- ปาฐกถา Human Wanted:การเรียนรู้ใหม่เพื่อฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ช่วยกระตุกพ่อแม่ ครอบครัว ครู โรงเรียน เด็ก ร่วมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษาหันกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ว่าตอบโจทย์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนแล้วหรือยัง
- “คุณต้องเรียนไม่จบ” คือคำสำคัญของปาฐกถา เพราะ ปัจจุบันและอนาคต ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่พออีกต่อไปในโลกที่เรียกร้องทักษะแบบ multi skill และการเรียนไม่รู้จบแบบน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว
- วัย 59 ปีของอาจารย์ ยังทำงานด้านการศึกษาต่อไป เป้าหมายไม่เปลี่ยนแต่ซอยให้เล็กลง สู้แบบทัพเล็ก ยึดทีละหัวเมือง เพราะนี่คือ “รัศมีที่ผมทำได้ก่อนตาย”
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
“คุณต้องเรียนไม่จบ” ประโยคสั้นๆ ของ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ในงาน LSEd Symposium 2019 เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเริ่มต้นปาฐกถา Human Wanted: การเรียนรู้ใหม่เพื่อฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ อาจทำให้หลายคนงงปนสงสัย
แต่ในงาน LSEd Symposeum 2019 ซึ่งเต็มไปด้วยคนหลากวงการที่สนใจเรื่องการศึกษา คนฟังจำนวนมากจึงไม่ตกใจ ซ้ำยังเข้าใจด้วยว่า คำว่า ‘เรียนไม่จบ’ ของ อ.อมรวิชช์ หมายความว่าอย่างไร
“เรียนแบบออกนอกลู่นอกทางมันจำเป็น ต้องเปลี่ยน mindset กันหมด ตอนนี้คนเรียนไม่จบแต่รู้มากกว่า ได้เปรียบกว่ามาก ผมพูดในระดับ conceptual ไม่ได้พูดถึงระดับปฏิบัติ คุณจะเอาปริญญาตามระบบ ก็ทำไป แต่คุณต้องเรียนไม่จบ”
เรียนไม่รู้จบ อ.อมรวิชช์ หมายความว่าอย่างนั้น เพราะปัจจุบันและอนาคต ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่พออีกต่อไปในโลกที่เรียกร้องทักษะแบบ multi skill
“อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างผม เด็กๆ ก็ไม่ปลื้มแล้วนะ ทำงานบริษัทเหรอ ขอดูก่อนแล้วกัน จริงๆ เขาอยากเป็นนายตัวเอง หาธุรกิจเหมาะๆ ไม่จำเป็นต้องรีบประสบความสำเร็จแต่เขากำลังคลำโจทย์ในชีวิตเขาอยู่”
แล้วทำไม ‘เด็กสมัยนี้’ ต้องเรียนต้องรู้อะไรกันนักหนา? ในฐานะนักวิชาการและอาจารย์ที่ทำงานด้านการศึกษามาทุกระดับจนเกษียณ อ.อมรวิชช์ ชี้ว่า เพราะบริบทที่เปลี่ยนไป โลกเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ทำอะไรได้เยอะแยะ แต่การทำอะไรได้ เขาจำเป็นต้องรู้ก่อน
“เด็กจึงคาดหวังจากการศึกษาเยอะ เขาอยากเรียนอะไรก็ได้ที่มั่นใจว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต มีทางเลือกให้ทำงานได้หลายแบบ”
และการเรียนรู้เพื่อคืนความเป็นมนุษย์จะตอบโจทย์เด็กและตลาดได้
การเรียนรู้ที่จะคืนความเป็นมนุษย์ได้ต้องมาจากโรงเรียนที่มีความเป็นมนุษย์
โรงเรียนที่มีความเป็นมนุษย์สูงในความเห็นของ อ.อมรวิชช์ แบ่งได้ 4 แบบ คือ
1. ไม่แข่ง ไม่กดดัน ไม่มีเกรด
2. ไม่มีวิชาแบบเดิม มีแต่ชุดความรู้ ชุดทักษะ
3. ไม่มีเวลากำกับ ไม่มีภาคการศึกษา เรียนไปเรื่อย แต่ละความรู้ แต่ละทักษะ ไม่ต้องใช้เวลาเท่ากัน วัดที่การทำงานได้ ใช้ความรู้เป็น
4. ไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่ให้จบการเรียนรู้ อยากได้ประกาศหรือปริญญาก็จะให้ แต่อย่าหยุดเรียนรู้ เรียนข้ามศาสตร์เป็นเรื่องปกติ
“เป็นไปได้ไหมที่นิสิต นักศึกษาเข้ามา 2 ปีแรกยังไม่ต้องเลือกคณะ เรียนพื้นฐาน soft skill เหมือนกันหมด มีเวลาหาตัวเองให้เจอ แต่บางคนอาจไปลงวิชาเลือกบางโมดูล ค่อยไปเลือกเอาตอน ปี 3 ปี 4 เพื่อฝึกทักษะวิชาชีพ”
soft skill ของ อ.อมรวิชช์ มีแค่สองอย่างคือ พูดรู้เรื่อง กับ เขียนรู้เรื่อง
“ทักษะที่ไม่ว่าทำอาชีพอะไร เขาได้ใช้แน่ คือ พูดรู้เรื่อง เขียนรู้เรื่อง นอกจากนั้นก็อยู่กับชาวบ้านได้ ปรับตัวเก่ง กล้าตัดสินใจ แก้ปัญหาเป็น แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว เพราะการพูดเก่ง เขียนเก่งบอกอะไรหลายอย่าง บอกความช่างคิด การค้นคว้า ความเที่ยงธรรม อคติ กระทั่งสำนึกต่อสังคม”
ในโลกที่กำกวม เขาต้องคิดเป็น
“คน 6,000 ล้าน ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนา แต่พบว่า คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมมที่ดีกว่าคนที่ประกาศว่ามีศาสนา อันนี้ผมอ้างอิงจากงานวิจัย ถ้าจะถามว่าทำไม อาจเพราะศาสนามีพิธีกรรมให้ปฏิบัติยึดถือ แต่สิ่งที่คนไม่มีศาสนายึดถือคือ จริยธรรม เช่น ไม่ชอบให้ใครทำอะไรกับเรา ก็ไม่ควรทำอย่างนั้นกับเขา เป็นต้น”
ปรากฏการณ์ข้างต้นคือหนึ่งในตัวอย่างที่บอกว่าโลกปัจจุบันและอนาคต ไม่มีขาวจัด ดำจัด ระนาบความถูกผิดไม่ตรงแบบไม้บรรทัดอีกต่อไป
“เวลาสอนลูกศิษย์ผมจะยกโจทย์กำกวมไว้ก่อน เช่น โจทย์เรื่องการทำแท้ง คิดอย่างไร ปรากฏว่าห้องแตกเป็นสองเสียงเท่าๆ กันด้วย เสียงหนึ่งคือมันบาป ทำให้คนเราสำส่อน นั่นโน่นนี่ คือการทำลายชีวิต ถ้าคุณให้กำเนิดมาแล้วคุณก็ต้องรับผิดชอบ กับอีกซีก เห็นด้วยว่าเป็นการแก้ปัญหาสังคม เด็กเกิดมาไม่มีคนดูแล คุณภาพชีวิตต่ำ”
แต่สองเสียงนี้ต้องเงียบไปเมื่อมีเสียงสามเข้ามา
“มีอีกกลุ่มหนึ่งมา ทำให้เกิดการชี้ขาดได้ เขาบอกว่าในฐานะที่เป็นผู้หญิง ถ้าเขาจะต้องเริ่มต้นชีวิตความเป็นแม่ เขาอยากจะได้รับเกียรติและสิทธิในการตัดสินใจเองว่าจะเป็นแม่เมื่อไหร่ อย่ามาพรากสิทธินี้ไปจากเขา ถ้าเขายังไม่พร้อม เขาก็มีสิทธิที่จะทำแท้งและควรเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเขาด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ข้างไม่เห็นด้วยเถียงไม่ออก”
อ.อมรวิชช์ เปรียบเทียบกับสังคมที่ปะปนไปด้วยความเป็นจริงที่ฟันธงไม่ได้
“ถึงได้บอกว่าโลกมันกำกวมเต็มไปหมด รัฐบาลนี้ก็กำกวม เราจะอยู่กับมันอย่างมีความสุขได้อย่างไร เราก็แค่ยอมรับมันสิ ไม่ต้องรีบตัดสินก็ได้ ไม่โลกสวยนะ แต่อยู่กับสิ่งที่มันมี เช่น ฝนตกคนหนึ่งบอกเย็น แต่อีกคนบอกเปียก”
พ่อแม่ต้องปรับ Mindset
นอกจากโลกใบใหญ่จะกำกวมแล้ว โลกใบเล็กอย่างพ่อแม่ก็ตีเส้นรอบวงจนขยับตัวไปไหนไม่ได้
หมวกอีกใบที่สวมคือ ที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อ.อมรวิชช์ ยกตัวอย่างการนับหนึ่งซึ่งแทบจะติดลบด้วยซ้ำของ สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)
“ประกาศวันแรกเลยว่าเราเป็นวิศวะที่ไม่มี กว. หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมนะ เพราะเราจะผลิตวิศวะอีกแบบซึ่งไม่ตรงกับมาตรฐานใดๆ ของ กว. เลย เราจะทำ AI ทำหุ่นยนต์ เพราะนั่นคือแนวโน้มของโลก เราไม่ห่วงเลยว่าลูกคุณจะตกงานเพราะมีความต้องการสูงมาก แต่พ่อแม่ทุกคนต้องการใบประกอบวิชาชีพ เราก็บอกให้ไปทะเลาะกับ กว. เอาเอง แต่เรารับรองได้ว่าลูกคุณจะเรียนอย่างมีความสุข เรียนอย่างท้าทาย เรียนในสิ่งที่เขาชอบ ที่แน่ๆ ลูกคุณไม่ตกงานแน่นอน”
สิบปีผ่านไป ตอนนี้วิศวกรรมฯ บัณฑิตที่จบจากคณะนี้ก็ยังไม่มีใครได้ กว. แต่ก็ไม่มีพ่อแม่คนไหนตั้งคำถามแล้วเช่นกัน
“การเปลี่ยนแปลงการศึกษามันต้องใช้เวลา เช่นเดียวกันใครบอกว่าเด็กจะต้องจบปริญญาก่อนถึงจะมีงานทำ มัธยมก็ได้ถ้าคิดว่าพร้อมและมีทุน ถึงเวลาที่เราควรนิยามการศึกษาและการเรียนรู้ใหม่ว่าไม่ใช่บันไดเป็นขั้นๆ อย่างเดิมอีกต่อไป คุณเข้าแล้วออกจากการศึกษาเมื่อไหร่ก็ได้ ถึงใช้คำว่าเรียนไม่จบ แต่เรียนในสิ่งซึ่งออกไปใช้งานได้เลย เรียนในสิ่งที่ทำให้ค้นพบตัวเอง เรียนในสิ่งที่ค้นพบทักษะร่วม เรียนการบริหารจัดการที่ได้ใช้ในชีวิต”
จัดทัพใหม่ รบกับการศึกษาแบบกองโจร
อ.อมรวิชช์ในวัย 59 ถึงจะเกษียณแล้วแต่ในนามบัตรยังระบุว่าเป็นที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ที่ปรึกษาวิชาการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นั่นหมายความว่าอาจารย์ก็ยังเรียนไม่จบเช่นกัน
แต่เป้าหมายของอาจารย์ก็ไม่เปลี่ยนไป
“เป้าหมายไม่เปลี่ยน แต่เป้าหมายเล็กลง ไม่โลภมากแล้ว (ยิ้ม)”
ด้วยความที่ทำงานด้านการศึกษามาทุกระดับ ถึงได้รู้ว่ามันยาก โดยเฉพาะระดับนโยบาย ทำมาก็หลายครั้ง อาจารย์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่สำเร็จสักครั้ง มีอำนาจและผลประโยชน์เข้ามาขัดขวางทุกครั้งไป
“เลยมาทำกับสถาบันการศึกษา กับโรงเรียน มันเป็นรัศมีที่ผมพอจะทำได้ก่อนตาย ถึงจะเล็กก็ไม่ได้แปลว่าผลกระทบน้อย แต่ทำแล้วมันเห็นผลจริงๆ”
จะใช้คำว่าเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานก็ได้ ในเมื่อเราเคยเอาทัพใหญ่มาเผชิญหน้า ตีกันเท่าไหร่ก็ต่างคนต่างแพ้ สู้หันมาใช้การรบแบบกองโจรดีกว่า
“ใช้ทัพเล็ก ซุ่มตีทีละเรื่อง ยึดพื้นที่ทีละหน่อย วางเป้าให้เล็กลงแต่ทำให้ลึก ยึดพื้นที่แล้วไม่เสียไปแบบป่าล้อมเมือง อย่างที่ครูไฟแรงทำกันอยู่ ใจสู้และทำได้จริง”
เหมือนฝนตกอยู่แต่เราจะข้ามถนน จะรอฝนหายค่อยข้ามก็ได้ หรือดูจังหวะรอฝนซาเล็กน้อย
“ยอมเปียกหน่อย แต่เราก็ข้ามกันได้ใช่ไหม (ยิ้ม)”