Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Character building
2 June 2021

Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์: ทักษะที่ฝึกฝนได้ทั้งในบ้านและห้องเรียน ช่วยเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดรามา

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ชวนทำความเข้าใจหลักการสำคัญของ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ใช่แค่การกล้าแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น โดยใช้อคติหรือความรู้สึกส่วนตัวเป็นที่ตั้ง
  • ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ คือ “กระบวนการ” วิเคราะห์ประเด็นใดประเด็นหนึ่งด้วย “ความเป็นเหตุเป็นผล” เพื่อตรวจสอบสิ่งที่เชื่อว่าถูกหรือผิด เป็นกระบวนการคิดด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นหรือหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง โดยไม่ให้ความรู้สึกหรือความเห็นส่วนตัวมามีอิทธิพลกับการคิด
  • ทักษะนี้ต้องอาศัยการฝึกฝน ผู้ปกครองสามารถเป็นแบบอย่าง และชวนเด็กๆ เรียนรู้การคิดเชิงวิพากษ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ส่วนครูก็สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับการสร้างทักษะนี้ได้ โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ หรือ Phenomenon Based Learning (PhBL)

ในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลและการสื่อสารแสดงความคิดความเห็น ทั้งจริง ลวง เสมือนจริง และเต็มไปด้วยอคติ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) หรือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ จัดเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญและสำหรับการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะทำให้เด็กๆ เติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ทว่าที่ผ่านมายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับทักษะนี้ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ “การแสดงความเห็น-วิพากษ์วิจารณ์” 

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ แท้จริงแล้วคือ “กระบวนการ” วิเคราะห์ประเด็นใดประเด็นหนึ่งด้วย “ความเป็นเหตุเป็นผล” เพื่อตรวจสอบสิ่งที่เชื่อว่าถูกหรือผิด เป็นกระบวนการคิดด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นหรือหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง โดย “ไม่ให้ความรู้สึกหรือความเห็นส่วนตัวมามีอิทธิพลกับการคิด” ซึ่งในกระบวนการฝึกฝนต้องอาศัยคุณลักษณะ การมีสติ มีจิตสํานึก มีความอยากรู้อยากเห็น มีการครุ่นคิดไตร่ตรองรอบคอบ มีการตั้งคําถามและมีการค้นหาคําตอบ 

การติดตั้งทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ จึงไม่เพียงเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เด็กและวัยรุ่นตกเป็น “เหยื่อ” ของการส่งผ่านความคิดความเชื่อหรือข้อมูลที่เป็นอันตราย แต่ยังช่วยให้พวกเขาไม่กลายสถานะเป็นผู้ “ละเมิด” และ “หมิ่นประมาท” ผู้อื่นในโลกออนไลน์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างขาดวิจารณญาณ ที่สำคัญผู้ใหญ่เองก็สามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ไปพร้อมๆ กับเด็กได้

กล่าวโดยสรุป Critical Thinking – ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ก็คือ การคิดอย่างรอบด้าน เห็นข้อดีข้อเสียของสถานการณ์หรือเรื่องหนึ่งในหลากหลายแง่มุม เป็นอีกหนึ่งทักษะหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ที่จะทำให้เรามองเห็นขอบเขตของอิสระและเสรีภาพบนโลกออนไลน์ชัดเจนขึ้น ในห้องเรียนครูช่วยสร้าง Critical Thinking ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ ผู้ปกครองสามารถเป็นแบบอย่าง และชวนลูกๆ เรียนรู้การคิดเชิงวิพากษ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว หนึ่งในรูปแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับการสร้างทักษะนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ หรือ Phenomenon Based Learning (PhBL)

Critical Thinking สำคัญอย่างไร? 

ข้อมูลจากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อชาวออสเตรเลียรุ่นใหม่ (Foundation for Young Australians: FYA) ระหว่างปี 2012-2015 พบว่า ทักษะที่ผู้จ้างงานในองค์กรทางธุรกิจต่างๆ มีความต้องการเพิ่มขึ้น และกำลังมองหาในลูกจ้าง ลำดับแรก ได้แก่ ทักษะทางดิจิทัล (Digital Literacy) เพิ่มสูงถึงร้อยละ 212 ลำดับที่สอง ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 158  ความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 65 และทักษะการนำเสนอ ร้อยละ 25 ตามลำดับ โดยสองลำดับแรกมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ด้วยเหตุผลที่ว่า…คุณภาพชีวิตส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพการตัดสินใจของเรา เช่นเดียวกับการคิด ตัดสินใจในงานที่ส่งผลต่อความเติบโตก้าวหน้าขององค์กร

การมี Critical Thinking ย่อมส่งผลดีต่อชีวิตในหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น 

  1. ตัดสินใจได้ดีขึ้น

การคิดเชิงวิพากษ์ช่วยให้วิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างละเอียด ด้วยเหตุผล จากข้อมูลที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจของแต่ละบุคคล

  1. แก้ปัญหาได้ดี

เมื่อรับข้อมูลรอบด้าน ก็จะทำให้รู้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม ไม่มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว คนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์จะมีความอดทน และมีความพยายามทำความเข้าใจปัญหา ทำให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. หลีกเลี่ยงอคติทางความคิด

อคติเป็นตัวหลอก การคิดเชิงวิพากษ์ทำให้เราตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ทำให้เราไม่ถูกหลอกลวงจากบุคคลที่ไว้ใจ หรือ จากข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่อาจมีข้อผิดพลาด เพราะคนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์จะบังคับตัวเองให้ค้นหาความจริง นอกเหนือจากสิ่งที่เห็น

  1. มีเหตุผลและการคิดเชิงตรรกะ

ประเด็นดรามาในโลกโซเชียลมีเดีย ที่ดึงดูดยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดแสดงความคิดเห็น จากการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้รับสาร เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้ผล เพราะคนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์จะมองหาเหตุผลมากกว่าอารมณ์

  1. ได้รับทักษะการสังเกต

คนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์จะเป็นคนช่างสังเกต ไม่ช่างจับผิด ทำให้มองเห็นความไม่ถูกต้อง หรือ ผิดพลาดของข้อมูล ที่อาจคลุมเครือหรือตกหล่น โดยปราศจากหลักฐานและข้อเท็จจริง

วิธีพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ 5 ขั้นตอน

Critical Thinking ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะนี้จึงไม่ใช่ทักษะที่สอนกันได้ แต่เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนการคิด วิธีพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ ทำได้ผ่าน 5 ขั้นตอน ต่อไปนี้

1. กำหนดคำถาม ปัญหา หรือประเด็นที่สนใจให้ชัดเจน

2. รวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยในการชั่งน้ำหนัก เป็นตัวเลือกในการตัดสินใจ

3. นำข้อมูลมาคิดวิเคราะห์ ผ่านการตั้งคำถามที่ถูกต้อง

4. พิจารณาผลกระทบ จากสิ่งที่กำลังตัดสินใจทำ 

5. สำรวจมุมมอง ความคิดเห็นของผู้อื่น 

เช่น ทำไมบางคนคิดต่างจากเรา เขามีเหตุผลอะไร? เพื่อช่วยตรวจสอบมุมมองของตัวเองอย่างเป็นกลาง ขั้นตอนนี้จะทำให้เรามองเห็นช่องโหว่และข้อบกพร่องของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความคิดที่แตกต่างของบุคคลอื่น

วิธีการตั้งคำถามที่ถูกต้อง สร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

“คำถาม” มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และการพัฒนาวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณ 

ไบรอัน โอชิโร (Brian Oshiro) นักพัฒนาและประเมินผลครู ได้แบ่งปันสิ่งที่เขาสังเกตเห็นในห้องเรียนผ่านประสบการณ์จากหลากหลายประเทศ สรุปเป็นแนวทางการตั้งคำถาม 3 ข้อ ที่สามารถกระตุ้นการคิดเชิงวิพากษ์ของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ได้

หัวข้อที่จะพูดถึงกันในวันนี้ คือเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

 “สาเหตุ 3 ข้อ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คืออะไร?”

“What are three causes of climate change?”

 คำถามขั้นที่หนึ่ง ถามด้วย “What” เพื่อวางพื้นฐานและสร้างความตื่นเต้น แล้วขยายความต่อด้วยการอธิบาย

ขั้นตอนนี้กระตุ้นให้เกิดการ “ค้นหา” ข้อมูล ทำให้ผู้เรียน ใช้ความพยายามหาคำตอบจากแหล่งที่มาต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจากในหนังสือ หรือ ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อตั้งต้นจาก คำถาม what – อะไร แล้ว ครูและผู้ปกครองพาเด็กไปให้ไกลกว่านั้นได้ ด้วยการให้พวกเขาอธิบายสิ่งนั้นเพิ่มเติม

“อธิบายสาเหตุหลักสัก 3 อย่างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” 

“Explain what the three main causes of climate change are”

การเปิดพื้นที่ให้เด็กได้อธิบาย ช่วยพัฒนาพวกเขาให้มีความกล้า เผชิญหน้ากับความท้าทาย เพราะเด็กส่วนใหญ่มักมีความกลัวหากต้องลุกขึ้นพูด 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์โดยตรง เพราะเขาต้องคัดเลือกข้อมูลขึ้นมาเพื่ออธิบายให้เพื่อนๆ และครูรับรู้และเข้าใจ ในสิ่งที่เขาเข้าใจ หากเด็กๆ ผ่านประสบการณ์ครั้งที่หนึ่งไปได้แล้ว การลงมือทำในครั้งที่สองและสาม จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

“ทำไมเราควรกังวลกับเรื่องนี้ตอนนี้ ค่อยว่ากันในอนาคตไม่ได้เหรอ?” 

“Why should you, as a student, be concerned about this now and not later?”

“มันเกี่ยวข้องกับเรายังไง?”

“Why is this relevant?”

คำถามขั้นตอนที่สอง ถามด้วย “Why?” สร้างความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของพวกเขา คำตอบที่ได้ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่เป็นการกระตุ้นกระบวนการคิดให้หันมามองเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังพูดถึง

“หนูรู้ได้อย่างไร?” – “How do you know?”

“มุมมองของหนูแตกต่างจากของคนอื่นอย่างไร?”

“How might your perspective be different from that of others?”

“หนูจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?” – “How can you solve the problem?”

คำถามขั้นตอนที่สาม ถามด้วย “How?” ชวนคิดแก้ปัญหา เปิดมุมมองและอิสระในการคิดให้กว้างออกไปอีก เพื่อให้เด็กประยุกต์ข้อมูลที่หยิบยกมาอ้างอิง นำเสนอออกมาเป็นแนวทางแก้ปัญหา ในขั้นตอนนี้ หากเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียน ครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆ แสดงความคิดเห็นและนำเสนอไอเดียอย่างทั่วถึง เพื่อให้พวกเขาเห็นความแตกต่างทางความคิดของคนอื่นๆ และยอมรับความแตกต่างทางความคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติ

ความคิดเห็นและคำตอบของทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ครูและผู้ปกครองจะไม่ตัดสินว่าความคิดของใครถูกต้อง หรือ ความคิดของใครดีหรือไม่ดี

ห้องเรียน PhBL การเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์ 

จากคำถามตัวอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สะท้อนให้เห็นภาพห้องเรียน Phenomenon Based Learning (PhBL) ที่เป็นการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ จากการนำหัวข้อกว้างๆ เข้ามาสัมพันธ์กับเรื่องใกล้ตัว ประสบการณ์ แล้วกลับมาเชื่อมโยงกับความจริงและสาระวิชาต่างๆ

PhBL จัดเป็นการเรียนเชิงรุก (Active Learning) อย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งให้ได้คะแนนสูง แต่เน้นการคิดวิเคราะห์จากปรากฎการณ์หรือาจเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว และใกล้ตัวผู้เรียนเอง ห้องเรียน PhBL จึงไม่แบ่งสาระการเรียนรู้ออกเป็นรายวิชา แต่บูรณาการความรู้ ทักษะต่างๆ มาช่วยขยายความรู้ ความเข้าใจต่อเรื่องหนึ่ง ผ่านการชวนตั้งคำถาม คิด และวิเคราะห์ร่วมกัน เปลี่ยนจากการเรียนรู้ด้วยการรับความรู้ มาเป็นการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรู้ ด้วยตัวเด็กเอง 

(หมายเหตุ: แม้ PhBL ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรระดับประเทศของฟินแลนด์ และมีการนำไปใช้ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง แต่จำกัดการใช้อยู่ที่ 1 โมดูลต่อปีการศึกษาเท่านั้น ที่เหลือเป็นการจัดการศึกษาตามรายวิชาในคาบเรียนปกติ แต่อยู่ในรูปแบบของการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ)

5 ขั้นตอนของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

  1. ตั้งคำถาม (Questioning) จากมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย
  2. สืบค้น (Research) ให้ได้ข้อมูลและความเชื่อมโยงในสิ่งที่ตนสงสัย และเรียนรู้การคัดกรองข้อมูล
  3. ศึกษา (Investigation) จากการทดลอง ประมวลผลจากคำตอบที่เป็นไปได้ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆ
  4. ทดสอบ (Testing) ครูแนะนำนักเรียนให้เรียนรู้แนวคิดและทักษะที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหา
  5. อธิบาย (Explanation) ผู้เรียนให้คำอธิบาย ทางออก เพื่อตอบโจทย์

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Phenomenon – Based Learning: การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน

ทั้งนี้ PhBL เป็นหลักสูตรการเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการของฟินแลนด์ใช้มา 25 ปีแล้ว แต่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2016 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เรียนเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่มองบางอย่างเป็นเรื่องไกลตัว เช่น เรื่องขยะพลาสติกในทะเลที่เชื่อมโยงมาถึงถังขยะในแต่ละบ้านของทุกคนได้ เด็กสร้างกระบวนการคิดที่สามารถหาเหตุผล วิเคราะห์ ประเมิน ตัดสินใจได้ว่า ทำไมสิ่งนั้นและสิ่งนี้จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่นเดียวกับคำอธิบายว่าทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญ และมองหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

เห็นได้ว่าขั้นตอนการฝึกฝนการคิดเชิงวิพากษ์และขั้นตอนการเรียนรู้ผ่านปรากฎการณ์มีความคล้ายคลึงกันมาก

คิดแบบไหนถึงเรียกว่าคิดเชิงวิพากษ์? เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

“จะรับได้ไหม…เมื่อคนอื่นคิดไม่เหมือนเรา?”

การเลือกใช้คำศัพท์ในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เพราะการด่า การกล่าวหา ใส่ความ หรือ การพูดให้คนถูกเกลียด (Hate Speech) ไม่ใช่การวิพากษ์ ไม่ใช่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่อาจเข้าข่ายการหมิ่นประมาท

เช็คลิสต์ว่าเป็นคนคิดเชิงวิพากษ์ หรือ แค่ชอบตัดสินคนอื่น!

การตัดสิน (Judging)การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
ขับเคลื่อนโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางเป็นสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดขับเคลื่อนจากความสงสัย การตั้งคำถาม ต้องการหาคำตอบ โดยไม่เชื่อมโยงกับตัวเอง
ใช้ความรู้สึก อยู่บนพื้นฐานความกลัว เช่น กลัวตกข่าว ตกเทรนด์ (Fear of Missing Out: FOMO) (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม)รอบคอบ ขบคิด ใช้เหตุผล
ปิดใจ มีคำตอบอยู่แล้วในใจอยู่บนพื้นฐานการเปิดใจ รับฟังข้อมูลใหม่
มีอคติ ไม่มีเหตุผลใช้ข้อมูล การวิเคราะห์ และการประเมิน
ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลักอยู่บนพื้นฐานความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
โฟกัสที่ปัญหาโฟกัสที่การแก้ปัญหา

จากตารางเปรียบเทียบ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เรียกว่าเป็น “การคิดเชิงวิพากษ์”  ความกล้า เช่น กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ และความเชื่อมั่น เป็นทักษะที่มีความสำคัญ ซึ่งควรได้รับพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ควรเป็นความกล้าและความเชื่อมั่นอย่างมีเหตุผล บนพื้นฐานของการเคารพและให้เกียรติผู้อื่น 

การแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์จำเป็นต้องมีข้อมูล หลักฐานที่เชื่อถือได้ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเป็นส่วนประกอบ มากกว่าการใช้อารมณ์คล้อยไปตามสถานการณ์ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง เพราะอย่างหลังอาจทำให้ตกกับดักกลายเป็นผู้ละเมิดและหมิ่นประมาทผู้อื่นได้ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา 

ท้ายที่สุดแล้ว การมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้เราเห็นต่างแต่ไม่จงเกลียดจงชังผู้อื่น และเปิดประตูไปสู่การพัฒนาตัวเองในด้านอื่นๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม 

Critical Thinking ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการรู้ตน หรือ การรู้จักตนเอง (Self-awareness) รู้เท่าทันว่าตัวเองมีความรู้สึกส่วนตัว หรือ มีความรู้สึกร่วมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ในระดับไหน เพื่อป้องกันอคติ
อ้างอิง
Brian Oshiro: Encourage critical thinking with 3 questions | TED Talk
criticalthinkingacademy.net
Phenomenon Based Learning: กินดีอยู่ดีและมีความสุข หลักสูตรการเรียนรู้ฉบับฟินแลนด์ | กสศ. (eef.or.th)

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)21st Century skillsทักษะคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking)Phenomenon Based Learning (PhBL)

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Unique Teacher
    จุฑา พิชิตลำเค็ญ อาจารย์ที่ตั้งหลักว่า “You Teach Who You Are” จัดการตัวเองก่อน จากนั้นค่อยไปสอนคนอื่น

    เรื่อง คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Creative learning
    มีชัย วีระไวทยะ: “เราสร้างการเรียนที่ไม่รู้มามากพอแล้ว”

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • 21st Century skills
    ADAPTABILITY: ปรับตัว ยืดหยุ่น ไม่หนีปัญหา ทักษะสำคัญของโลกที่เปลี่ยนทุกวัน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ บัว คำดี

  • 21st Century skills
    รวิศ หาญอุตสาหะ: คนรุ่นใหม่แบบไหนที่นายจ้างอยากทำงานด้วย

    เรื่อง The Potential

  • 21st Century skills
    5 จิตสำคัญ แห่งศตวรรษที่ 21

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel