Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Character building
23 January 2023

Discipline: ‘วินัย’ ไม่อาจสร้างจากความรุนแรง แต่บ่มเพาะจากความเชื่อใจและรับฟัง

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • การสร้างวินัยด้วยการลงโทษทางกายนำไปสู่การเพิ่มความก้าวร้าวและพฤติกรรมต่อต้านสังคมของเด็ก เรียกว่าความรุนแรงนำไปสู่ความรุนแรงเป็นวงจรอุบาทว์ ก็คงไม่ผิดเสียทีเดียวนัก
  • เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างวินัยในเด็กคือ การรับฟัง และการเอาใจใส่ หากเขาทำตัวดี ต้องชมเชยอย่างสม่ำเสมอ และหากทำตัวไม่เหมาะสมในเรื่องใด ก็ต้องสอนอย่างนุ่มนวล
  • หากเด็กทำตัวไม่ดี เอาแต่ใจ เมื่อเตือนให้หยุดงอแงแล้ว ก็ยังไม่หยุด คุณอาจจะต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี พาแกออกออกจากสถานการณ์ตรงหน้า ไปไว้ในสถานที่ปลอดภัยสักแห่ง เช่น ในห้องของแกเอง แล้วปล่อยให้แกสงบใจกับ ‘เวลานอก’

เชื่อว่าคนจำนวนมากคงผ่านหูคำพูดทำนอง “ลูกของคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” มาบ้าง 

การฝึกลูกหลานให้มี ‘วินัย’ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของหลายครอบครัว (หรืออาจจะในครอบครัวส่วนใหญ่) จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเจอเหตุการณ์เด็กเล็กลงไปนอนชักดิ้นชักงออยู่ตามทางเดิน ทั้งในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์เซ็นเตอร์ โรงภาพยนตร์ สวนสนุก และที่อื่นๆ 

คำว่า ‘วินัย’ ในภาษาใช้ว่า Discipline ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า Diciplinare แปลว่า ‘สอนหรือฝึกหัด’ สะท้อนให้เห็นมุมมองว่า วินัยไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือมีติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ต้องสอนสั่งหรือฝึกหัด จึงจะเกิดมีขึ้นในตัว

เอกสารชื่อ ‘วินัยที่มีประสิทธิผลช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่ดี (Effective Discipline to Raise Healthy Children)’ ที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics–AAP) เผยแพร่ใน ค.ศ. 2018 [1] ระบุชัดเจนว่า การตะโกนใส่ ดุด่า หรือการตีเด็ก เป็นวิธีการสร้างวินัยที่ไม่ดีและไม่ได้ผล 

นอกจากจะไม่ช่วยสร้างวินัยที่ดีอย่างยั่งยืนแล้ว ยังส่งผลลบในระยะยาวอีกด้วย

ปัญหาการสอนแบบมีการลงไม้ลงมือฝังอยู่ในความคิดของสังคมไทยมาช้านาน เหมือนที่คงเคยได้ยินคำว่า ‘ได้ดีเพราะไม้เรียวครู’ กันมาบ้าง แต่ความเป็นจริงก็คือ เด็กที่โดนทำโทษแบบที่มีการทำร้ายร่างกายบางรูปแบบ เมื่อโตขึ้นอาจมีโอกาสจะเกิดพฤติกรรมความก้าวร้าว มีปัญหาสุขภาพจิต ใช้ความรุนแรงกับคนใกล้ตัว และติดสารเสพติด มากกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมสั่งสอนแบบใช้หลักเหตุผลและกำหนดกฎเกณฑ์แบบอื่นอย่างมีนัยสำคัญ 

ที่น่าสนใจคือ แม้จะไม่ได้ลงไม้ลงมือกับร่างกาย แต่การดุด่าว่ากล่าวหรือด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรงก็ส่งผลเสียในลักษณะเดียวกันได้ด้วย 

การเฆี่ยนตีเด็กยังทำลายสายสัมพันธ์อันบอบบางที่เด็กจำเป็นต้องมีกับคนใกล้ตัวที่เขาหรือเธอรักและต้องพึ่งพิงมากที่สุด 

อ่านมาถึงตรงนี้อาจมีคนแย้งว่า แล้วทำไมเด็กเยอะแยะที่โดนตี จึงโตขึ้นมาเป็นคนเก่ง คนประสบความสำเร็จได้? คำตอบคือปัจจัยเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องส่งผลกระทบ ‘รุนแรง’ กับทุกคนในทุกกรณี เด็กบางคนก็อาจปรับตัวเก่ง ปรับตัวได้ โดยการดุด่าเฆี่ยนตีไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก 

แต่ทำไมเราจะต้องไปเสี่ยง ในเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่า ไม่ลงไม้ลงมือดีกว่าแน่ๆ ?

น่าเสียดายว่ารายงานเรื่องความรุนแรงในการสร้างวินัยของยูนิเซฟที่ออกมาใน ค.ศ. 2017 [2] ระบุว่า มีราว 60% ของเด็กอายุ 2–4 ปีทั่วโลกที่ยังโดนลงโทษด้วยการตีอยู่เป็นประจำ และหากนับการตะโกนเรียกชื่อหรือดุด่าด้วยเสียงดังด้วย ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นไปเป็นถึง 75%   

มีงานวิจัย [3] ที่ทำในเด็กมากถึง 11,044 คน ครอบคลุมตั้งแต่เด็กอนุบาลไปจนถึงเด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการตีเด็กเพื่อสอนกับความเสี่ยงทางพฤติกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในการโต้เถียง ชกต่อย และทำร้ายร่างกายกันของเด็กกลุ่มนี้ 

โดยไม่มีความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติและชาติพันธุ์มาเกี่ยวข้อง  

มีงานวิจัยทำนองนี้อีกมากซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันว่า การสร้างวินัยด้วยการลงโทษทางกายนำไปสู่การเพิ่มความก้าวร้าวและพฤติกรรมต่อต้านสังคมของเด็ก เรียกว่าความรุนแรงนำไปสู่ความรุนแรงเป็นวงจรอุบาทว์ ก็คงไม่ผิดเสียทีเดียวนัก 

เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดเรื่องหนึ่งที่อาจคาดไม่ถึงกันได้แก่ การลงโทษทางร่างกายอาจส่งผลกระทบกับสมองในทางเลวร้ายได้ด้วย ยกตัวอย่าง นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ พบว่าในวัยรุ่นที่มีประวัติโดนทุบตีอย่างรุนแรงในตอนยังเด็ก มีจำนวนเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนโดพามีน (dopamine) ที่แตกต่างไปจากเด็กทั่วไป [4] 

ฮอร์โมนโดพามีนเกี่ยวข้องกับการควบคุมความเคลื่อนไหว ความจำ และระบบความสุขจากการให้รางวัลและแรงจูงใจ ปริมาณโดพามีนที่มากหรือน้อยเกินไป นำไปสู่ปัญหาทางจิตและโรคของระบบประสาทหลายรูปแบบ ในการทดลองดังกล่าวพบว่าวัยรุ่นที่โดนทุบตีเหล่านั้น มีความเสี่ยงจะติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดง่ายกว่าวัยรุ่นทั่วไป

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง [5] ของมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาดพบว่า วัยรุ่นที่โดนทำร้ายรุนแรงในตอนเด็กจะมีจำนวนเซลล์ในสมองส่วนพรีฟรอนทัลคอร์ติคัล (prefrontal cortical) ลดลง โดยเฉพาะในบริเวณที่สัมพันธ์กับการควบคุมตัวเองและการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมหรือการรับรู้ความคิดของคนอื่น 

พูดง่ายๆ ว่า ทำให้เป็นคนที่ทั้งสับสนไม่เข้าใจตัวเอง และไม่เข้าใจคนอื่น 

มีคำแนะนำอะไรดีๆ บ้างไหมในการสร้างวินัยในเด็ก โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสีย? 

