ทุกวันนี้ หากไปตามห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง เราจะเห็นพ่อๆ แม่ๆ จูงลูกน้อยมา เมื่อพ่อแม่เอ่ยคำถามภาษาไทย เด็กชายหญิงจะตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษ หรือพ่อแม่พูดอังกฤษปนไทย ลูกตอบกลับเป็นไทยชัดถ้อยชัดคำ
โลกเปลี่ยนไปจนการสนทนาแบบสองภาษาของเด็กรุ่นหลังกลายเป็นเรื่องปกติ – ที่หลายๆ ครั้งพูดปนกันก็ยังเข้าใจ แถมเปลี่ยนระบบการสื่อสารไปมาได้คล่องแคล่วไม่มีสะดุด
นอกจากฝึกไหวพริบ ยังมีงานศึกษาแสดงว่าเด็กสองภาษามีความยับยั้งชั่งใจมากกว่าเด็กที่พูดได้เพียง โอนลีวันแลงเกวจ และมากกว่าที่คิด
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) เผยแพร่ผลงานในวารสาร Developmental Science ว่า นอกจากการบริหารความคิดสองภาษา เด็กที่เรียนรู้สองภาษาในช่วงวัย 4 ขวบหรือน้อยกว่านั้น จะมีพัฒนาการด้านการยับยั้งชั่งใจดีกว่าเด็กที่พูดได้เพียงภาษาเดียว ซึ่งการควบคุมความยับยั้งชั่งใจนี้คือความสามารถไตร่ตรอง หยุดพฤติกรรมปัจจุบันทันด่วน หุนหันพลันแล่น ให้มีเวลาคิดตัดสินใจ หาทางแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น
ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างจากเด็ก 1,146 คนที่เริ่มฝึกพัฒนาการด้านการยับยั้งชั่งใจตอนอายุ 4 ขวบ และติดตามต่อเป็นเวลาอีก 18 เดือน โดยเด็กจะถูกแบ่งเป็นสามกลุ่ม หนึ่ง – อังกฤษล้วนๆ สอง – สเปนและอังกฤษ สาม – ภาษาสเปนเท่านั้น
“เมื่อเริ่มทำงาน กลุ่มที่ผ่านการเรียนสองภาษาจะทำคะแนนได้ดีกว่าในการทดสอบการควบคุมยับยั้งชั่งใจเมื่อเทียบกับอีกสองกลุ่ม” ฮิเมนา ซาสติญาน (Jimena Santillán) หัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนและอดีตนักศึกษาด้านจิตวิทยาอธิบาย
กระทั่ง 18 เดือนผ่านไป เด็กทั้งหมดจะถูกทดสอบการตัดสินใจและพฤติกรรมด้วยการเคาะดินสอ โดยเมื่อครูผู้ควบคุมเคาะสองครั้ง เด็กจะเคาะตามสองครั้ง ในทางกลับกัน เมื่อครูเคาะหนึ่งครั้ง ให้เด็กเคาะตามครั้งเดียว เป็นการฝึกการตอบสนอง ยับยั้งแรงกระตุ้น และการเลียนแบบพฤติกรรม
ผลออกมาว่า กลุ่มที่เรียนสองภาษาและกลุ่มที่เริ่มเปลี่ยนจากหนึ่งภาษาเป็นสองภาษามีพัฒนาการทักษะด้านนี้รวดเร็วกว่ากลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว
“การควบคุมตนเองและการตัดสินใจเป็นทักษะสำคัญในการประสบความสำเร็จด้านการเรียน เป็นผลบวกต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต”
อติกา คูรานา (Atika Khurana) ผู้ร่วมเขียนผลงาน ศาสตราจารย์จากหน่วยงานปรึกษาด้านจิตวิทยาและการบริการประชาชน และเป็นนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน กล่าว
“พัฒนาการด้านการควบคุมตนเองจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวัยก่อนอนุบาล”
และเธอย้ำถึงผลงานว่า “งานศึกษานี้แสดงผลทางหนึ่งว่า อิทธิพลด้านสิ่งแวดล้อมสามารถส่งผลต่อพัฒนาการด้านการควบคุมความยับยั้งในเด็กอายุน้อยกว่า”