Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Learning TheorySocial Issues
6 April 2020

โอกาสใน COVID-19: เปลี่ยนจากเรียนแบบเหมาโหล สู่บทเรียนส่วนตัวแบบเลือกได้

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • การระบาดของ Covid-19 ทำให้ ‘การเรียนรู้ด้วยตัวเอง’ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ควรทำและให้ความสำคัญ
  • การเรียนรู้ด้วยตัวเองฟังดูแล้วเป็นเรื่องสบายๆ ผู้เรียนสามารถเลือกได้เองว่าจะเรียนอะไร ที่ไหน และเมื่อไร แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างที่จะทำให้ตัวเองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ทั้งความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน ความสงสัยใคร่รู้ ความรับผิดชอบและความมีวินัยในตัวเอง
  • ครูยังคงมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ช่วยวางแนวทางการเรียนรู้ และชี้ช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะแก่นักเรียนแต่ละคน แล้วให้นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างอิสระในขั้นต่อไป
Photo by Alice Dietrich on Unsplash

ณ ช่วงเวลาที่การกักตัวเองอยู่กับบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับและแพร่เชื้อ Covid-19 ท่ามกลางมาตรการที่เป็นข้อจำกัดหลากหลายด้านทั่วโลก ทั้งการจำกัดขอบเขต จำกัดเวลา จำกัดการเดินทาง จำกัดเขตแดน จำกัดเงินเดือน จำกัดจำนวนผู้คน และอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกลิมิตไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่ Covid-19 จำกัดไม่ได้ คือ การเรียนรู้

แม้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่งไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทย ยังล้มลุกคลุกคลานกับการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตอบสนองและเข้าถึงนักเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเท่าที่กำลังและศักยภาพของเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวย หลังจากประตูโรงเรียนต้องถูกปิดลงจากสถานการณ์โรคระบาด และไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อไรจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ  ‘การเรียนรู้ด้วยตนเอง’ ไม่น่าจะเป็นตัวเลือกอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ควรทำและให้ความสำคัญ

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นและประชากรโลกที่ขยายอย่างรวดเร็ว ขณะที่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย นักเรียนอเมริกันเป็นหนี้กองทุนกู้ยืมทางการศึกษาจำนวนมากไม่ต่างจากประเทศไทย นักเรียนหลายคนใช้ชีวิตด้วยตัวเองตั้งแต่จบไฮสคูล ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หากสนใจใฝ่เรียนรู้ก็ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพื่อหาเงินค่าเล่าเรียนและเป็นรายได้เลี้ยงชีวิต

การเรียนรู้ด้วยตนเองที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่มีช่องทางการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกในสิ่งที่สนใจ อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเรียนที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนกลุ่มปากกัดตีนถีบและคนที่สนใจใฝ่เรียนรู้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพสามารถใช้ชีวิตบนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีขีดจำกัด

เรียนออนไลน์ ที่ไหนเมื่อไรก็ได้

ระบบเรียนออนไลน์น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในวิกฤตินี้

เมื่อปี 2012 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้เปิดตัว MOOCs (Massive Open Online Courses) การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ที่รองรับผู้เรียนจำนวนมาก ไม่จำกัดเพศ วัย โดยเน้นหลักสูตรที่ให้บริการฟรี แม้ว่าปัจจุบันมีบางคอร์สเก็บค่าเล่าเรียนอยู่จำนวนหนึ่ง

MOOCs เป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้รูปแบบการเรียน ‘ได้ทุกที่ ทุกเวลา’ และ ผู้เรียน ‘เลือกเรียนสิ่งที่อยากเรียน’ เกิดขึ้นจริง บทเรียนส่วนใหญ่เรียนผ่านวิดีโอ บรรยายโดยอาจารย์เจ้าของวิชา มีแบบฝึกหัดหลังบทเรียน บางแพลตฟอร์มมีกระดานสนทนาหรือฟอรั่ม (Forum) ให้ผู้เรียนเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันเองด้วย เมื่อผ่านการเรียนรู้จนครบชั่วโมงและผ่านการทดสอบ ผู้เรียนจะได้เกียรติบัตรรับรองการเรียนรู้ไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน

นี่เป็นวัฒนธรรมการเรียนแบบใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาในพื้นที่ระบบการเรียนการสอนแบบเดิม!!

สำหรับนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ระบบการสอบเอพี (AP: Advanced Placement exams)* ให้นักเรียนประเมินศักยภาพของตัวเองด้วยการทำข้อสอบในรายวิชาที่สนใจ ผลลัพธ์ช่วยให้ผู้เรียนเตรียมความพร้อมตัวเองก่อนเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ต้องการสอบในรายวิชาที่ไม่ตรงกับสายการเรียนในปัจจุบัน

หรือหากวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการเป็นรายวิชาที่อยู่ในระบบเอพี นักเรียนสามารถนำคะแนนจากการสอบเอพีไปยื่นเพื่อสมัครเข้าเรียนต่อได้ นอกจากนี้บางรายวิชาในเอพีโปรแกรมสามารถนำไปใช้นับเป็นเครดิตสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยในปีแรกได้ด้วย

การเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องสบายๆ แต่ในความเป็นจริงผู้เรียนต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างที่จะทำให้ตัวเองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ผลสำเร็จจากการเรียนในแต่ละโมดูลจึงสะท้อนคุณสมบัติต่างๆ ของผู้เรียน ทั้งความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน ความสงสัยใคร่รู้ ความรับผิดชอบและความมีวินัยในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเรียนในระดับมัธยม นักการศึกษามองว่าครูยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยวางแนวทางการเรียนรู้ และชี้ช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะแก่นักเรียนแต่ละคน แล้วให้นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างอิสระในขั้นต่อไป ผลการศึกษาระบุว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองช่วยเติมเต็มการเรียนในห้องเรียนให้มีคุณภาพและทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากขึ้น

บทเรียนส่วนตัวที่ไม่เหมือนใคร

จอห์น ดิวอี้ (John Dewey: 1859-1952) นักปรัชญา นักจิตวิทยา และนักปฏิรูปการศึกษาชาวอเมริกัน เชื่อว่า ประสบการณ์เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษา บทบาทสำคัญของนักการศึกษา คือ การแนะนำ สนับสนุนให้ผู้เรียนออกไปสำรวจโลกรอบตัว ตั้งคำถามเชิงลึกกับปรากฎการณ์ตรงหน้า โดยเฉพาะคำถามคีย์เวิร์ด ‘ทำไม?’ และหาทางพิสูจน์เพื่อตรวจสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ อย่างที่ The Potential เน้นย้ำเสมอว่า การศึกษาที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากการลงมือทำ

แล้วครูจะมีส่วนช่วยนักเรียนอย่างไรได้บ้างในสถานการณ์ที่นักเรียนต้องเรียนทางไกล เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก?

บทบาทสำคัญของครู คือ การรักษามาตรฐานการเรียนการสอน ประเมินผลการเรียนอย่างสอดคล้องกับความพร้อมของนักเรียนแต่ละคน

ครูสามารถเข้ามามีบทบาทกระตุ้นการออกแบบการเรียนของนักเรียน ด้วยการวิธีการต่อไปนี้

  1. ให้นักเรียนวางเป้าหมาย – การเรียนในแต่ละครั้งต้องมีหัวข้อชัดเจนว่าต้องการเรียนรู้หรือศึกษาเรื่องอะไร สงสัยเรื่องอะไร เพราะอะไร
  2. ลงมือค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ – ยิ่งในยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายยิ่งต้องใส่ใจกับการคัดเลือกข้อมูล เปรียบเทียบความถูกต้องของข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงหลายแหล่ง
  3. ต่อยอดความสนใจ – ความสนใจ สงสัยใคร่รู้เป็นแรงขับสำคัญในการเรียนรู้ ระหว่างการค้นหาข้อมูล หากนักเรียนรู้สึกสนใจเรื่องใดเฉพาะเป็นพิเศษ ให้ต่อยอดการค้นคว้าเพิ่มเติมจากจุดที่ตนเองสนใจ การเชื่อมโยงการเรียนรู้ต่อเนื่องไปในลักษณะนี้ ทำให้ผู้เรียนได้ข้อค้นพบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับชุดความรู้เดิม

เว็บไซต์เอ็ดดูโทเปีย (Edutopia) นำเสนอบทความ New Strategies in Special Education as Kids Learn From Home – กลยุทธ์ใหม่เพื่อการศึกษากลุ่มพิเศษเมื่อเด็กเรียนรู้จากที่บ้าน บอกว่า ในภาวะที่โควิด -19 เข้ามากระทบระบบการเรียน การเตรียมตารางเรียน การสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรมที่ใช้ประสาทสัมผัส และความร่วมมือจากครอบครัว สามารถช่วยส่งผ่านการเรียนรู้ให้กับนักเรียนกลุ่มพิเศษได้อย่างราบรื่นแม้ไม่ได้เข้าชั้นเรียน

สิ่งที่ครูทำเป็นลำดับแรก คือ การติดต่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองเตรียมพื้นที่ที่มีความพร้อมในบ้านเป็นที่สำหรับการเรียนรู้ ครูโทรหานักเรียนด้วยตัวเองทุกวันเพื่อสรุปตารางกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำในแต่ละวัน

“เมื่อเอ่ยถึงการศึกษาพิเศษ เรากำลังพูดถึงผู้เรียนกลุ่มพิเศษที่มีอายุหลากหลาย มีความสนใจ มีความสามารถ หรืออาจเป็นผู้พิการ ซึ่งแต่ละคนควรได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้แตกต่างกันออกไป”มาร์กาเร็ต ชาเฟอร์ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากเมืองมอร์ตัน รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา กล่าว

สิ่งนี้แตกต่างจากการพัฒนาการสอนเหมารวมทั้งชั้นเรียนด้วยบทเรียนออนไลน์ ครูกลุ่มนี้ได้รับมอบหมายให้พัฒนาแผนการเรียนที่ไม่ซ้ำกันสำหรับนักเรียนทุกคน ซึ่งต้องสอดคล้องกับ IEPs ตามมาตรฐานของรัฐบาล

IEPs คือ แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program) สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นรายบุคคล โดยมีแผนระยะยาวและระยะสั้น โดยปกติจะเป็นแผนระยะ 1 ปี และมีการทบทวนทุกภาคเรียน

ข้อมูลจากเพจ ผมชื่อลูเต้อร์ – My Name is Luther สุนัขนำทางผู้พิการทางสายตา ทราย – คีริน เตชะวงศ์ธรรม เจ้าของลูเตอร์ ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอเรื่องราวผ่านเพจว่า

“เข้าอาทิตย์ที่สามของการ quarantine ทรายยังคงเรียนทุกอย่างทางไกล โดยตอนเช้าเวลาแปดโมงทุกวันเราจะเริ่มด้วยการโทร conference call กับครูและนักเรียนทุกคน เพื่อทักทายและแจ้งข่าวสารต่างๆ หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างไปทำกิจวัตรของตัวเอง โดยครูของทรายแต่ละคนจะโทรมาคุยกับทรายเกี่ยวกับโปรเจ็คที่ต้องการให้ทรายทำในวันนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเบรลล์ เทคโนโลยี ไม้เท้า และชั้นทำกับข้าว

“สำหรับชั้นไม้เท้าทรายยังต้องออกไปเดินทุกวัน เพราะที่นี่เป็นเมืองเล็ก ไม่ค่อยมีคนอยู่แล้ว เราแค่ต้องไม่เดินเข้าไปใกล้ใคร ส่วนชั้นทำอาหารตอนนี้ก็ไม่ได้ทำอาหาร นักเรียนแต่ละคนมีโปรเจ็คต่างๆ กัน บางคนเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับการทำอาหาร หรือวิธีการซักผ้า ส่วนทรายกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นและการลงทุน ซึ่งทรายรู้สึกว่าน่าสนใจมาก เพราะอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว

“ถึงแม้เรายังต้องเข้าเรียนจากแปดโมงถึงห้าโมงเย็นเหมือนปกติ โดยรวมแล้วการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีผลกระทบมากนักกับการใช้ชีวิต แต่การติดอยู่กับบ้านเป็นเวลานาน และการแทบไม่ได้เจอใครเลยก็เริ่มมีผลกระทบกับสุขภาพจิตของทราย ซึ่งตอนนี้ลูเตอร์ก็ได้กลายร่างจากสุนัขนำทางเป็นสุนัขบำบัดไปเรียบร้อยแล้ว

“เอาจริงก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าลูเต้อร์รู้สึกยังไงกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จากการติดอยู่ในกรงทั้งวันที่ศูนย์ มาเป็นการติดอยู่ในบ้านทั้งวันกับเจ้านาย… ลูเต้อร์บอก ‘ขอกลับไปอยู่ในกรงดีกว่าครับ’ อย่างน้อยทรายก็พยายามพาลูเต้อร์ออกไปเดินทุกวันวันละครั้ง คนที่มีสัตว์เลี้ยงอย่าลืมพาเขาออกไปเดินออกกำลังกายด้วยนะคะ”

จากตัวอย่างห้องเรียนของทราย เห็นได้ว่าแม้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ยังจำเป็นต้องมีแบบแผนและมีวินัยในตนเองอยู่เสมอ ส่วนการวัดผลการเรียนรู้ย่อมเป็นการวัดผลเฉพาะบุคคลด้วยเช่นกัน

การย้ายห้องเรียนมาไว้ที่บ้าน แล้วให้นักเรียนทำกิจกรรมตามตารางการเรียนรู้ที่ครูวางแผนให้เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ยอดเยี่ยมไม่ควรจบอยู่แค่การเปลี่ยนสถานที่นั่งเรียนเขียนอ่าน แต่ควรประกอบด้วยความสงสัยใคร่รู้ต่อยอดไปจากบทเรียนตรงหน้า การคิดวิเคราะห์ แล้วค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากนักเรียนมีความสนใจด้านภาษาเป็นพิเศษ การแนะนำให้นักเรียนลงคลาสเรียนภาษาอย่างเดียวคงไม่ตอบโจทย์ เพราะคงไม่สร้างการเรียนรู้ให้สื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ได้เท่ากับประสบการณ์จากการสื่อสารจริงในชีวิตประจำวัน นักเรียนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้พวกเขาไปได้ไกลมากกว่าแค่การเข้าชั้นเรียน ครูสามารถแนะนำโปรแกรมเรียนภาษาออนไลน์อย่าง Duolingo หรือการจัดคลาสสนทนาภาษาต่างชาติผ่านวิดีโอคอลล์ โดยให้นักเรียนนำเสนอหัวข้อที่ตนเองสนใจหรือต้องการพูดถึง

ครูสามารถค้นหาไอเดียและแนวทางการสอนได้จากเว็บไซต์ Open Education Resource Commons (OER) ที่รวบรวมวรรณกรรม งานวิจัย และเครื่องมือการสอน รวมทั้งคอร์สเรียนออนไลน์ที่จะช่วยเสริมทักษะให้กับครูได้ แหล่งข้อมูลทั้งหมดในโออีอาร์สามารถนำออกไปใช้ได้ฟรีและไม่ต้องขออนุญาต

แม้จะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่ห้องเรียนจะหายไปแล้วปล่อยให้นักเรียนมีอิสระจนอาจกลายเป็นเคว้งคว้าง และใช่ว่านักเรียนทุกคนจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับนักเรียนด้อยโอกาสอีกหลายคนโรงเรียนเป็นมากกว่าสถานที่เรียนหนังสือ นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการให้โอกาสนักเรียนเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน เพื่อค้นหาตัวเองจึงควรอยู่ในระบบการศึกษา โดยมีครูเป็นผู้สังเกตการณ์และแนะนำอย่างใกล้ชิด เพราะท้ายที่สุดความรู้สึกอิสระและการตัดสินใจด้วยตัวเองจะเป็นแรงขับแห่งการเรียนรู้ หากผู้คนได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเขาจะกระหายความรู้ ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ

ที่มา :

Self-Studying: What’s the Benefit and How to Do it

Importance of Self Study

How to Put Self-Directed Learning to Work in Your Classroom

Teach to One: Math and School Partners Collaborate to Ensure Learning Continuity for Students

เว็บไซต์แห่งการเรียนรู้สำหรับคนที่สนใจ

Thai Mooc
OER Commmons


Advanced Placement (AP)* คือแบบทดสอบที่มีเนื้อหาในระดับมหาวิทยาลัยแต่เปิดโอกาสให้นักเรียนในระดับมัธยมปลาย (High School) ได้ทดสอบตัวเอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ผู้ที่สอบผ่าน AP ที่ได้คะแนนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดจะได้รับการพิจารณาเข้าศึกษาต่อ โดยที่อาจได้รับหน่วยกิต (Credit) ในวิชาที่สอบผ่านตามเกณฑ์ แม้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะยอมรับผลสอบ AP แต่ก็มักให้นักเรียนสอบ Standardized Test เช่น SAT หรือ ACT เพื่อประกอบการสมัครเข้าเรียนด้วย

ในปี 2020 ข้อสอบ AP มีรายวิชาให้เลือกสอบ 39 วิชา โดยประเมินผลการสอบออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 5, 4, 3, 2 และ 1 มหาวิทยาลัยส่วนมากรับผล AP ที่ได้ 4 และ 5 คะแนนในขณะที่บางแห่งก็ยังรับผล AP ที่ได้ 3 คะแนน (ลิงค์รายวิชา ที่นี่)

Tags:

ระบบการศึกษาDisruptionการเรียนรู้ด้วยตัวเอง(self-directed learning)เรียนออนไลน์school closureไวรัสโคโรนา(โควิด-19)

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Social Issues
    จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย

    เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Learning Theory
    ‘การเรียนรู้ที่บ้าน’ กำลังมา: กำกับตัวเองให้มาก ใช้ความสงสัยใคร่รู้และความสุขจากการเล่นนำทาง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Social Issues
    โรงเรียนอาจไม่เหมือนเดิม: 3 ประเด็นที่ต้องตาม โคโรน่าไวรัสทำให้การศึกษาเปลี่ยนไปอย่างไร

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พิมพ์พาพ์

  • Social Issues
    ปิดโรงเรียนแล้วอย่างไรต่อ? มาตรการรับมือ ‘หลัง’ ปิดโรงเรียน จากรัฐบาลทั่วโลก

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Learning TheorySocial Issues
    STUDY FROM HOME รวมคอร์สเรียนออนไลน์ในและต่างประเทศ และแพลตฟอร์มสร้างห้องเรียนสำหรับครู

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์ ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel