ระบบความจำของคนเราแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือความจำระยะสั้นและความจำระยะยาว
ความจำระยะสั้น เช่น เมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร ความจำระยะยาว เช่น วันเกิด ชื่อพี่น้อง โมเดลความจำเช่นนี้ทำให้เราเข้าใจพยาธิสภาพที่เกิดแก่โรคจิตเวชและโรคทางสมองได้เสมอมา
ต่อมาจึงมีโมเดลของระบบความจำอีกชนิดหนึ่ง คือ ความจำใช้งาน (working memory) ความจำใช้งานเป็นความจำพร้อมใช้ เกิดขึ้น ทำงาน แล้วดับไป พบว่าโมเดลของความจำใช้งานสามารถอธิบายพัฒนาการเด็กและความผิดปกติของพัฒนาการได้ดีกว่าโมเดลเดิม เช่น โรคสมาธิสั้นเกิดจากความจำใช้งานที่สั้นเกินไป เป็นต้น
โมเดลของความจำใช้งานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนความจำด้านเสียง (phonological loop), ส่วนความจำด้านภาพ (visio spatial sketchpad) และ ส่วนบริหารกลาง (central executive) ส่วนที่หนึ่งทำหน้าที่ถือครองเสียงที่ได้ยิน ส่วนที่สองทำหน้าที่ถือครองภาพที่เห็น และส่วนที่สามทำหน้าที่บริหารงานกลาง โมเดลนี้ใช้มาจนถึงประมาณต้นศตวรรษคือปี 2000 Baddeley AD ได้เสนอส่วนที่สี่ของโมเดลนี้ เรียกว่า ส่วนประสานงาน (episodic buffer)
ส่วนที่สี่นี้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างความจำระยะยาวเข้ากับข้อมูลอื่นๆ รวมทั้งสามส่วนแรกให้ทำงานด้วยกันอย่างกลมกลืน นำไปสู่การตัดสินใจและลงมือทำงานด้วยความสามารถที่จะพลิกแพลงหรือเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ
ปัญหาของส่วนที่สี่นี้คือเราไม่ทราบว่ามีความจุเท่าไร พูดง่ายๆ ว่ามีขนาดเท่าไร เราเชื่อว่าขนาดหรือความจุของส่วนที่สี่นี้ยิ่งมีมาก เราก็น่าจะพลิกแพลงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานได้ดีขึ้นหรือมากขึ้น
ทั้งหมดที่เล่ามาหลายตอนนี้เป็นเพียงโมเดล มิได้หมายถึงตำแหน่งแห่งที่ในสมอง อย่างไรก็ตามโมเดลนี้ใช้ทั่วไปในอเมริกาเหนือและยุโรป อีกทั้งสามารถวัดค่าสมมุติหรือค่าสัมพัทธ์ได้ด้วย ช่วยให้เราอธิบายได้ทั้งส่วนที่เป็นพยาธิสภาพและส่วนที่เป็นพัฒนาการ และมีข้อสรุปที่ชัดเจนในเบื้องต้นว่าโมเดลนี้ทำงานได้ดีที่สุดภายใต้การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรก
กล่าวคือเมื่อเด็กยืนได้ เด็กควรเล่นและทำงานตั้งแต่แรกภายใต้ความสามารถที่เขามี มิใช่เพียงเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อขา แขน หรือสมองเท่านั้น แต่เพื่อพัฒนาโมเดลความจำใช้งานทั้งสี่ส่วนด้วย และเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนเด็กควรได้รับการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากการทำงาน มิใช่เพื่อผลลัพธ์ของงานแต่เพื่อพัฒนาโมเดลความจำใช้งานด้วยเช่นกัน อันจะนำไปสู่เยาวชนและผู้ใหญ่รุ่นใหม่ที่ทำงานเป็น คิดได้ และพลิกแพลงเป็น
จะเห็นว่าความรู้เหล่านี้มิได้ถูกนำมาใคร่ครวญในระบบการศึกษาของประเทศไทยเท่าไรนัก
ในอดีตที่ผ่านมาเราวัดส่วนที่ 1 คือความจำด้านเสียงในแบบทดสอบสติปัญญา (IQ test) หรือการตรวจสภาพจิต (mental status examination) กันอยู่แล้ว ด้วยเครื่องมือทดสอบที่เรียกว่า span test โดยให้เด็กพูดตามตัวเลข ตัวอักษร หรือคำ โดยทิ้งช่วงห่างของแต่ละตัวเลข ตัวอักษร หรือคำ ช่วงละ 1 วินาที แล้วนับจำนวนตัวเลข ตัวอักษร หรือคำ ที่เด็กพูดตามได้เมื่อผู้ทดสอบให้พูดตาม
พบว่าเด็กควรทำการทดสอบนี้ได้หลังอายุ 7-8 ขวบที่ซึ่งการทำงานของส่วนที่ 1 คือความจำด้านเสียงพัฒนาดีมากแล้ว การทดสอบที่พบบ่อยคือการพูดตามตัวเลขซึ่งเด็กควรพูดตามได้ 4-5 หลัก เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามการทดสอบนี้มีข้อควรคำนึงบางประการ เช่น เด็กอาจจะไม่ได้ยิน สมาธิสั้น หรือมีปัญหาด้านการออกเสียง และที่สำคัญคือการทดสอบนี้แปดเปื้อนด้วยความจำระยะยาวเมื่อทดสอบด้วยการพูด ‘คำ’ ตาม สิ่งที่วัดได้จึงเท่ากับการวัดความสามารถของส่วนที่ 4 คือ episodic buffer ไปด้วย
เราอาจจะลดความผิดพลาดของการวัดจำนวน ‘คำ’ ที่เด็กพูดตามได้ด้วยการให้คำที่เขาไม่คุ้นเคย
การทดสอบด้วยวิธีพูดตามนี้เป็นหลักฐานที่ค่อนข้างแน่นหนาว่าส่วนที่หนึ่งของความจำใช้งานคือ phonological loop นี้มีอยู่จริง และเหตุที่ใช้คำว่า loop เพราะเด็กเองสามารถวนลูปของเสียงที่ได้ยินอย่างไม่จำกัดเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของความจำใช้งานส่วนนี้ ดังนั้นการพากย์งานตัวเองของเด็กๆ ขณะทำงานบ้านจึงเป็นเรื่องดี และคุณพ่อคุณแม่จะช่วยพากย์การทำงานบ้านของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดบ้าน ถูบ้าน หรือล้างจาน เป็นเรื่องทำได้
จะเห็นว่าพัฒนาการที่ดีเริ่มที่บ้านและบริโภคเวลาของพ่อแม่อีกแล้ว จึงว่า ‘ปริมาณของเวลา’ เป็นเรื่องสำคัญเสมอมา ใครกันที่ว่า ‘เชื่อว่า’ คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรชี้ให้เห็น นั่นคือเด็กพัฒนาส่วนที่หนึ่งนี้ได้เรียบร้อยเมื่ออายุประมาณ 7-8 ขวบ
ไม่มีใครเขา ‘บังคับ’ ให้เด็กท่องจำอะไรยาวๆ ก่อนหน้านั้น ใครกันที่จะ ‘บังคับ’ ให้เด็กไทยท่องอาขยาน
แม้ว่าการบังคับให้เด็กท่องอาขยานจะเป็นเรื่องควรระวัง การทดสอบจำนวนคำที่เด็กจะพูดตามนี้เราสามารถเพิ่มระดับความยากไปได้จนถึงระดับที่เด็กเกิดความเครียดได้ด้วย การใช้คำหลายพยางค์ที่เด็กไม่คุ้นเคย โดยสามารถทำได้ทั้งแบบจำนวนพยางค์คงที่หรือจำนวนพยางค์ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ เช่น ให้เด็กพูดคำต่อไปนี้ตามหลังจากที่ผู้ทดสอบพูดให้ฟังหมดแล้ว
เอราวัณ จตุรทิศ ประชาธิปไตย ปรัศวภาควิโลม ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
คำเหล่านี้เป็นคำที่มีในพจนานุกรมและเป็นไปได้ที่เด็กอาจจะเคยได้ยินมาก่อนจากผู้ใหญ่ วิทยุ หรือโทรทัศน์ จึงว่าการทดสอบนี้อาจจะแปดเปื้อนได้จากความจำระยะยาว เพื่อที่จะลดการแปดเปื้อนนี้ผู้ทดสอบอาจจะประดิษฐ์คำใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในพจนานุกรมให้เด็กพูดตาม เช่น มิดนะเร เข้ตู้พาวงบ กรไพอะฝุอาด เป็นต้น
อีกวิธีหนึ่งคือให้เด็กพูดตามคำของต่างประเทศที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน การทดสอบนี้ในมือผู้เชี่ยวชาญวัดความล่าช้าของพัฒนาการด้านภาษาได้
ยังมีอีกการทดสอบหนึ่งที่น่าสนใจ คือการทดสอบคำพ้องเสียงด้วยการให้เด็กได้ยินคำสองคำที่มีเสียงพ้องกันหรือเสียงไม่พ้องกัน เช่น ช้าง-ร้าง งู-ชู กบ-อ่าง ไก่-วิ่ง เสา-เต่า แล้ววัดจำนวนคำที่เด็กตอบถูก เป็นอีกเครื่องมือที่ใช้วัดความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษา
ข้อเขียนทั้งหมดนี้สรุปความว่าอะไร?
สรุปอย่างสั้นคือ 1.เราไม่รีบ 2.ทำการศึกษาให้สนุก เด็กแต่ละคนจะพัฒนาระบบความจำใช้งานด้วยจังหวะก้าวของตัวเอง รวมทั้งพัฒนาการด้านภาษา