Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Learning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trend
  • Life
    Healing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/CrisisLife classroom
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
Education trendSocial Issues
1 October 2024

โมเดลการศึกษาเดนมาร์ก ‘เตรียมเด็กให้ตอบโจทย์สังคมโลก’ โจทย์ท้าทายการศึกษาไทย

เรื่อง ศากุน บางกระ ภาพ ปริสุทธิ์

  • เสาหลักของระบบการศึกษามีสามเสาด้วยกัน คือ คุณภาพการศึกษา การมีส่วนร่วมอย่างเชิงรุก และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ระบบการศึกษาของเดนมาร์กเป็นระบบที่เตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เน้นสร้างคนให้ตอบโจทย์กับความต้องการของโลก และเป็นการศึกษาที่เท่าเทียม กล่าวคือ การศึกษาส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย
  • การไว้วางใจ (Trust) เป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาในเดนมาร์กให้ความสำคัญมาก ซึ่งคือ ความไว้ใจในตัวเด็ก ตัวครู และรวมไปถึงในวิธีการเรียนรู้ การศึกษาต้องทำให้ครูมีอิสระในการทำงาน ทำให้สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละกลุ่มได้ 

เดนมาร์กเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า มีระบบสวัสดิการที่ดี ยึดถือแนวคิดการใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยเฉพาะชื่อเสียงด้านการศึกษานั้น จัดอยู่ในประเทศที่มีระบบการศึกษาคุณภาพระดับโลก มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นไปที่การแก้ปัญหาในชีวิตจริงมากกว่าการท่องจำ และมีผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน 

บทความนี้จะพาไปรู้จักการศึกษาเดนมาร์กผ่านวิทยากรผู้มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการจัดการศึกษาของเดนมาร์ก ที่ได้นำประสบการณ์มานำเสนอบนเวที ‘การอบรมเพื่อส่งเสริมการจัดการการศึกษาของโรงเรียนเอกชนที่เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมศึกษา’ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและเครือข่าย ซึ่งมีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยในอนาคต

การศึกษาต้องเท่าเทียม สร้างคนให้เป็นพลเมืองโลก

ในเวทีดังกล่าว แดนนี แอนนัน (Danny Annan) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ ‘วิสัยทัศน์ของเดนมาร์กเพื่อการพัฒนามนุษย์’ ว่าระบบการศึกษาของเดนมาร์กเป็นระบบที่เตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ระบบการศึกษาเดนมาร์กนั้นเน้นสร้างคนให้ตอบโจทย์กับความต้องการของโลก และเป็นการศึกษาที่เท่าเทียม กล่าวคือ การศึกษาส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย 

เสาหลักของระบบการศึกษาจะมีสามเสาด้วยกัน เสาแรกคือ คุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษาของเดนมาร์กนั้นจะต้องทำให้การศึกษาเป็นของคนทุกกลุ่ม สร้างเด็กให้มีความรู้ ความสามารถเพื่อที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ 

“การศึกษาไม่ใช่เพียงแค่เพื่อการทำงานเท่านั้น แต่เพื่อที่จะทำให้คนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และสามารถที่จะสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองคิดได้” 

เสาหลักต่อไปคือ การมีส่วนร่วมอย่างเชิงรุก เด็กในระบบการศึกษาของเดนมาร์กจะสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การศึกษานั้นจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้สื่อสารความคิดของตัวเองออกมา ซึ่งเด็กจะถูกกระตุ้นให้มีทักษะนี้ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน รวมไปถึงการคิดเชิงวิเคราะห์ด้วย โดยระบบการศึกษาของเดนมาร์กจะใช้วิธีการนี้เพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นผู้ที่มองสังคมอย่างมีความรับผิดชอบ

อีกหนึ่งเสาหลักที่ถูกปลูกฝังมานานในระบบการศึกษาของเดนมาร์กก็คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้นั้นไม่ควรจะหยุดอยู่ที่วัยเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จึงเกิดได้ตลอดเวลา แม้เมื่อทำงานแล้วก็ยังเกิดการเรียนรู้ได้อยู่เสมอ 

แดนนีอธิบายด้วยว่าการศึกษาของเดนมาร์กได้ให้ความสำคัญกับการเล่นเมื่อเด็กเริ่มเข้าอนุบาล โดยการเล่นนั้นจะต้องเป็นไปอย่างอิสระ (Free Play) ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องทางวิชาการ แต่เน้นให้เด็กได้เรียนรู้

แดนนี แอนนัน (Danny Annan) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย

“เด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ใช่การสั่ง การทำกิจกรรมของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เดิน กระโดด สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ครูและผู้ปกครองควรที่จะปล่อยให้เด็กได้ลองเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง” 

แดนนี่กล่าวเสริมว่า การเล่นแบบที่ให้เด็กได้เผชิญกับความเสี่ยง (Risky Play) ก็ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ไม่แพ้กัน เด็กจะเข้าใจหัวใจสำคัญของความรับผิดชอบโดยการได้รู้จักประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง เช่น หากเด็กเลือกที่จะเล่นปีนต้นไม้ ความเสี่ยงก็คือการตกลงมาจากต้นไม้

เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยประถม การศึกษาของเดนมาร์กจะไม่เน้นเรื่องการสอบหรือการท่องจำ แต่จะสนับสนุนให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม ให้ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งประสบการณ์ตรงเช่นนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็กได้ ส่วนในระดับมัธยมจะเป็นการเตรียมพร้อมให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่และเตรียมพร้อมทางวิชาการเพื่อก้าวเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย 

อย่างไรก็ตาม การศึกษานั้นจะมีทางไปให้กับเด็กอีกกลุ่มที่ไม่ชอบด้านวิชาการด้วย นั่นคือการพัฒนาทักษะอาชีพ รวมไปถึงดนตรีหรือกีฬา นอกจากนี้เดนมาร์กยังมี Folk High Schools เป็นการศึกษานอกระบบที่เปิดโอกาสให้เด็กหรือผู้ใหญ่ได้เข้าเรียนหลังจากจบมัธยมฯ โดยมีวิชาที่หลากหลายเพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้กับคนที่สนใจ และแนวคิดเรื่อง Gap Year ก็ยังเป็นที่นิยม สำหรับเด็กหลายๆ คน เมื่อเรียบจบระดับมัธยมฯ ก็เลือกที่จะพักการเรียนไว้ก่อน

“นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย จะใช้ช่วงเวลาในปีนั้นมองหาสิ่งที่ตัวเองสนใจ เราเชื่อว่า เรื่องของการศึกษาไม่ควรที่จะเร่งรีบ ควรจะเปิดโอกาสให้เราสามารถทดลองว่าความสนใจของตัวเองจริงๆ คืออะไร” 

แดนนีอธิบายที่มาของแนวคิดนี้ว่า เพราะการศึกษาไม่เพียงแต่มีผลต่อระดับปัจเจกเท่านั้น แต่การศึกษาของเดนมาร์กจะต้องช่วยสร้างคนที่ตอบรับกับตลาดแรงงานของประเทศด้วย ตลาดแรงงานจะมองหาบุคคลที่เขาต้องการได้เสมอ หรือถ้าวันหนึ่งทักษะที่คนเหล่านั้นมีกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ระบบการศึกษาจะต้องทำให้คนเหล่านั้นได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีกครั้ง

ภารกิจของโรงเรียนเพื่อ ‘การเรียนรู้’

ภารกิจและค่านิยมของโรงเรียนในเดนมาร์กสามารถมองเห็นได้ชัดจากโรงเรียนนานาชาติไวกิ้ง (Viking International School, VIS) แม้โรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนไม่เกิน 100 คน และอยู่ในพื้นที่ชนบทของเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก แต่แองเจลจิกา คัลเลน (Angelika Cullen) ผู้อำนวยการของโรงเรียน บอกว่า โรงเรียนของเธอมีเป้าหมายที่ใหญ่มาก วิสัยทัศน์ของโรงเรียนคือการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างพลเมืองโลก ซึ่งในเวทีเสวนาเดียวกัน เธอได้เล่าประสบการณ์การสร้างโรงเรียนแห่งนี้ โดยค่านิยมที่โรงเรียนต้องการปลูกฝังให้อยู่ในตัวเด็กทุกคนรวมไปถึงให้อยู่ในการทำงานในทุกๆ วันก็คือ นวัตกรรม (Innovation) ความเห็นอกเห็นใจ (Kindness) ความร่วมมือ (Collaboration) จินตนาการ (Imagination) และ แรงบันดาลใจ (Passion)

นวัตกรรมในที่นี้หมายถึงนวัตกรรมในการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียน เช่น มีการสะท้อนความสำเร็จและความล้มเหลวจากการทำงานทุกสิ้นปี พร้อมประเมินดูว่าจะพัฒนาปรับปรุงอะไรได้บ้าง 

“บางการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ง่ายมาก เช่น การออกแบบห้องเรียนใหม่เพื่อช่วยสร้างสมาธิให้นักเรียน แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น หลักสูตร ที่จะต้องใช้การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ก็จะค่อนข้างยาก” 

แองเจลิกาเล่าว่าที่ผ่านมา โรงเรียนได้พยายามปรับปรุงนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ เสมอ เช่น การสร้าง Sensory Room เป็นพื้นที่สงบให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กได้ใช้ทำสมาธิ สงบจิตใจ หรือพักผ่อนเติมพลัง โดยเด็กสามารถที่จะขอครูออกไปพักและใช้เวลาในพื้นที่นั้นได้ 10 นาที นอกจากนี้ยังมีการใช้นวัตกรรมที่ส่งเสริมการเรียนอย่างการจัดรูปแบบการนั่ง การใช้เก้าอี้ที่น่านั่งและการทาสีห้องเรียนที่เหมาะสม

แองเจลจิกา คัลเลน (Angelika Cullen) ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติไวกิ้ง (Viking International School, VIS)

“เราเป็นผู้ใหญ่ เรายังอยากพักเลย เราอาจจะไปเดินเล่น หรือว่าเล่นมือถือของเรา หรือว่าอาจจะคุยกับเพื่อน แต่ว่าเด็กๆ เขาไม่มีโอกาสได้พักแบบเรา ทีนี้ก็เลยตัดสินใจว่าเราต้องสอนเด็กว่า เขาจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเขาต้องการเวลาพัก บางครั้งเขารู้สึกเหนื่อย เขารู้ว่าต้องการที่จะพักผ่อน เขาก็จะไปให้มุมต่างๆ เหล่านั้นได้” แองเจลิกาเล่า

เธอบอกว่า สิ่งที่ทำให้การทำงานยากขึ้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ปกครอง ผู้ปกครองบางคนอาจจะยังติดว่า การเรียนที่ดีคือการทำคะแนนสอบได้ดี และลังเลว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้นจะช่วยส่งเสริมความสำเร็จของเด็กได้จริงหรือไม่ ซึ่งจุดนี้กลายเป็นความท้าทายที่หลายโรงเรียนในยุโรปกำลังเผชิญอยู่ การค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวจึงสำคัญ เมื่อเวลาผ่านไปผู้ปกครองจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการเรียนรู้ของเด็กได้เอง ทั้งนี้โรงเรียนจะใช้การคุยกับผู้ปกครองให้เข้าใจว่าโรงเรียนอยากทำอะไรและเด็กจะได้ประโยชน์อะไร จากนั้นผู้ปกครองจะให้ความร่วมมือมากขึ้น 

สำหรับค่านิยมเรื่องความเห็นอกเห็นใจ ทางโรงเรียนนานาชาติไวกิ้งได้ให้ความหมายของคำนี้ว่า คือการสร้างความมั่นใจว่าเด็กทุกคนได้รับการดูแลทางจิตใจ ซึ่งทำได้โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่รู้สึกว่าเป็นเหมือนบ้าน สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับเด็ก ทำให้ครูมีความเชื่อมโยงกับเด็กเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ยังรวมไปถึงทำให้เด็กได้รู้จักการบริหารอารมณ์ของตัวเอง

“จะต้องมีมุมสงบให้เด็ก แล้วให้เด็กสามารถที่จะรู้เองว่า เขาเป็นเจ้าของอารมณ์ของเขาเอง อย่างเช่นการเรียน เด็กอาจจะอยากจะทำความเข้าใจกับคณิตศาสตร์ เขาก็จะขอเวลาสักสิบนาทีในการที่จะควบคุมสติอารมณ์ก่อนที่จะเริ่มทำ เด็กควรจะมีสิทธิในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้” แองเจลิกาเล่า

ด้าน เจนนี ฮัดสัน วิสมาร์ก (Jenny Hudson Vismark) รองผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ได้เสริมว่า การที่เด็กจะเป็นพลเมืองของโลกได้ จะต้องสามารถในการร่วมมือกับคนอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นค่านิยมหนึ่งของโรงเรียน การจะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ เด็กจะต้องมีทั้งทักษะการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับทักษะทางด้านวิชาการ

“เรามีโปรเจกต์ที่ให้เด็กคิดค้นเกมใหม่ขึ้นมา เกมอันนี้จะต้องเอานําไปเสนอให้กับนักลงทุนซึ่งนักลงทุนก็คือผู้ปกครอง เด็กก็ต้องช่วยกันคิดว่าเกมที่จะทำขึ้นมาเป็นอะไร อาจจะเป็นเกมกระดาน เกมไพ่ หรือเกมอะไรก็ได้ เด็กต้องวิจัยว่าในตลาดมีเกมอะไรบ้าง เกมมีเนื้อหาอะไร ใช้วัสดุอะไรทำ ใช้ต้นทุนเท่าไหร่ เด็กก็จะต้องทำแผนการตลาดแบบพื้นฐาน ลองเล่นเกมแล้วก็รับฟังคำติชม” เจนนียกตัวอย่าง

เจนนี ฮัดสัน วิสมาร์ก (Jenny Hudson Vismark) รองผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติไวกิ้ง (Viking International School, VIS)

ส่วนค่านิยมเรื่องจินตนาการนั้น ทางโรงเรียนจะเชื่อเสมอว่า เด็กต้องมีโอกาสทำผิด หรือสามารถที่จะทำผิดได้ 

หากให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะทำผิดได้ เด็กจะกล้าลองผิดลองถูก เพราะหากเด็กรู้สึกกลัว เด็กก็จะไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมือนเป็นอีกทางที่ช่วยให้เด็กรู้จักมองนอกกรอบได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเราจะต้องหาพื้นที่ที่เด็กสามารถทำผิดได้

“ถ้าเด็กเขาไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่เรื่องผิด” ที่กล่าวเช่นนี้เจนนีให้เหตุผลว่า เพราะเด็กๆ อาจจะเพียงไม่รู้คำตอบเท่านั้น หน้าที่ของครูก็คือเปิดโอกาสให้เด็กสามารถที่จะเรียนรู้จนกว่าจะหาคำตอบได้

และค่านิยมข้อสุดท้ายคือแรงบันดาลใจ (Passion) เจนนี่มองว่า ครูสามารถทำหน้าที่จุดประกายเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กได้ เช่น การหาหนังสือที่เด็กอยากอ่านหรือเหมาะสมให้กับเด็ก

“เด็กของเราเรียนรู้เรื่องของสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กก็จะอ่านข้อมูล ในขณะเดียวกันเราก็จะให้อ่านนิยายเรื่องของครอบครัวของชาวเดนมาร์กที่มีชีวิตอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่สองด้วย แล้วเด็กก็จะได้มองในมุมว่าการที่ครอบครัวนั้นจะเอาชีวิตรอดในระหว่างช่วงสงครามจะต้องทำอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจก็คือเวลาที่เด็กกลับไปบ้าน เด็กก็ไปอ่านเพิ่มเติมเองซึ่งครูไม่ได้บอกว่าให้ไปอ่านเพิ่ม แต่ว่าเด็กทำมาเป็นรายงานแล้วก็มาขอครูว่า เตรียมพาวเวอร์พอยต์มาในเรื่องของสงครามโลกครั้งที่สอง อยากจะมานำเสนอให้เพื่อนฟัง เด็กก็เริ่มที่จะเปรียบเทียบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันว่ามีความเหมือนและต่างกันอย่างไร” เธอเล่าถึงการจุดประกายของครูที่นำไปสู่การต่อยอดทางความคิดของเด็กๆ 

เจนนีเชื่อว่า ค่านิยมทั้งหมดของโรงเรียนฯ จะส่งเสริมให้เด็กสามารถที่จะเติบโตขึ้นในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ เด็กจะปรับตัวได้ มีความสงสัยใคร่รู้ และมีความมั่นใจที่จะก้าวต่อไป

สะท้อนการศึกษาเดนมาร์กสู่การศึกษาไทย

ในเวทีนี้นอกจากวิทยากรจากเดนมาร์กที่มาเล่าถึงประสบการณ์การจัดการศึกษาแล้ว ในหัวข้อ ‘สะท้อนการศึกษาเดนมาร์กและผลกระทบต่อการศึกษาไทย’ อาจารย์สงกรานต์ จารึกวงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าทีมวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้ชวนให้บุคลากรทางการศึกษาของไทยให้ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ เมื่อเราเห็นว่าเดนมาร์กได้ยึดเอา ‘อารยวิถี (Wellbeing)’ และ ‘ความเรียบง่าย’ เป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนการสอน แล้วการศึกษาของไทยจะสามารถนำวิธีการหรือค่านิยมไหนไปปรับใช้ได้บ้าง

อาจารย์สงกรานต์ จารึกวงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าทีมวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณ

“เดนมาร์กให้ความสำคัญกับสิ่งที่ใช้ได้จริงเพื่อที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก เราจะเห็นเลยว่าการศึกษาของเดนมาร์กให้ความสำคัญกับการใช้งานได้จริงมากกว่ารูปแบบที่เป็นทางการ ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ เกิดนวัตกรรมของการเรียนการสอนและการออกแบบหลักสูตรต่างๆ” 

อาจารย์สงกรานต์ย้ำว่า การไว้วางใจ (Trust) เป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาในเดนมาร์กให้ความสำคัญมาก ซึ่งคือ ความไว้ใจในตัวเด็ก ตัวครู และรวมไปถึงในวิธีการเรียนรู้ การศึกษาต้องทำให้ครูมีอิสระในการทำงาน มีอิสระในการเลือกรูปแบบการสอนหรือจัดการห้องเรียนได้ด้วยตัวเอง การมีอิสระเช่นนี้ทำให้ครูสามารถสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละกลุ่มได้ 

นอกจากนี้การให้ความสำคัญและตระหนักว่าการเรียนรู้ไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการการเรียนรู้ การส่งเสริมให้ให้เด็กเรียนรู้แบบเสี่ยงๆ บ้างจึงเป็นเรื่องของความท้าทายที่จะทำให้เด็กมีโอกาสในการเติบโต สามารถที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ รวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-based learning) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญมากในแนวทางการเรียนการสอนของเดนมาร์ก เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ที่ทำให้เด็กพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการเข้าสังคม 

“เป้าหมายหลักของเดนมาร์กกลับเป็นในเรื่องของการสร้างความเข้าใจในองค์ความรู้ที่มันอยู่ในชีวิตประจำ ความเรียบง่ายนี้ยังรวมไปถึงการเข้าถึงด้วย เขาจะไม่มีการสอบอย่างเป็นทางการจนกระทั่งถึงระดับมัธยมฯ ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เด็กจะรักการเรียนโดยไม่มีแรงกดดันในเรื่องทางวิชาการ”

อาจารย์สงกรานต์ชวนคิดต่อว่าแนวทางเหล่านี้อาจทำให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามกับกระบวนการศึกษาของไทยว่า เราจะสร้างความไว้ใจให้กับกระบวนการศึกษาได้อย่างไร และจะทำอย่างไรในการที่จะสร้างพลังของนักเรียนและครู ให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง รวมไปถึงเราจะนำแนวคิดเรื่องการเล่นเข้าสู่กระบวนการเรียนของเราได้อย่างไร

“ไม่ว่าท่านจะเป็นคุณครู เป็นกระบวนกร เป็นผู้วางนโยบาย ท่านก็มีอำนาจอยู่ในมือที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะสร้างระบบการศึกษาที่ช่วยส่งเสริมความสุข ความมั่นใจ และมีผู้เรียนรู้ที่มีศักยภาพ สร้างระบบที่สามารถเตรียมเด็กได้ ไม่ใช่แค่เตรียมให้พร้อมสำหรับข้อสอบ แต่เตรียมเด็กให้สามารถเผชิญกับชีวิตได้”

Tags:

คุณภาพการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิตความเท่าเทียม (equality)พลเมืองโลกการศึกษาเดนมาร์กการมีส่วนร่วมเชิงรุก

Author:

illustrator

ศากุน บางกระ

Gen-Y ตอนปลาย จบวารสารฯ ธรรมศาสตร์ เคยทำงานทีวี หนังสือพิมพ์ เคยเป็นบัณฑิตอาสาสมัครสอนภาษาไทยให้เด็กชาติพันธุ์ ทำคอนเทนต์มาหลากหลาย ปัจจุบันเรียนโทด้าน Development Studies ที่ University of Melbourne ฝันอยากทำงานกับเด็กๆ

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Teacher makes a positive difference
    Transformative learning
    ครูในฐานะผู้สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็ก

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล

  • Creative learningSocial Issues
    ‘PM Ranger’ เมื่อนักเรียนแปลงร่างเป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม: ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ โรงเรียนบ้านแม่เทย ลำพูน

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Social Issues
    เด็กชนชั้นแรงงาน วัฒนธรรมต่อต้าน โรงเรียน และทุนนิยม

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningSocial Issues
    การยกระดับคุณภาพการศึกษา เริ่มต้นที่ห้องเรียน การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เริ่มต้นที่ความเชื่อว่า ‘ทำได้’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Early childhood
    ถอดบทเรียนกรณีครูปฐมวัยทำร้ายเด็กเล็ก1: บทบาทครูปฐมวัยและการควบคุมคุณภาพ

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel