ไม่เคยพูดหรือเขียนว่าการอ่านนิทานก่อนนอนจะทำให้เด็กรักการอ่าน ฉลาด หรือนิสัยดี เหล่านี้เป็นผลพลอยได้ที่มักจะได้ ที่พูดหรือเขียนเสมอคือการอ่านนิทานก่อนนอนเพื่อสร้างแม่ หรือพ่อ ที่มีอยู่จริง
เพราะการอ่านนิทานก่อนนอนเป็นการนัดหมาย ‘เวลา’ ที่ทรงพลัง เด็กจะรอพ่อแม่มาอ่านนิทานให้ฟัง ทุกคืน ทุกวัน ทั้งปี อย่างน้อยก็สามปีแรกของชีวิต
การอ่านนิทานก่อนนอนเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านเอง อ่านเองเพราะมีความสุขที่จะอ่าน เด็กที่นอนฟังและดูแม่อ่านนิทานมักจะพยายามแกะอักขระบนป้ายโฆษณาด้วยตนเอง เขามักเรียนรู้ระบบสัญลักษณ์ กลวิธีแยกคำ และถอดความหมายได้เองอย่างไม่น่าเชื่อ เด็กบางคนถึงกับลงมือเขียนหนังสือด้วยตนเอง
เขาจะทำทั้งหมดนี้ได้เพราะมีความจำใช้งานที่ดี ความจำใช้งาน หรือ working memory สร้างตัวเองขึ้นมาจากการอ่าน เล่น และทำงาน การเล่นและทำงานมาทีหลัง แต่การอ่านเริ่มต้นได้ตั้งแต่รุ่งอรุณของชีวิตด้วยการนอนฟังและดูนิทานก่อนนอนที่แม่ หรือพ่ออ่านให้ฟัง และชี้ให้ดู พ่อแม่ส่วนใหญ่ชี้เพียงภาพ แต่เด็กมักดูทั้งหน้าเสมอ ดูทั้งฉากหน้า (foreground) ฉากหลัง (background) และอักขระ (alphabets)
พ่อแม่ก้าวข้ามเส้นไปที่ชี้อักขระเพื่อบังคับอ่านกลับจะทำให้เด็กไม่สนใจ
มีงานวิจัยหลายชิ้นในทศวรรษที่ 1990 ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 5 ขวบ พูดตามผู้ใหญ่ได้ 3 คำติดต่อกัน อายุ 9 ขวบได้ 4 คำ และอายุ 11 ขวบได้ 5 คำ นั่นคือระยะเวลาของความจำระยะสั้น (memory span) ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ เด็กอายุมากขึ้นจะมีความจำระยะสั้นนานขึ้น จำคำพูดของเราได้นานขึ้นแล้วสามารถพูดตามได้โดยไม่ผิด
พบต่อไปว่าระยะเวลาของความจำระยะสั้น ซึ่งต่อไปจะขอใช้คำว่า เมมเมอรี่สแปน นี้มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา การอ่าน จำนวนคำศัพท์ และระดับสติปัญญา (IQ) ถ้าเราสามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีเมมเมอรี่สแปนยาวขึ้น ระดับสติปัญญาและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาจะดีขึ้นตาม ทั้งนี้โดยอนุมานว่าเด็กควรมีระดับสติปัญญาตั้งต้นไม่น้อยกว่า 80 โดยไม่มีความบกพร่องอื่น (หมายถึงมิใช่เด็กพิเศษในรูปแบบอื่น)
ความข้อนี้สำคัญ ถ้าการสำรวจที่ทำๆ กันถูกต้อง บ้านเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเด็กที่มีไอคิวระหว่าง 70-90 เด็กเหล่านี้มักถูกตีตราตามตำราว่าเป็นพวกคาบเส้น หรือปัญญาทึบ คือ Dull Normal นำไปสู่การถูกทอดทิ้งและไม่ใส่ใจด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีศักยภาพที่จะพัฒนา หากผู้กำหนดนโยบาย ครูใหญ่และครูจะล่วงรู้ว่าเราพัฒนาเมมเมอรี่สแปนได้ ไอคิวของพวกเขาจะดีขึ้น
เมมเมอรี่สแปนประกอบด้วยอะไรบ้าง?
เมมเมอรี่สแปนประกอบด้วย 2 ส่วน
1. เวลาที่ใช้ในการระบุคำ เรียกว่า item identification time
2. อัตราเร็วในการสะกดคำ เรียกว่า articulation rate
ยกตัวอย่าง
นักวิจัยบอกให้เด็กพูดตาม นักวิจัยพูดว่า ‘ปรากฏการณ์’ เด็กหยุดไปพักหนึ่ง ก่อนที่จะพูดว่า ‘ปรากฏการณ์’ ระยะเวลาที่ห่างกันนั้นคือเวลาที่ใช้ในการระบุคำ
นักวิจัยบอกให้เด็กพูดตามอย่างเร็วที่สุด นักวิจัยพูดว่า “โทรศัพท์ ปรมาณู” แล้วให้เด็กพูดตาม 10 รอบ “โทรศัพท์ ปรมาณู โทรศัพท์ ปรมาณู โทรศัพท์ ปรมาณู….” อัตราเร็วที่คำนวณได้คืออัตราสะกดคำ ซึ่งก็คือความเร็วในการอ่านหนังสือของผู้ใหญ่ในอนาคต
นักวิจัยพบต่อไปว่าอัตราเร็วในการสะกดคำแปรผันตรงกับเมมเมอรี่สแปนและแปรผันตรงกับความเร็วในการอ่านหนังสือในที่สุด เมื่อใช้โมเดล phonological loop ของความจำใช้งานซึ่งบอกว่าเด็กคนหนึ่งจะจำคำคำหนึ่งได้ 2 วินาทีหากไม่ทวนคำ เด็กคนหนึ่งจะเพิ่มอัตราเร็วในการสะกดคำได้ต่อเมื่อเขาสามารถคง 2 วินาทีแรกได้นานพอจนกระทั่งซ้อนทับกับคำใหม่ และคำใหม่ และคำใหม่… เกิดเป็นอนุกรมของความจำใช้งานที่ผุดขึ้นแล้วดับไป ผุดขึ้นแล้วดับไป ผุดขึ้นแล้วดับไป… อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งหนังสือจบเล่ม นี่คือความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของการอ่านหนังสือ
อย่าลืมว่าตอนที่เราอ่านสามก๊กจบสองเล่ม เรามิได้ ‘จำ’ ตัวหนังสือทั้งหมด เราอ่านเอาเรื่อง จะมีก็แต่เดต้าในสตาร์เทร็ค (หุ่นแอนดรอยด์ใน Star Trek: the Next Generation) ที่ทวนหนังสือทั้งเล่มให้เราฟังได้ทุกตัวอักษร หรือบุคคลออทิสติก (autistic savant) ที่มีความสามารถพิเศษบางคนที่จะทำเช่นนั้นได้
ลองนึกถึงพนักงานพิมพ์ดีดที่พิมพ์สัมผัสมิได้ เขาจะจดจำประโยคหนึ่งได้ยาวกี่คำโดยพิมพ์ไม่ผิดเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว คำเฉลยคือสั้นกว่าที่เราคิดมาก
เขียนถึงตรงนี้ก็มิได้หมายความว่าเราควรกดดันเด็กปฐมวัยให้รีบสะกดคำและอ่าน ในทางตรงข้ามเรากลับยิ่งต้องพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความสุขในการ ‘มอง’ และ ‘จำ’ อักขระ เด็กที่มีความสุขจะแยกหน่วยเขียน หน่วยคำและหน่วยเสียง (grapheme, morpheme & phoneme) ได้ด้วยตนเอง
แปลว่าเด็กไอคิวน้อยกว่า 90 เรากลับควรระมัดระวังการกดดันให้มาก แต่สร้างความสุขกับการอ่านมากยิ่งขึ้น เริ่มช้าไม่เป็นไร แต่ค่อยๆ เร่งความเร็วขึ้นได้ในภายหลังเมื่ออ่านมากขึ้น ในทางปฏิบัติเราควรให้เด็กมีความสุขกับการอ่านได้ โดยรับรู้ว่าการอ่านคำสองพยางค์ย่อมง่ายกว่าคำสามพยางค์ และคำสี่พยางค์ย่อมง่ายกว่าคำห้าพยางค์
ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กอ่านคำสองพยางค์ ‘กุญชร’ ได้จนคล่อง มีอัตราเร็วในการสะกดคำและเมมเมอรี่สแปนดีแล้ว เด็กจะอ่านคำว่า ‘คชสาร’ ตามด้วย ‘พญากุญชร’ แล้วต่อด้วย ‘พญาคชสาร’ ได้ด้วยตนเอง เช่นนี้ เราจะพบว่าอัตราเร็วในการสะกดคำจะดีขึ้น เมเมอรี่สแปนยาวขึ้น คือระบบความจำใช้งานที่เสถียรมากขึ้น มีห่วงโซ่ของความจำครั้งละ 2 วินาทีที่เกี่ยวพันกันอย่างต่อเนื่องยาวมากขึ้น
คือกำเนิดและพัฒนาการของความจำใช้งาน