- เด็กที่ถูกปลูกฝังคุณลักษณะการขอบคุณและซาบซึ้งใจกับสิ่งที่มีและได้รับ (Gratitude) จะรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนมี รักโรงเรียน ครอบครัว ชุมชนที่อยู่มากขึ้น มีความตระหนักถึงส่วนรวมมากกว่า รับผิดชอบและผลการเรียนดีกว่า ไปจนถึงสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงกว่าเด็กกลุ่มที่ขาดคุณลักษณะนี้ ทั้งมีแนวโน้มจะเปิดรับและเห็นโอกาสสร้างความสุขให้กับตัวเองมากขึ้น
- สภาวะซาบซึ้งใจ การมีนิสัยสำนึกรู้คุณสูง หรือกระทั่งการเอ่ยขอบคุณออกมาเป็นคำพูด สามารถเยียวยาบาดแผลทางใจที่เกิดจากอดีตอันเลวร้าย ลดอาการเครียดจากมลภาวะทางใจ ตลอดจนช่วยให้หลายคนโฟกัสไปยังเป้าหมายที่ตั้งใจได้มากขึ้น
- สำหรับผู้ปกครองและครู บทความนี้แนะนำการสร้างสภาพแวดล้อมในการติดตั้งคุณลักษณะข้อนี้ และออกแบบชั้นเรียนที่สอนเรื่อง ‘การขอบคุณและเห็นคุณค่า’
หากมองให้ดีเราจะพบว่าชีวิตหยิบยื่นสิ่งล้ำค่ามากมายให้เรา ผ่านผู้คน โอกาส ประสบการณ์ น้ำใจและความช่วยเหลือที่ถูกหยิบยื่นเมื่อเราเผชิญกับอุปสรรคปัญหา บางทีสิ่งที่ทำให้เราเป็นสุขและซาบซึ้งใจอาจเป็นแค่ช่วงเวลาดีๆ ที่สมาชิกในครอบครัวพยายามจัดสรรให้ทุกคนเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา การดูแลเอาใจใส่และปฏิบัติกับเราอย่างคนสำคัญจากคนรัก เพื่อนฝูงที่คอยให้ความเข้าใจและรับฟังเสมอมา
Gratitude – การขอบคุณและซาบซึ้งใจกับสิ่งที่มีและได้รับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความผาสุก ใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกนี้คือใจที่คำนึงถึงความดีงามของผู้อื่น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่ และขอบคุณยินดีเมื่อได้รับ และความรู้สึกขอบคุณนี้นี่เองที่เป็นคุณลักษณะสำคัญช่วยยกระดับจิตใจผู้คนและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้น
เด็กที่ถูกปลูกฝังคุณลักษณะข้อนี้จึงมีพื้นฐานทางจิตใจและอารมณ์อันอ่อนโยน เข้าอกเข้าใจและพร้อมที่จะเติบโตไปในทิศทางที่ดีและมีความสุข
เพราะเรื่องราวดีๆ เริ่มต้นที่ความรู้สึกขอบคุณ
ในการศึกษาอิทธิพลของความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อเด็กวัยยังไม่ถึง 5 ขวบ ตีพิมพ์ใน Journal of Happiness Studies ปี 2019 พบว่า ความรู้สึกขอบคุณของหนูน้อยวัยนี้เชื่อมโยงโดยตรงกับความสุข แม้แต่งานวิจัยซึ่งเขยิบมาโฟกัสเด็กช่วงอายุระหว่าง 11-19 ปี ก็ยังแสดงผลลัพธ์ด้านบวกว่า เด็กที่ถูกปลูกฝังคุณลักษณะนี้จะรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนมี รักโรงเรียน ครอบครัว ชุมชนที่อยู่มากขึ้น มีความตระหนักถึงส่วนรวมมากกว่า มีความรับผิดชอบและผลการเรียนดีกว่า ไปจนถึงสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงกว่าเด็กกลุ่มที่ขาดคุณลักษณะนี้
นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาเชิงจิตวิทยาว่าด้วย Gratitude มากมายที่ชี้ว่า สภาวะอารมณ์ซาบซึ้งใจ คนที่มีลักษณะนิสัยสำนึกรู้คุณสูงหรือกระทั่งการเอ่ยขอบคุณออกมาเป็นคำพูด สามารถเยียวยาบาดแผลทางใจที่เกิดจากอดีตอันเลวร้าย ลดอาการเครียดจากมลภาวะทางใจ ตลอดจนช่วยให้หลายคนโฟกัสไปยังเป้าหมายที่ตั้งใจได้มากขึ้น
