- ห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม ให้เด็กๆ เดินเข้าไปนั่งฟังครูสอน-อ่านตาม แล้วบอกว่านี่คือห้องเรียน
- ในยุคดิจิทัลที่ความรู้หานอกห้องได้ง่ายกว่า แถมสนุกกว่าด้วย แล้วห้องเรียนจะอยู่อย่างไร
- เมื่อความรู้หาได้ง่ายขึ้น สมองก็ไม่ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ – ห้องเรียนจะเข้ามาอุดรอยรั่วตรงนี้ นี่คือเหตุผลของการมีห้องเรียน
- การเรียนที่ไม่ใช่แค่การท่องจำในตำรา แต่เอาการเรียนรู้เชิงอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดี
ที่ผ่านมาระบบการศึกษามุ่งเน้นการสอนทฤษฎีตามตำรา เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่ระบบการทำงาน แต่ในโลกยุคดิจิทัลบทเรียนในตำราแทบเป็นเรื่องล้าหลัง เมื่อเทียบกับข้อมูลข่าวสารที่หาได้อย่างง่ายดายผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันความง่ายดายที่เกิดขึ้นกลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘เรา’ ใช้สมองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
เมื่อการเรียนในห้องเรียนไม่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย แล้วทำอย่างไรให้การเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นมากกว่าการท่องจำเพื่อคะแนนสอบ ที่สำคัญ เป็นการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาสมองของผู้เรียนควบคู่กันไปด้วย
ครู และระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาเป็นกุญแจสำคัญ
“สมองจะเริ่มกระบวนการคัดกรองในทันทีเพื่อจำแนกว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อความสนใจ และข้อมูลใดไม่มีความเกี่ยวข้องและสามารถขจัดทิ้งไปได้”
คำกล่าวข้างต้นจาก บทความชื่อ ‘The Brain Compatable Curriculum’ เขียนโดย แอนน์ เวสวอเตอร์ (Anne Westwater) และ แพท วอล์ฟ (Pat Wolfe) นักวิจัยทางสมอง ตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการการศึกษาในสหรัฐอเมริกา Educational Leadership ปี 2000 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการสมองและความสนใจของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย
เนื่องจากสมองมนุษย์ไม่สามารถจดจำข้อมูลทั้งหมดที่เรียนในครั้งเดียวได้ แต่มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูล โดยสมองจะทำหน้าที่ตัดสินว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่ควรรู้หรือข้อมูลใดสามารถกำจัดออกไปได้ ด้วยเหตุนี้การทำให้การเรียนการสอนมีความหมายน่าจดจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ งานวิจัยพบว่า
การเรียนการสอนที่ไม่ใช่แค่การท่องจำในตำรา แต่ผนวกเอาการเรียนรู้เชิงอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหรือสร้างความตื่นเต้น การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ต้องทำภายใต้เวลาจำกัดหรือให้ความสนุกสนาน หรือแม้แต่เรื่องราวที่สร้างความสะเทือนใจก็ยังสามารถสร้างการเรียนรู้ที่น่าจดจำสำหรับสมองได้
ทั้งนี้ หากอารมณ์ที่สร้างขึ้นเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ อารมณ์จะช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเคมีในสมองทำให้สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสิ่งที่มนุษย์ทำในชีวิตประจำวัน เรามีแรงขับที่จะทำในสิ่งที่อยากทำ (passion) หรือแม้แต่กรณีที่เราทำความสะอาดที่อยู่อาศัยเพราะทนกับความสกปรกรกรุงรังไม่ได้ พฤติกรรมเหล่านี้มีส่วนเชื่อมโยงกับอารมณ์ก่อนทั้งสิ้น
เอริค เจนเซน (Eric Jensen) นักวิชาการศึกษาชาวอเมริกันที่คลุกคลีกับการทดลองวิจัยการเรียนรู้ของเด็กในชั้นเรียนมากว่า 20 ปี กล่าวว่า
หากครูสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางอารมณ์ลักษณะดังกล่าวมาสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียนได้ นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีกว่าการบอกหรือออกคำสั่งให้ลงมือทำ
เพราะอารมณ์จะช่วยเรียกความทรงจำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนรู้ขึ้นมาได้เป็นอย่างดี ยิ่งอารมณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมีความเข้มข้นมากเท่าไร สิ่งที่เรียนรู้ก็จะมีความชัดเจนและสร้างความเข้าใจแก่ตัวผู้เรียนมากขึ้นเท่านั้น
เจนเซนให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนแลกเปลี่ยน ถกเถียงในประเด็นขัดแย้งต่างๆ ในห้องเรียนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ผ่านการเขียน การอภิปราย และการสะท้อนวิธีคิด เป็นโมเดลที่ดีที่จะช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การเรียนรู้มีความหมายมากขึ้นอีก นั่นคือ การระดมความคิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา
เจนเซนกล่าวว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการพัฒนาสมอง คือ การเปิดโอกาสให้สมองได้แก้ไขปัญหาที่ท้าทาย กระบวนการคิดแก้ปัญหาจะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในระบบประสาทสมอง
“ไม่สำคัญว่าจะได้คำตอบหรือไม่ การเจริญเติบโตของระบบประสาทเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการคิดไม่ใช่จากการค้นพบวิธีแก้ปัญหาในขั้นสุดท้าย”
ด้วยเหตุนี้ คำตอบที่ถูกต้องที่สุดจึงไม่สำคัญเท่าโอกาสที่นักเรียนได้ร่วมคิดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่ แบบฝึกหัดเติมคำในช่องว่างจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าโครงงานหรือกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ร่วมคิดและค้นหาวิธีแก้ปัญหาด้วยกัน เพราะนั่นเป็นทางตรงที่จะช่วยสร้างการเรียนรู้และสร้างการพัฒนาสมองได้อย่างถาวร