- ห้องเรียนเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถสอนให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ผ่านการได้รับโอกาสให้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมือง มีงานวิจัยที่บอกว่าหากครูจัดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างเหมาะสม พวกเขาจะสามารถพัฒนาทักษะความรู้รวมทั้งคุณสมบัติที่ดีจนเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในอนาคตบ้านเมืองต่อไป
- แต่การแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง หากครูไม่เตรียมตัวให้ดีอาจกลายเป็นปัญหาได้ ซึ่งครูต้องได้ทั้งแรงสนับสนุนจากโรงเรียนและต้องขวนขวายเองด้วยในการปรับเปลี่ยนห้องเรียนให้เกิดบรรยากาศที่นักเรียนกล้าแสดงความเห็นเรื่องการเมืองกัน
- ชั้นเรียนที่จะเอื้อให้เด็กโต้แย้งกันได้นั้นต้องผ่านการวางแผนมาอย่างดี ครูต้องเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนคิด เตรียมสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาล่วงหน้า ไปจนกระทั่งต้องรู้จังหวะว่าจะสอดแทรกเอาการอภิปรายไปไว้ตรงไหนของบทเรียน สำคัญที่สุด คือ นักเรียนต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนเหตุผลกับเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง ไม่ใช่พูดให้ครูฟัง
การเมือง เรื่องที่ครูต้องสอนในห้องเรียนศตวรรษที่ 21
ไดแอน เฮส (Diana Hess) คณบดีแห่ง Madison’s School of Education – University of Wisconsin กับพอลล่า แมกอะวอย (Paula McAvoy) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมศึกษา North Carolina State University ร่วมกันศึกษาวิจัยเรื่องการเปิดพื้นที่ในชั้นเรียนให้นักเรียนถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการเมืองช่วงปี 2005-2009 เพื่อดูว่านักเรียนได้ประโยชน์อะไรจากการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิด และชั้นเรียนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางสังคมในฐานะพลเมืองในอนาคตของเด็กอย่างไรบ้าง โดยนักวิจัยทั้งสองเข้าไปติดตามสังเกตในชั้นเรียนของครูผู้สอนที่ทำให้มีการอภิปราย ถกเถียงแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนที่มีคุณภาพสูงว่าเขามีวิธีการอย่างไร
ในหนังสือที่เขียนถึงงานวิจัยดังกล่าว เฮสและแมกอะวอยบอกว่าชั้นเรียนที่จะสอนความเป็นประชาธิปไตยให้กับเด็กๆ ควรอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการเมือง (ที่ไม่ใช่การแบ่งพรรคแบ่งพวก) พูดให้ชัดคือ
“ชั้นเรียนต้องสอนถึงความเท่าเทียมกันของเสียงประชาชน ปลูกฝังนิสัยการคิดแบบมีเหตุมีผลและรับผิดชอบต่อมุมมองและการกระทำของตนว่าส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร” นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะอภิปรายประเด็นใดประเด็นหนึ่งด้วยมุมมองที่หลากหลายและขัดแย้งกัน รวมทั้งฝึกฟังอย่างลึกซึ้งและหัดตั้งคำถาม
ภารกิจนี้ถือเป็นงานช้างสำหรับครูผู้สอน ยิ่งอุณหภูมิการเมืองกำลังมาคุ ทั่วทุกหัวระแหงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันดุเดือด นักวิจัยทั้งสองเผยว่าครูส่วนใหญ่พยายามเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการเมืองในชั้นเรียนแม้เนื้อหาที่สอนเช่นวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือความเป็นพลเมืองแตะเข้าสู่ประเด็นก็ตาม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการรักษาบรรยากาศชั้นเรียนให้เป็นกลาง ท่ามกลางหัวข้อที่ปลุกกระตุ้นความขัดแย้งได้นั้น ครูเองต้องมีชั่วโมงบินพอสมควร นอกจากนั้น พื้นเพครอบครัวที่ต่างกันของเด็ก ศาสนา ความเชื่อ สถานการณ์บ้านเมืองที่ตึงเครียดอยู่แล้ว ยังมีดราม่าจากผู้ปกครอง ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองในชั้นเรียนเป็นเรื่องยาก
พร้อมกันนั้น ผู้สอนเองก็ต้องระวังอย่างที่สุดไม่ไปมีอิทธิพลเหนือความคิดของนักเรียนจนเอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง และต้องเข้าใจว่าพวกเขามีสิทธิแสดงความเห็นได้เสรีกว่าตัวเองซึ่งอยู่ในฐานะคนของรัฐ โจชัว ดันน์ (Joshua Dunn) ครูสอนวิชารัฐศาสตร์ใน University of Colorado Colorado Springs กล่าวไว้ในรวมบทความ Talking Out of Turn: Teacher Speech for Hire ตอนหนึ่งว่า “ครูอยู่ในสถานะผู้กุมอำนาจซึ่งมีอิทธิพลเหนือนักเรียนในแง่ที่พวกเขาต่างก็เข้าใจได้ว่าตัวเองต้องสงบปากกับคนที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเขาด้วยใบเกรด” จากรูปการณ์แล้ว การเปิดให้เด็กๆ อภิปรายแลกเปลี่ยนทัศนะทางการเมืองในชั้นเรียนยังมีอุปสรรคนานัปการคอยท่าอยู่
แต่ถึงอย่างนั้น นักวิจัยทั้งสองก็ยังยืนยันว่าเด็กในชั้นเรียนควรมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองกันอยู่ดี โดยชี้ว่าหากครูจัดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างเหมาะสม พวกเขาจะสามารถพัฒนาทักษะความรู้รวมทั้งคุณสมบัติที่ดีจนเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในอนาคตบ้านเมืองต่อไป ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ คือ ครูที่ต้องหูตากว้างไกลและทำการบ้านล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี
ตัวอย่างครูที่จัดให้นักเรียนอภิปรายในชั้นเรียนได้ดี
แมกอะวอยและเฮสอยากทราบว่า ในชั้นเรียนที่เปิดให้นักเรียนถกเถียงปัญหาจนเด็กเหล่านั้นมีพัฒนาการทักษะมากที่สุด ครูมีวิธีการสอนอย่างไรกันบ้าง ทั้งสองลองเข้าไปสังเกตการสอนของครูจำนวน 35 คนซึ่งทั้งหมดเรียนจบด้านสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ และมีประสบการณ์การสอนมาพอสมควร ครูเหล่านี้สอนรายวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ โดยกลุ่มหนึ่งสอนแบบเน้นให้ผู้เรียนฝึกใคร่ครวญประเด็นปัญหาการเมืองจากคนละมุมมอง กับอีกกลุ่มสอนแบบเลคเชอร์ทั่วไป ทั้งสองตั้งใจจะเปรียบเทียบว่านักเรียนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนและเรียนรู้อะไรบ้างจากการสอนทั้งสองแบบ ซึ่งสุดท้ายผลออกมาว่า ครูจำนวน 10-12 คน เป็น “แบบปฏิบัติที่ดี” (Best Practice) จากการที่พวกเขาจัดให้นักเรียนอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองกันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จนต่อมาเด็กในชั้นเกิดความเข้าใจในความเป็นพลเมืองและแสดงถึงการมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนั้น ครูเหล่านี้ยังมีจิตสำนึกในหน้าที่พลเมืองของตนและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเมือง ตลอดจนแบ่งปันความรู้และสร้างความกระตือรือร้นให้ชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ
แมกอะวอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ครูที่เป็นแบบปฏิบัติที่ดี คือ ครูที่ได้ทั้งแรงสนับสนุนจากโรงเรียนและต้องขวนขวายเองด้วยในการปรับเปลี่ยนห้องเรียนให้เกิดบรรยากาศที่นักเรียนกล้าแสดงความเห็นเรื่องการเมืองกัน ขณะที่ครูจำนวนไม่น้อยคิดว่าการเปิดอภิปรายความคิดของนักเรียนในชั้น ไม่จำเป็นต้องถึงกับเตรียมตัวกันล่วงหน้าซึ่งในความจริงแล้วกลับไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะชั้นเรียนที่จะเอื้อให้เด็กโต้แย้งกันได้นั้นต้องผ่านการวางแผนมาอย่างดี ครูต้องเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนคิด เตรียมสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาล่วงหน้า ไปจนกระทั่งต้องรู้จังหวะว่าจะสอดแทรกเอาการอภิปรายไปไว้ตรงไหนของบทเรียน สำคัญที่สุด คือ นักเรียนต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนเหตุผลกับเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง ไม่ใช่พูดให้ครูฟัง
ถึงการให้นักเรียนได้อภิปรายเรื่องการเมืองในชั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้านอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังเป็นการขยายอคติให้ลุกลามอีกด้วย “หลังเหตุประท้วงเรื่องเหยียดสีผิวที่ Charlottesville หมาดๆ พอเช้าวันจันทร์ ครูถามนักเรียนในชั้นโดยไม่พูดพล่ามทำเพลงว่า ‘พวกเธอรู้สึกยังไงกันบ้าง’ อย่างนี้ถือว่าไม่สร้างสรรค์” แมกอะวอยเตือนว่า การให้นักเรียนถกเถียงกันในหัวข้อที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ โดยโยนคำถามใส่เด็กว่า ‘พวกหนูคิดยังไงกับเรื่องนี้?’ หรือ ‘มีอะไรจะถามมั้ย?’ แน่นอนว่ามันสะกิดให้พวกเขาคิดบางอย่างก็จริง แต่การปล่อยให้เขาพูดในสิ่งที่คิดออกมาทั้งหมดโดยไม่กลั่นกรองถือว่าผลีผลามเกินไป ‘ถ้าครูให้นักเรียนใส่กันโต้งๆ โดยไม่มีเหตุผลรองรับก็เท่ากับให้เขาแสดงความคิดที่เต็มไปด้วยอคติโดยไม่รู้จักไตร่ตรอง’ ดังนั้น ถ้าจะให้สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพกว่านี้ ครูควรให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติ (Role play) โดยให้ต่างฝ่ายต่างเตรียมสืบค้นข้อมูลเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วหาหลักฐานมาประกอบความคิดเห็น พร้อมกับที่ครูต้องอธิบายวิธีแสดงความเห็นและช่วงเวลาเหมาะสมในการมีส่วนร่วมให้พวกเขาด้วย
ครูต้องหาวิธีมากระตุ้นให้เด็กคิด โดยให้พวกเขามีความคิดเป็นของตนเอง
เนื่องจากโรงเรียนปัจจุบันคัดเด็กที่คิดอ่านคล้ายกันมาอยู่ด้วยกันมากขึ้น เด็กทั้งชั้นจึงมักมีไอเดียเหมือนกันยกห้อง หนึ่งในตัวอย่างครูที่เป็นแบบปฏิบัติที่ดีที่แมกอะวอยและเฮสพูดถึง คือ โจเอล คุชเนอร์ (Joel Kushner) ครูสอนสังคมศึกษาใน Academy High School ซึ่งรับบทเป็น ‘ผู้คัดค้านหลอกๆ’ ระหว่างการอภิปรายในชั้นที่นักเรียนของเขาจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการทำแท้ง คุชเนอร์พยายามชี้ให้นักเรียนมองในมุมของฝ่ายที่รักษาชีวิตลูก พิจารณาเหตุและผลของการตัดสินใจจากทั้งสองฝั่ง
“ระหว่างที่ถกกันเรื่องการทำแท้ง ผมต้องหาเหตุผลมาค้านมุมมองของนักเรียนให้มากที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย วันหนึ่งเข้าข้างฝั่งที่เลือกทำแท้ง อีกวันหนึ่งเข้าข้างฝั่งที่จะเก็บทารกไว้ จำได้ว่ามีนักเรียนคนหนึ่งอภิปรายถึงเหตุผลของการเก็บชีวิตเด็กไว้ได้ดี และเพื่อนๆ ก็ยกเหตุผลมาหักล้างเขาได้อย่างน่าสนใจมาก เรียกว่าถกกันดุเดือด ผมก็คอยค้านเขาให้ถึงที่สุด นั่นเป็นหน้าที่ของผม ซึ่งก็สนุกดีนะ ท้าทายมาก” คุชเนอร์กล่าว
แมกอะวอยและเฮสชี้ว่า ครูที่เตรียมการอภิปรายในชั้นมาอย่างดีเพื่อให้เด็กแลกเปลี่ยนถกเถียงกันเรื่องการเมืองต่างมุมมองจะช่วยให้ความคิดเขาเติบโตขึ้น อย่างแรกสุดเขาจะตระหนักว่าเพื่อนๆ มีสิทธิที่จะเห็นต่าง ซึ่งนั่นเป็นแก่นสำคัญของการเป็นพลเมืองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองก็เกรงว่าบรรยากาศการเมืองที่แตกขั้วในศตวรรษที่ 21 นี้ จะส่งผลให้โรงเรียนต่างๆ พากันอิงเข้ากับขั้วการเมือง โรงเรียนขั้วไหนครูและนักเรียนก็คิดเห็นตามนั้นเหมือนกัน ซึ่งนับวันจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อประชาธิปไตย
แม้โรงเรียนจะอิงขั้วการเมืองใดอยู่ก็ตาม แต่การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้โต้แย้งและรับฟังความเห็นต่างก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นมาก นักเรียนที่เคยอภิปรายในชั้นเรียนจะเริ่มสนใจสถานการณ์บ้านเมืองและแชร์ความเห็นของตนกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ยิ่งถ้าพวกเขาได้อยู่ในชั้นเรียนที่มีการอภิปรายอย่างมีคุณภาพ เด็กเหล่านี้ยิ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจกิจการงานเมืองมากขึ้นตั้งแต่ติดตามข่าวสาร รับฟังคนที่อยู่ต่างขั้ว ไปจนถึงสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยทั่วไป สิ่งที่ตามมา คือ เราจะเห็นคนรุ่นใหม่มีความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย และเข้ามามีบทบาทส่วนร่วมกับการเมืองในอนาคต
แมกอะวอยและเฮสพยายามผลักดันให้สถาบันการศึกษาเพิ่มวิชาที่สอนเด็กทุกระดับชั้นวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น และเตรียมพร้อมการมีส่วนร่วมในความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยให้มากขึ้น ทั้งสองกล่าวว่า “การศึกษาในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีครูที่ทำให้ห้องเรียนอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการเมือง ซึ่งบ่มเพาะทักษะความรู้ให้คนรุ่นใหม่รู้จักพิจารณาข้อเท็จจริง อันนำไปสู่การตัดสินใจอันส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมภายภาคหน้าได้”
ทีมโต้วาทีเพื่อศตวรรษที่ 21
ตอนเป็นโคชให้ทีมโต้วาทีปีแรก สก็อต วันน์ (Scott Wunn) ครูสอนภาษาอังกฤษชั้นมัธยมใช้วิธีเดียวกันกับที่เขาโคชนักกีฬามวยปล้ำ เขามองว่า การโต้วาทีกับมวยปล้ำเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อกับพลังฮึกเหิมเพื่อเอาชนะเหมือนๆ กัน แม้ว่าเวลาแข่งจะแข่งกันทีละคน แต่สุดท้ายก็ต้องอาศัยพลังและประสบการณ์ร่วมกันทั้งหมดของทีม นอกจากนั้น กิจกรรมทั้งสองอย่าง ผู้เข้าแข่งต้องอดทนและขวนขวายฝึกฝนทักษะเช่นเดียวกัน จะมาหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงคู่แข่งอีกฝ่ายไม่ได้ ต้องเอาชนะด้วยการล้มคู่ต่อสู้ให้ได้เท่านั้น
ครั้นพอย่างเข้าปีที่ 10 วันน์ ซึ่งเป็นโคชให้ทีมโต้วาทีของโรงเรียนมัธยมใน Des Moines-Iowa ก็เริ่มตระหนักว่ายิ่งใช้เวลากับทีมโต้วาทีเท่าไหร่ เขายิ่งเข้าใจมันลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เขาเริ่มเห็นว่าที่จริงการโต้วาทีในโรงเรียนไม่เหมือนกับการแข่งมวยปล้ำ ด้วยความที่การโต้วาทีมีจุดแตกต่างเฉพาะตัวในแต่ละครั้ง ซึ่งมาพร้อมความท้าทายใหม่ๆ เช่น การตั้งประเด็น การตั้งแง่ฝ่ายตรงข้าม การสนับสนุนความคิดที่เห็นต่าง สิ่งเหล่านี้ทำให้วันน์กลายเป็นคนมองประเด็นรอบด้านขึ้น และทักษะการสอนหนังสือของเขาตลอดจนงานวิจัยก็พัฒนาก้าวหน้าตามไปด้วย
เมื่อเข้าไปช่วยทีมโต้วาทีเตรียมข้อมูลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามบ่อยๆ โลกทัศน์วันน์ยิ่งกว้างไกลมากขึ้น เขาบอกว่ามันคือ “ความเข้าใจที่ผมมีต่อแง่มุมคลุมเครือทั้งหลายชัดเจนขึ้น” การโต้วาทีและมวยปล้ำไม่ได้เหมือนกันอย่างที่เขาเคยคิด วันน์หวังว่านักเรียนของเขาเองก็ต้องได้ฝึกทักษะที่เขาเคยได้ประสบการณ์จากการโต้วาทีด้วยเช่นกัน ตลอดเวลาหลายปี เด็กๆ จะได้ฝึกหลากหลายทางจากการโต้วาที นอกเหนือจากเรื่องแพ้ชนะหรือการจำนนต่อหลักฐานที่แน่นหนากว่าของฝ่ายตรงข้าม วันน์สังเกตว่าคนที่โต้วาทีจะมีทักษะที่สถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจต่างมองหาในคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ทักษะการทำงานร่วมกัน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอ่านแต่เกิดจากการฝึกฝน มุมานะพยายามในการหาเหตุผลมาหักล้างคู่ต่อสู้ในสนามโต้วาที เด็กๆ จะได้ฝึกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เองโดยอัตโนมัติจากการค้นคว้าข้อมูล เตรียมหลักฐานที่เป็นเหตุเป็นผลไปประลองในสนามโต้วาที
และด้วยผลพวงจากเทคโนโลยียุคมิลเลเนียม นักโต้วาทีสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้หลากหลายรอบด้านขึ้นกว่าเดิม ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตช่วยให้นักเรียนสามารถหาแง่มุมมาหักเหลี่ยมกันและกัน และสืบเจาะประเด็นได้ซับซ้อนขึ้นกว่าแต่ก่อน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกก็ทำได้หนักแน่นขึ้น ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ นักเรียนยิ่งเหมือนเสือติดปีก วันน์กล่าวว่า การโต้วาทีของนักเรียนในสหัสวรรษใหม่นี้เล่นกับประเด็นที่เกิดขึ้นจริงมากขึ้นกว่าเดิมมาก และนักเรียนเองก็ไฟแรงที่จะหยิบประเด็นในกระแสจากอินเทอร์เน็ตมาโต้วาทีห้ำหั่นกัน
ด้วยปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลรวมกัน วงการโต้วาทีจึงถูกปลุกกระแสจนกลับมาได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปรับโฉมให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ในปี 2003 วันน์เข้ารับตำแหน่ง Executive Director ของ National Speech and Debate Association โดยเริ่มต้นจากการเปิดให้นักเรียนทั่วประเทศกว่า 60,000 คนเข้าเป็นสมาชิก และเพิ่มรูปแบบการโต้วาทีที่เน้นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและอยู่ในกระแสปัจจุบัน
ภายใต้การปลุกกระแสวงการโต้วาทีของเขา สโมสรหลังเลิกเรียนที่เป็นกำลังสำคัญในการพลิกผันอนาคตก็ได้เปิดวงโต้วาทีขึ้นจากที่เคยเป็นกลุ่มปิด เพื่อต้อนรับสมาชิกเด็กผู้หญิงและชาวผิวสีที่พากันมาเข้าร่วมมากขึ้น วันน์เปรียบเสมือนอเล็กซ์ พี คีตันส์ ตัวเอกจากซีรี่ Family Ties ในตำนานยุค 80’s ที่เป็นหนุ่มน้อยฝีปากกล้าผู้สนใจในประเด็นซับซ้อนของนโยบายต่างประเทศ National Speech and Debate Association ซึ่งเขาเป็นผู้บริหารจัดงานแข่งขันโต้วาทีขึ้นทุกปีโดยมีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 3,000 คนและสมาคมยังเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมโต้วาทีระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนมัธยมจำนวน 12 คน ให้เดินทางไปแข่งทั่วโลก และศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ก็เฉียบขาดถึงขั้นเข้าแข่งในงาน World Schools Debating Championship ซึ่งถือเป็นการแข่งขันโต้วาทีระดับโอลิมปิกเลยทีเดียว
แม้วันน์จะพยายามผลักดันให้การโต้วาทีได้รับความนิยมมาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วก็ตาม แต่เขาเล่าว่าวงการนี้เพิ่งจะคึกคักเอาเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้จากการที่มวลชนแบ่งขั้วการเมืองรุนแรงขึ้น ผนวกกับวาทะของนักการเมืองที่ออกมาสุมไฟจนทุกฝ่ายทวีความมาคุ วันน์อธิบายว่า ในสนามแข่งโต้วาที ผู้แข่งขันต้องเตรียมตัวมาค้านให้ได้ทั้งสองทางจึงจะชนะ เขาเชื่อว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในวงสนทนาการเมืองปัจจุบัน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามโซเชียลมีเดีย
ทุกวันนี้เริ่มมีบุคลากรด้านการศึกษาเข้ามาขอคำปรึกษากันมากขึ้นว่า ควรสอนทักษะการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองอย่างไร ทำอย่างไรให้เด็กสามารถพูดคุยถกเถียงกันในชั้นเรียนและเห็นความสำคัญของการสื่อสารแบบซึ่งหน้า ขนาดเดวิด ฮอก (David Hogg) วัยรุ่นผู้นำการต่อต้านอาวุธปืนแห่งปาร์คแลนด์ยังเรียกตัวเองว่า ‘เด็กบ้าดีเบต’ จึงไม่แปลกที่โรงเรียนประถมและมัธยมทุกแห่ง Broward County, Florida ที่ตั้งของปาร์คแลนด์จะมีหลักสูตรการโต้วาทีและเริ่มสอนให้เด็กโต้วาทีเป็นตั้งแต่เกรด 4 วันน์พยายามสนับสนุนให้นำการโต้วาทีเข้าไปอยู่ในห้องเรียนมากขึ้นโดยตั้งเป็นวิชา Public Forum ในชั้นเรียนครูจะให้นักเรียนจับคู่ทีมละสองคน ให้เวลา 40 นาที นักเรียนสองทีมโต้วาทีกันในหัวข้อสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ผู้อพยพ หรือ มาตรการด้านสาธารณสุข จากนั้นท้ายคาบให้นักเรียนทั้งชั้นช่วยกันคิดใคร่ครวญและแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน
ครูหลายคนเสนอว่า การโต้วาทีควรสอดแทรกอยู่ในทุกรายวิชา ไม่จำกัดแค่ในคาบสังคมศึกษาหรือชมรมหลังเลิกเรียนเท่านั้น โรเบิร์ต ไลตัน (Robert Litan) นักเศรษฐศาสตร์เคยเสนอวิธีแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม และการเปิดศึกโต้น้ำลายใส่กันบนจอทีวีด้วยการแนะให้เด็กนำ ‘การคิดในมุมแย้งกับตัวเอง’ ไปใช้กับวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม เป็นต้น โดยให้พวกเขาได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างเข้มข้นและอภิปรายถกเถียงกัน ด้วยการหยิบแง่มุมการเมืองและนโยบายต่างๆ ของรัฐเข้าไปร่วมพิจารณา ไลตันเห็นว่า การโต้วาทีไม่ได้สนุกอย่างเดียว เด็กยังได้ฝึกความยืดหยุ่นที่จะรับฟังความเห็นต่างด้วย
อย่างไรก็ตาม การขยายขอบเขตความนิยมของการโต้วาทียังคงมีอุปสรรคจากการถูกจัดเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำหรับเด็กผิวขาวฐานะดีเท่านั้น แม้งานศึกษาเมื่อไม่นานนี้รายงานสัญญาณความนิยมที่เพิ่มขึ้นตามชุมชนเขตเมืองต่างๆ บ้างแล้วก็ตาม ในงานศึกษาปี 2011 ของ the Chicago Urban Debate League ชี้ว่านักเรียนที่โต้วาที ‘มีโอกาสจบการศึกษาชั้นมัธยมสูงกว่า ทำคะแนนสอบ ACT ได้ดีกว่า และได้ GPA เยอะกว่าเด็กในระดับชั้นเดียวกัน’ ซึ่งข้อสรุปที่ว่านี้มาจากกลุ่มนักเรียนที่ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมโต้วาทีมาอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ไม่ว่าจะอย่างไร เป้าหมายหลักของวันน์ คือ การผนวกเอาการโต้วาทีเข้าไปอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น เขาฝันที่จะเห็นเด็กรุ่นใหม่ไม่ว่ามีพื้นเพ หรือฐานะใด มีทักษะการโต้วาทีติดตัวไปใช้ในสังคมได้ ทั้งการออกความคิดเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่ง สามารถมองเห็นและเข้าใจเหรียญสองด้านของประเด็นปัญหาสังคม วันน์กล่าวว่า ถ้ามีข้อมูลซะอย่าง นักโต้วาทีจะไม่หวั่นกลัวเลยเพราะเขารู้ว่าจะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร จะพิสูจน์ข้อคัดค้านของตนด้วยวิธีไหน และรู้ว่าจะเข้าใจถึงจุดยืนที่ชอบด้วยกฎหมายของแต่ละฝ่ายอย่างไร การโต้วาทีก็คือการล้มคู่ต่อสู้ลงให้ได้ด้วยวาทะ ไม่ว่าจะเพื่อเป็นพลเมืองคุณภาพในศตวรรษที่ 21 หรือเพื่อคว่ำฝ่ายตรงข้ามลงแล้วคว้าชัยก็ตาม หากแต่ครั้งนี้ถ้าความฝันของวันน์เป็นจริงได้ เราจะมีพลเมืองที่ฉลาดหลักแหลมมากขึ้นและระบบประชาธิปไตยที่เที่ยงธรรมเป็นรางวัลของชัยชนะ