- เนื่องจากโลกไม่เหมือนเดิม เราจะบอกว่าเราโตมาอย่างนี้ได้ แต่ลูกเราอาจจะโตไม่ได้ ด้วยความที่โลกไม่เหมือนเดิม ก็ต้องการคุณสมบัติที่ไม่เหมือนเดิม
- เด็กมีศักยภาพมาตั้งแต่กำเนิด แต่พ่อแม่ต้องช่วยฝึก สิ่งนี้เรียกว่า Character Building หรือ การสร้างสันดานดี
- ‘กิน กอด นอน เล่น เล่า ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลืองานบ้าน’ คือ short cut สู่ Character Building
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
ในยุคที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ประสบการณ์พ่อแม่ที่สั่งสมมา อาจนำไปใช้กับลูกไม่ได้อีกต่อไป หลายคนจึงต้องเปิดตำราหาวิธีใหม่ๆ หรือเลี้ยงไปตามสัญชาตญาณ ทั้งหมดก็เพื่อให้ลูกอยู่รอดได้ในปัจจุบันและอนาคต
อย่าเพิ่งถอดใจไป ในเมื่อของเก่ามันใช้ไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องสร้างและปั้นกันขึ้นมาใหม่ คำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ถูกวิธี
คำตอบอยู่ที่การบ่มเพาะและปลูกบุคลิกภาพขึ้นใหม่ หรือ Character Building คือ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้และควรทำตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง
“เราใช้คำไทยว่า สันดาน นั่นแหละค่ะ” เป็นคำพูดตรงไปตรงมาทว่าน้ำเสียงอ่อนโยนของ สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ที่ทำงานด้านแม่ เด็กและครอบครัวมากว่า 30 ปี ที่ย้ำชัดตั้งแต่ต้นว่า
จะคาแรคเตอร์, บุคลิกภาพ หรือ สันดาน ล้วนเป็นสิ่งที่พ่อแม่สร้างได้…และง่ายกว่าไปดัดเอาตอนโต
Character Building หรือการสร้างบุคลิกภาพคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
character หรือบุคลิกภาพ คือสิ่งที่สะท้อนออกจากการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต เรียนรู้อะไรมา มีประสบการณ์มาอย่างไร และได้ก่อรูปประสบการณ์เหล่านั้นขึ้นมาเป็นชุดความคิดของตัวเอง แล้วปรากฏออกมาเป็นท่าทางพฤติกรรม การแสดง ปฏิบัติต่อตัวเองและผู้อื่น
Character Building ไม่ใช่แค่ยืนเต้นท่าได้สวย หลังตรง ฉีกยิ้ม แต่เป็นการสะสมความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ในตัวเอง มองโลกอย่างไร มองตัวเองอย่างไร มองคนอื่นอย่างไร จากนั้นจึงนำมาสู่การปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อดำรงชีวิตตัวเองต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ดำรงสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม ชุมชน รวมไปถึงความคิดที่มีต่อโลก
แล้ว Character Building มีความสำคัญอย่างไร
เนื่องจากโลกไม่เหมือนเดิม เราจะบอกว่าเราโตมาอย่างนี้ได้ แต่ลูกเราอาจจะโตไม่ได้ ด้วยความที่โลกไม่เหมือนเดิม ก็ต้องการคุณสมบัติที่ไม่เหมือนเดิม เราบอกว่า อายุสามสิบ สี่สิบ ถามว่าเรามั่นใจที่จะไปอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วย AI ไหม เราก็ยังกังวลเลย เพราะว่าโลกแบบใหม่ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนใหม่ ไม่เหมือนเดิม
พ่อแม่ต้องทบทวนจริงจัง อย่าคิดง่ายๆ ว่าเราก็ผ่านมาได้ ตอนนี้เด็กมัธยมปลายหนึ่งห้อง เด็กผู้หญิงที่ยังไม่ได้นอนกับผู้ชายมีอยู่แค่คนเดียวหรือสองคน พ่อแม่ทุกคนกังวลมาก และข้อมูลพวกนี้ไม่ไกลตัว ในกรุงเทพฯ โรงเรียนดีๆ จำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบนี้ ฉะนั้นผู้ปกครองก็เห็นว่าปัญหามันแย่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Character ของเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมา เป็นอย่างไร
ระบบการศึกษาไทยจะให้ความสำคัญกับ character บางเรื่อง เช่น ความเป็นคนเชื่อฟัง อ่อนน้อม ไม่โต้เถียง เกรงใจ แต่ในโลกที่เป็นจริง มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปได้เต็มที่ คิดได้ ทำได้ สร้างสรรค์ได้ แก้ปัญหาได้ พูดง่าย จัดการตัวเอง และจัดการสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องมี character อีกหลายอย่าง ตั้งแต่กล้าคิดกล้าทำ กล้าสงสัย กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเห็นอยู่ว่าใช่ไม่ใช่ ดีไม่ดี
มนุษย์ต้องทำได้ เพราะเรามีสิ่งที่สิ่งมีชีวิตอื่นไม่มี มนุษย์ต้องสร้างสัมพันธภาพที่เหนือกว่าแค่เลี้ยงดูลูกเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป แต่เป็นสัมพันธภาพอยู่ในกลุ่มที่ละเอียด ประณีต มีปรัชญาของการเคารพกัน เคารพความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีโอกาสไปถึงศักยภาพเหล่านั้นได้ทั้งนั้น แต่ว่าเรายังไปใส่ใจกับบางเรื่องเท่านั้น
คำถามตอนนี้คือทำอย่างไร เราถึงจะปลดปล่อยศักยภาพเด็กของเราให้ไปถึงศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ที่เราได้มาจากธรรมชาติ แล้วถึงจะทำให้เขากลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี ดีต่อตัวเอง และดีต่อคนอื่นๆ
โลกสมัยใหม่ได้เปิดประตูให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไว้กว้างมาก เราบ่มเพาะบุคลิกภาพแบบนี้ให้เขา ซึ่งมันไม่พอดีกับโลกสมัยใหม่ โลกสมัยใหม่ที่คุณเข้าถึงได้หมดผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ คุณแสดงตัวเองได้กับโลกทั้งหมด
คำถามคือคุณจะแสดงออกกับโลกทั้งหมด คุณมีอะไรจะไปแสดงออกกับเขา อันนี้คือโจทย์สำคัญ
เด็กเราคิดไม่ค่อยเก่ง เวลาแสดงออกมีแค่เรื่องดราม่า เรื่องกระจุ๋มกระจิ๋ม กระจุ๊กกระจิ๊ก ขณะที่โลกกำลังพูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โจทย์ใหญ่ๆ ที่ยาก แต่ว่า character ที่บ่มเพาะมันน้อยเกินไป มันเป็น character ที่มาจากการท่องจำ จดจำมาแล้วมาตอบ คุยแต่เรื่องเบาๆ พอโลกซีเรียสขึ้น เด็กจะไม่สามารถตอบสนองในหลายๆ มิติ บางมิติพอไปได้ ในทางสนุกสนาน ทางศิลปะอาจจะไปได้ แต่ถ้าเรื่องที่ยากซับซ้อนก็จะไปไม่ได้
Character อะไรที่ควรสร้างให้เด็กหรือเด็กควรมี เพื่อที่เขาจะเติบโตในโลกที่อยู่ยากขึ้น
อันแรกต้อง คิดเป็น คือ ถูกฝึกให้ใช้ความคิดในสถานการณ์ต่างๆ อย่างหลากหลาย และต่อเนื่องตามวัยเขา ถ้าเขาคิดเป็นแล้ว เมื่อเจอสถานการณ์ เด็กจะใช้ความคิดไม่ใช่สัญชาตญาณ ถ้าเด็กคิดเป็น ฝึกใช้ความคิดบ่อยๆ ลองผิดลองถูก คิดผิดไม่เป็นไร คิดใหม่ แล้วลองดูว่าที่ถูกเป็นยังไง ถูกวันนี้ บริบทนี้ แต่พอไปอีกที่อาจไม่ถูกก็ได้ ก็ต้องคิดใหม่
ฐานการคิดต้องได้รับการฝึกบ่อยๆ ได้ฝึกตั้งคำถาม ทำไม ทำไม ต้องให้เขาใช้ความคิด อันนี้คือหัวใจ
อันที่สองคือ ทำ ทำอะไรก็ได้ ก่ออิฐเป็น ก่อหลุม การทำทั้งหมดทำให้เด็กได้เรียนรู้ ยิ่งถ้าผู้ใหญ่คิดเป็น พาเด็กไปทำ ยังไงการคิดกับการกระทำจะช่วยเราได้
คิดเป็นและทำเป็น สองสิ่งนี้จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนเรียนรู้ แก้ปัญหา อยู่กับคนอื่น มีความสุข จะตามมาเอง
Executive Function จะมีส่วนช่วยพ่อแม่สร้าง Character ให้เด็กๆ ได้อย่างไร
ความรู้ใหม่ในโลกตอนนี้ทำให้เข้าใจว่าทุกๆ ประสาทสัมผัสที่เด็กคนหนึ่งได้รับตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นได้ยินเสียง มองเห็น ใช้มือสัมผัส ชิมรส ทั้งหมดนี้ทำให้เส้นใยประสาน ก่อเกิดการเชื่อมต่ออะไรที่เจอบ่อยๆ ทำซ้ำๆ ก็จะเกาะเกี่ยวพันกัน ก่อให้เกิดเป็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมทางสมอง (Brain Architecture)
แต่สิ่งนี้ที่สำคัญคือมันเป็นรูปแบบที่บรรจุอยู่ในสมอง ทุกครั้งที่ทำซ้ำไปเรื่อยๆ เส้นใยที่เกี่ยวรัดพันกันจะฝังตัวอยู่แถวๆ นั้นตลอดไป ถ้าเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองต่อเขาดี เด็กได้รับการตอบสนองเมื่อหิว เมื่อเจ็บ เมื่อมดกัด สิ่งนี้ก็เกาะเกี่ยวพันกันเกิดโครงสร้างในชุดสมองที่ว่า “ฉันเป็นคนที่ได้รับการตอบสนอง โลกนี้ดีกับฉัน โลกนี้ไม่ทิ้งให้ฉันโดดเดี่ยว” ฉะนั้นเส้นใยประสาทจะก่อเกี่ยวพันกันในทางบวก อันนี้คือ character ที่จะฝังเป็นชิพ แล้วสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม เวลาเขาไปปฏิสัมพันธ์กับโลก เขาจะรู้สึกบวกเพราะว่าโลกปฏิสัมพันธ์กับเขาดีมาโดยตลอด นี่คือสิ่งที่เรียกว่า EF (Executive Functions)
บุคลิกภาพของเด็กคนหนึ่ง ถ้าถูกเลี้ยงดูมาแบบตั้งอกตั้งใจ เด็กก็อาจเป็นคนอ่อนหวานนุ่มนวลไปตลอดชีวิต แต่ถ้าเด็กถูกใช้ความรุนแรง ถูกกระทบกระแทก แล้วถูกซ้ำย้ำอย่างนี้ตลอด เขาก็จะไม่เชื่อใจคน หวาดระแวง ไม่รู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกว่าโลกทั้งโลกน่ากลัว ไม่พร้อมที่จะเผชิญ นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่าความเข้าใจที่ได้จากเรื่อง EF แล้วนำไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพ หรือเราใช้คำไทยได้ว่า ‘สันดาน’
วิธีการที่พ่อแม่จะทำหรือแสดงออกกับลูกในแต่ละช่วงวัยควรจะเป็นอย่างไร
ต้องพูดถึงตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์ ความสุขของแม่สะท้อนผ่านสารเคมีที่หลั่ง ผ่านรกไปถึงตัวเขา เขาก็รู้สึกได้ รับรู้ได้ อาหารที่เข้าไป สารเคมีที่เข้าไป รวมทั้งความเครียดด้วย เพราะเวลาเราเครียด สารเคมีในสมองก็จะหลั่งออก
ต่อมาวัยแรกเกิด เด็กต้องได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ทุกครั้งที่เด็กร้อง แสดงว่าต้องมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น หิว มดกัด ก้นแฉะ การร้องแปลว่าต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ก็อย่าไปรำคาญ การที่เรารีบเข้าไป ในด้านหนึ่ง มันคือการแก้ปัญหา เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อมเพราะก้นแฉะ แต่อีกด้านหนึ่ง มันกำลังทำงานกับสมองเด็ก เขาเรียนรู้ว่าสัมผัสนี้มาช่วยเหลือเขา มาตบก้นเบาๆ มาให้กำลังใจ พูดเพราะๆ ซึ่งเด็กที่ได้รับการตอบสนองอย่างสม่ำเสมอจะเลี้ยงง่าย
การเรียนรู้แค่พัฒนาการไม่เพียงพอ เราต้องเรียนรู้เรื่องสมองของเขาด้วย เช่น เด็กเริ่มจำหน้าพ่อแม่ได้ เป็นช่วงเวลาที่เราเรียกว่า working memories ก่อนหน้านั้นเด็กยังจำไม่ค่อยได้ ก็ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เรียนรู้ว่าสัมผัสแบบนี้ โครงหน้าประมาณนี้ แต่พอหกเดือนมองได้ชัดขึ้น เขาก็จะจำหน้าได้ฉะนั้นเราต้องรู้ว่า working memories เริ่มขึ้นแล้ว
อยากให้พ่อแม่จำหลักได้ว่า
หนึ่ง เด็กมีศักยภาพมาตั้งแต่กำเนิด แต่ต้องฝึก เพราะไม่มีทางเกิดขึ้นเองอย่างเดียว
สอง ทำซ้ำๆ บ่อยๆ จะเกิดเป็นชิพฝังเข้าสมองเด็ก
สาม ‘กิน กอด นอน เล่น เล่า ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลืองานบ้าน’ ถ้าทำอย่างนี้บ่อยๆ สมองของเด็กจะตอบสนอง ไม่งอแง เพราะเด็กจะเริ่มมีเหตุผล มีความมั่นใจ มีความสุข
กิน: กินอาหารครบห้าหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม เค็มอ่อนและหวานอ่อน (ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต)
กอด: การแสดงความรัก
นอน: เวลานอนสำคัญมากสำหรับพัฒนาการสมอง ทุกครั้งที่เด็กได้นอน สมองเขาจะจดจำและจัดระเบียบข้อมูลที่ได้รับก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเด็กนอนไม่พอ จะหงุดหงิด
เล่น: สมมุติเด็กเล่นซ่อนแอบ เขาต้องคิด เขาต้องใช้สมองในการแอบ สมองเด็กในทุกๆ ครั้งที่เล่น ไม่ว่าเล่นอะไร เล่นก้อนหิน เล่นทราย กระบวนเหล่านี้เป็นการคิด การทำอยู่บนความสุข เมื่อเด็กเล่นมันคือความสุข ไม่มีกฎกติกามากมาย ถ้าเป็นกติกา จะเป็นกติกาที่เขาว่ากันเอง อย่างเช่น ห้ามเลยเส้นนี้ มันเป็นข้อตกลงที่เขาพอใจ
เล่า: อ่านหนังสือ เล่าหนังสือ ร้องเพลง กล่อม อ่านหนังสือกับลูก
ช่วยเหลือตัวเอง: ‘เอง’ เป็นคำที่เรากำลังรณรงค์ เอง ก็คือ self ก็คือตัวเอง เรากินเอง เราจับเอง เราเล่นเอง เก็บเอง นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการช่วยเหลือตัวเอง
ช่วยเหลืองานบ้าน: งานง่ายๆ เช่น เด็กขวบหนึ่งถือแก้วตัวเองไปวาง เอาขยะไปทิ้งที่ถัง เมื่อเขาทำแล้วเราชมเขาว่าเก่งจังเลย บางครั้งอาจจะจำไม่ได้ แต่พูดบ่อยๆ ก็จะเริ่มฝังเข้าไปสมองของเด็ก ถ้าอยากให้ลูกได้ จะต้องให้ลูกเป็นคนทำ ‘ใครทำใครได้’ นี่เป็นหลักที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ ฉะนั้นอย่าช่วยลูกมากเกินไป อยากให้ลูกได้อะไร ให้เขาทำสิ่งนั้นด้วยตัวของเขาเอง
เมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน ครูประถมส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องพัฒนาการดีพอสมควร แต่คนที่ไม่เข้าใจคือระบบนโยบายข้างบน ไม่เข้าใจเลยว่าประถมวัยเป็นช่วงเวลาที่สมองต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น ทุกๆ ความสุขที่เขาได้จากการเล่นจะทำให้ศูนย์ข้อมูลพร้อมทำงาน แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเอาเด็กอนุบาลบังคับขีดเขียน ศูนย์ข้อมูลของเขาจะไม่เปิด แล้วจะทำให้เครียดมาก ถ้าพ่อแม่คุณครูเข้าใจก็จะไม่พาเด็กไปสู่กระบวนการแบบนั้น
ต่อมาเมื่อถึงช่วงวัยรุ่น ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกดี ต่อให้ลูกเหวี่ยงใส่แค่ไหนก็ตาม ก็จะเป็นการเหวี่ยงแบบชั่ววูบของวัยรุ่นเท่านั้น เดี๋ยวเขาก็จะกลับมา ถ้าพ่อแม่เข้าใจพัฒนาการของลูกก็จะปรับตัวตามพัฒนาการของลูก
ในวัยแรกสุด เราอาจต้องเป็นแม่ที่ปกป้องคุ้มครองลูก เน้นความดูแล ปลอดภัย แต่ทุกๆ วันลูกจะห่างกับเราไปเรื่อยๆ คำถามคือเรายอมรับสภาพแบบนี้ไหม ถ้าเรายอมรับ วันที่เขาเป็นวัยรุ่น เขาไม่ได้ต้องการคนที่มาปกป้องเขา เพียงคนที่มายืนข้างๆ แล้วต้องยื่นห่างๆ พ่อแม่ต้องจับจังหวะตัวเองให้ดี อย่าห่วงเขาแต่เราต้องเชื่อมั่นในตัวเขา
พ่อแม่ครูพยายามหาข้อมูลหรือเครื่องมือเพื่อจะช่วยเรื่องนี้ แต่นโยบายหลักของประเทศกลับไม่ได้ส่งเสริม แล้วสิ่งที่ทำมาจะฟังก์ชั่นได้อย่างไร?
พูดได้ว่า social media เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของพ่อแม่ เท่าที่สังเกต คิดว่าข้อมูลที่ผ่าน social media เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ไม่ค่อยมีอะไรบกพร่อง คนที่ตั้ง Facebook มักเป็นกลุ่ม ‘แม่ช่วยแม่เลี้ยงลูก’ เนื้อหาส่วนใหญ่สนใจเรื่องพัฒนาการที่ดีของลูก
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่อให้พ่อแม่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการและการสร้างบุคลิกภาพของลูกแค่ไหน แต่ถ้าความรู้กระแสหลักของประเทศอย่าง นโยบาย ค่านิยม ไม่สอดคล้อง การพัฒนาศักยภาพของเด็กก็ไม่สามารถไปถึงปลายทางได้
ขออนุญาตโจมตีกระทรวงศึกษา เพราะไม่เคลียร์กับหลักการที่ควรจะเป็น กระทรวงศึกษาต้องเป็นคนชี้ออกมาว่า ‘เวลานี้โลกเขาเรียนรู้เรื่องแบบนี้ เรามาดูแล้ว มาวิเคราะห์แล้วว่าแบบนี้เหมาะกับเด็กไทย ขอเสนอให้พ่อแม่เอามาพิจารณา เสนอให้ครูไปปฏิบัติการ’ แต่นี่มันไม่ใช่ นี่กลายเป็นปล่อยให้พ่อแม่ ครู หาสะเปะสะปะ ไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบบควรจะเป็น
พ่อแม่ต่างแสวงหาความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงลูก ทุกคนหยิบมือถือก็จะรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงมาก มันกระทบต่อตัวเรา เปลี่ยนชีวิตเราไปมากมาย คำถามคือเสาที่มีในสังคมกลับไม่พูดอะไรเลย ไม่เห็นเขาบอก หรือเขาบอกเหมือนกับตอนที่เรายังอยู่มัธยม ตอนนี้อายุสามสิบ สี่สิบปี ยังให้สอนเหมือนเดิม ความสับสนก็มี ความกังวลก็เกิด ถ้าโชคดีก็จะเจอคนที่ดี แต่ถ้าเจอไม่ดีก็เหมือนไปทำร้ายและทำลายสมองลูกโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว