- คีย์ (QI) หรือ พลังชีวิต แนวทางพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ยุคดิจิทัล อีก 4 ตัวหลัง คือ Will – แรงจูงใจ (Self-Motivation), Wiggle – ความตื่นตัวทางร่างกายและสติปัญญา, Wobble – ล้มแล้วลุก และ What If – การตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…?
- ผู้ใหญ่ควรให้คุณค่ากระบวนการเรียนรู้ระหว่างทาง เช่น ให้คำชมเชยและให้กำลังใจเด็กๆ ในความพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาสำเร็จหรือไม่ก็ตาม การแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตัวเด็กจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นแรงจูงใจที่มีพลังมหาศาล ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง และเห็นคุณค่าในตัวเอง
- เมื่อเด็กมีแรงจูงใจ (Will) มีความตื่นตัว (Wiggle) ที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ประสบการณ์จากการลงมือทำ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การยอมรับข้อผิดพลาด (Wobble) แล้วจินตนาการต่อถึงสิ่งที่อยากทำ (What If) โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การจัดการตัวเอง (Self-management) ให้อยู่หมัดเพื่อเอาชนะอัลกอริทึมได้ เป็นเนื้อหาส่วนแรกที่นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ (เอาชนะอัลกอริทึม (1) : Me, We และ Why ติดทักษะการจัดการตัวเอง เตรียมพร้อมเด็กสำหรับโลกที่เปลี่ยนไป)
The Potential หยิบยก คีย์ (QI) หรือ พลังชีวิต ทั้ง 7 ประกอบด้วย ‘Me, We, Why, Will, Wiggle, Wobble และ What if’ โดย ดร.ลอรา จานา (Dr. Laura Jana) กุมารแพทย์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกา (University of Nebraska Medical Center) สหรัฐอเมริกา ขึ้นมาเป็นตัวอย่างแนวทางพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ยุคดิจิทัล เทียบเคียงกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่สภาเศรษฐกิจโลก (The world economic forum) ประกาศไว้
โลกดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างกลมกลืน โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย อัลกอริทึมคัดเลือกและคัดสรรเฉพาะข้อมูลบางอย่างที่มีความใกล้เคียงและสอดคล้องกับความสนใจของแต่ละคน นำเสนอข้อมูลเสิร์ฟบนหน้าจอสกรีนให้ผู้ใช้งาน ขณะที่ยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนถูกปิดกั้นการมองเห็น
หลายครั้งกลายเป็นการเผยแพร่อคติและความขัดแย้ง ทำให้ความสงบกลายเป็นความโกลาหล ไอเดียหรือความคิดที่มองแล้วสร้างสรรค์ อาจกลายเป็นการถูกจำกัดกรอบ เพราะการถูกคัดกรองให้มองเห็นแต่รูปแบบซ้ำๆ เดิมๆ
Me – ฉัน (self), We – ผู้คน (People) และ Why – ทำไม? นำเสนอไปในบทความแรก เป็นคีย์ 3 ข้อแรกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตัวเอง (Self-management) เป็นเกราะคุ้มกันชั้นแรกไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่ออัลกอริทึม และแสดงบทบาทสำคัญในโลกแห่งการเรียนรู้ท่ามกลางโควิด-19
บทความนี้ เรามาทำความรู้จักกับ Will – แรงจูงใจ (Self-Motivation), Wiggle – ความตื่นตัวทางร่างกาย และสติปัญญา, Wobble – ล้มแล้วลุก และ What If – การตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…? คีย์ 4 ข้อที่เหลือนี้จะขยายศักยภาพของเด็กจากภายในไปสู่ภายนอก
ขยายความเป็นไปได้ออกไปจากสิ่งที่รู้อยู่แล้ว
ดร.จานา กล่าวว่า เด็กเรียนรู้และพัฒนาคีย์ทั้ง 7 ได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะช่วงอายุ 3 ถึง 5 ขวบเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ แต่ถ้าหากผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว เด็กและวัยรุ่นสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ผ่านประสบการณ์ในชีวิต
4. Will – แรงจูงใจ (Self-Motivation) แรงผลักดันที่ทำให้เกิดการลงมือทำ ด้วยทัศนคติเชิงบวกต่อตัวเอง เช่น “ฉันอยากทำ” “ฉันทำได้” ไม่ใช่แค่เพราะต้องการรางวัลตอบแทน สอดคล้องกับทักษะเรื่องความสามารถในการตั้งมั่นในเป้าหมาย (conscientiousness) ความตั้งใจ ความกล้าหาญ ความอดทน ความเพียรพยายาม การยืนกรานไม่ยอมแพ้ (grit) และความมุ่งมั่น เป็นต้น
งานวิจัยพบว่า กับดักของการให้รางวัล คือ คนส่วนใหญ่มักไม่ทำงานนอกเหนืองานที่ตัวเองได้รับรางวัลตอบแทน จานา ยกตัวอย่างครอบครัวของเธอเองที่การทำความสะอาดบ้านเคยเป็นเรื่องสนุกสนาน ทุกคนในครอบครัว (เธอ สามี และลูกทั้งสามคน) ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ต่อมาลูกๆ จัดสรรหน้าที่ของแต่ละคน แบ่งงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบออกเป็น 3 ส่วน แต่ละคนจะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นค่าขนมหากรับผิดชอบส่วนนั้นได้ ดูแล้วเป็นการฝึกทักษะการจัดการตัวเองที่ดี แต่ถ้าผู้ปกครองไม่คิดอย่างรอบด้าน อาจเกิดผลเสียตามมา
จานา เล่าว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ลูกๆ ของเธอไม่ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเหมือนแต่ก่อน การทำความสะอาดบ้านส่วนไหนที่ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบในขอบเขตงานของตัวเอง หรือยังไม่ถึงวันที่กำหนดไว้ว่าต้องจัดการทำความสะอาด จะไม่มีใครลงมือทำ
ด้วยเหตุนี้ การสร้างแรงจูงใจจึงควรอยู่บนพื้นฐานความสำเร็จที่จะได้รับในทันทีจากการลงมือทำ เช่น แรงจูงใจในการทำความสะอาด คือ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้บ้านน่าอยู่ สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน แรงจูงใจในการทานของที่มีประโยชน์ คือ ความภาคภูมิใจในตัวเองที่ทำได้ และมีการสุขภาพดีได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ก็ต้องการแรงจูงใจ เช่นกัน
“ฝึกทำบ่อยๆ ก็เก่งขึ้นได้”
เป็นตัวอย่างคำพูดสร้างแรงจูงใจ เป้าหมายของการฝึกฝนไม่ได้อยู่ที่ความสมบูรณ์แบบ แต่คือประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการทำ แน่นอนว่าการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ครั้งแรกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำบ่อยๆ ส่งเสริมความพากเพียรและความอดทน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในอนาคต ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การผูกเชือกรองเท้า หรือ การฝึกใช้ห้องน้ำด้วยตัวเองของเด็กๆ ที่พวกเขาอาจทำไม่ได้ในครั้งแรก แต่ความพยายามจะทำให้พวกเขาทำได้ในที่สุด
ดร.จานา กล่าวว่า ผู้ใหญ่ควรให้คุณค่ากระบวนการเรียนรู้ระหว่างทาง เช่น ให้คำชมเชยและให้กำลังใจเด็กๆ ในความพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาสำเร็จหรือไม่ก็ตาม การแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตัวเด็กจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นแรงจูงใจที่มีพลังมหาศาล ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง และเห็นคุณค่าในตัวเอง
ปล่อยให้เด็กอยู่ไม่นิ่งบ้างก็ได้
5. Wiggle – ความตื่นตัวทางร่างกาย และสติปัญญา เป็นคีย์ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ Why และ Will ทำงานได้ดีขึ้น เด็กเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้สัมผัสและลงมือทำ เช่น การปล่อยให้ทารกเรียนรู้จากการจับ สัมผัส ผ่านการเล่น หรือ แม้แต่จากการชิมรสชาติแปลกใหม่ ภาพห้องเรียนแบบเดิมที่นักเรียนนั่งกันเป็นแถว เรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อยและอยู่ในความสงบ อาจไม่ใช่คำตอบ
เมื่อโตขึ้นเด็กควรได้เรียนรู้จากการทดลองทำโปรเจคในเรื่องที่พวกเขาสนใจ ไม่เฉพาะแค่ในตำราเรียน ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพื่อจุดประกายความคิดต่อยอด
จานา เล่าถึงงานวิจัยด้านสมองว่า กระบวนการคิดทำงานสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยเช่นกัน เธอเองจัดหมวดหมู่ให้กับทักษะต่างๆ ออกมาเป็นคีย์ทั้ง 7 ข้อได้ หลังจากออกไปวิ่งเป็นเวลา 30 นาที
เด็กเล็กวัย 2 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่จำเป็นต้องนั่งเฉยๆ ฟังนิทานที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง แต่พ่อแม่เลือกเล่านิทานให้พวกเขามีส่วนร่วมแสดงท่าทางได้ เช่น นิทานเรื่องกบ ให้เด็กๆ ได้ขยับตัวกระโดดไปมา หรือการเรียนนับเลขจากการนับจำนวนก้าวที่เดินจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่ง
6. Wobble – ล้มแล้วลุก อย่ายอมแพ้ ในโลกธุรกิจสมัยใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ (product) เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการ (process) สอดคล้องกับทักษะด้านความคล่องตัว (agility) ความสามารถในการปรับตัว ปฏิภาณไหวพริบ (resilience, adaptability) และความยืดหยุ่น (flexible) เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ หรือหากเกิดข้อผิดพลาดและความล้มเหลว เด็กสามารถเรียนรู้และคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้สถานการณ์ แทนการจมอยู่กับความเสียใจจากเรื่องที่เกิดขึ้น
ดร.จานา ยกตัวอย่างคำถามที่บริษัทใหญ่ๆ ใช้สัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกพนักงาน
“เรื่องที่ผิดพลาด ล้มเหลวในชีวิตของคุณคือเรื่องอะไร? แล้วคุณจัดการกับเรื่องนั้นอย่างไร?”
และยกตัวอย่างคำแนะนำยอดฮิตในโลกยุคใหม่
“ล้มก่อน ล้มบ่อยๆ ล้มเพื่อไปข้างหน้า”
ทั้งสองตัวอย่างสะท้อนให้เห็นภาพของ wobble หรือ การล้มแล้วลุกเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
วิธีคิดเรื่องการยอมรับข้อผิดพลาด และมองความล้มเหลวเรื่องธรรมดาในชีวิต เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรนำไปใช้เพื่อลดความคาดหวังในตัวเด็ก หันมามองความล้มเหลว ความผิดพลาด เป็นเรื่องสนุก เพื่อให้ได้ลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำ
7. What If – จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…? การตั้งคำถามถึงสิ่งที่อาจยังไม่มีอยู่จริง
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราทำสิ่งนี้?
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราทำสิ่งนั้น?
เป็นเรื่องของจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และความคิดที่ไม่ถูกจำกัดกรอบ ไม่เฉพาะแค่การรับรู้และเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่ แต่รวมถึงการออกแบบความเป็นไปได้ให้กับโลกในอนาคต และใช้ชีวิตอย่างมี “ความหวัง” (hope)
งานวิจัยด้านสมองพบว่า สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ทำงานได้ดีระหว่างอ่านหนังสือ ขณะที่ระหว่างดูภาพเคลื่อนไหวสมองส่วนนี้ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ การอ่านหนังสือจึงช่วยส่งเสริมจินตนาการได้มากกว่า
ครั้งหนึ่ง The Potential เคยนำเสนอเรื่องราวของ ไอเดียกับไอซี สองพี่น้องวัยเรียนที่จินตนาการถึงการไปอวกาศ ทั้งสองมองว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สามารถเข้าถึงและสัมผัสได้เริ่มต้นจากการอ่านนิทาน เมื่อเห็นความเป็นไปได้ ทั้งสองคนจึงส่งผลงานการทดลองในอวกาศ เข้าร่วมกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) อยู่หลายครั้ง จนได้เดินทางไปชมการทดลองของนักบินอวกาศแบบสดๆ ด้วยตนเองที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินเมืองสึคุบะ (Tsukuba) ประเทศญี่ปุ่น
ตอนนี้ไอเดียกำลังศึกษาต่อคณะแพทยาศาสตร์ ส่วนไอซีก็มุ่งมั่งศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เส้นทางการเติบโตและการเรียนรู้ของไอเดียและไอซี สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการตั้งคำถาม What if….? ได้อย่างชัดเจน (ไอเดีย – ไอซี : เส้นทางสู่ ‘อวกาศ’ ของเด็กไทยที่เริ่มต้นจากนิทาน จินตนาการ และการเรียนรู้ โดยไม่หยุดแค่คำว่า… เป็นไปไม่ได้)
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจซีอีโอ 1,500 คนทั่วโลก พวกเขามีความเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าตำแหน่งงานใด ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุดต่อความสำเร็จในอนาคต เพราะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะจัดการและหาวิธีรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ได้
คีย์ทั้ง 7 ไม่จำเป็นต้องสอน แต่ผู้ปกครองจำเป็นต้องสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น
- กระตุ้นให้เด็กลองสำรวจสิ่งใหม่ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์หรือการประเมิน ไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ไม่ต้องกลัวคำตัดสินจากคนอื่น สิ่งนี้จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อฟีดแบคหรือคอมเม้นเชิงลบในโลกโซเชียลมีเดีย
- พาเด็กๆ ไปพบปะทำกิจกรรมกับชุมชน เช่น เพื่อนรุ่นเดียวกัน เพื่อนบ้าน หรือกิจกรรมจิตอาสา เพื่อสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นในชีวิตจริง และได้สัมผัสกับการทำงานเป็นทีม
อัลกอริทึมพยากรณ์พฤติกรรมของมนุษย์ได้จากการสะสมข้อมูลก็จริง รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร รู้ว่าเพื่อนเราชอบหรือไม่ชอบแบบไหน ทักษะการทำงานเป็นทีม ปฎิภาณไหวพริบ การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็สร้างได้ในลักษณะเดียวกัน คือ อาศัยประสบการณ์จากการลองผิดลองถูก
ยิ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น ประสบการณ์ทั้งเชิงบวกและลบ จะทำให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เป็นที่มาให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทำให้เขาอยู่รอดในการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้
- ให้รางวัล เช่น คำชื่นชม จากความพยายามไม่ใช่ผลลัพธ์ ไม่ว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หากเด็กๆ ได้รับรางวัลจากความพยายาม พวกเขาจะไม่ยึดติดกับความผิดพลาด แต่มีความมั่นใจและมีกำลังใจในการทำสิ่งนั้นอีก พวกเขาจะยอมรับความจริงได้และสามารถจัดการกับความผิดหวังได้ดีขึ้น
- ชวนคิดชวนเล่น กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น วันนี้เรามาสมมุติว่าเราเป็นนักบินอวกาศกันดีกว่า เราต้องเตรียมตัวยังไงและทำอะไรบ้าง? แล้วปล่อยให้เด็กใช้จินตนาการของตัวเอง
เมื่อเด็กมีแรงจูงใจ (Will) มีความตื่นตัว (Wiggle) ที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ประสบการณ์จากการลงมือทำ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การยอมรับข้อผิดพลาด (Wobble) แล้วจินตนาการต่อถึงสิ่งที่อยากทำ (What If) โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน
วัยเด็กเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความฝัน ซึ่งไม่ควรถูกตัดทอนให้หายไปจากคำตัดสิน หรือการตัดโอกาสโดยผู้ใหญ่ เพราะทุกจินตนาการมีความเป็นไปได้ และความสำเร็จได้เกิดขึ้นแล้วครั้งแรกในจินตนาการ