- ความเครียดของเด็กๆ ส่งผลต่อสมองและพัฒนาการของพวกเขาได้
- บุคคลที่ใกล้ชิด เด็กๆ ไว้วางใจคนหนึ่งก็คือ ‘คนขับรถรับส่งนักเรียน’
- ลอริ เดซอเทลส์ นักการศึกษามหาวิทยาลัยบัตเลอร์ จัดอบรมทักษะการสร้างความสัมพันธ์และความรู้ด้านพัฒนาการเด็กให้คนขับรถ เพื่อช่วยคัดกรองเด็กๆ ที่มีภาวะผิดปกติในระดับต้น
‘ครูคือแม่คนที่สอง’ ความเชื่อเช่นนี้เกิดมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กๆ ในวัยที่ต้องเข้าสถานศึกษา พวกเขาใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่ออาทิตย์อยู่กับคุณครูมากหน้าหลายตาที่โรงเรียน เป็นบุคคลที่ผู้ปกครองจะฝากผีฝากไข้ของบุตรและหลานพวกเขาไว้ในความดูแลของเส้นขอบรั้วของโรงเรียนไว้ได้
หากกับ ‘คนขับรถโรงเรียน’ พวกเขาจะถูกนับเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ผู้ปกครองจะฝากความหวังด้านความปลอดภัยของลูกหลานไว้ด้วยหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เขารับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตรง และนี่คือประเด็นที่หนึ่ง
ประเด็นต่อมาที่ ลอริ เดซอเทลส์ (Dr.Lori Desautels) นักการศึกษาและผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยบัตเลอร์ (College of Education Butler University) จุดประเด็นในบทความ ‘Building Students Resilience on the Bus’ หรือ ‘สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจไว้ในรถบัส’ ไว้ที่เว็บไซต์ด้านการศึกษา Edtutopia ว่า
จริงๆ แล้ว คนขับรถบัสนี่แหละ ที่จะสร้าง ‘ความไว้เนื้อเชื้อใจ’ ระหว่างคนขับกับเด็กนักเรียนได้
เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็เพราะเขาจะเป็นผู้ที่เจอเด็กทุกๆ เช้า และพบอีกครั้งในตอนเย็น พบเจอตอนที่พวกเขาอยู่กับเพื่อนและไม่มีกำแพงระหว่าง ‘ครู’ และ ‘ศิษย์’ มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้พวกเขาจะเปิดเผย ‘อารมณ์’ อย่างไม่ปิดบัง ไม่ว่าจะเศร้าซึมหรือถูกรังแก และเดซอเทลส์ยังมองไกลไปถึง คนขับรถจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการในการช่วยคัดกรองเด็กๆ ที่มีภาวะผิดปกติในระดับต้นๆ ได้
“คนขับรถมีโอกาสที่ดีและทรงพลังมากในการจะช่วยดูแลและจัดการกับอารมณ์ของเด็กได้ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายระหว่างเดินทาง และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการสร้างความสัมพันธ์” เดซอเทลส์กล่าว
โปรเจ็คท์ที่เดซอเทลส์ทำเมื่อช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่ผ่านมาคือ เธอและนักศึกษาของเธอสร้างคอร์สอบรมทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ ความรู้เรื่องพัฒนาการอารมณ์ของเด็กๆ ให้กับผู้ขับรถบัสรับส่งนักเรียน ที่เมืองทางเหนือของอินเดียนา และไม่ใช่แค่ทำความเข้าใจ แต่ต้องการสร้างคู่มือสากลหรือแนวทางรับมือบางอย่างในการรับมือกับเด็กๆ ที่อาจมีปัญหาด้านพัฒนาการและอารมณ์ด้วย
โดยเดซอเทลส์ตั้งใจจะดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่อบรมดังกล่าวไปยังอินเดียนาโปลิส ตั้งธงไว้ว่าเดือนพฤศจิกายน 2018 เธอจะจัดอบรมที่โรงเรียนรัฐบาลในเครือวอชิงตัน ทาวน์ชิพ (Washington Township Schools) ทั้ง 4 แห่ง มีนักเรียนในการดูแลทั้งหมด 11,200 คน และคนขับรถบัส 175 ชีวิต
ยังไม่นับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เรื่องกลไกของสมองและร่างกายที่มาจากความเครียดของเด็กๆ วัยพัฒนาการ เช่นงานวิจัยเรื่อง ‘Toxic Stress Response’ หรือ ปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยแจ็ค ชอนคอฟฟ์ (Jack Shonkoff) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเด็ก (Center on the Developing Child) และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประเด็นหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายไว้ก็คือ ข้อเท็จจริงเรื่องกลไกตอบสนองของระบบประสาทและการพัฒนาสมองอันเกิดจากความเครียด
“ข้อสรุปปัจจุบันชัดเจนแล้วว่า ประสบการณ์ความเครียดในแต่ละวัน ส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ภูมิคุ้มกัน และกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกาย” ชอนคอฟฟ์อธิบาย
และคงจะดีไม่น้อย ถ้าคนที่อยู่ในรั้วโรงเรียนและใกล้เคียงทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นครูหน้าห้อง คุณแม่บ้าน คุณป้าคนครัว และอื่นๆ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของเด็กๆ ในประเด็นทางวิชาการเหล่านี้ เพื่อช่วยกันคัดกรองและเข้าใจภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นในยุคสมัยที่งานวิจัยหลายๆ ชิ้นยืนยันตรงกันว่า เจนเนอเรชั่น ME เป็นยุคสมัยที่เด็กๆ อยู่ในภาวะซึมเศร้าและมีปัญหาทางอารมณ์ที่สุด