- ‘Brain Rot’ หรือ ภาวะ ‘สมองเน่า’ เป็นภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญาจากการดูคอนเทนต์คุณภาพต่ำบนโลกออนไลน์ เพราะไม่ได้ส่งเสริมกระบวนคิด การใช้เหตุผล หรือสร้างประโยชน์อื่นใดให้กับผู้ดู แม้จะช่วยผ่อนคลายได้ชั่วคราว แต่ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติด
- การใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์แบบยืดเยื้อยังทำให้เด็กรับรู้ข้อมูลที่มากเกินไปสำหรับวัยของตัวเอง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้
- วิธีแก้ไขคือ ‘ลดการใช้หน้าจอ’ โดย Eli Harwood ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก แนะนำว่าควรให้ลูกมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองช้าที่สุด หรือจนกว่าจะอายุ 16 ปี เพราะการเติบโตส่วนใหญ่ของเด็กเกิดขึ้นในโลกจริง ไม่ใช่โลกออนไลน์
โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยคอนเทนต์จำนวนมากที่สร้างจากผู้ใช้ คอนเทนต์เหล่านี้มีทั้งที่มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง แต่บ่อยครั้งเราก็มักพบกับคอนเทนต์คุณภาพต่ำที่หาสาระไม่ได้เสียมากกว่า การดูคอนเทนต์ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเสื่อมถอยทางความคิดหรือสติปัญญา เนื่องจากคอนเทนต์เหล่านี้ไม่ได้เพิ่มพูนความรู้ หรือส่งเสริมกระบวนคิด การใช้เหตุผล หรือสร้างประโยชน์อื่นใดให้กับผู้ดู แม้ว่ามันจะช่วยผ่อนคลายได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติดได้
ภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญาจากการดูคอนเทนต์คุณภาพต่ำเหล่านี้เรียกว่า ‘Brain Rot’ หรือ ‘สมองเน่า’ ซึ่งเป็นสแลงบนอินเทอร์เน็ตที่ใช้อย่างแพร่หลายจนพจนานุกรม Oxford ยกให้เป็นคำประจำปี 2024
‘Brain Rot’ หรือ ภาวะ ‘สมองเน่า’ คืออะไร?
Oxford ได้ให้ความหมายของ ‘Brain Rot’ ว่าเป็น “การเสื่อมถอยของสภาพจิตใจหรือสติปัญญาของบุคคล ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคเนื้อหา (โดยเฉพาะเนื้อหาออนไลน์ในปัจจุบัน) ที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่ประเทืองปัญญามากเกินไป อีกทั้งยังหมายถึงสิ่งที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การเสื่อมถอยนี้ด้วย”
คำว่า Brain Rot ปรากฏการใช้ครั้งแรกในปี 1854 แต่เริ่มนำมาใช้เป็นสแลงบนอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา โดยใช้ในเชิงตลกขบขันอธิบายถึงคนที่ดูเหมือนมีภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญา (เช่น ใช้คำศัพท์แปลกๆ หรือทำท่าทางประหลาดๆ) จากการเสพคอนเทนต์คุณภาพต่ำมากเกินไป ไปจนถึงใช้อธิบายคอนเทนต์คุณภาพต่ำเหล่านั้นว่า Brain Rot ได้เช่นกัน
ตัวอย่างคอนเทนต์ที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่เรียกว่า Brain Rot คือ ‘Skibidi Toilet’ เป็นภาพที่มีตัวละครหน้าตาพิลึกโผล่หัวออกมาจากโถส้วม ซึ่งหาสาระใดๆ ไม่ได้นอกจากความประหลาด
เมื่อคอนเทนต์ตลกๆ บนอินเทอร์เน็ตเริ่มตลกไม่ออก
ในปัจจุบันคำว่า Brain Rot ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดบนโซเชียลมีเดีย โดย Oxford รายงานว่ามีการใช้คำว่า Brain Rot เพิ่มขึ้นถึง 230% ระหว่างปี 2023 ถึงปี 2024 อีกทั้งคำนี้ยังเป็นกระแสในหมู่ Gen Z และ Gen Alpha หรือแม้กระทั่งสื่อกระแสหลักอย่าง The New York Times ก็ให้ความสนใจในคำนี้เช่นกัน
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของคำว่า Brain Rot นี้เองทำให้หลายคนอดกังวลไม่ได้ว่าคอนเทนต์คุณภาพต่ำบนโลกออนไลน์มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของการเสพคอนเทนต์เหล่านี้ที่มากเกินไป
จากการสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่นจำนวนหนึ่งโดย Dr. Christian Jarrett นักประสาทวิทยาศาสตร์การรู้คิด พบว่า มีเด็กวัยรุ่นที่ใช้การดูคอนเทนต์ Brain Rot เพื่อการผ่อนคลาย เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ต้องคิดเยอะและเน้นความตลก หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็น ‘คอนเทนต์โง่ๆ’ (Dumb Content) อย่างหนึ่ง
Dr. Jarrett เห็นว่าวัยรุ่นมีเรื่องเครียดอยู่หลายอย่าง เช่น เกรด การสอบ การเข้ามหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งข่าวเครียดๆ ในโซเชียลมีเดียที่ได้แต่รับรู้แต่ทำอะไรกับมันไม่ได้ เช่น ภาวะโลกร้อน สงคราม ภัยพิบัติ จึงวิเคราะห์ว่า คอนเทนต์ Brain Rot เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการคลายเครียด เป็นเหมือนการปิดสวิตช์สมองไปสักพักหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การใช้คอนเทนต์ Brain Rot เป็นเครื่องมือในการคลายเครียดที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่การเสพติดหน้าจอได้ โดยจากข่าว Brain Rot ใน The New York Times เองเผยให้เห็นว่า แม้แต่เด็กที่เรียนเก่งจนถึงขั้นสอบติดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็มีปัญหาด้านการควบคุมเวลาในการใช้หน้าจอ เช่น ผัดวันประกันพรุ่งในการทำการบ้านหรือเข้านอนดึก เพราะมัวแต่เลื่อน TikTok
สมองของคนที่เสพติดหน้าจอมีความคล้ายคลึงกับสมองของคนที่ติดยาเสพติด โดยทั้ง 2 สิ่งนี้ล้วนกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีน ทำให้ผู้ใช้เกิดความสุขและอยากทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก แต่เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ผู้ใช้จะเกิดความชินชาต่อโดปามีน ทำไมต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้มีความสุขเหมือนในตอนแรก
การใช้หน้าจอจนถึงขั้นเสพติดคือการที่เราสามารถไถหน้าจอไปเรื่อยๆ เป็นชั่วโมงๆ ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหนแล้วจนละเลยโลกความจริง อีกทั้งยังมีอาการปวดตา ปวดหัว หรือมีท่าทางที่แย่จากการนั่งอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
วิธีแก้ไขคือ ‘ลดการใช้หน้าจอ’ ยิ่งลดการเข้าถึงหน้าจอ ยิ่งลดการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์แบบยืดเยื้อ (Chronically Online) ได้มากขึ้น โดย Eli Harwood ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก แนะนำว่าควรให้ลูกมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองช้าที่สุด หรือจนกว่าจะอายุ 16 ปี เพราะการเติบโตส่วนใหญ่ของเด็กเกิดขึ้นในโลกจริง ไม่ใช่โลกออนไลน์
Harwood กล่าวว่าจุดประสงค์ของชีวิตวัยรุ่นคือการเรียนรู้สมรรถนะทางอารมณ์และสังคมผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน ซึ่งต้องใช้การมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว หน้าจอไม่สามารถแทนที่ประสบการณ์เหล่านี้ได้ อีกทั้งการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์แบบยืดเยื้อยังทำให้เด็กรับรู้ข้อมูลที่มากเกินไปสำหรับวัยของตัวเอง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้
การกำหนดเวลาและขอบเขตในการใช้โทรศัพท์ก็สำคัญ โดยกุมารแพทย์ Dr. Joel Warsh แนะนำให้พ่อแม่กำหนดเวลาการใช้หน้าจออย่างชัดเจนโดยไม่รบกวนกิจกรรมอื่นๆ เช่น โรงเรียน การบ้าน หรือการนอน อีกทั้งยังควรกำหนดเวลาปลอดหน้าจอ เช่น เวลากินข้าว เพื่อจะได้ใช้เวลาเหล่านี้พูดคุยกับลูกๆ นำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาด้านสุขภาพ Dr. Julia Kogan กล่าวว่า การใช้เวลาบนโลกออนไลน์เพื่อหันเหความสนใจออกจากความเครียด ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะการหันเหความสนใจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ เพียงแต่เราเลือกที่จะไม่สนใจ ทำให้อาการทางจิตใจต่างๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
นพ.ธนีย์ ธนียวัน หรือ ดร.แทนนี่ กล่าวว่า เมื่อเราเครียด เรามักขวนขวายหาสิ่งที่ทำให้สาร ‘โดปามีน’ หลั่ง เช่น การกินของอร่อย การชอปปิง ฯลฯ แต่โดปามีนเป็นสารที่ให้ความสุขแบบชั่วคราวผ่านสิ่งของภายนอก เมื่อเวลาผ่านไปความสุขนั้นก็จะหายไป เราจึงหวนกลับไปหาสิ่งที่ทำให้สารโดปามีนหลั่งอีก กลายเป็นวงจร ‘การเสพติด’ (Addiction)
ส่วนสารที่ให้ความสุขในระยะยาวคือ ‘เซโรโทนิน’ ดร.แทนนี่เปรียบเซโรโทนินว่าเป็นเหมือน ‘ความสุขทางใจ’ ไม่สามารถกระตุ้นให้หลั่งได้โดยใช้สิ่งของภายนอก สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเครียดน้อยลงคือ วิธีคิดและการมองโลก การเปลี่ยนแปลงความคิดหรือการมองโลกในแง่บวกมากขึ้นทำให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินออกมากเอง ทำให้เราเครียดน้อยลง
ดร.แทนนี่เสริมอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สาร ‘เซโรโทนิน’ หลั่งคือการทำเพื่อคนอื่น เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ ถ้ากล่าวในทางปรัชญาก็คือ
การหาความสุขเข้าหาตัวเองจะเป็นความสุขแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ยิ่งขวนขวายยิ่งไม่ได้อะไร แต่การมอบความสุขให้กับคนอื่นทำให้รู้สึกอิ่มเอิบใจ เป็นความสุขระยะยาวที่ไม่ต้องขวนขวายให้ยากเย็น
การหันเหความสนใจออกจากความเครียดด้วยการแสวงหาสิ่งที่ทำให้ ‘โดปามีน’ หลั่ง เช่น การใช้หน้าจอ เป็นเพียงวิธีการชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อความสุขหายไปเราก็กลับมาเครียดอีก วิธีการที่ยั่งยืนคือการทำให้ ‘เซโรโทนิน’ หลั่งผ่านการเปลี่ยนแปลงความคิดและการมองโลก รวมถึงการทำเพื่อคนอื่นด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
ธนีย์ ธนียวัน. (2023). Dopamine vs Serotonin — การเสพติด vs ความสุข.
Christian Jarrett. (2024). Why teenagers are deliberately seeking brain rot on TikTok.
Jessica Roy. (2024). If You Know What ‘Brainrot’ Means, You Might Already Have It.
Katharine Chan, & Sabrina Romanoff. (2024). Is Social Media Giving You Brainrot?
Mateus Lima. (2024). What’s The ‘Brain Rot’ Meme About? The Internet Slang Term For The ‘Chronically Online’ And Its Memes Explained.
Oxford University Press. (2024). ‘Brain rot’ named Oxford Word of the Year 2024.