Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
EF (executive function)
6 August 2018

เพราะอะไรจึงไม่ควรเรียนหนังสืออย่างจริงจังก่อน 7 ขวบ: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ระหว่างที่เรายังไม่เห็นงานวิจัยระยะยาวของประเทศไทย มีงานวิจัยระยะยาวจากต่างประเทศบางเรื่อง คัดเลือกเฉพาะเรื่องใหม่ๆ ให้เราได้อ่าน พิจารณา และคิดตาม

มีเพียงพ่อแม่ส่วนน้อยในบ้านเราที่กล้าหาญและมีทุนมากพอจะต้านกระแส นั่นคือพยายามที่จะมิให้ลูกเรียนหนังสืออย่างจริงจังมากเกินไปก่อนอายุ 7 ขวบ ในความเป็นจริงแล้วเกือบทุกบ้านส่งลูกไปโรงเรียน แต่พยายามที่จะคัดเลือกโรงเรียนที่ไม่มีการเรียนการสอนและเน้นการละเล่นเพื่อเตรียมความพร้อม

สำหรับโฮมสคูล เด็กที่เรียนโฮมสคูลรุ่นแรกๆ จบมหาวิทยาลัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าพวกเขาทำได้ เหมือนที่โรงเรียนทั่วประเทศทำได้ นั่นคือให้การศึกษาที่พอเพียงต่อการดำเนินชีวิตอย่างดีที่สุดเท่าที่จะดีได้

สำหรับโรงเรียนที่มิใช่โรงเรียนทางเลือก และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีทางเลือก อาจจะเพราะต้องปากกัดตีนถีบหาเช้ากินค่ำหรือไม่กล้าต้านกระแสเรียนหนังสืออย่างจริงจังของคนรอบข้าง ที่ท่านควรรู้คืออะไรที่เหมาะสมกับพัฒนาการเด็กตามที่ประเทศพัฒนาแล้วทำกัน ส่วนเรื่องจะทำได้หรือทำไม่ได้ เราจะค่อยๆ คุยกันในบทต่อๆ ไป

งานวิจัยระบาดวิทยาระยะยาวติดตามเด็กนิวซีแลนด์ 1,000 คนจากวัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่าคะแนนการควบคุมกำกับตนเอง (self-regulation) ทำนายผลลัพธ์ของชีวิตที่ดีกว่า ทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย การใช้สารเสพติด ฐานะการเงิน ประวัติการก่ออาชญากรรม ทั้งนี้โดยไม่สัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจของบ้านหรือเชาวน์ปัญญา (IQ) – Moffitt etal (2011) .A gradient of childhood self-control predicts health, wealth and public safety. Proceedings of the National Academy of Sciences of USA, 108 (7), 2693-2698. อ้างอิงใน Lynn Meltzer. Executive Function in Education, from theory to practice, 2nd edition, 2018. New York: Guilgord Press. p.66.

การควบคุมกำกับตนเอง หรือ self-regulation นี้เป็นปฐมบทของสิ่งที่เรียกว่า Executive Function (EF) ซึ่งเป็นตัวทำนายการใช้ชีวิตในอนาคตได้ดีกว่า IQ หรือผลการเรียน คือ การควบคุมตนเองให้สามารถทำงานยากได้เป็นเวลานานอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องการสมองส่วนหน้าที่ดี และสมองส่วนหน้าที่ดีนั้นได้จากการเล่นในช่วงปฐมวัยมากกว่าการเรียนหนังสือ

อีกงานหนึ่ง จากการติดตามเด็กอนุบาลจำนวน 753 คนจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (young adulthood) พบว่าความสามารถในการควบคุมกำกับตนเองเป็นตัวทำนายผลลัพธ์ที่ดีด้านการศึกษา การจ้างงาน ประวัติการก่ออาชญากรรม การใช้สารเสพติด และปัญหาสุขภาพจิต – Jones etal (2015). Early social-emotional functioning and public health: The relationship between kindergarten social competence and future wellness. American Journal of Public Health, 105 (11), 2283-2290. อ้างแล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้อ้างถึงการควบคุมกำกับตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าความสามารถเชิงสังคมคือ social competence ซึ่งนำไปสู่วิวาทะที่สำคัญของบ้านเราคือมีความจำเป็นมากน้อยเพียงไรที่เด็กๆ จะต้องไปโรงเรียนเพื่อให้มีสังคมหรือทักษะสังคม ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าโรงเรียนบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทั่วไปหรือโรงเรียนทางเลือกมีบุคลากรที่มีความรู้ทางจิตวิทยามากพอจะช่วยเหลือเด็กหรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่นับคำถามท้าทายคือเด็กโฮมสคูลจะเป็นเด็กที่ไม่มีสังคมจริงหรือ ซึ่งเชื่อว่าพ่อแม่ของเด็กโฮมสคูลที่เติบใหญ่แล้วจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้

