมเมนต์นี้ ถึงเวลานั้นเด็กพร้อมแล้วที่จะให้และรับ ทำนายอนาคต รับความเสี่ยง ทดสอบขอบเขต โดยมีแม่นั่งดูอยู่ข้างหลังเป็นป้อมปราการที่เขาพร้อมจะวิ่งหนีกลับมาเมื่อไรก็ได้ นั่นคือเขามีมือที่ประสาทสัมผัสดีพอจะสำรวจ มีเท้าที่ไปได้แล้วกลับได้ มีการประสานมือและสายตาระดับหนึ่ง สามารถให้สัญลักษณ์และเล่นบทบาทสมมุติได้บ้างแล้ว ดังนั้นเขาสามารถดูดกลืนสรรพสิ่งหรือแปรรูปหรือใช้ประโยชน์แล้วแต่สถานการณ์ที่เขาเผชิญ และเมื่อเขาพบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น ลูกหมา หรือลูกคน เขารู้ว่าการให้และการรับคืออะไรแม้ว่าจะต้องทดสอบกันอีกหลายยกก็ตาม ย่อหน้าทั้งหมดนี้เราไม่ต้องทำอะไรนอกจากเปิดโอกาสให้เขา ‘เล่น’
แม้ว่าการเล่นจะช่วยเรื่องทักษะสังคมแน่ๆ อย่างไรก็ตามควรมีคำเตือนสำหรับพ่อแม่บ้านเราที่ดูเหมือนจะกังวลกับทักษะสังคมมาก และข้ออ้างที่ส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาลเร็วข้อหนึ่งคือเพื่อให้ไปมีสังคม แท้จริงแล้วทักษะสังคมมิได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนแต่เป็นเรื่องที่ต้องการเวลาพัฒนาการนานมากคือตั้งแต่ 2-3 ขวบไปจนถึงประมาณ 6-7 ขวบอันเป็นเวลาที่การเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางลดลงมากพอแล้ว เมื่อนั้นทักษะสังคมจึงจะทวีความเร็วของพัฒนาการมากขึ้นได้โดยธรรมชาติ
อ่านมาตั้งนาน หากจะไม่ได้อะไรเลย รู้จักคำเดียวก็พอ ‘เล่น’