- Bubble-Wrap Parenting คือ วิธีการเลี้ยงลูกราวกับห่อพลาสติกไว้หนาๆ แบบเดียวกับตอนส่งสิ่งของทางไปรษณีย์เพื่อกันกระทบกระแทก ‘การปกป้องเด็กจนเกินควร’ เช่นนี้อาจส่งผลเสียในมุมกลับคือ ทำให้เด็กคนนั้น ‘เปราะบาง’ มากขึ้น
- เด็กที่ไม่เคยเผชิญความยากลำบากและไม่ต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จะขาด ‘ทักษะการแก้ปัญหา’ และหวังพึ่งพาพ่อแม่อยู่ร่ำไป เข้าทำนองเรื่องเล่า ‘พ่อแม่รังแกฉัน’
- มีวิธีแก้เรื่องนี้หรือไม่? พ่อแม่ต้องทำอย่างไรจึงจะเลิกสปอยล์เด็กๆ จนก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ วิธีแรกคือการบอกตัวเองว่าไม่มีทางที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ ‘สมบูรณ์แบบ’ ที่จะไม่ทำให้เด็กเจ็บปวดทางร่างกายหรือจิตใจได้อย่างสิ้นเชิง
เด็กยุคนี้เกิดมาในครอบครัวเดี่ยวที่อาจมีลูกเพียงคนเดียวหรือแค่ 2 คนเป็นส่วนใหญ่ และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไวมาก พ่อแม่จำนวนมากทีเดียวที่พยายามปกป้องลูกแบบ ‘ไข่ในหิน’ หรือถ้าเป็นสังคมจีนยุคก่อนเปิดประเทศก็เรียกว่าเลี้ยงลูกแบบ ‘ฮ่องเต้น้อย’ (เพราะอยากได้แต่ลูกชาย) คือ ทำให้ทุกอย่าง เอาอกเอาใจมากจนราวกับเป็นฮ่องเต้ ไม่เคยให้ต้องเผชิญความยากลำบาก จนแทบทำอะไรเองแทบไม่เป็น และเอาแต่เรียกร้องสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา
วิธีการเลี้ยงลูกราวกับห่อพลาสติกไว้หนาๆ แบบเดียวกับตอนส่งสิ่งของทางไปรษณีย์เพื่อกันกระทบกระแทก (ในภาษาอังกฤษมีคำเรียกว่าเป็น Bubble-Wrap Parenting) หรือปกป้องราวกับมีครอบแก้วที่มองไม่เห็นครอบไว้ตลอดเวลา ส่งผลอะไรกับบ้างกับเด็กเหล่านี้ และแม้แต่กับตัวพ่อแม่เอง?
ในครอบครัวส่วนใหญ่สมัยนี้ พ่อแม่ต้องช่วยลูกทำการบ้านด้วย ซึ่งหากพ่อแม่บางคนไม่มีความอดทนมากพอ ก็คงอยากทำให้เลยมากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่าการค่อยๆ มานั่งอธิบายว่าต้องทำอย่างไร แต่การทำแบบนี้จะไปขัดขวางพัฒนาการสำคัญหลายอย่างในเด็ก ในทางกลับกัน พ่อแม่หลายคนก็หมดปัญญาจะสอนลูกทำการบ้าน แม้แต่เมื่อลูกเรียนชั้นประถม เพราะห้องเรียนสมัยนี้ใส่เนื้อหาเข้าไปมากเหลือเกิน แม้แต่ตั้งแต่ตอนเด็กยังอายุน้อยมาก
เด็กที่ไม่เคยเผชิญความยากลำบากและไม่ต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จะขาด ‘ทักษะการแก้ปัญหา’ และหวังพึ่งพาพ่อแม่อยู่ร่ำไป
ยังพบอีกด้วยว่าการที่เด็กไม่ต้องเผชิญความเครียดหรือสถานการณ์กดดัน ทำให้เด็กคนนั้นขาดความสามารถในการเผชิญหน้าและจัดการกับแรงกดดันเมื่อโตขึ้น เข้าทำนองเรื่องเล่า ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ ในสมัยก่อนที่พ่อแม่ทำให้ทุกอย่าง แต่เมื่อพ่อแม่จากไป ลูกที่แม้แต่จะมีเงินมรดกมากมายที่พ่อแม่ทิ้งเอาไว้ให้ ก็ยังเอาตัวรอดไม่ได้
นอกจากนี้เด็กคนนั้นยังขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ตามกำหนดเวลาและการตอบสนองผลที่เกิดจากความผิดพลาดของตัวเอง ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องแน่นอนหรือรับประกันได้ บ่อยครั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านการลงมือทำซ้ำๆ หรือต้องล้มเหลวหลายครั้งหลายหนเสียก่อน การเรียนรู้ผ่านการทำการบ้านหรืองานเดี่ยวงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย แต่ทำไม่ถูกต้องและถูกตำหนิ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้และมีประสบการณ์เอาไว้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญ
แต่จะว่าไปก็น่าสงสารพ่อแม่ยุคนี้อยู่เหมือนกันนะครับ เพราะมีจำนวนมากเลยที่รู้สึกถึงความกดดันจากคนรอบๆ ตัวว่า ต้องเลี้ยงดูลูกให้ดี ต้องคอยปกป้อง อย่างน้อยก็ต้องทำให้ได้ไม่แพ้ ‘มาตรฐานง ที่บ้านอื่นๆ ทำกันอยู่ ซึ่งไม่ง่ายเลย ยิ่งหากชุมชนนั้นหรือแวดวงคนรอบตัวตั้งมาตรฐานไว้สูงมากๆ
‘การปกป้องเด็กจนเกินควร’ อาจส่งผลเสียในมุมกลับคือ ทำให้เด็กคนนั้น ‘เปราะบาง’ มากขึ้น และเด็กที่ได้รับการเอาใจและปกป้องจนเกินควร มักจะส่งผลให้ขาดประสบการณ์การรับมือปัญหา จึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะตัดสินใจทำอะไรเสี่ยงๆ มากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะประเมินสถานการณ์อย่างเหมาะสมไม่เป็น [1]
ผลกระทบแบบนี้จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อเด็กคนนั้นกลายเป็นวัยรุ่นหรือเมื่อตัดสินใจแยกออกจากครอบครัวไปใช้ชีวิตคนเดียว โดยมักจะตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่นบ่อยครั้งและทำตัวดื้อดึงเอาแต่ใจมากกว่าคนอื่น ทั้งอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว กรณีหลังอาจคิดว่าก็ทำมาได้ตลอดชีวิตนี่นา
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากของการปกป้องจนเกินเหตุก็คือ การไม่ปล่อยให้ลูกออกไปเล่นคลุกดินเปื้อนทรายกับเพื่อนๆ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่าการที่เด็กๆ ได้ออกไปเล่นตัวเปื้อนเลอะเทอะกลับช่วยลดโอกาสที่เด็กจะเกิดอาการภูมิแพ้สิ่งต่างๆ และแม้แต่การแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune) [2]
อันที่จริงถึงกับมี ‘สมมุติฐานเกลอเก่า (old-friends hypothesis)’ ที่เชื่อว่า ยิ่งในตอนเป็นเด็กน้อยได้เจอกับเชื้อโรคสารพัดมากเท่าใด ร่างกายในยามที่โตขึ้นก็จะเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราได้เจอเชื้อต่างๆ ที่เป็น ‘เพื่อนเก่า’ มาแล้วในอดีต จึงรับมือเมื่อต้องเจอเชื้อคล้ายๆ กันอีกได้ดีขึ้นนั่นเอง [3]
ข้อเท็จจริงสองเรื่องที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้ก็คือ เด็กที่เกิดโดยการผ่าคลอดมีแนวโน้มจะเกิดเป็นโรคภูมิแพ้อาหารได้ง่ายกว่า เพราะไม่ได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งเชื้อต่างๆ ในช่องคลอดของมารดาขณะคลอด [4] สอดคล้องกับการที่พบว่าเด็กที่เติบโตในฟาร์มเป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดน้อยกว่าเด็กในเมือง เพราะอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้สัมผัสทั้งสัตว์และพืชมากกว่า [5]
สภาวะสะอาดหมดจดเหมือนที่โฆษณาตามสื่อต่างๆ ว่า สารที่ใช้เช็ดถูพื้นในบ้านฆ่าเชื้อได้ดีมากระดับกว่า 99% จึงกลับอาจจะไม่ดีกับสุขภาพของเด็กๆ เท่าไหร่ เพราะทำให้ภูมิไม่เกิดขึ้นหรือไม่ก็หดหาย!
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังเช่นกันว่าดินหรือทรายที่เด็กๆ ไปเล่นนั้นควรจะปลอดจากสิ่งต่างๆ ที่เป็นอันตราย สารพิษต่างๆ รวมไปถึงเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสัมผัส การกิน หรือแม้แต่การหายใจด้วย
งานวิจัยทำให้รู้ว่าเด็กๆ จำนวนมากเลย (60%) ที่แสดงลักษณะนิสัยเป็นคนขี้วิตกกังวล ต่างก็มีพ่อแม่ที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้เช่นกัน เรียกว่าพ่อแม่ขี้กังวลจนติดไปถึงลูกก็คงไม่ผิดนัก นักจิตวิทยาบางคนถึงกับมองว่าลักษณะนิสัยแบบนี้ คือสูตรสำเร็จแบบหนึ่งของความล้มเหลวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ทีเดียว [1]
ปัญหาที่เป็นไปได้อีกแบบหนึ่งสำหรับนิสัยห่วงลูกเกินกว่าความจำเป็นของพ่อแม่บางคนก็คือ จะทำให้เด็กเกิดความคิดหรือความรู้สึกว่า การควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัวทุกสิ่งอย่างเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ พวกเขาจึงควรทำตัวให้ ‘สมบูรณ์แบบ’ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็ต้องสมบูรณ์แบบด้วย ซึ่งที่ว่ามานี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติมากและเป็นไปไม่ได้เลย
ผลลัพธ์คือมุมมองแบบนี้จะค่อยๆ หล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมกับนิสัยอยากทำตัว ‘สมบูรณ์แบบ’ อยู่ตลอดเวลา และอยากควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอเพื่อให้สบายใจ นิสัยแบบนี้อาจส่งผลเสียร้ายแรงได้คือ ทำให้พวกเขาเต็มไปด้วยความกังวลใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ บอกตัวเองเสมอว่าตัวเองยังดีไม่พอ หรือไม่ก็มีนิสัยชอบจับผิดคนรอบตัวทั้งเพื่อนและคู่รัก ว่ามีข้อบกพร่องอะไรอยู่บ้าง
ลักษณะเช่นนี้ย่อมกั้นขวางมิให้เกิดความสุขสงบในจิตใจได้โดยง่าย
มีวิธีแก้เรื่องนี้หรือไม่? พ่อแม่ต้องทำอย่างไรจึงจะเลิกสปอยล์เด็กๆ จนก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ
ข้อมูลจากนิตยสาร Psychology Now ฉบับที่ 7 ปี 2023 ระบุว่า มีแนวทางที่ใช้เป็นไกด์ไลน์ช่วยแก้ไขพฤติกรรมแบบนี้ของพ่อแม่ได้อยู่ 5 แบบดังนี้
วิธีแรกคือการบอกตัวเองว่าไม่มีทางที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ ‘สมบูรณ์แบบ’ ที่จะไม่ทำให้เด็กเจ็บปวดทางร่างกายหรือจิตใจได้อย่างสิ้นเชิง ความคิดทำนองนี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติมาก
ประสบการณ์ความเจ็บปวดและผิดหวังนี่เอง ที่จะสร้างอุปนิสัยการปรับตัวและแก้ไขตัวเองของเด็ก ทำให้กลายไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้คิดและฉลาดรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตต่อไป
ข้อต่อไปก็สอดคล้องกัน นั่นคือการเปิดให้มีช่องว่างเพื่อให้เด็กมีโอกาสคิดเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์กับปัญหาที่พบด้วยตัวเอง ไม่ทำตัวเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ หรือ ‘คุณแม่รู้ดี’ ที่มีคำตอบทุกอย่างในชีวิตและถูกต้องเสมอ (ทั้งๆ ที่บางอย่างก็ไม่ถูกต้องจริงๆ สักเท่าไหร่)
เมื่อเด็กเริ่มคิดและหาคำตอบ แม้ว่าอาจจะผิดๆ ถูกๆ แต่การเรียนรู้จากผลลัพธ์ของการกระทำตัวเองก็ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางความคิดและพร้อมเผชิญหน้าหรือรับมือกับปัญหาต่างๆ ในอนาคตมากขึ้น
ถือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องให้กำลังใจเวลาเกิดความผิดพลาดในการเลือกขึ้น การบอกเล่าประสบการณ์การเลือกผิดของตัวพ่อแม่เอง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้และสมควรทำด้วยเช่นกัน
ข้อต่อไปที่สอดคล้องกันก็คือ คุณต้องมีปฏิกิริยาที่ถูกต้องเวลาเด็กๆ ทำอะไรผิดพลาด คุณไม่ควรทำตัวปกป้องพวกเขาอยู่ตลอดเวลาหรือมากจนเกินเหตุ การเปิดโอกาสให้เด็กๆ ต้องเผชิญความยากลำบาก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากความผิดพลาดของตัวเองอยู่เรื่อยๆ จะทำให้พวกเขาแกร่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยให้เด็กๆ มองเรื่องความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมชาติมากขึ้น จึงเข้มแข็งและทำตัว ‘เปราะบาง’ ลดลง
การมอบหมายภาระหน้าที่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเช็ดถูปัดกวาดบ้าน การซักผ้า หรือการล้างจาน ฯลฯ ก็มีความสำคัญ ถือเป็นการสอนเรื่องความรับผิดชอบที่สำคัญ ที่เริ่มจากเรื่องเล็กน้อยใกล้ตัว และเป็นการกล่อมเกลาให้เกิดอุปนิสัยมีวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งจำเป็นกับความสำเร็จในชีวิตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
เคล็ดลับข้อสุดท้ายได้แก่ การพยายามเปลี่ยนความกังวลใจให้อยู่ในรูปคำแนะนำ แทนที่จะต้องส่งเสียงหรือตะโกนด้วยความเป็นห่วง เช่น อย่าวิ่ง ระวังรถ! ก็ให้สอนว่าทางด้านนั้นอาจจะมีรถวิ่งมาได้ตลอด ให้ระวังตัวด้วย เล่นทางฝั่งนี้จะปลอดภัยกว่า ฯลฯ ให้เด็กเรียนรู้จากการรับฟัง และแสดงความเชื่อใจว่า ผู้ใหญ่เชื่อว่าเด็กรับฟัง เข้าใจ และทำตามคำแนะนำของตัวเองได้
วิธีการปกป้องเด็กๆ ที่ดีที่สุดในทุกยุคทุกสมัยได้แก่ การทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ ไม่ทำตัวแบบพูดอย่างทำอย่างจนเด็กๆ สับสนนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
[1] Are We Bubble-Wrapping Our Kids? Psychology Now (2023) Vol. 7, pp. 72-75
[2] https://www.livescience.com/health/allergies/is-playing-in-the-dirt-good-for-kids-immune-systems
[3] Front Allergy. 2023 Sep 12:4:1220481. doi: 10.3389/falgy.2023.1220481.
[4] Front Pediatr. 2023 Jan 17:10:1044954. doi: 10.3389/fped.2022.1044954.
[5] https://www.wpr.org/health/study-investigate-why-farm-children-are-less-likely-have-allergies-asthma