อีกชิ้นหนึ่ง งานวิจัยระยะยาวในเดนมาร์ก ศึกษาข้อมูลประชากรตั้งแต่ข้อมูลการตั้งครรภ์ การคลอด การเข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 6 ปี แล้วติดตามไปจนถึงอายุ 7 และ 11 ปี เพื่อดูภาวะสุขภาพจิต โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เริ่มเรียนเมื่อต้นปี คืออายุ 6 ขวบเล็กน้อย กับกลุ่มที่เริ่มเรียนเมื่อปลายปี คือเกือบจะ 7 ขวบ รวมทั้งสิ้น 50,000 ข้อมูล ผลการศึกษาพบว่าเด็กที่เริ่มเรียนช้ากว่า จะมีปัญหาสมาธิสั้น (attention deficit) และอยู่ไม่นิ่ง (hyperactive) น้อยกว่าเด็กที่เริ่มเรียนเร็วกว่า – Health Thomas S. Dee and Hans Henrik Sievertsen. The Gift of Time? School Starting Age and Mental. NBER Working Paper No. 21610, October 2015.

ผลการศึกษานี้มิได้แปลว่าเข้าเรียนเร็วกว่าเกิดโรคสมาธิสั้นมากกว่า ไม่เกี่ยวกัน ที่จริงการศึกษาข้อมูลประชากรลักษณะนี้เป็นเรื่องที่บ้านเราทำได้เลยหากต้องการ อาจจะมีปัญหามากตอนที่ไล่ติดตามข้อมูลเด็ก 50,000 คนว่าบัดนี้กระจัดกระจายไปที่ใดและจะควบคุมตัวแปรและตัวกวนตลอดชีวิตได้อย่างไร

อีกชิ้นหนึ่งคล้ายชิ้นที่แล้ว จากเยอรมนี ปี 2012 รายงานการศึกษาเด็กเล็ก 360 คนจากเขตไรน์-เน็คคาร์ตอนกลางของเยอรมนี พบว่าไปโรงเรียนช้ากว่ามีอุบัติการณ์ของภาวะอยู่ไม่นิ่งลดลง และเด็กมีสมาธิจดจ่อดีกว่าเมื่อตรวจวัดที่อายุ 8 ขวบ – Muhlenweg A etal (2012): Effects of age at school entry (ASE) on the development of non-cognitive skills: Evidence from psychometric data. Economics of Education Review, 31 (3), 68-76.

และอีกชิ้นหนึ่ง จากนอร์เวย์ ปี 2011 รายงานการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตในทหารเกณฑ์ใหม่ พบว่าทหารเกณฑ์ที่มีประวัติไปโรงเรียนช้ากว่า 1 ปี ลดปัญหาสุขภาพจิตลงไปอย่างมีนัยสำคัญ – Black etal (2011): Too young to leave the nest? The effects of school starting age. The Review of Economics and Statistics, 93 (2), 455-467.

รายงานฉบับหลังนี้เป็นเรื่องที่ทำวิจัยซ้ำได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน บ้านเรามีทหารเกณฑ์มากมายจากหลากหลายสถานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจให้รอสำรวจ น่าสนใจมากว่าทหารเกณฑ์บ้านเรามีปัญหาสุขภาพจิตมากน้อยเพียงไร และนักวิจัยสามารถกำจัดตัวแปรได้หรือไม่ว่าปัญหาสุขภาพจิตเหล่านั้นสัมพันธ์กับอะไร

อีกชิ้นหนึ่ง รายงานจาก NIH ปี 2007 ติดตามเด็กมากกว่า 900 คนจากอายุ 54 สัปดาห์ถึงประถม 3 โดยควบคุมตัวแปรทางครอบครัวไว้แล้วพบว่าเด็กที่เข้าอนุบาลเร็วกว่าทำคะแนนด้านการรู้จักตัวอักษร-คำ สูงกว่า แต่คะแนนด้านภาษา ความเข้าใจ และการคิดเชิงคณิตศาสตร์ต่ำกว่าเด็กที่เข้าอนุบาลช้ากว่า เด็กที่เข้าอนุบาลช้ากว่าพบว่าคะแนน 4 ด้านนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างต่อเนื่องและอย่างชัดแจ้ง คือ รู้จักตัวอักษร-คำ การแก้ปัญหา ความจำรูปประโยค และคำศัพท์จากรูปภาพ

และเมื่อถึงประถม 3 สามารถทำคะแนนการแก้ปัญหาและคำศัพท์จากรูปภาพได้สูงกว่าเด็กที่เข้าเรียนเร็วกว่า ทั้งนี้โดยเป็นอิสระจากสถานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจ -NICHD Early Child Care Research Network. Age of Entry to Kindergarten and Children’s Academic Achievement and Socioemotional Development. Early Education Development 2007; 18 (2): 337-368.

งานชิ้นนี้เป็นไปตามที่เรากังวลกันมานาน กล่าวคือการเร่งเรียนเร็วอาจจะทำให้เด็กดูคล้ายจะอ่านออกเขียนได้เร็ว แต่มิได้พิสูจน์ว่าการอ่านเอาเรื่อง เก็บประเด็น และความสามารถวิพากษ์จะดีตามไปด้วย อีกทั้งการคิดเลขได้เร็วมิได้บอกว่าความสามารถด้านตรรกหรือการให้เหตุผลจะดีตามไปด้วย ที่จริงแล้ว หากเพียเจต์ถูก แน่นอนว่าใครๆ ก็สามารถพูดได้ว่าเพียเจต์ผิด แต่ถ้าเพียเจต์ถูก ความสามารถด้านการอ่านเอาเรื่อง วิพากษ์ และตรรกเหล่านี้มิได้เกิดจากการเรียนหนังสือแต่เกิดจากการเล่น

ปิดท้ายด้วยงานจากประเทศไทยที่กัลยาณมิตรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งมาให้ คือ การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อการพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย พ.ศ. 2559 โดย รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และ ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า พบความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมากของเด็กไทย และมีความสัมพันธ์กับจิตสาธารณะด้วย

โดยทีมวิจัยชุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญคือเรื่องความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างพื้นฐาน ดังที่ทราบว่าจิตสาธารณะใช้กลไกทางจิตที่เรียกว่า altruism อันเป็นกลไกที่พัฒนาได้ดีในช่วงวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ซึ่งเป็นพัฒนาการช่วง abstract operation และการคิดวิเคราะห์นั้นจะขาดซึ่งวิธีคิดเชิงนามธรรม (abstract thinking)ไปมิได้ สอดคล้องกับผลวิจัยของนักวิจัยไทยชุดนี้ที่พบว่าจิตสาธารณะแปรตามความสามารถในการคิดวิเคราะห์

กล่าวคือหากเด็กไทยคิดวิเคราะห์ไม่ได้ จะมีผลกระทบต่อจิตสาธารณะ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์และแนวโน้มที่สังคมของเรากำลังเผชิญอยู่

ระหว่างรองานวิจัยระยะยาวของบ้านเราว่าที่แท้แล้วการเร่งเรียนก่อนวัยอันควรมีประโยชน์หรือไม่และมีประโยชน์อย่างไร นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นความร้ายแรงของสถานการณ์ที่รอไม่ได้เพราะเด็กไทยอยู่ยากมากขึ้นทุกวัน ยอดผู้ป่วยจิตเวชเด็กที่ถูกส่งไปจากระบบการศึกษาปฐมวัยมีมากขึ้นทุกเดือน ใครบางคนจึงมีหน้าที่บอกกล่าวแก่สังคมว่าโดยทฤษฎีแล้วเราควรทำอะไร

และถ้าสมมุติว่าทำไม่ได้ เพราะยากจนหรือเพราะไม่สามารถต้านกระแสสังคมได้ เราจะทำอะไรได้บ้าง คือเรื่องที่เราจะคุยกันต่อไป

แต่เพื่อตอบคำถามสองข้อนี้ จำเป็นที่เราควรรู้ลึกถึงประโยชน์ของการเล่นที่มีมากกว่าการเรียนในช่วงปฐมวัย ทั้งนี้โดยอ้างอิงงานเขียนของ Freud, Klein, Erikson, Piaget และ Kohlberg รวมทั้งความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านสมองสมัยใหม่ที่เรียกว่า Executive Function (EF)

ทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพข้างต้นผิดได้ แม้ว่าจะมีงานวิจัยสมัยใหม่หลั่งไหลออกมารองรับก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ตรวจผู้ป่วยจิตเวชที่ระบบการศึกษาผลิตขึ้น ทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพเหล่านี้มีส่วนถูกมากกว่าผิด

Tags:

โรงเรียนปฐมวัยEFการกำกับตัวเอง(self-regulation)

Author:

illustrator

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Related Posts

  • Creative learning
    พาเด็กอนุบาลเรียนรู้ผ่าน ‘งานสวน’ เสริมสมรรถนะการอยู่ร่วมกันและการแก้ปัญหา:  ครูกิม – ภาวิดา แซ่โฮ่ โรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Early childhood
    วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.3 แนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับลูกก่อนเข้าสู่สังคม (โรงเรียน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Space
    เปลี่ยนสนามเด็กเล่นที่ไม่น่าเล่นและไม่ปลอดภัย มาเป็นผู้ช่วยให้เด็กพัฒนาสมวัย

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Early childhoodEF (executive function)
    “อุ้มหนูหน่อย” = ลูกกำลังเสียเซลฟ์ พ่อแม่สร้างตัวตนให้ลูกได้ผ่านการเลี้ยงดู

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Learning Theory
    งานบ้าน กับ การบ้าน ทำอะไรดี?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel