ทบทวนตอนที่แล้ว (อ่านอย่างมีความสุขเพื่อสร้างระบบความจำใช้งาน) โมเดลของระบบความจำใช้งานประกอบด้วย 3 ส่วน คือ phonological loop รับผิดชอบความจำด้านเสียง และ visiospatial sketchpad รับผิดชอบความจำใช้งานด้านมิติสัมพันธ์ ทั้งสองส่วนบริหารโดยส่วนบริหารกลางที่เรียกว่า Central Executive
ย้ำอีกครั้งหนึ่ง ที่เขียนนี้เป็นโมเดลเพื่อใช้อธิบายกลไกของความจำใช้งาน ตอนที่โมเดลนี้ถูกร่างขึ้นในทศวรรษที่ 70 ส่วนบริหารกลางมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ 1.มีความจุที่จำกัด 2.ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างความจำใช้งานกับความจำระยะยาว และ 3.คือทำหน้าที่ FDA ได้แก่ focus, divide และ switch attention แปลว่าตั้งใจจดจ่อ แบ่งส่วน และสลับสับเปลี่ยนจุดสนใจ
โมเดลนี้ได้รับการปรับปรุงในเวลาต่อมา คือ เราพบว่าส่วนบริหารกลางนี้ไม่มีความจุที่จำกัด และหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับความจำระยะยาวเป็นของส่วนที่เรียกว่า episodic buffer
ทำให้หน้าที่ของส่วนบริหารกลางมีเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของพัฒนาการนั่นคือ FDA ตั้งใจจดจ่อ แบ่งส่วน และสลับสับเปลี่ยนจุดสนใจ
ระหว่างที่เด็กๆ กำลังทำงานหนึ่งอยู่ จู่ๆ ก็เกิดความคิดใหม่ผุดขึ้น ความสามารถที่เด็กต้องมีคือการตั้งใจจดจ่อและแบ่งส่วนงาน โดยที่ส่วนงานใหม่ประกอบด้วยความคิดใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ แผนงานใหม่ และสถานการณ์ใหม่ เด็กต้องทำการสลับสับเปลี่ยนจุดสนใจโดยไม่สูญเสียเป้าหมายเดิม เด็กที่ทำไม่ได้จะทำอะไรก็ไม่เสร็จเพราะคอยแต่จะมีความคิดใหม่ผุดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ แล้วพัดเขาออกนอกเส้นทาง
เราจะเห็นพนักงานในที่ทำงานหลายคนมีลักษณะนี้ งานหนึ่งยังไม่เสร็จก็หยุดไปทำงานอื่น
อีกตัวอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันคือการขับรถ การขับรถไปทำงานทุกเช้าเป็นพฤติกรรมที่ได้ผ่านการเรียนรู้มาอย่างช่ำชอง วันหนึ่งเกิดอุปสรรคขวางทางถนนข้างหน้า สมองส่วนบริหารกลางจะทำงาน FDA เปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยมีเป้าหมายที่จุดเดิม การเปลี่ยนเส้นทางคือสถานการณ์ใหม่ จะทำได้ด้วยการตั้งใจจดจ่อ แบ่งส่วน กดความช่ำชองเดิมให้หยุดชั่วขณะ แล้วตั้งสมาธิไปที่แผนใหม่
โครงสร้างของพฤติกรรมง่ายๆ เช่นนี้มีไม่เท่ากันในคนแต่ละคน บางคนนั่งแช่บนถนนเส้นเดิมแล้วไปทำงานไม่ทันในขณะที่บางคนค้นหาทางใหม่เพื่อจะไปทำงานให้ทันให้จงได้
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า GPS กำลังเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ในเรื่องนี้ เราไม่ต้องคิดเองแค่ขับตามระบบนำทางที่คิดให้เรียบร้อยแล้วก็พอ
ดังที่เขียนเตือนว่านี่คือโมเดล มิได้มีการระบุตำแหน่งในเนื้อสมอง อย่างไรก็ตาม เราพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุที่สมองส่วนหน้าคือ Frontal Lobe Syndrome มักจะมีพฤติกรรมพูดหรือทำอะไรซ้ำๆ เรียกว่า perserveration กล่าวคือผู้ป่วยไม่สามารถหยุดพฤติกรรมที่ได้เรียนรู้มาดีแล้วก่อนอุบัติเหตุ
ส่วนบริหารกลางไม่มีความจุ แต่ความจำใช้งานทั้งส่วนเสียงและส่วนภาพรวมทั้งมิติสัมพันธ์มีความจุ ตัวอย่างในชีวิตประจำวันคือการคิดเลขในใจ การคิดเลขในใจต้องการความจุของการจำผลลัพธ์เดิมได้นานพอที่จะคิดผลลัพธ์ใหม่ แล้วนำแต่ละผลลัพธ์มาเชื่อมต่อกัน กิจกรรมหรือพฤติกรรมนี้กำลังถูกแทนที่ด้วยเครื่องคิดเลขและโปรแกรมสเปรดชีทเช่นกัน
มีคำถามเสมอว่าเด็กควรคิดเลขเร็วหรือไม่ คำตอบคือ เราควรรู้ว่าการคิดเลขเร็วเป็นไปเพื่อการบริหารความจำใช้งาน มิใช่เพื่อการคิดเลขเร็วจริงๆ
อย่างไรก็ตามเด็กพิเศษที่มี EF บกพร่องอาจจะต้องถอยออกจาการคิดเลขเร็วแล้วใช้เครื่องมือไอทีเพื่อช่วยพัฒนาตนเองได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม
อีกเรื่องหนึ่งคืออ่านในใจ การอ่านในใจต้องการการบริหารความจำใช้งานที่ดีเพื่อการอ่านที่เร็ว ความเร็วในการอ่านเรียกว่า reading span ประกอบด้วยการอ่าน จดจำ ทำความเข้าใจประโยคที่หนึ่งแล้วอ่านประโยคที่สอง ทำซ้ำกระบวนการทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง แล้วอ่านประโยคที่สาม เรื่อยไปจนครบหนึ่งย่อหน้า จะเห็นว่าโมเดลด้านภาพและมิติสัมพันธ์ทำงานมากกว่าโมเดลด้านเสียง อย่างไรก็ตามทั้งสองส่วนทำงานพร้อมกันอยู่ดีไม่มากก็น้อยด้วยภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในจิตใจ นำไปสู่การอ่านน้ำไหลไฟดับเรียกว่า fluent reading
fluent reading มิได้หมายถึงอ่านเร็วเสียทีเดียว แต่หมายถึงอ่านเอาเรื่องด้วยความเร็วสูง นั่นแปลว่าระหว่างที่อ่านไปแต่ละย่อหน้า สมองส่วนบริหารจะทำการ FDA ข้อมูลที่ได้ใหม่อยู่เสมอและสร้างระบบทำความเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่านได้กว้างขวางมากขึ้นทุกที กล่าวคือแม้จะอ่านเรื่องหนึ่งก็สามารถขยายความคิดไปอีกเรื่องหนึ่ง เช่น อ่านเรื่อง Animal Farm แต่สามารถขยายกรอบความคิดไปที่หลายประเทศในโลกไม่จำเพาะเพียงสหภาพโซเวียตตามที่หนังสือพยายามจะบอกเป็นนัย
การอ่านมากทำให้เด็กมีความสามารถที่เรียกว่า fluency ซึ่งจะช่วยให้ความคิดกว้างไกลและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในภายหลัง ตัวอย่างของ fluency เช่น ให้เด็กแบ่งประเภทสัตว์ออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เด็กที่เข้าเรียนเร็วอาจจะแบ่งออกเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ออกไข่ หรือสัตว์ออกลูกเป็นตัว แต่เด็กที่มิได้เรียนหนังสือและมีโอกาสเรียนรู้โลกกว้างมากกว่าอาจจะแบ่งได้ละเอียดมากกว่าที่ตำรากำหนด
อีกตัวอย่างหนึ่งคือให้เด็กยกตัวอย่างว่าก้อนอิฐใช้ทำอะไรบ้าง เด็กคนหนึ่งตอบว่าใช้สร้างบ้าน สร้างตึก สร้างสะพาน สร้างกำแพง สร้างหอคอย สร้างวัด สร้างโรงงาน แต่เด็กอีกคนหนึ่งอาจจะตอบว่าใช้ก่อสร้าง ใช้ทับกระดาษ ใช้ปาหัวคน ใช้รองเท้าหยิบของบนที่สูง ใช้ปูทางเดิน ใช้สร้างห้องใต้ดิน (เห็นสิ่งที่ตาเปล่ามองไม่เห็น) ใช้สร้างเตาเผาอิฐ (เห็นในระดับที่อยู่เหนืออิฐ –epi เหนือ) จะเห็นว่า fluency ต้องการความสามารถ FDA ด้วยคือตั้งใจจดจ่อกับคำถาม แบ่งส่วนแล้วสลับสับเปลี่ยนจุดสนใจ
มิใช่ติดกับหรือวนลูปอยู่ที่ความคิดเดิมๆ แม้จะดูเหมือนใหม่แต่ไม่มีอะไรใหม่ วัฒนธรรมการทำงานบ้านเราติดอยู่ที่ตรงนี้เป็นประจำ คล้ายๆ จะฉลาดแต่สมองไม่ดีเท่าไรนัก
งานราชการบ้านเราขาดความสามารถนี้มากกว่ามาก จึงมักพบปรากฏการณ์อวดผลงานใหม่ที่ไม่ใหม่อยู่เสมอๆ ผลลัพธ์สุดท้ายจึงไม่ไปไหนแต่ได้ตัวชี้วัดครบ
เราพัฒนาเด็กด้วยความรู้เหล่านี้ได้หลายวิธี ตัวอย่างหนึ่งคือฝึกให้เด็กทำงาน 2 อย่างพร้อมกัน เรียกว่า Dual Task โดยมีเป้าหมายให้งานทั้งสองอย่างเสร็จเรียบร้อยและมีผลงานที่ดี บทเรียนนี้เพื่อฝึกการใช้ส่วนบริหารกลางมิใช่เพื่อให้จัดลำดับความสำคัญ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งทดสอบความสามารถทำสองอย่างพร้อมกันอย่างง่ายด้วยการให้เด็กอ่านหนังสือหนึ่งย่อหน้าแล้วสรุปความพร้อมกับท่องคำสุดท้ายของแต่ละประโยค! เด็กแต่ละคนจะทำได้ไม่เท่ากัน
เราพัฒนาเด็กได้ด้วยการให้เด็กเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาคือ problem solving เมื่อเด็กพบอุปสรรคก็จะเข้าสู่โหมดแก้ปัญหา ส่วนบริหารกลางก็จะต้องทำงานทุกครั้งไปเพื่อสลับสับเปลี่ยน “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ไปจนกว่าจะถึงเป้าหมาย การศึกษาที่ไม่เน้นการท่อง จำ ติว สอบแต่มุ่งการใช้โจทย์ปัญหารอบตัวเด็กเป็นฐาน สมองส่วน EF จะพัฒนาต่างกันมาก
นึกภาพการศึกษาบ้านเราที่เสียเวลากับการท่อง จำ ติว สอบ หรือคิดวิเคราะห์ให้ได้คำตอบที่เฉลยตามข้อสอบปรนัย เวลาที่ว่านี้คือ 15 ปี!