หันมาใช้พลังแห่งความรัก ความเชื่อใจ และพลังบวกช่วยสร้างเด็กที่มีวินัยและทำตัวน่ารักกันนะครับ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ไม่ได้แปลว่าทำกับตัวเด็กเท่านั้น อาจจะต้องย้อนกลับมาที่ปรับปรุงพฤติกรรมของเราเองด้วย 

AAP ให้กลยุทธ์ไว้ 10 ข้อ สำหรับเป็นแนวทางการสร้างวินัยให้เด็กๆ โดยไม่ทำร้ายตัวเด็กดังนี้ครับ

ข้อแรกคือ เด็กเรียนรู้จากตัวอย่างหรือ ‘คนต้นแบบ’ คุณอยากให้เด็กทำตัวมีเหตุผล คุณก็ต้องมีเหตุผล พูดจาหรือสั่งสอนกับพวกเขาอย่างใจเย็น 

ข้อต่อมาคือ ต้องมีการตั้งกฎที่มีความชัดเจนและเด็กทำตามได้ กฎพวกนั้นต้องเหมาะกับวัยของเด็ก และต้องอธิบายแบบง่ายๆ ให้เด็กเข้าใจ ตามมาด้วยข้อ 3 คือ แสดงให้เห็นว่าหากไม่ทำตามกฎในข้อ 2 จะนำไปสู่ผลลัพธ์คือ โดนลงโทษ เช่น หากเล่นตุ๊กตาแล้วไม่เก็บให้เรียบร้อย คุณจะเก็บตุ๊กตาเหล่านั้นและเขาหรือเธอจะไม่ได้เล่นมันอีกเล่นตลอดทั้งวัน 

ขั้นตอนนี้เรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ห้ามใจอ่อน หย่อนโทษลงปุบปับ เช่น ยึดตุ๊กตามาแค่ไม่กี่นาทีก็สงสาร เลยนำออกมาให้เล่นต่อ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การลงโทษแบบนี้ต้องไม่ใช่สิ่งสำคัญจริงๆ สำหรับเด็กที่ขาดไม่ได้ เช่น อาหาร 

สำหรับข้อที่ 4 นี่อาจจะยากเป็นพิเศษสำหรับผู้ใหญ่หลายๆ คนคือ ต้องพยายามรับฟังเด็กๆ ด้วย เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างวินัยในเด็กคือ การรับฟัง 

ลองสังเกตว่าเด็กทำตัวไม่ดีในรูปแบบจำเพาะหรือเปล่า เช่น แสดงอาการอิจฉาพี่หรือน้องบางคน ถ้าพบรูปแบบเช่นนั้น ลองคุยสื่อสารกับมนุษย์ตัวจิ๋วดูจะได้ผลกว่าการลงโทษมาก 

ไม่เพียงแต่ต้องรับฟัง แต่ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ และแสดงให้เด็กๆ เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกเขากำลังได้รับการเอาใจใส่อยู่ หากเขาทำตัวดี ต้องชมเชยอย่างสม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้าม หากทำตัวไม่เหมาะสมในเรื่องใด ก็ต้องสอนอย่างนุ่มนวลและด้วยความเอาใจใส่ 

การดุด่าและการลงไม้ลงมือต้องไม่อยู่ในสมการการสร้างวินัย

ประการที่ 6 คือ ต้องแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า รับรู้หากเด็กๆ ทำตัวดี มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ต้องมีการชมเชยหรือให้รางวัลอย่างชัดเจน เช่น “วันนี้หนูน่ารักมาก เก็บของเล่นลงกล่องหมดเลย”      

ในบางกรณีถ้าเด็กไม่ได้ทำอะไรนอกคอก สุ่มเสี่ยงจะเกิดอันตราย และโดยปกติแล้วก็ทำตัวดี ก็อาจมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปได้บ้าง เช่น หากเด็กโยนคุกกี้ทิ้งเล่น แกก็จะไม่มีคุกกี้กินในที่สุด หรือไม่พอใจแล้วโยนหรือขว้างของเล่นทิ้ง ถ้ามันเสียหายจนใช้เล่นต่อไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้เรื่องการได้รับผลลัพธ์จากการกระทำของตัวเอง 

คำแนะนำข้อที่ 8 คือ ตัวคุณเองต้องเตรียมใจรับปัญหาที่ไม่คาดฝันไว้บ้าง ลองสมมุติดูว่าถ้าลูกหลานของคุณทำแบบนั้น คุณจะตอบสนองยังไง 

ข้อต่อไปคือ บางทีต้องสังเกตเหมือนกันว่า บางครั้งการที่เด็กทำตัวคล้ายกับมีปัญหา อาจจะมีที่มาจากแค่ว่าแกเบื่อหรือไม่รู้จะทำอะไรแค่นั้น ลองหาอะไรให้เด็กลองทำดู ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่บางทีเราก็มองข้ามไปไม่รู้ตัว

คำแนะนำสุดท้ายที่น่าจะมีประโยชน์มากคือ ควรตกลงกันเรื่อง ‘เวลานอก’ 

บางครั้งหากเด็กทำตัวไม่ดี เอาแต่ใจ เมื่อเตือนให้หยุดงอแงแล้ว ก็ยังไม่หยุด คุณอาจจะต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี พาแกออกออกจากสถานการณ์ตรงหน้า ไปไว้ในสถานที่ปลอดภัยสักแห่ง เช่น ในห้องของแกเอง แล้วปล่อยให้แกสงบใจกับ ‘เวลานอก’ 

หลักการคร่าวๆ คือ เวลานอก 1 นาทีสำหรับเด็ก 1 ขวบ และบวกเพิ่มเข้าไปตามอายุ แต่ไม่ควรนานเกิน 3 นาที หลังจากนั้นจึงกลับมาพูดคุยกับแกอีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การควบคุมตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญคือ อาจใช้ได้กับเด็กโตหรือแม้แต่วัยรุ่นด้วยเช่นกันในรูปของการกักบริเวณให้สำนึกผิด  

ในทางกลับกัน หากเราเองควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็ให้เวลานอกกับตัวเอง เดินไปให้พ้นจากสถานการณ์ตรงหน้าสัก 1–3 นาที เพื่อสงบจิตใจ แล้วกลับมาแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยอีกครั้ง ระหว่างนั้นอาจจะอยู่กับตัวเอง สูดลมหายใจลึกๆ เพื่อผ่อนคลาย หรือแม้แต่ถ้าสถานการณ์ย่ำแย่มาก โทรศัพท์ไปปรึกษาพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือคนที่ไว้ใจก็อาจช่วยได้เช่นกัน

เมื่อกลับมาอีกครั้ง เดินเข้าไปกอดแก แล้วเริ่มต้นคุยอีกครั้ง 

การสร้างวินัยในเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนถึงกับว่าเป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่งของการเป็นพ่อแม่ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่นและไม่ค่อยยอมฟังแล้ว นั่นคือสาเหตุที่เราพบ ‘เด็กที่ไม่น่ารัก’ ได้ทั่วไป  

แต่การสร้างวินัยไม่ได้มีประโยชน์เพื่อทำให้คนอื่นมีความสุข แต่ตัววินัยนี่เองที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้เด็กประสบความสำเร็จและมีความสุขต่อไปได้ในอนาคต    

เอกสารอ้างอิง

[1] pediatrics.aappublications.org/content/early/2018/11/01/peds.2018-3112 

[2] https://data.unicef.org/topic/child-protection/violence/violent-discipline/ 

[3] Child Dev. 2012 May-Jun; 83(3): 838-43. doi: 10.1111/j.1467-8624.2011.01732.x. 

[4] Neuroimage. 2010 Nov 1; 53(2): 10.1016/j.neuroimage.2010.06.043.

[5] Neuroimage. 2009 Mar 12. doi: 10.1016/j.neuroimage.2009.03.005

Tags:

การรับฟังความเชื่อใจวินัยความรุนแรงเด็กรางวัลและการลงโทษ

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.5 ‘ตัวตนภายในที่แข็งแรง ภายนอกจึงไม่เปราะบาง’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • IMG_0670 2
    Book
    เด็กที่สร้างปัญหาไปวันๆ อาจต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจ: บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘โรงเรียน = รุนแรง’ สมการนี้สังคมต้องร่วมแก้ …เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Character building
    ‘เด็กโกหก’ อาจไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เข้าใจธรรมชาติการโกหกจากงานวิจัย

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Everyone can be an Educator
    เรียนรู้นอกกรอบ กับอดีตครูนอกคอก: อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มลูกหว้า’ เยาวชนก่อการดีแห่งเมืองเพชร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ สิริเชษฐ์ พรมรอด

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel