- เด็กๆ ทั่วโลกมีความอยากรู้อยากเห็นกันมาก แต่ทำไมเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ กลับมีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง? และเราจะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้มีมากขึ้นอีกได้หรือไม่?
- เซอร์เคน รอบินสัน นักการศึกษาชื่อดัง เชื่อว่าความอยากรู้อยากเห็นเป็นเครื่องจักรสำคัญสำหรับความสำเร็จในชีวิตของคนเรา แต่ระบบการศึกษาของเรา เน้นไปที่การตอบคำถามให้ได้ มากกว่าที่จะกระตุ้นให้เกิดคำถาม
- การฟังอย่างตั้งใจช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในจุดยืนของคนอื่นได้แต่แค่รับฟังอาจไม่พอ การจะเข้าใจความคิดอ่านของคนอื่นต้องพึ่งพาคำถามที่เหมาะสมด้วย การฝึกตั้งคำถามและทำให้บ่อยจนเป็นนิสัย จะเป็นตัวกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในตัวของเราเองได้อีกทางหนึ่ง
ความอยากรู้อยากเห็น ตามนิยามของพจนานุกรมฉบับเคมบริดจ์คือ “ความกระตือรือร้นอยากรู้หรืออยากเรียนรู้บางอย่าง”
เอียน เลสลี (Ian Leslie) นักการตลาดที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนและนัดจัดพ็อดคาสต์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกราชสมาคมศิลปะอีกด้วย เขาเขียนหนังสือชื่อ ‘ความอยากรู้อยากเห็น: ความต้องการจะรู้และเหตุใดอนาคตของคุณต้องพึ่งพามัน (Curious: The Desire To Know And Why Your Future Depends On It)’ ซึ่งติดอันดับขายดี
ในหนังสือเล่มดังกล่าว เขาแบ่งความอยากรู้อยากเห็นออกเป็น 3 จำพวกคือ ความอยากรู้อยากเห็นในความหลากหลาย (diverse curiosity) ซึ่งเป็นความต้องการสำรวจสถานที่และทำความรู้จักกับผู้คนต่างๆ แบบต่อมาคือ ความอยากรู้อยากเห็นในความรู้ (epistemic curiosity) ที่เป็นความต้องการดำดิ่งลงไปในหัวเรื่องจำเพาะบางอย่าง และสุดท้าย ความอยากรู้อยากเข้าใจความรู้สึกคนอื่น (empathic curiosity)
ลองนึกกันดูเล่นๆ นะครับว่า ยังมีความอยากรู้อยากเห็นแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วอีกหรือไม่?
ไม่แต่เพียงมนุษย์ สัตว์ต่างๆ ก็แสดงความอยากรู้อยากเห็นมากน้อย แตกต่างกันไปด้วยนะครับ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าในบรรดาสัตว์ที่มนุษย์คุ้นเคยดีนี่ หนูกับแมวนี่น่าจะเป็นสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็นที่สุดแล้ว ฝรั่งถึงกับมีภาษิตที่ว่า แมวต้องตายเพราะความอยากรู้อยากเห็นของมัน ซึ่งออกจะมองในแง่ลบไปบ้าง เพราะแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ฉลาดและเป็นตัวของตัวเองมาก
ถ้าแมวมี 9 ชีวิตจริง มันก็คงคิดว่าคุ้มมากที่จะเสี่ยง เพื่อสนองตอบความอยากรู้อยากเห็น
เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า เด็กๆ ทั่วโลกมีความอยากรู้อยากเห็นกันมาก แต่ทำไมเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ กลับมีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง? และเราจะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้มีมากขึ้นอีกได้หรือไม่?
คำถามทั้งสองนี้ นักวิทยาศาสตร์มีคำตอบให้ได้ระดับหนึ่งนะครับ นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงและคลิปของเขาบน TED Talk เป็นหนึ่งในคลิปที่มีคนดูมากที่สุดได้แก่ เซอร์เคน รอบินสัน (Sir Ken Robinson) เชื่อว่าความอยากรู้อยากเห็นเป็นเครื่องจักรสำคัญสำหรับความสำเร็จในชีวิตของคนเรานะครับ จึงสำคัญมากๆ
เขาชี้ว่าระบบการศึกษาของเรา เน้นไปที่การตอบคำถามให้ได้ มากกว่าที่จะกระตุ้นให้เกิดคำถาม ฟังแล้วชวนให้คิดว่า แนวคิดแบบนี้ทำให้เกิดการเน้นไปที่การท่องจำข้อมูลเพื่อตอบคำถาม และการติวหรือแข่งขันต่างๆ หรือไม่?
รอบินสันเชื่อในสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่ครูสักคนจะทำได้สำหรับนักเรียนก็คือ การกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็นติดตัวไป [1]
ที่ว่ามานั้น อาจจะตอบคำถามแรกได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมเมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ กลับมีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง?
แต่นั่นยังไม่น่าจะครอบคลุมพอ ยังมีคำตอบจากนักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientist) ด้วยว่า การลดความอยากรู้อยากเห็นและการตั้งคำถามต่างๆ นั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมองจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ด้วย ในตอนที่ยังเป็นเด็ก สมองมี ‘ความยืดหยุ่น’ สูงมากๆ เป็นช่วงที่สมองกำลังวางเส้นทางการสื่อสารกระแสประสาท
การตั้งคำถาม การทดลอง การสำรวจ และการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ล้วนเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของสมอง ที่จะนำมาใช้งานต่อไปตลอดชีวิต การให้เด็กได้พบเห็น สำรวจ และทดลองมากๆ จึงเป็นทรัพย์ที่มองไม่เห็น แต่มีมูลค่ามหาศาลติดตัวไปตลอดชีวิต
เมื่อเราเติบโตมากขึ้น สมองจะค่อยๆ สูญเสียความยืดหยุ่นดังกล่าวไปทีละน้อย และเราก็ต้องพึ่งพาแต่เส้นทางกระแสประสาทที่วางไว้แล้วจากประสบการณ์ต่างๆ ในอดีต วิธีการนี้มีข้อดีคือ มันช่วยประหยัดพลังงานให้กับสมองครับ เพราะสมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานสูงมากของร่างกาย
การประหยัดพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องชดเชยด้วย ‘ประสิทธิภาพ’ รวมไปถึงความอยากรู้อยากเห็น เพราะในชีวิตประจำวันนั้น เราไม่จำเป็นต้องใช้ความอยากรู้อยากเห็นมากมายนัก และเมื่อทำสิ่งต่างๆ แบบเป็นกิจวัตรแล้ว สมองก็จะคุ้นชินกับมันมาก
การทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ เช่น สั่งอาหารเมนูเดิมๆ การใช้เส้นทางเดินทางไปยังโรงเรียนหรือที่ทำงานแบบเดิมๆ การดูหนังหรือฟังเพลงโปรดซ้ำๆ ฯลฯ จึงเป็นการลดความกระตือรือร้นของสมอง ที่ได้ประโยชน์ในแง่ของการประหยัดพลังงานตอบแทนกลับมา
การอยากรู้อยากเห็นน้อยลงเมื่อเราเติบโตมากขึ้น จึงเป็นแนวโน้มตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากเราไม่หาวิธีการเก็บรักษา กระตุ้น หรือส่งเสริมให้สมอง รักที่จะสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา
แต่ความอยากรู้อยากเห็นมีประโยชน์กับเรามาก จนเราไม่ควรจะสูญเสียมันไปนะครับ
เอมิลี แคมป์เบลล์ (Emily Campbell) ที่ศึกษาเรื่องพัฒนาการของมนุษย์ ชี้ว่าความอยากรู้อยากเห็นมีประโยชน์อยู่หลายอย่าง เช่น พบว่าคนอยากรู้อยากเห็นจะมีระดับความกระวนกระวายใจต่ำ มีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่า ประสบความสำเร็จทางการศึกษามากกว่า อีกทั้งมีความสัมพันธ์และเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากกว่า
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า แพทย์ที่มีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับตัวผู้ป่วยมากกว่า มีแนวโน้มที่จะทำให้ผลการรักษาดีมากขึ้นตามไปด้วย [2]
นอกจากนี้ ความอยากรู้อยากเห็นยังช่วยทำให้สมองกระชุ่มกระชวย อันเป็นผลจากกิจกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ได้ทำอีกด้วย
เวลาที่เราเจอกับสิ่งใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ สมองของเราจะหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ โดพามีน (dopamine) มากขึ้น มันได้ชื่อว่าเป็นสารที่ทำให้ ‘รู้สึกดี’ โดพามีนไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความสุข ความพึงพอใจเท่านั้น แต่ยังไปกระตุ้นความต้องการให้เราอยากทำกิจกรรมนั้นเพิ่มมากขึ้นไปด้วย [3]
ในกรณีของความอยากรู้อยากเห็น ผลก็คือทำให้เราอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นไปอีก อาจจะเรียกว่าเป็นการเสพติดแบบหนึ่งก็ได้!
ไม่แน่ว่าความพึงพอใจแบนี้อาจจะทำให้บรรพบุรษมนุษย์ยุคหินของเรา ออกท่องไปยังดินแดนที่ไม่รู้จักและน่าหวาดหวั่นใจก็เป็นได้
คราวนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญ เราจะทำให้เด็กๆ เกิดความอยากรู้อยากเห็นต่อไปได้เรื่อยๆ หรือทำให้ผู้ใหญ่ที่เริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลงแล้ว กลับมากระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นอีกครั้งได้ยังไง?
คำแนะนำที่เซอร์เคน รอบินสัน ให้ไว้ก็คือ การเตรียมตัวเตรียมใจว่าเราผิดได้เสมอ
อันที่จริงสำหรับแวดวงการศึกษา การเตรียมสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่ทำให้เด็กๆ รู้ว่า การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ และเราสามารถแก้ไขและเรียนรู้จากความผิดนั้นได้เป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งกับการเรียนรู้โดยรวมและกับการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
คำแนะนำต่อมาได้แก่ การฝึกหัดการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะคนเรามีแนวโน้มจะตัดสินคนอื่นได้ง่ายๆ ตามอคติ โดยไม่เปิดใจรับฟัง พินิจพิจารณาเหตุผล หรือปัจจัยเบื้องหลังต่างๆ อย่างรอบคอบ ทำให้ไม่สามารถมองจากจุดยืนของคนอื่นได้
การด่วนตัดสินแทบจะเป็นระบบอัตโนมัติ ขณะที่การคิดใคร่ครวญเป็นเรื่องที่ต้องตั้งสติและใช้ความพยายาม
การฟังอย่างตั้งใจช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในจุดยืนของคนอื่นได้
แต่เพื่อความสมบูรณ์พร้อมมากขึ้นไปอีก แค่รับฟังเท่านั้นอาจจะยังไม่พอ การจะเข้าใจความคิดอ่านของคนอื่น อาจจะต้องพึ่งพาคำถามที่เหมาะสมด้วย การฝึกหัดตั้งคำถามและทำให้บ่อยๆ จนเป็นนิสัย จะเป็นตัวกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในตัวของเราเองได้อีกทางหนึ่งด้วย
คำแนะนำข้อต่อไปคือ ให้ลองทำอะไรใหม่ๆ อาจเป็นการทำเมนูใหม่ๆ หรือแม้แต่ลองชิมเมนูใหม่ๆ กรณีที่ไม่ชอบการทำครัว การไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เล่นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยเล่นมาก่อน การอ่านหนังสือหรือเข้าคอร์สเรียนเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น เรียนภาษาใหม่ ทั้งหมดนี้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นดีมาก
อันที่จริงแล้วก็กระตุ้นสมองให้กระฉับกระเฉงได้ดีมากๆ ด้วยเช่นกัน
คำแนะนำข้อสุดท้าย เป็นสิ่งที่ศิลปินเรเนอสซองต์ เลโอนาร์โด ดาวินชี ทำชั่วชีวิตของเขา นั่นก็คือ การพกสมุดจดไว้ใกล้ตัวเสมอ เดี๋ยวนี้ยิ่งสะดวก เพราะเราอาจจะจดลงในมือถือของเราเลยก็ยังได้
การบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เรานึกคิด รวมทั้งคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เรากลับมาคิด พินิจพิจารณาอีกครั้งได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง และอันที่จริงมันกระตุ้นเตือนและทำให้เราประหลาดใจได้เสมอๆ เมื่อกลับมาอ่านมันอีกครั้ง
ขอจบด้วยคำพูดของนวัตกรคนดังแห่งยุค สตีฟ จ็อบส์ คำพูดของเขาที่คนคุ้นเคยมากที่สุดวลีหนึ่งก็คือ Stay Hungry. Stay Foolish. จงทำตัวหิวกระหาย (ในความรู้) จงทำตัวเหมือนโง่ … อยู่เสมอ
อาจเพิ่มอีกนิดว่า Be Curious! จงอยากรู้อยากเห็นไม่เลิก!
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.ted.com/talks/sir_ken_robinson_do_schools_kill_creativity
[2] J Gen Intern Med. 2003 Aug; 18(8): 670–674. doi: 10.1046/j.1525-1497.2003.21017.x
[3] Psychopharmacology 191(3):391-431. May 2007. DOI:10.1007/s00213-006-0578-x