ทั้งนี้สาเหตุก็เป็นเพราะความรู้สึกขอบคุณ ซาบซึ้งในการเป็นผู้รับ ได้มองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เป็นพลังงานเดียวกันกับการมองบวก (Positivity) เมื่อสมองถูกกำหนดให้สแกนหาสิ่งที่เป็นเรื่องราวดีๆ บ่อยครั้งเข้า ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเปิดรับและเห็นโอกาสสร้างความสุขให้กับตัวเองมากขึ้น
ซึ่งจากที่กล่าวมาคงจะเห็นแล้วว่า หากเราฝันอยากจะเห็นพวกเขาเติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีสุขภาพจิตและอารมณ์ดี มีแนวโน้มที่จะเติบโตอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดีมีความสุข โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกแห่งไม่ควรรอช้าในการจัดการเรียนรู้ที่สร้างเสริมคุณลักษณะนี้ให้เด็กควบคู่ไปกับการสอนเชิงวิชาการ และควรทำกันตั้งแต่เนิ่นๆ
ไคซา เวอริเนน (Kaisa Vuorinen) และ ลอตตา อูสซิทาโล (Lotta Uusitalo) สองอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระบบการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ผู้เขียนคู่มือการจัดการเรียนรู้ Feel The Good: How to Guide Children and Adolescents to Find Their Strengths ซึ่งเน้นการเสริมสร้างคุณลักษณะสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตให้กับเด็กๆ ขยายความถึงบทบาทหน้าที่ของคุณครูในชั้นเรียนที่ไม่เพียงต้องสอนให้เด็กๆ รู้จักกาลเทศะเหมาะสมที่จะเอ่ย “ขอบคุณ” แต่จุดมุ่งหมายของการติดตั้งคุณลักษณะข้อนี้ยังกินพื้นที่ลึกซึ้งไปถึงการบ่มเพาะให้พวกเขา ..
- เคารพรู้คุณต่อสิ่งที่เราได้รับจากการพยายามและเสียสละของผู้อื่น
- มองเห็นและสัมผัสความสุขที่เกิดขึ้นรอบตัวหรือความงดงามที่ชีวิตหยิบยื่นให้
- ตระหนักถึงคุณค่า มีหมุดหมายและใช้ชีวิตในทางดีงาม
- ถักทอสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคนสำคัญในชีวิต
- ยินดีกับโอกาสที่ผ่านเข้ามา ส่งต่อพลังความรู้สึกขอบคุณเป็นบวกให้กับคนอื่น
- จดจ่อยินดีกับสิ่งที่ตัวเองมีในปัจจุบัน ไม่หมกมุ่นถึงอดีตหรือคร่ำครวญในสิ่งที่ไม่มี
- ยืดหยุ่นทนทานเมื่อถูกซัดด้วยปัญหาหรือพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค สามารถลุกกลับมาสู้ใหม่ได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า Gratitude เป็นคาแรคเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ และเท่ากับเป็นขุมพลังชีวิตที่จะช่วยให้เด็กๆ ดำเนินชีวิตอย่างรู้จุดหมาย เข้าใจความหมายและตระหนักว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และในบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องออกตามหาที่ไหนไกล เพราะมันอยู่รอบๆตัวเรานี่เอง
มาช่วยกันออกแบบชั้นเรียนที่สร้างความรู้สึกขอบคุณให้กับเด็กๆ กันเถอะ
ใจความสำคัญหนึ่งที่งานศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กมักเน้นย้ำเสมอคือข้อเท็จจริงที่ว่า
เด็กๆ ซึมซับเลียนแบบลักษณะและพฤติกรรมจาก Role Model ที่ใกล้ชิดที่สุดก็คือพ่อแม่ ดังนั้น ประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับตลอดช่วงเวลาที่เขาอยู่ในห้องเรียนจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การปลูกฝังคุณลักษณะข้อนี้ให้อยู่ในกิจวัตรทุกวันของเด็กๆ ทำได้ไม่ยากและครูนี่เองที่จะเป็นแบบอย่างให้กับพวกเขา
เอมี่ มอริน (Amy Morin) อาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยนอร์ธอิสเทิร์นในบอสตัน ผู้เขียน How to Teach Children Gratitude เขียนแนะนำไว้ว่าให้ลองเริ่มจาก
- เอ่ย “ขอบคุณ” การกล่าวคำขอบคุณพร้อมกับแสดงออกอย่างจริงใจให้นักเรียนเห็นสม่ำเสมอคือภาพตัวอย่างที่ทรงพลังและชัดเจนที่สุดในการสอนให้เขาเห็นและจดจำไปปฏิบัติตาม ขอบคุณเมื่อเด็กๆช่วยกันเก็บข้าวของหลังทำกิจกรรมในชั้นเรียนโดยไม่ต้องขอ ขอบคุณเจ้าของเวรทำความสะอาดที่เช็ดกระดานไว้สะอาดเรียบร้อย หรือขอบคุณชั้นเรียนที่วันนี้ทุกคนตั้งใจเรียนกันอย่างเต็มที่
- เล่ามุมมองเหตุการณ์ที่รู้สึกขอบคุณในชั้นเรียน คุณครูอาจเริ่มต้นชั่วโมงโฮมรูมด้วยการเล่าแบ่งปันประสบการณ์กับนักเรียนพร้อมกับสอดแทรกมุมมองที่แสดงความขอบคุณลงไปด้วย เช่น เหตุการณ์ยางแบนขณะอยู่คนเดียวเมื่อวานทำให้ได้ลงมือเปลี่ยนยางอะไหล่ด้วยตัวเองสำเร็จเป็นครั้งแรก จากที่คิดว่าทำไม่ได้ ก็รู้สึกว่าต้องขอบคุณสถานการณ์นี้ที่ทำให้ได้ลองอย่างสุดความสามารถและภูมิใจกับตัวเองในที่สุด
- ตั้งคำถามที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าถึงความรู้สึกขอบคุณ Gratitude มีอยู่ 4 ด้านด้วยกัน คุณครูผู้สอนจึงควรพิจารณาวางแผนให้การสอนครอบคลุม
- การสังเกต – มองเห็นประโยชน์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว คุณค่าของโอกาสหรือความช่วยเหลือที่มีคนหยิบยื่นให้
- การคิด – พิจารณาที่มาที่ไปของการเป็นผู้ให้และผู้รับในทุกสถานการณ์ และใส่ใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา
- ความรู้สึก – ซึมซับความรู้สึกเมื่อได้รับและส่งต่อพลังงานดีๆ
- การกระทำ – ให้คำแนะนำและเป็นแบบอย่างวิธีแสดงออกความรู้สึกขอบคุณ
วิธีที่ช่วยกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้อย่างได้ผล คือการตั้งคำถามที่ปลุกให้เด็กๆ ทบทวนคุณค่าและประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาพบเจอ
คำถามที่ชี้ให้เขาสังเกตเห็นความสำคัญหรือด้านดีงามของผู้อื่นและสิ่งต่างๆ
“ลองคิดถึงสิ่งที่เราใช้อยู่ทุกวัน นักเรียนคิดว่าอุปกรณ์ใดบ้างที่ถ้าเราไม่มีมันในวันนี้ ชีวิตจะยากลำบากขึ้น”
“มีใครสังเกตเห็นบ้างว่าเมื่อเช้านี้มีเพื่อนเราคนหนึ่งซ่อมป้ายหน้าชั้นเรียนเราจนมันสวยงามเหมือนเดิม”
“หลังการเล่นกิจกรรมในวันนี้ เราอยากเอ่ยขอบคุณใครบ้างและอยากขอบคุณเขาเรื่องอะไร”
คำถามที่กระตุ้นให้เขาคิดพร้อมกับรู้สึกขอบคุณ
“เหตุผลที่เพื่อนร่วมแรงร่วมใจกันซื้อของชิ้นนี้ให้เธอเพราะอะไร”
“ลองมองในมุมกลับดูซิว่ากว่าจะได้รองเท้าคู่นี้มาคุณพ่อคุณแม่ต้องผ่านความลำบาก เหนื่อยยากยังไงบ้าง”
“โอกาสที่ได้รับครั้งนี้จะช่วยพัฒนาหนูด้านไหนบ้างและหนูวางแผนจะตอบแทนกับโอกาสในครั้งนี้อย่างไร”
คำถามที่ชวนให้ไตร่ตรองความรู้สึกเมื่อเป็นผู้รับ
“ตอนนั้นเธอรู้สึกอย่างไรตอนที่เห็นเพื่อนๆ ช่วยปฐมพยาบาลสุดความสามารถ”
“ตอนรับโทรศัพท์แล้วรู้ว่าเราได้โอกาสให้ไปลองทำงานนี้รู้สึกยังไงบ้าง”
“เวลาที่คนในครอบครัวอยู่เคียงข้างตลอดช่วงเวลาเลวร้ายเหล่านั้น เรารู้สึกยังไง”
คำถามที่ชักชวนให้แสดงออกความขอบคุณ
“มีวิธีไหนบ้างที่นักเรียนจะแสดงให้เพื่อนรู้ว่าเราดีใจกับสิ่งที่เพื่อนทำให้”
“พวกหนูอยากตอบแทนรุ่นพี่ช่วยติวหนังสือให้อย่างเต็มที่ไหม เราจะตอบแทนเขาอย่างไรดี”
“ความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับจากการได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้อย่างไรบ้าง”
เพื่อให้การเสริมสร้าง Gratitude ในชั้นเรียนเป็นเรื่องสนุกและไม่จำเจ ขอชักชวนให้คุณครูลองนำตัวอย่างกิจกรรมน่าสนุกที่อาจารย์เวอริเนนและอูสซิทาโล แบ่งปันไว้ในหนังสือคู่มือการสอนที่เอ่ยไว้ข้างต้น ลองหยิบยกไปปรับใช้เป็นกิจกรรมในห้องเรียนกันดูนะคะ
- Gratitude Discussion:
- นักเรียนคิดว่าความรู้สึกขอบคุณหมายความว่าอย่างไร และการขอบคุณให้ประโยชน์กับเราอะไรบ้าง
- นักเรียนอยากขอบคุณใครบ้างในชีวิต ด้วยเรื่องอะไร หรือมีสิ่งไหนที่เรารู้สึกว่ามีพระคุณบางอย่างกับเรา
- อธิบายว่าความรู้สึกขอบคุณช่วยให้เรามองโลกในแง่ดีได้อย่างไร ลองเล่าเหตุการณ์ตัวอย่างให้เพื่อนฟัง
- การขอบคุณเป็นสิ่งที่แสดงออกได้ด้วยวิธีใดบ้าง ในสถานการณ์ใดบ้างที่การขอบคุณเป็นเรื่องยาก
- Gratitude Diary: มอบหมายการบ้านให้นักเรียนเขียน “ไดอารีแห่งการขอบคุณ” โดยให้เขียนถึงสิ่งที่อยากขอบคุณอย่างน้อย 3 อย่างต่อวัน กำหนดส่งการบ้านชิ้นนี้ในระยะ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นให้ชั้นเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการสังเกตและบันทึก
- Gratitude Box: ตั้งขวดโหลใบโตในห้องเรียนและให้นักเรียนเขียนสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นลงไปวันละหนึ่งอย่าง ในแต่ละสัปดาห์ จะมีการหยิบสุ่มข้อความในขวดโหลออกมาอ่านในชั้นเรียนและช่วยกันคิดว่าเพราะเหตุใดจึงควรขอบคุณเหตุการณ์หรือสิ่งนั้นและมันสำคัญอย่างไร
- Gratitude Letter: ให้นักเรียนเขียนจดหมายขอบคุณถึงผู้มีพระคุณ หรือคนที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นทางใดทางหนึ่ง อาจเป็นคนในครอบครัวหรือผู้ที่เคยหยิบยื่นความช่วยเหลือ จดหมายฉบับนี้จะถูกส่งหรือเก็บไว้ก็ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน
- Gratitude Session: ช่วงโฮมรูปอาจจะหนึ่งครั้งในสัปดาห์จะเป็นช่วงที่คุณครูกล่าวขอบคุณสิ่งดีๆที่นักเรียนได้ทำในช่วงนั้นเช่น ช่วยดูแลแปลงผักของโรงเรียนเป็นอย่างดี ซ่อมกรอบรูปที่พังให้คืนสภาพดีดังเดิม หรืออาจใช้เป็นพื้นที่ให้นักเรียนเป็นฝ่ายขอบคุณคุณครูและเพื่อนในห้องด้วย
หวังว่าข้างต้นจะเป็นแนวทางเล็กๆ น้อยๆที่คุณครูใช้เป็นไอเดียออกแบบกิจกรรม หรือแบบฝึกหัดให้เด็กๆได้พัฒนาคุณลักษณะด้าน Gratitude ให้เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากความสนุกสนานในห้องเรียน ความดีงามของการรู้ซึ้งในคุณค่าก็คงเป็นอีกความตั้งใจหนึ่งที่ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหนๆ คุณครูทุกคนคงรอคอยที่จะได้เห็นเมล็ดพันธ์ที่หว่านโปรยไว้เบ่งบานเติบใหญ่ขึ้นไม่มากก็น้อยในหัวใจเด็กๆทุกคน