- ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง โรงเรียนบ้านหนองกุลา ขับเคลื่อนการเปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และเอาจริงเอาจัง โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษา และ PLC ยกระดับคุณภาพชั้นเรียนและโรงเรียน เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง นั่นคือ เปลี่ยน ‘เด็กด้อยโอกาส’ เป็น ‘เด็กได้โอกาส’
- “ครูใช้จิตวิญญาณเชิงบวก และจัดกิจกรรมจิตศึกษา เช้า กลางวัน เย็น เปลี่ยนตรงจุดคานงัด การเปลี่ยนแปลงนั้นคือแบบแผนวัฒนธรรมองค์กร”
- ผลลัพธ์ คือ เด็กมีสุขภาวะทางกายใจที่ดี มีทักษะสำคัญ 3 อย่าง คือ วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ทั้งครูและผู้บริหารมีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างชัดเจน และชุมชนเองก็มีความเข้มแข็ง
‘Big Change for Bigger Child’ คือคติพจน์ของ โรงเรียนบ้านหนองกุลา จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่มี ดร.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง เป็นผู้อำนวยการ
“ที่นี่อยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดพิษณุโลกราวๆ 50 กิโลเมตร ประชากรและชุมชนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ก็จะมีฐานะยากจน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป” ดร.วรรณรักษ์ เล่าถึงบริบทโรงเรียน บนเวทีการจัดการความรู้ School Zero Dropout ภาคเหนือ ‘พลังความร่วมมือ’ การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ณ จังหวัดพิษณุโลก
โรงเรียนบ้านหนองกุลา มีนักเรียนประมาณ 500 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ในปี 2562 ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQM รุ่นที่ 1 โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษา และ PLC ยกระดับคุณภาพชั้นเรียนและโรงเรียน เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง นั่นคือ เปลี่ยน ‘เด็กด้อยโอกาส’ เป็น ‘เด็กได้โอกาส’
“เราเริ่มร่วมมือกับครูและกรรมการสถานศึกษา ทำอย่างไรที่จะมีรูปแบบการบริหารที่ยั่งยืน ก็เลยคลี่แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในระยะยาว 20 ปี เป็นแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs ขององค์การสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าโมเดลของเราเป็นโมเดลขนาดใหญ่ แต่เรามีองค์ประกอบอยู่แค่ 3 เรื่อง คือ Input Process และ Output เรามีการประเมินเพื่อพัฒนาโดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA แล้วเติมด้วยกลยุทธ์ DE-Developmental Evaluation มีการปรับพัฒนาโครงการ แล้วก็ผลลัพธ์ด้านผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา”
ดร.วรรณรักษ์ กล่าวว่า เริ่มต้นคือการสร้าง Input ทั้งปณิธาน อุดมการณ์ เป้าหมาย ต้องระบุชัดไว้ในวิสัยทัศน์ของโรงเรียน กำหนดเป้าหมาย พร้อมทั้งหาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของโรงเรียน เขียนแผนพัฒนาคุณภาพที่เน้นระบบประกันคุณภาพภายในเป็นฐาน จุดสำคัญอยู่ที่ Process หรือกระบวนการพัฒนา โดยโรงเรียนบ้านหนองกุลาใช้นวัตกรรม ‘จิตศึกษา’ เข้ามาปรับเปลี่ยน
“เราพัฒนาครูด้วยกระบวนการ PLC ที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ทั้ง PLC ออนไลน์และออนไซต์ แต่ส่วนใหญ่ก็จะออนไซต์ อันนี้เป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก ไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องรองบประมาณ ไม่ต้องรอนโยบาย เราทำในระดับพื้นที่ ในห้องเรียน ในโรงเรียนของเราได้ตลอดเวลา ขับเคลื่อนพัฒนาครูโดยใช้จิตศึกษา PLC เพื่อเปลี่ยนระบบนิเวศของโรงเรียน ทำให้เป็นสนามพลังบวก ครูใช้จิตวิญญาณเชิงบวก และจัดกิจกรรมจิตศึกษา เช้า กลางวัน เย็น เปลี่ยนตรงจุดคานงัด การเปลี่ยนแปลงนั้นคือแบบแผนวัฒนธรรมองค์กร
ตารางเรียนเราปรับใหม่ ช่วงเช้าเรียนวิชาหลัก 4 วิชา และช่วงบ่ายก็เป็นวิชา PLC เติมด้วยชุมนุมสร้างเสริมปัญญา ห้องเรียน 2 ภาษา อันนี้คือมุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานสากล เติมวิทย์คณิต เติมห้องเรียนวิชาชีพ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้พลัง เรามี Motto ของโรงเรียน Big Change for Bigger Child เพื่อเติมกำลังใจให้ทีมครูที่ต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่แล้วทำเพื่อเด็ก”
สุดท้ายก็จะได้ Output ที่ฉายออกมาในภาพของเด็กที่มีสุขภาวะทางกายใจที่ดี โดยทักษะ 3 อย่าง คือ วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ครูและผู้บริหารทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ มีความเป็นมืออาชีพ มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างชัดเจน ส่วนชุมชนก็มีความเข้มแข็ง เพราะได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการเป็นเครือข่ายร่วมพัฒนา จนที่สุด โรงเรียนบ้านหนองกุลา ก็มีโอกาสได้รับรางวัลระดับชาติ นั่นคือรางวัลโรงเรียนพระราชทาน รางวัล IQA Award ระดับยอดเยี่ยม ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ). และรางวัลโรงเรียนมาตรฐานสากล
“แต่สิ่งที่เราภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือ เราสามารถยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่ได้โอกาส ด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของเราอย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง
เรามีเคสเด็กที่เกือบจะหลุดออกจากการศึกษาแล้วกลับเข้ามาได้ ในวันปัจฉิมนิเทศ เขาบอกว่า ผอ.รอดูนะครับ เดี๋ยวอีกสิบปีข้างหน้าผมจะมามีชื่ออยู่ในศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนให้ได้”
นี่คือตัวอย่างเด็กที่หล่นหายไปจากโรงเรียนแล้ว 1-2 ปี แต่โรงเรียนช่วยกันตามกลับมา จนเด็กสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตนเองและคณะครูได้ภาคภูมิใจ
“เคสที่พีคที่สุดคือพี่เติ้ล พี่เติ้ลเป็นเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่จบการศึกษาชั้น ป.6 ที่โรงเรียนบ้านหนองกุลา อาชีพรับจ้างก่อสร้าง บางครั้งพ่อแม่ก็จะทิ้งพี่เติ้ลไว้กับตายาย เพราะว่าไปรับจ้างก่อสร้างอยู่ไซด์งาน พี่เติ้ลได้รับการเรียนในห้องเรียนประสิทธิภาพสูง ครูที่ใช้จิตวิทยาเชิงบวก มีจิตศึกษาให้เครื่องมือสืบค้นต่อยอด จากเด็กที่เข้าชุมนุมดนตรีไทย ตีกรับ ตีฉิ่ง ตอน ป.2 พัฒนาตัวเองต่อยอด ศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ เป็นนักเรียนรู้ที่เห็นชัดเจนมากๆ
จนกระทั่งชั้น ม.2 เขามีความชัดเจนในเรื่องของการสืบสานวัฒนธรรมไทย เป็นผู้นำ มีคำว่า ‘ผู้นำ’ และมี ‘จิตอาสา’ เราก็ส่งต้นสังกัดเรื่องส่งเสริมให้นักเรียนเราเข้ารับรางวัลพระราชทานระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น และพี่เติ้ลก็ได้จริงๆ นี่คือตอน ม.2 หลังจบ ม.2 เราก็ส่งเสริมต่อ เพราะว่าพี่เติ้ลสนใจจะเข้าโควต้าวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย เราก็เลยขอทุน มมส.ขอทุนพระราชทาน และเขตส่วนราชการที่ 17 ประกาศมาแล้วว่า ได้จริงๆ นี่ก็คือความภาคภูมิใจ เขามีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาตรี”
ภาพโรงเรียนชนบทด้อยโอกาส ถูกกลบทับด้วยรอยยิ้มของเด็กๆ และความสำเร็จในทุกๆ ด้านของโรงเรียน เด็กเก่ง ดี มีความสุข โรงเรียนก็มีความเข้มแข็ง นี่คือภาพของการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ปล่อยให้ใครไว้ข้างหลัง “เราทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อของขวัญ เพราะว่าเด็กเป็นของขวัญ งานครูของเราจึงศักดิ์สิทธิ์” ผอ.วรรณรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม