- การศึกษาต้องไม่ใช่ของราชการ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมโดยประชาชนในพื้นที่
- character สอนได้จากการทำให้เด็กรู้จักว่า success กับ failure มันเป็นยังไง ให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์ discipline (วินัย) ให้เด็กรู้จักแพ้รู้จักชนะ ทุกอย่างเรียนโดย example
- การเผชิญหน้าของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เรื่องอายุ แต่เป็นเรื่องคนกลุ่มหนึ่งตามทันกับเหตุการณ์ของโลก ตามทันกับความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิธีคิดได้หรือไม่ และเมื่อตามทันแล้ว ฟังเป็นหรือไม่
- นี่คือส่วนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ “เด็กเยาวชนไทย…ศักยภาพประเทศไทย” โดย นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย ในงาน TEP Forum 2019 ‘ภาพใหม่การศึกษาไทย เพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย’
ปาฐกถาพิเศษ ‘เด็กเยาวชนไทย…ศักยภาพประเทศไทย’
โดย นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย
ผมมาวันนี้ผมตั้งใจมาเรียนรู้และผมก็ไม่ผิดหวัง ทุกท่านที่มา พูดถึงข้อเสนอแต่ละประการ ผมว่าเป็นแผนที่ดีที่สุดในเมืองไทยทุกคนพูดแบบมี passion ทุกคนพูด constructive ทุกคนพูดโดยมี commitment และทุกคนพูดว่าต้องเป็นการทำงานร่วมกันและต้องเป็นทีม
ผมมาพูดวันนี้กับผู้ที่รอบรู้เรื่องการศึกษา เรื่องการบริหาร การสอน การทำหลักสูตร ฯลฯ แต่ผมไม่มีคุณวุฒิที่จะมาพูดในวันนี้ มีคุณวุฒิอย่างเดียวที่ผมสามารถบอกได้คือ 1. แม้ผมจะเรียนพอประมาณ ทำได้ดีพอประมาณ พอได้ดีกรีมาแต่คุณวุฒิที่ผมได้ก็คือผมเกิดมามีคุณพ่อเป็นครูใหญ่ ผมเกิดที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คุณพ่อผม-ในหลวงรัชกาลที่ 6 ส่งให้ไปเรียนเป็นนักเรียนทุนที่เรียกว่า King’s Scholar เมืองไทยมี 2 คน คือ นายเสริญ ปันยารชุน ซึ่งตอนท้ายมาเป็นพระยาปรีชานุสาสน์ คนที่สองจำชื่อจริงท่านไม่ได้แล้ว ซึ่งต่อมาเป็นพระยาภะรตราชา ต่อมาทั้งสองท่านเป็นผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทั้งสองคน
ไปเรียน public school ในอังกฤษพ่อผมไปเรียนที่ Shrewsbury School ท่านเจ้าคุณพระยาภะรตราชาไปเรียนที่ Oundle มีอาจารย์ใหญ่ที่มีชื่อเสียง เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งคู่
เนื่องจากเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เจ้านาย พอเรียนจบแล้วทั้งสองท่านก็ไปอยู่โรงเรียนที่ภาษาอังกฤษเรียก Provincial หรือ Red Brick University ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นมาใหม่ มหาวิทยาลัยอื่นเขาเกิดมา 800 ปี 900 ปี สร้างด้วยหินดีๆ แต่มหาวิทยาลัยใหม่นี้เกิดด้วย ‘หินแดง’ (red brick)
คุณพ่อผมเรียนดีมาก พอจบปี 2 มหาวิทยาลัยต้องเรียน 3 ปี ในหลวงท่านทรงเรียกกลับ ผมเองก็เพิ่งมาพบกับข้อเท็จจริงนี้เมื่อ 20-30 ปีนี้เอง เพราะคุณพ่อไม่เคยเล่าให้ผมฟังอย่างจริงจัง ปรากฏว่าคุณพ่อผมไม่จบมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เพราะเรียนได้ 2 ปีก็ถูกเรียกกลับ เมื่อกลับมาแล้วในหลวงท่านบอกว่า
“ที่ฉันส่งนายเสริญไป ไม่ได้ส่งให้ไปเอาปริญญา ฉันส่งแกไปเรียนรู้ระบบ public school ในอังกฤษเพื่อกลับมาตั้งโรงเรียนในเมืองไทยในระบอบของอังกฤษ”
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ผมเรียนรู้จากข้อเท็จจริงนี้ก็คือว่า
1. เมืองไทยเรายังต้องการคนอีกหลายคนเป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ คนในจำนวน 67 ล้านคนที่ทำงานในภาษา business เรียกว่า result oriented
2. รัชกาลที่ 6 ท่านทรงรู้เลยว่าปริญญาบัตรไม่มีความหมายเท่าใด
“ผมจบจากโรงเรียนมัธยมที่อังกฤษ ไม่ชอบสักวิชาเลยก็ต้องไปเรียนวิชาที่ไม่เคยเรียนมาก่อน จึงสมัครเรียนทางด้านนิติศาสตร์กับทางด้านเศรษฐศาสตร์ เรียนจบแล้ว 3 ปีก็ไม่ชอบและไม่สนใจ แต่ชอบชีวิตมหาวิทยาลัยไหม? เรียนรู้อะไรได้มากไหม? เรียนรู้ได้มาก แล้วสิ่งที่เราได้มาจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่ปริญญาบัตรอย่างเดียว เด็กรุ่นใหม่ต้องการปริญญาบัตร บริษัทการค้าต่างๆ ที่ผมเคยทำงานมา บริษัทอุตสาหกรรมก็อยากจะรับพวกที่จบวิทยาลัยเทคนิคมากกว่าจบจากมหาวิทยาลัย นอกจากอุตสาหกรรมหนักนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พวกนี้ต้องแต่งตัว ต้องผูกเนคไทใส่สูท นั่งห้องแอร์ ไม่ชอบไปเดินที่ที่เราเรียก Factory Floor”
เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่ผมเรียนรู้มาแล้ว ผมก็รู้ว่าโรงเรียนที่อังกฤษที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รองประธานคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย พูดว่าทำไม public school ถึงมีชื่อเสียงเด่น เพราะ public school ตั้งขึ้นมาเพื่อสอน character ให้เด็ก แล้ว character มันไม่ได้สอนเป็นหลักสูตรที่เข้าห้องเรียนหนึ่งชั่วโมงแล้วให้อ่านหนังสือ หรือมี text book ไม่ใช่นะ
character สอนได้จากการทำให้เด็กรู้จักว่า success กับ failure มันเป็นยังไง ให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์ discipline (วินัย) ให้เด็กรู้จักแพ้รู้จักชนะ ทุกอย่างเรียนโดย example
“คุณพ่อผมไม่เคยสอนและไม่ค่อยอบรม แต่คุณพ่อผมมีวิธีที่จะพูดกับลูกให้รู้ว่าประเด็นปัญหาอยู่ที่ไหน และการคุยกับลูกเหมือนกับที่ครูควรจะคุยกับนักเรียนก็คือไม่ใช่ว่า ‘อะไรผิด’ ‘อะไรถูก’ คุณตั้งโจทย์มามันก็ต้องมีผิดมีถูก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างในโลกนี้เป็นเรื่องของ ‘ผิด–ถูก’ ความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องผิดและก็ไม่ใช่เรื่องถูก ความล้มเหลวก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่สำคัญก็คือถ้ามันไม่สำเร็จแล้วคนคนนั้นที่ล้มไปจะสามารถยืนหยัดขึ้นมาแล้วเดินต่อไปได้ไหม อันนั้นแหละเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
วันนี้ผมมาเรียนรู้มาก จะเป็นวันหนึ่งที่ผมมีความหวังมากขึ้น คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รู้จักผมดีมา 30-40 ปี ผมยืนยันอยู่เสมอว่าในยามที่แวดวงการเมืองมันมืดมน ในสังคมที่มีความแตกร้าวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผมก็มีความหวังอยู่เรื่อย ความหวังของผมนั้นอยู่บนรากฐาน 2 ประการ
ประการแรก คือ ความก้าวร้าวของเมืองไทยหรือความแตกแยก มันไม่เข้มข้น ไม่ดุเดือด ไม่ลึกซึ้งเหมือนกับความแตกร้าวหรือความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในต่างประเทศ ไม่มีความแตกร้าวใดจะรุนแรงไปกว่าความแตกร้าวอันเนื่องมาจากเหตุผลทางศาสนา ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะมีความแตกร้าว ที่มีอิทธิพลกับสังคมมากไปกว่าความแตกร้าวในเรื่องของเชื้อชาติหรือในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เมืองไทยโชคดี คนไทยไม่คลั่งอุดมการณ์ทางการเมือง แล้วไม่ค่อยมีหลักการด้วยเพราะฉะนั้นเมืองไทย คนไทยส่วนใหญ่ไม่มี passion ไม่มี commitment ไม่มี ideology
คำถามต่อไปก็คือแล้วยังไง… ก็เพราะเหตุนั้นเมืองไทยที่ความแตกร้าวไม่ได้เกิดจากเรื่องศาสนา เรื่องเชื้อชาติ เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมฝรั่ง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ‘คน’ คนทะเลาะกัน สามีภรรยาทะเลาะกันมันประสานงานง่ายกว่า แต่ถ้าเกิดคุณเจอ extremist ที่นับถือศาสนาหนึ่งกับ extremist ที่นับถืออีกศาสนาหนึ่ง พวก fundamentalist ทั้งหลาย หรือเรื่องเชื้อชาติที่มี genocide หรือมี ideology ที่มี communism มี capitalism ความแตกร้าวเหล่านั้นยาก ใช้เวลา ใช้ leadership ใช้คนที่มี vision
ประการที่สอง ที่ผมมีความหวังในเมืองไทยในระยะ 30 ปีที่ผมออกมาจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
ผมรู้เลยว่าเมืองไทยไปไม่รอดแน่ถ้าสังคมยังติดยึดกับระบบระเบียบ กฎระเบียบราชการ
ผมโชคดีที่ผมออกจากราชการตอนอายุ 47 ปี แล้วมาอยู่ภาคเอกชน ได้มารู้จักคนอีกจำนวนมากมายที่ผมได้เรียนรู้วิธีคิดของเขา วิธีทำงานของเขา ผมเห็นมุมมองใหม่ ผมเห็นมิติใหม่ ผมว่าถ้าผมยังอยู่ในระบบราชการผมยิ่งอยู่ยิ่งโง่นะ
ที่เราเรียกระบบราชการ มันมาจากคำว่า bureaucracy หลายคนอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งว่า bureaucracy คืออะไร เพราะภาษาไทยแปลออกมาแล้วมันแคบ เหมือนคำว่า honesty และ integrity ที่แปลว่าซื่อสัตย์ แต่ integrity มันกว้างและลึกกว่า honesty มาก
ฉันใดฉันนั้นคำว่า bureaucracy ที่แปลว่าระบบราชการ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งเพราะ bureaucracy เกิดในบริษัทธุรกิจเอกชนได้ แม้แต่ใน NGOs ก็เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อเรามาดูว่า bureaucracy คืออะไร ถ้าเป็นภาษาอังกฤษที่เขาแปลมาให้ง่ายๆ ก็จะเท่ากับพวก red tape คือทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ทำแล้วติดกฎนั้นติดกฏนี้ หรือบางทีก็เป็น paper pusher คือไม่รับผิดชอบอะไรเลย ข้อเสนอ ข้อเท็จจริงเสนอมาจากหัวหน้าแผนกถึงหัวหน้ากอง หัวหน้ากองก็ขอประธานเสนออธิบดี อธิบดีก็ขอประธานเสนอปลัด เพระฉะนั้นพอคำว่า ‘ประธานเสนอ’ นั่นก็คือ bureaucracy
สมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรี ใครมาขอให้ประธานเสนอ ผมไม่รับนะ ผมให้เขียนง่ายๆ เรียน นรม. (นายกรัฐมนตรี) จบ สิ่งเหล่านี้คือ bureaucracy ทั้งนั้น bureaucracy คือ การสร้าง hierarchy (ลำดับชั้น) ทั้งนั้น
ถ้าเผื่อองค์กรไหนที่เขาเรียก hierarchical มันมีชั้นวรรณะ มีหัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง ผู้อำนวยการกอง รองอธิบดี มันมี C3 C4 C5 C6 C7 วันๆ ไม่ต้องทำอะไรมัวติดกับเรื่อง hierarchy นั่งตรงไหน C8 ต้องนั่งเหนือ C7 แล้วมีแต่เพิ่มจำนวนเรื่อยๆ
สมัยผมออกจากราชการไม่มี C9 รับแบบไม่คำนึงถึง cost effectiveness เลย ต้องการคนก็รับ รับมาก็ล้น ล้นแล้วก็ต้องหาตำแหน่งให้เขา เมื่อก่อนนั้นมีไหมอาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการ ไม่มี สมัยรุ่นเรามีแต่ครูใหญ่ทั้งนั้น
แล้วทุกโรงเรียนที่อังกฤษคุณไปโรงเรียนไหนก็ตาม พวกนักเรียนเก่าหรือคนที่สนใจ เขาจะรู้ว่าโรงเรียนนี้มีความเจริญ มีชื่อเสียงได้เพราะครูใหญ่คนนี้ ที่วชิราวุธวิทยาลัยมีครูเจ้าคุณปรีชา คนรู้จักหมด…เจ้าคุณภะรตราชา คนรู้จักหมด ผมไปอำนวยศิลป์ คือ ครูพา (พา ไชยเดช) กรุงเทพคริสเตียนคืออาจารย์วิชัย (เจริญวิชัย) กับอาจารย์อารีย์ (อารีย์ เสมประสาท) ผมแน่ใจว่าที่เทพศิรินทร์ก็ต้องมีหลายคน ที่สวนกุหลาบก็ต้องมี ที่อังกฤษก็เช่นเดียวกัน โรงเรียน rugby ที่มีชื่อเสียงก็มี Dr.Thomas Arnold ที่ Dulwich College ก็มี C.H.Gilkes ที่ Eton ก็มี Robert Birley
ถ้าคุณจะอยู่ในสังกัดรัฐบาล สังกัดระบบราชการ 3 หรือ 4 ปีต้องเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่แล้ว แต่ครูพวกนี้เขาอยู่กัน 30 ปี แล้วเขาเป็นผู้ใหญ่พอ หากเขารู้ว่าเขาทำงานไม่ได้ เขาแก่ไปแล้ว เขาลาออกเอง แต่ไม่ใช่ต้องลาออกเพราะว่าอายุ 60 ไม่ใช่ต้องลาออกเพราะกระทรวงศึกษาฯ เปลี่ยน
เรามีผู้อำนวยการดีๆ ตามโรงเรียนต่างจังหวัดมากมาย วันนี้ผมเห็นเลย ถ้าเผื่อปล่อยให้เขาอยู่ต่อไป ให้เขาได้ขึ้นเงินเดือนเรื่อยๆ มีตำแหน่ง (สูงขึ้นเรื่อยๆ) แต่ไม่ใช่ผู้อำนวยการโรงเรียน C8 แล้วทำงานดีก็ต้องเป็น C9 (โดย) ต้องเปลี่ยนไปอีกโรงเรียนหนึ่ง แล้วคุณจะไปทำอะไรได้ในระยะ 3-4 ปี หมอก็เหมือนกัน หมอในจังหวัดดีๆ เดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เปลี่ยน อันนี้แหละคือ bureaucracy
ผมจำได้ ตอนมีรัฐบาลประยุทธ์รัฐบาลแรก คุณหมอธีระเกียรติเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เชิญผมไปทานอาหารค่ำ มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันนั้นก็มีครูจากโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจารย์ประภาภัทร นิยม
“ผมจำได้ คำแรกที่ผมพูดกับคุณณรงค์ว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ‘ยุบกระทรวงศึกษาธิการ’ ที่ผมพูดไม่ใช่ผมต้องการอยากดังแล้วก็ไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องการสะท้อนว่าตราบใดที่เรายังมีวิธีคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องของราชการ ไม่มีทาง มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดอันนี้”
สมัยผมอยู่อังกฤษก็ไม่มีกระทรวงศึกษาฯ เพราะอำนาจและงบประมาณก็กระจายไปทั่วประเทศ ญี่ปุ่นก็ไม่มี อเมริกาแต่ก่อนก็ไม่มีแต่ตอนหลังถึงได้มี แต่ถ้าเผื่อเราจะมีต่อไปซึ่งผมคิดว่าคงต้องมีต่อไปก็ต้องให้มัน ‘เล็กที่สุด’ ต้องเขียน mandate ใหม่ต้องเขียน TOR ใหม่ว่ามีเพื่ออะไรเริ่มต้น ไม่ใช่มีเพื่อเป็นเจ้าของ ห้ามเด็ดขาด จะเอารัฐบาลหรือหน่วยราชการเป็นเจ้าของชีวิตเรา ไม่ได้นะ ผมหวงนะ เรามีความรู้สึกอย่างนั้นหรือยังในสังคมไทย เราเริ่มมีความรู้สึกหรือยังว่าอย่าว่าแต่กระทรวงศึกษาธิการใหญ่เกินไป รัฐบาลก็ใหญ่เกินไป กระทรวงต่างๆ ก็ใหญ่เกินไป ถ้าใหญ่แล้วไม่มีอำนาจจะมีไปทำไม แต่ถ้าใหญ่แล้วมีอำนาจอันนี้อันตราย
อย่างที่ท่านคนหนึ่งพูดว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่รู้ว่าพลเมืองคืออะไรแล้ว เราไม่มีความสนใจคำว่า Active Citizen หรือขวนขวายที่จะเป็นเจ้าของ (ประเทศ) มันก็เดินต่อไปไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนกัน รัฐประหารเสร็จฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบ แล้วให้มีเลือกตั้งก็ตั้งรัฐบาลใหม่จบ! แล้วก็บอกว่าการเลือกตั้งมันทั้ง free and fair ผมเองอาจจะรับได้คือทั้งอิสระและเป็นธรรม เสร็จแล้วทุกคนกลับบ้านคอยอีก 4 ปีใหม่ ไม่ใช่
ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยถ้าเกิดไม่มี Active Citizen เหมือนอย่างที่ท่านบอกว่าต้องมี Active Teacher ต้องมี Active Learning ก็บอกว่าการออกเสียงทุก 4 ปีเป็นประชาธิปไตย ไม่!
ตราบใดที่เราไม่ถือว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน มันเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับแต่คนก็ไม่รู้สึก แล้วตราบใดที่คนเขารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญกินไม่ได้ก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะความหมายของคำว่ารัฐธรรมนูญกับคนที่มีแล้ว คนที่พอแล้ว กับคนที่ไม่มีอะไรเลย มันคนละเรื่องกันเลย
การทำหลักสูตรการศึกษา คุณจะไปบอกว่าหลักสูตรการศึกษาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนกับเชียงใหม่หรือสุรินทร์ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องรู้ว่าการศึกษามีเพื่ออะไร ถ้าบอกว่าเป็นการสร้างพลเมืองให้เป็น Active Citizen แต่ทางความจริงแล้วมันมีความหมายมากกว่านั้น ในสายตาของผมนะ การศึกษามันต้องมีขึ้น แต่ไม่ได้มีในห้องเรียนเท่านั้น ไม่ได้มีภายใต้การกำกับดูแลหรือการควบคุมของหน่วยงานรัฐบาล แต่จะต้องเป็นภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมโดยประชาชนในพื้นที่ มันไม่ใช่ว่าหลักสูตรจะต้องเหมือนกันหมด เวลาเรียนจะต้องเหมือนกันหมด แปดโมงเช้าถึงกี่โมง เวลาเล่นกีฬาก็เหมือนกันหมด ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน
หนังสือ text book ต้องเหมือนกันหมด หนังสือประวัติศาสตร์ก็ต้องเป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองแล้ว มิน่าประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคมยังเขียนออกมาไม่ได้เลย เพราะใครจะเขียนประวัติ 14 ตุลาคม หรือ 6 ตุลาคม กระทรวงศึกษาไม่รับรอง ผมก็บอกว่านี่มันจะบ้าหรือ ที่อื่นประวัติคนมีชื่อเสียง ประวัติรัฐบาล มีหนังสือเขียนเป็น 10 เล่ม เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) มีหนังสือ 70-80 เล่มแล้ว ไม่ว่าเป็นใคร history เขา มองเห็นยังไงเขาก็เขียนอย่างนั้น มันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก
หากเราจะวิพากษ์วิจารณ์หนังสือประวัติศาสตร์แล้วบอกว่าหนังสือฉบับนี้มีการอ้างไม่ครอบคลุมหรือไม่ชัดเจนหรือไม่ครบถ้วนเพียงพอ อย่างนั้นได้ แต่ไม่ใช่ว่า ‘ผิด’ หรือ ‘ถูก’ เราอาจจะบอกว่าหนังสือ history ฉบับนี้ไม่มีการอ้างอิง ถ้ามีการอ้างอิงคำพูดก็ควรเขียนให้ชัดว่าคำพูดนี้ได้มาจากไหน
เพราะฉะนั้น Active Citizen, Active Teacher และ Active Learning ผมว่าสำคัญ ผมดีใจที่ระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามากในการที่จะชักชวนให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางธุรกิจของเขาที่ต้องการปลูกฝังให้ทำอะไรให้กับสังคม จะเป็น CSR ก็ดี หรือว่าการไปร่วม partnership คุณมีชัย วีระไวทยะ เริ่มต้นคนแรก ต้องเรียกว่าเป็น pioneer ของการเป็น stakeholder ในเรื่องการศึกษา แล้วโรงเรียนก็ดีมาก
ผมเห็นโรงเรียนรุ่งอรุณ เห็นโรงเรียนสัตยาไสของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผมเห็นโรงเรียนบ้านเด็กของครูแอ๊ว–รัชนี ธงไชย ก็ดี ผมเห็นโรงเรียนกำเนิดวิทย์และวิทยาลัย ปตท. ผมก็มีความปลื้ม แต่ข้อสรุปคืออะไรอย่าไปคิดเด็ดขาดว่าโรงเรียนที่ perfect ทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้นหมด ไม่ใช่ excellent แต่มันอยู่ที่ ‘ความหลากหลาย’ อันนั้นคือความงามของ diversity
อย่าไปมองว่า diversity เป็น negative ต้องมองว่าอันนี้เป็นเรื่องบวก สังคมใดก็ตามที่คิดว่าทุกอย่างต้องเป็น uniformity (แบบเดียว-เอกรูป) ผิดแปลกไปจากนี้แล้วผิด ผิดแปลกไปจากนี้แล้วไม่ดี สังคมถึงไม่เจริญ สังคมใดก็ตามที่บอกว่า diversity เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต้องเพิ่มพูนต้องรักษา สังคมนั้นเจริญ
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะเกิดขึ้นได้จากการมี platform มาคุยกันแบบนี้แหละครับ เมืองไหนก็ตามไม่มีพื้นที่สังคม ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้หายใจ ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้คิด ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้คุยกัน แลกเปลี่ยนความคิด ไม่มีพื้นที่ที่ให้เขามารวมกันแล้วสร้างความคิดที่ให้เป็นฉันทามติแล้วก็ทำ สังคมนั้นจะเจริญไปไม่ได้ จริงอยู่ โซเชียลมีเดียก็มีส่วนที่ทำให้สังคมแตกร้าว hate campaign ที่เห็นในอเมริกา เห็นในยุโรป สังคมไทยก็ชอบเชื่อในข่าวลือ ข่าวโคมลอยต่างๆ โดยไม่ค้นหาว่าความจริงอยู่ที่ไหน
สังคมจีนเขาสอนดีมาก เขาสอนให้คนเขารู้ข้อเท็จจริง ความจริง แต่การศึกษาของจีน นโยบายของผู้นำจีนที่เขาสอนให้เห็นเลยว่าข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ความจริงอีกอย่างหนึ่ง เรามานั่งคิดดูก็จริงนะ บัดนี้ผมรู้แล้ว โลกของเราเปลี่ยนไปเยอะ
สังคมไทยที่มีปัญหา สมัยก่อนอาจเป็นปัญหากับคอมมิวนิสต์กับทุนนิยม หรืออาจจะเป็นเรื่องอุดมคติต่างๆ เรื่อง ‘เหลือง–แดง’ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ปัจจุบันนี้เป็นปัญหาใหม่ ไม่ใช่เรื่องคอมมิวนิสต์กับทุนนิยม ไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มันเป็นปัญหาของคนที่ไม่ยอมเปลี่ยน resistance to change กับคนที่อยากเปลี่ยน “เปลี่ยนอะไรครับ!” เปลี่ยนให้สังคมดีขึ้น เปลี่ยนให้สังคมเจริญขึ้น เปลี่ยนให้สังคมมีความยุติธรรมมากขึ้น เปลี่ยนให้สังคมรู้ เห็นใจ และเข้าถึงคนด้อยโอกาส คนไร้โอกาส คนไร้สิทธิ นี่แหละคือการเปลี่ยนแปลง
แต่ความแตกร้าวขณะนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาแล้วมันจะลากให้เตลิดเปิดเปิงไปถึงเป็นปัญหาการเมืองต่อไปได้ ผมพูดถึงความแตกต่างทางความคิด มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมากในระยะที่ผ่านมา 10-15 ปี ผมเองผมต้องยอมรับว่าผมก็ตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน แต่ผมอยากรู้จักกับเขา ผมอยากคุยกับเขา ทั้งที่บางอย่างเขาคุยกับผมเรื่องดิจิทัลผมไม่รู้เรื่องเลย แต่ผมอยากฟัง แล้วอะไรที่พอจะจำได้ อะไรที่พอจะรู้เรื่องได้มันเป็นผลกำไรในชีวิตผม
แต่การเผชิญหน้ากันขณะนี้คือคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องรู้ว่าในคนรุ่นเก่าที่พอเราบอก รุ่นเก่าพวกนี้รุ่นโบราณไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่จริงนะ ในคนรุ่นเก่าก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนหัวสมัยใหม่ ฉันใดฉันนั้นคนที่บอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังมีวิธีคิดยังเป็นคนรุ่นเก่า
เพราะฉะนั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องอายุ เป็นเรื่องคนกลุ่มหนึ่งตามทันกับเหตุการณ์ของโลก ตามทันกับความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิธีคิดได้หรือไม่ และเมื่อตามทันแล้ว ฟังเป็นหรือไม่ ผมยินดีที่ได้มาฟังท่าน 8 คน (เวทีนำเสนอข้อสรุปจากกลุ่มย่อยในช่วงก่อนปาฐกถาคุณอานันท์) ผมบอกได้เลย สิ่งที่ผมมีความรู้สึกที่ดีมาก บอกได้เลยว่าทุกท่าน ‘ฟังเป็น’ ‘คิดออก’ ‘พูดจริง’ และ ‘ทำถูก’ ถ้าพวกคุณฟังไม่เป็น พูดเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าฟังไม่เป็นคุณจะคิดไม่ออก และถ้าพูดไม่จริงอีกแย่เลย และถ้ายังทำไม่ถูกอีก นั่นคือความหายนะ
หนังสือฝรั่ง ชื่อ ‘Art of Listening’ (หนังสือเกี่ยวกับศิลปะการฟัง) มีคนอ่านกันมาก ผมเคยส่งให้พรรคพวกดูเพราะผมรู้สึกว่านี่เป็นจุดอ่อนของเมืองไทย เขาชอบคุยกันเองกับคนที่อยู่ในวิธีคิดเดียวกัน เขาก็นั่งคุยกันเองมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นผมอยากสนับสนุนให้ฝ่ายธุรกิจเข้ามาเป็นภาคี แล้วถ้าได้ education partnership ผมว่าสำคัญและมีความหมายมาก
แต่อีกอันหนึ่งยังไม่ค่อยพูดถึงกัน แล้วผมอยากจะฝากเป็นข้อสังเกตด้วย ผมว่าความตื่นตัวของ partner ทางด้านธุรกิจใช้ได้แล้วแต่ต้องเพิ่มพูนต่อไป เพราะถ้าเราอยากจะให้เจ้าของโครงการเรื่องการศึกษาที่เป็นนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครูอาจารย์ต่างๆ มีความอิสระมากขึ้น และต้องไม่ขาดเงินด้วย ความมั่นคงทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีความอิสระที่สมบูรณ์
สิ่งหนึ่งที่ต้องพยายามต่อไปคือ สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษนิยม เราไม่ค่อยเปลี่ยนความคิดง่ายๆ ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่เป็นของแปลกประหลาดอะไร มีทุกสังคม สิ่งที่เราอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงที่พูดทั้งหมด มันจะเกิดขึ้นได้ นอกจากเรื่องที่ TEP แล้ว คุณจะต้องเอาประชาชนเข้ามาด้วยนะ
movement ที่ไหนก็ตามถ้าเรามาพูดกันสามหมื่นคนที่นี่ในพวกเดียวกัน หรือคุยกันเป็นแสนคนแต่ประชาชนที่เดินถนนไม่สนใจ วิธีที่จะไปสู่ประชาชนได้มันมีขั้นตอน สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ‘สมาคมผู้ปกครองที่ดี’ ไม่ใช่สมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนต่างๆ ที่มีในขณะนี้นะ ซึ่งเท่าที่ผมเข้าใจ ผมอาจจะผิดว่าสมาคมผู้ปกครองในโรงเรียนปัจจุบันคือ ช่วยหาเงินให้โรงเรียน ไม่ใช่นะ สมาคมผู้ปกครองคือ คนที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเป็น active participant ในการกำหนดวิถีทางการศึกษา ในการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ในการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล สมาคมผู้ปกครองเองต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย และถ้าเขาสามารถเปลี่ยนวิธีคิดได้ เขาก็มีเครือข่ายที่จะไปถึงประชาชน
ผมอยากเห็นว่าการประชุมแบบนี้คนดูอาจจะไม่สนใจ จะต้องออกทีวี หนังสือพิมพ์ ก็ต้องเขียนให้ถูกต้อง ผมเป็นห่วงหนังสือพิมพ์เขียน เขียนย่อด้วยแล้วก็ย่อผิดด้วย มันก็เลยสับสนกันมากขึ้น พระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยพูดเสมอ ท่านทำอะไรท่านมี agenda ของท่าน ท่านทำอะไร ท่านรู้จุดหมายปลายทาง ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ท่านทำเรื่องอะไร เรื่องดูแลทุกข์สุขประชาชน เรื่องการแพทย์ การพยาบาล สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย ไม่ว่าจะเป็นโรควัณโรค หรือโรคเรื้อนท่านทำหมด
ถัดมาท่านก็มาดูเรื่องการพัฒนาอาชีพ ในช่วงสิบปีสุดท้าย ท่านทำเรื่องการศึกษา และสิ่งหนึ่งที่ผมจำได้ ท่านบอกว่าจะทำอย่างไรให้ school climate (บรรยากาศการเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้) ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียน อันนี้ผมว่าสำคัญมาก
อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวานิช ทำถูกมากเลย เมื่อ 15 ปีที่แล้ว อาจารย์ชัยอนันต์ให้สัมภาษณ์ ท่านเล่นภาษาอังกฤษคำว่า ‘play’ กับ ‘learn’ ท่านเปลี่ยนเป็น ‘plearn’ หรือ ‘เพลิน’ คือถ้าเด็กมันไม่รักที่จะไปโรงเรียนแล้วมันก็ไม่อยากเรียน ไปถึงห้องเรียนแล้วก็สกปรก ไฟแสงสว่างก็ไม่มี อุปกรณ์การสอนก็ไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นสถานที่เพลิน ที่เด็กไปแล้วเพลิน
ผมดีใจที่ได้มาฟังแล้วรู้สึกว่าทุกท่านที่มีส่วนร่วมในวันนี้ก่อประโยชน์นานัปการ และผมก็ขอให้ทุกท่านสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่ทุกท่านมี ทั้ง passion ทั้ง commitment ทั้งการกระทำจริงจัง ผมจะอยู่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นจริงจังได้หรือไม่ ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยถ้าพวกท่านสามารถจะทำพวกนี้ได้ต่อไป ผมก็นอนตายตาหลับครับ ขอบคุณมากครับ
“ผมลืมสองเรื่องที่อยากจะพูดและขอฝากไว้ ที่ผมบอกว่าให้ยุบกระทรวงศึกษาธิการ จริงๆ แล้วมีได้แต่ก็ให้เล็กหน่อย และเปลี่ยนหน้าที่ ผมอยากเห็นกระทรวงศึกษาฯ ทำหน้าที่เป็น facilitator คืออะไรก็ตามที่โรงเรียนหรือโรงเรียนเอกชนที่เขามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหางบประมาณหรืออะไรก็แล้วแต่ กระทรวงศึกษาฯ ก็ต้องเข้าไปช่วยให้เครื่องจักรมันเดินต่อไปได้
เรื่องที่สองคือ การปฏิรูปที่เขาใช้คำว่า change program มันเป็น ongoing process ถ้าเผื่อใครบอกว่ายุทธศาสตร์ 20 ปีมันจบ มันไม่มีครับ ปฏิรูปนี่คือการเดินหน้าอยู่เรื่อย สิ่งที่ปฏิรูปวันนี้ อีก 5 ปีอาจล้าสมัยไปแล้ว ก็ต้องปฏิรูปต่อไป ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเกมมันจะจบนะครับ แต่นี่คือ (การปฏิรูป) ตลอดชีวิต และไม่ใช่ชีวิตผมนะครับ แต่เป็นชีวิตของมนุษย์เลย”