หากคิดว่าความคลั่งไคล้แผ่นเพลงโมซาร์ตสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะเป็นเรื่องสุดท้าย ลองอ่านเรื่องการสอดไอพอดเข้าไปในช่องคลอดของคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อเปิดเพลงกระตุ้นความฉลาดของลูกน้อยเสียก่อน
ข้อเขียนนี้แปล ถอดความ เก็บความ เขียนใหม่ และเขียนเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง ‘Can You Super-Charge Your Baby?’ ของ Erik Vance ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American ฉบับพิเศษ Your Inner Genious, winter 2019 หน้า 72-77
บทความเริ่มต้นดังนี้ เมื่อลูกชายของ เซ็ธ พอลแล็ค อายุได้ 1 ขวบ เขาและภรรยา เจนนี แซฟแฟรน เดินทางไปที่ร้านขายของเด็กใกล้บ้านในเมดิสัน พวกเขาต้องการยางไว้ให้ลูกกัดแค่นั้น ไม่มีอะไรพิเศษ แค่ช่วยบริหารเหงือก แล้วเขาก็พบสินค้าที่ต้องการที่เขียนเอาไว้ว่า “เสริมสร้างกล้ามเนื้อปากและพัฒนาการด้านภาษา”
พ่อแม่ทั่วไปน่าจะสนใจสินค้าชิ้นนี้มาก พัฒนาการทางภาษาเชียวนะ ไม่มีใครอยากให้ลูกพัฒนาการล่าช้า ทุกบ้านกลัวที่สุดคือลูกพูดช้า แต่พอลแล็คและแซฟแฟรนไม่ใช่พ่อแม่ทั่วไป พวกเขาจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาพัฒนาการ และแซฟแฟรนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการทางภาษา
“พวกเราดูยางชิ้นนี้ แล้วก็สตั๊นท์ไป บ้าหรือเปล่านี่ เคี้ยวของเย็นชืดแบบนี้หนึ่งชิ้นถึงกับส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา!”
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสินค้าที่ไม่มีงานวิจัยรองรับ เรามีช่องว่างระหว่างงานวิจัยที่เชื่อถือได้กับของเล่นกระตุ้นพัฒนาการมากมาย พ่อแม่ทั่วไปย่อมอยากให้ลูกของเราเร็วกว่า ฉลาดกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า แต่มักหลงลืมไปว่าของเย็นชืดชิ้นหนึ่งไม่ทำอะไรวิเศษได้ขนาดนั้นแน่ๆ
พ่อแม่ตัวเป็นๆ เทียบกับของเย็นชืดชิ้นหนึ่ง เรามองข้ามสามัญสำนึกเช่นนี้ไปได้อย่างไร?
แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ว่าถ้าเด็กได้เล่นอะไรสักอย่างในจังหวะที่ถูกต้องเขาจะพัฒนารุดหน้า นี่คือแนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานเรื่องนั่งร้านแห่งพัฒนาการที่ Lev Vygotsky (1896-1934) เรียกว่า Zone of Proximal Development (ZPD) แปลไทยว่าพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการ (คำแปลไทยได้จากหนังสือความรู้ฉบับพกพา จิตวิทยาเด็ก สุภลัคน์ ลวดลาย และ วรัญญู กองชัยมงคล แปล สำนักพิมพ์ Bookscape 2561 หน้า 201) อย่างไรก็ตามขอให้สังเกตด้วยว่าเด็กเป็นประธานของประโยค
เขาเป็นผู้พัฒนาและเขาเป็นผู้กำหนดจังหวะก้าวของการพัฒนาเสมอ
ของเล่นเพื่อพัฒนาการและการศึกษาในอเมริกาเหนือมีมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนความเป็นจริงที่ว่าพ่อแม่ชาวอเมริกันวิตกกังวลได้ทุกเรื่อง เราให้นมแม่สั้นเกินไปไหม หรือว่าให้นานเกินไป เราเอาลูกเข้าโรงเรียนไหนดี เมื่อไรดี ทุกคนพะวงมากเรื่องลูกคลานช้านั่งช้า ยืนช้า เดินช้า หรือพูดช้า ของเล่นเด็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการถูกผลิตออกมาเพื่อลดความวิตกกังวลนี้
อ่านประโยคนี้ดีๆ เพื่อลดความวิตกกังวลนี้ มิใช่เพื่อพัฒนาการเด็ก
เร็วกว่ามิได้แปลว่าจะดีกว่า เป็นคำเตือนที่พ่อแม่ทั่วไปควรใส่ใจ ตัวอย่างเรื่องการเปิดเพลงโมซาร์ตจากแผ่นเสียงคุณภาพดีเป็นที่นิยมกันมากในยุคหนึ่ง ก่อนที่จะพัฒนาต่อมาเป็นแผ่นแปะหน้าท้องเพื่อให้ทารกในครรภ์ได้ยินชัดเจนขึ้นโดยปราศจากเสียงรบกวน ถึงวันนี้เรามี ‘เบบี้พอด’ ที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดของมารดานับจากวันแรกที่ปฏิสนธิด้วยคำอวดอ้างว่ากระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารเริ่มได้ตั้งแต่วันแรก
เป็นความจริงที่ดนตรีมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีผลอย่างเดียวกันต่อตัวอ่อน (fetus) ผู้ผลิตสินค้าได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารฉบับหนึ่งว่าดนตรีในช่องคลอดกระตุ้นตัวอ่อนได้มากกว่า แต่ไม่มีข้อยืนยันว่าความมากกว่านั้นจะนำไปสู่เด็กที่ฉลาดกว่า
อ่านถึงตรงนี้ก็ไม่แปลกใจที่ฝรั่งก็นิยมเครื่องรางของขลังเช่นกัน อย่าว่าแต่ดนตรีในช่องคลอดจะไม่นำไปสู่เด็กที่ฉลาดกว่าเลย แต่อะไรที่มากไปจะนำไปสู่อะไรกันแน่ น่าจะสังวรณ์กันเอาไว้ให้มาก
การพูดเป็นพัฒนาการสำคัญ นำไปสู่พัฒนาการด้านการคิดและความจำใช้งาน เด็กที่มีคลังคำมากกว่ามักจะมีพัฒนาการด้านการคิดและความจำใช้งานมากกว่า อย่างไรก็ตามเราพบว่าเด็กแต่ละคนมี ‘ระยะฟูมฟัก’ ก่อนการเบ่งบานของการพูดต่างๆ กัน จริงหรือเปล่าที่ว่าพูดเร็วกว่าจะฉลาดกว่า?
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในโอไฮโอในปี 1982 ตอบว่าจริง พูดเร็วกว่าไอคิวสูงกว่า แต่เมื่อนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ทบทวนรายงานชิ้นนี้ด้วยการควบคุมตัวแปรด้านเศรษฐานะใหม่อีกครั้งหนึ่ง พบว่าไม่จริงที่พูดเร็วกว่าไอคิวจะสูงกว่า มากไปกว่านี้คือพบว่ารหัสไปรษณีย์ (zip code) ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ!
ความยากจน ขาดสารอาหาร ความรุนแรง สามประการนี้ก่อความเครียด และความเครียดกระทบพัฒนาการด้านภาษาด้วยการทำให้พูดช้า (delayed speech) เราพบปรากฏการณ์นี้ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจน
ความรุนแรงนี้มาจากพ่อแม่ที่ทะเลาะกัน หรืออยู่ด้วยกันโดยไม่พูดกัน สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ แอพกี่แอพหรือแผ่นเพลงกี่แผ่นก็ช่วยเหลืออะไรมิได้ เด็กพูดได้ด้วยการมีคนพูดด้วยเท่านั้น มิใช่เครื่องมือสอนหรือเร่งการพูดแต่อย่างใด
แคธี เฮิร์ช พาเซ็ค นักจิตวิทยาการพัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเทมเปิลและอดีตประธาน International Congress of Infant Studies พูดถึงสินค้าที่ชื่อ Your Baby Can Read สำหรับเด็กอายุ 3 เดือนถึง 5 ปี ซึ่งประกอบด้วยแฟลชการ์ด วิดีโอ และหนังสือที่อ้างว่าช่วยส่งเสริมการอ่าน ผู้ผลิตสินค้านี้ชื่อโรเบิร์ต ทิตเซอร์ ซึ่งได้ทดลองใช้เครื่องมือนี้กับลูกสาวสองคนตั้งแต่ครั้งยังเป็นทารก โดยที่บริษัทได้เผยแพร่เทปเสียง งานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ แผ่นกราฟ และหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ เพื่อการโฆษณา
ไม่เพียงเฮิร์ช พาเซ็ค ที่บอกว่าเครื่องเล่นนี้มิได้ช่วยอะไร หน่วยงาน Federal Trade Commission (FTC) ยังได้ฟ้องร้องทิตเซอร์สองคดีด้วยข้อหาการค้าที่มิชอบ
ของเล่นก็เหมือนวิตามิน ต้องมีพอเพียงแต่มากไปมิได้ช่วยอะไร
มากกว่ามิได้ช่วยอะไรคือปัญหาที่เรารู้กันอยู่แล้วนั่นคือแย่งเวลาของพ่อแม่ตัวเป็นๆ ไป แทนที่เราจะได้แตะเนื้อต้องตัวกันมากขึ้นภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่ากว่าจะมีเวลาอยู่ด้วยกันก็น้อยอยู่แล้ว ยังเอา ‘ของเล่น’ สารพัดมาขวางทางเราเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นคลิป การ์ด หรือแอพใดๆ ที่อ้างว่าเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ
นักกฎหมายจาก FTC ได้ติดต่อ ซูซาน นิวแมน นักพัฒนาการด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์คให้ทำการวิจัยเปรียบเทียบเด็ก 61 คนที่ได้รับการส่งเสริมการอ่านด้วย Your Baby Can Read กับเด็กที่ไม่ได้รับ 56 คน ด้วยวิธีที่เรียกว่า randomized controlled study และตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสาร Journal of Educational Psychology เปรียบเทียบ 14 ตัวชี้วัดพบว่าผลที่ได้ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามควรบันทึกไว้ว่าพ่อแม่ของเด็กที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสินค้าชิ้นนี้ยืนยันว่าแตกต่าง
ทิตเซอร์จ่ายค่าปรับ 800,000 ดอลลาร์ แต่ทุกวันนี้เขายังคงผลิตและขายการ์ด วิดีโอ และหนังสือในชื่อ Your Baby Can Learn ต่อไป เขาอธิบายว่าเด็กๆ ได้ ‘ดู’ หนังสือ แล้วการดูหนังสือมันไม่ดีตรงไหน
เราอยากได้ของเล่นที่ช่วยให้ลูกได้เข้าฮาร์วาร์ด เดวิด บาร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กได้ทดลองใช้แฟลชการ์ด วิดีโอ เกม และหนังสือการ์ตูนเพื่อฝึกให้ลูกของตนเองบวกลบเลขได้เร็ว เขาพบว่ามันได้ผลแต่แลกมาด้วยทัศนคติไม่ชอบคณิตศาสตร์ตามมาด้วย เขาให้ความเห็นว่าลูกสาวบวกลบเลขได้เร็วขึ้นด้วยเทคนิคด้านการจำมากกว่าที่จะเข้าใจกลไกของคณิตศาสตร์จริงๆ
ยังมีต่อ