- ในโลกปัจจุบันที่อัลกอริทึมมีบทบาทสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้หลายสิ่ง การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีดังกล่าวและเตรียมมนุษย์ให้อาศัยในโลกอนาคตได้เป็นเรื่องสำคัญ ‘QI (คีย์)’ แนวทางพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ยุคดิจิทัล คือหนึ่งในคำตอบ
- QI กระบวนการสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 คิดค้นโดยดร.ลอรา จานา กุมารแพทย์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกา ประกอบด้วย 7 ข้อ คือ Me (ฉัน), We (ผู้คน), Why (ทำไม), Will (แรงจูงใจ), Wobble (ความสามารถในการปรับตัว) และ What If (จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…?)
- ในช่วง 5 ปีแรกเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเตรียมตัวลูกน้อย สมองของลูกจำเป็นต้องอาศัยผู้ปกครองเป็นสถาปนิกช่วยปลดล็อกศักยภาพของพวกเขา ผ่านวิธีการง่ายๆ จากการพูดคุย (talking) การสื่อสารผ่านการส่งเสียง (cooing) การร้องเพลง (singing) และ การอ่านหนังสือสำหรับเด็กทารก (reading) วิธีการเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทสมองทำงานเชื่อมโยงถึงกัน
“ร้อยละ 65 ของเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นในวันนี้ พวกเขาจะทำงานหรือมีอาชีพที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นหรือยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน”
ดร.ลอรา จานา (Dr. Laura Jana) กุมารแพทย์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกา (University of Nebraska Medical Center) สหรัฐอเมริกา นำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไว้ในหนังสือ The Toddler Brain – สมองของเด็กวัยหัดเดิน
เมื่อไม่รู้ปลายทางในอนาคต ความแน่นอนกลายเป็นความไม่แน่นอน
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างเกราะและภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและวัยรุ่น? เราจะส่งเสริม เตรียมความพร้อมให้เด็กๆ เดินหน้าต่ออย่างมั่นคงในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาได้อย่างไร? เราจะทำให้พวกเขารู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่ออัลกอริทึม หรือถ้าจะให้ดีสามารถเอาชนะอัลกอริทึมได้หรือไม่?
เป็นคำถามที่วันนี้จะชวนกันไปหาคำตอบ
หุ่นยนต์ได้เข้ามาแทนที่งานบางอย่างของมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นจริงภายในระยะเวลาไม่นาน หุ่นยนต์ชงกาแฟ รถยนต์ไร้คนขับ หรือเรื่องใกล้ตัวอย่างโมบายแบงค์กิ้งที่ช่วยให้เราทำธุรกรรมหลายอย่างได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องไปธนาคาร อีกหลายอาชีพในอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่หลายอาชีพในปัจจุบันกำลังค่อยๆ ลดบทบาทลง การเข้ามาของเทคโนโลยียุคดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนแทบทุกด้าน ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ การศึกษา งาน อาชีพ สุขภาพ ระบบสังคม ค่านิยม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ
โลกไซเบอร์ได้เข้ามาสลายโครงสร้างการเผยแพร่และรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบเดิม แล้วสอดแทรกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เนื้อหาต่างๆ ที่แต่ละคนเห็นบนโซเชียลมีเดีย ผ่านการคัดกรองมาแล้วจาก อัลกอริทึม* (Algorithm) พยากรณ์สิ่งที่เราสนใจ แล้วนำเสนอเนื้อหาเหล่านั้นขึ้นมาให้เห็น ยิ่งกว่านั้นยังพยากรณ์พฤติกรรม และความคิดของมนุษย์ได้
การทำงานบนอินเทอร์เน็ต การค้นหาข้อมูลออนไลน์ทั้งหมด ทำงานผ่านอัลกอริทึม อีเมลที่ถูกกดสั่งออกไป รู้ว่าต้องเดินทางไปที่ไหนด้วยอัลกอริทึม แอพพลิเคชั่นต่างๆ บนสมาร์ทโฟนคืออัลกอริทึม คอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมเล่าเรื่องราวด้วยอัลกอริทึม เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ หนังสือ ภาพยนตร์ ซีรีย์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่แนะนำขึ้นมาบนหน้าจอมือถือของเรา ทำงานด้วยอัลกอริทึม จีพีเอส (GPS) นำทางพาเราไปยังจุดหมายปลายทางครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยอัลกอริทึม เราออกคำสั่งให้ สิริ (Siri) กูเกิ้ล (Google) อเล็กซ่า (Alexa) ฯลฯ ทำงานได้ด้วยอัลกอริทึม
เคยไหมหลายครั้งที่เราพูดถึงอะไรสักอย่างขึ้นมา ชอบรถยี่ห้อนี้ อยากได้กล้องหรือมือถือยี่ห้อนั้น ไม่กี่นาทีหลังเปิดเฟซบุ๊ก เราเห็นโฆษณาเกี่ยวกับสิ่งนั้นโผล่ขึ้นมา
“นี่เฟซบุ๊กมันดักฟังเราอยู่ใช่ไหม?” หลายคนถึงกับอุทานออกมาเสียงดัง เมื่อได้เห็นอัลกอริทึมแผลงฤทธิ์
เตรียมพร้อม ตั้งรับ โลกที่ยังมองไม่เห็น
แม้ว่าอัลกอริทึมในรถไร้คนขับอาจสามารถช่วยชีวิตคนขับรถและคนข้ามถนนได้ในกรณีฉุกเฉิน แต่เพราะศักยภาพที่เหลือล้ำของอัลกอริทึม ซึ่งพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นในทุกครั้งที่ได้ข้อมูลและประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่ม แถมยังเรียนรู้ได้เร็วกว่ามนุษย์หลายเท่า นำมาสู่ข้อกังวลของผู้เชี่ยวชาญว่ามีความเป็นไปได้ที่ หากผู้สร้าง หรือ มนุษย์ ไม่สามารถควบคุมอัลกอริทึมได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งสมองกลเหล่านี้จะควบคุมระบบทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้ในระดับนานาชาติมีการเคลื่อนไหวเพื่อกำหนดนโยบาย และมาตรการควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียและอัลกอริทึมอย่างรัดกุม
ปี 2016 สภาเศรษฐกิจโลก (The world economic forum) ได้ประกาศทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อรับมือกับโลกดิจิทัล เป็นแนวทางให้กับผู้ปกครอง นักการศึกษา และผู้นำประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ทักษะสำคัญพื้นฐานเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน, คุณสมบัติด้านต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน และ บทบาทในสังคมเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทักษะกลุ่มต่างๆ ที่ว่ามานี้ เป็นส่วนผสมของความฉลาดทางปัญญา หรือ ไอคิว (IQ: Intelligence Quotient) การอ่าน การเขียน การคิด การใช้เหตุผล และการคำนวณ รวมถึง ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว (EQ: Emotional Quotient) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความอยากรู้อยากเห็น ความคิดเชิงวิพากษ์ ความเป็นผู้นำ หรือความยืดหยุ่นหรือการปรับตัว
ทั้งไอคิวและอีคิวเป็นเรื่องจำเป็น แต่ดร.จานา กล่าวว่า บางทักษะมักถูกเรียกและจัดสรรให้อยู่ในหมวดอื่นๆ (other) ทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจ และไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากนัก ทั้งที่มีความสำคัญมากต่อความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่
เธอจึงผนวกทักษะในหมวดอื่นๆ ขึ้นมาเป็นกุญแจความสำเร็จที่เรียกว่า QI ออกเสียงภาษาอังกฤษว่า key – คีย์ แปลว่า กุญแจ ซึ่งมีบทบาทช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านไอคิวและอีคิวของเด็ก หรือหากออกเสียง chi – ชิ จะหมายถึง พลังชีวิตเชิงบวก ที่มนุษย์สามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจได้ตั้งแต่แรกเกิด
พลังชีวิตเชิงบวกที่ว่าไม่ต่างจากพลัง หรือ force ที่ถูกเอ่ยถึงในภาพยนตร์สตาร์วอร์ (Star Wars)
“may the force be with you.” – ขอให้พลังจงสถิตย์อยู่กับคุณ
พลังจากการพัฒนาตัวเองนี้จะช่วยให้เด็กไม่ตกเป็นคู่แข่ง หรือเป็นเหยื่อของอัลกอริทึม ที่สำคัญสามารถต่อกรกับอัลกอริทึมได้
คีย์ทั้ง 7 ประกอบด้วย Me – ฉัน (self), We – ผู้คน (People) และ Why – ทำไม? ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตัวเอง Will – แรงจูงใจ (Self-Motivation, Wiggle – ความตื่นตัวทางร่างกาย และสติปัญญา, Wobble – ทักษะที่ช่วยส่งเสริมความคล่องตัว ความสามารถในการปรับตัว ปฏิภาณไหวพริบและความยืดหยุ่น และ What If – จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…? ที่เป็นการขยายศักยภาพของตัวเองไปสู่ภายนอก
พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกรู้จักและจัดการตัวเองได้ตั้งแต่แรกเกิด
สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ช่วง 5 ปีแรกเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเตรียมตัวลูกน้อย สมองของลูกจำเป็นต้องอาศัยผู้ปกครองเป็นสถาปนิกช่วยปลดล็อกศักยภาพของพวกเขา ผ่านวิธีการง่ายๆ จากการพูดคุย (talking) การสื่อสารผ่านการส่งเสียง (cooing) การร้องเพลง (singing) และ การอ่านหนังสือสำหรับเด็กทารก (reading) วิธีการเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทสมองทำงานเชื่อมโยงถึงกัน
แต่สำหรับวัยรุ่นที่อายุล่วงเลยมาแล้ว ดูเหมือนว่าการพาเขากลับเข้ามาพัฒนาคีย์ โดยเริ่มจากทำความเข้าใจ ตัวเอง (self) จะเป็นเกราะป้องกันหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ได้ดี
1. Me – ฉัน (self) เน้นไปที่การจัดการตนเอง (self-management) จากภายใน เพื่อควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตัวเอง ได้แก่
การเรียนรู้ การรู้จักตัวเอง (self-awareness)
การกำกับตนเอง การยับยั้งชั่งใจ (self-regulation)
การควบคุมอารมณ์ตัวเอง (self-control)
ความสนใจ (attention) และการจดจ่อ (focus)
ในแวดวงการศึกษาน่าจะพอคุ้นกับ อีเอฟ – EF (Executive functions) อยู่บ้าง อีเอฟเป็นกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมความคิด ความรู้สึกและการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ควบคุมตนเอง ความจำใช้งาน และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น ซึ่งสัมพันธ์กับ Me โดยตรง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้สัมภาษณ์กับ The Potential ว่า การควบคุมอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด สัมพันธ์กับการดึงประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพออกมาใช้ ทั้งนี้‘ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ’ คือความอบอุ่น ความรัก ความผูกพัน จากคนใกล้ตัว และไม่ใช่ความรักที่ต้องแลกมาจากการเรียนเก่งหรือได้เกรดดี ผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพให้กับเด็ก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ EF คือความรัก แต่ไม่ใช่รักที่ต้องแลกจากการเรียน เรียน และเรียน)
งานวิจัยระบุว่า ช่วงอายุระหว่าง 3-5 ขวบ เป็นวัยที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาอีเอฟ อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นยังสามารถใช้งานอีเอฟในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าได้ หากผู้ใหญ่เปิดพื้นที่และสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ ให้อิสระในการคิดและการรวมกลุ่มทำงาน ซึ่งเชื่อมโยงมาสู่คีย์ข้อที่สอง
2. We – ผู้คน (People) จากการศึกษาด้านกุมารเวชศาสตร์ ดร.จานา กล่าวว่า เด็กทารกในวัย 9 เดือน สามารถแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้แล้ว (empathy) นั่นหมายความว่าเด็กทารกสัมผัสและรับรู้ความรู้สึกของคนใกล้ตัวได้ การพัฒนาทักษะที่ช่วยให้เข้าใจผู้อื่นตั้งแต่แรกเกิด เช่น การรู้จักแบ่งปัน จะทำให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยก
การพัฒนาทักษะด้านนี้จึงทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กพูดหรือเดินได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านการสื่อสารทั้งคำพูดและท่าทาง และการฟัง ยกตัวอย่าง การแบ่งแชร์ของเล่นกับเพื่อนๆ จากวัยเด็กแล้วพัฒนาไปสู่การทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ทักษะสังคม ประสบการณ์การเรียนรู้ถูกสะสมทำให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน รับฟังและไม่เอาเปรียบผู้อื่น เมื่อ Me และ We ผนึกกำลังกันจะช่วยให้เด็กพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. Why – ทำไม? การตั้งคำถามถึงจากสิ่งที่สงสัย ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เพื่อเปิดมุมมองความคิดและสร้างความเข้าใจ ทำให้ผู้ถามเข้าใจตัวเอง ผู้อื่น สังคมและโลกที่เป็นอยู่มากขึ้น ไม่ใช่การถามเพื่อการเอาชนะ
เมื่อเด็กอยากรู้อยากเห็น พวกเขาจะพยายามสื่อสารเพื่ออธิบายสิ่งที่เห็น สมองคิดสรรหาคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาขยายความ ดังนั้น เมื่อเด็กถาม พ่อแม่จึงต้องพูดคุยด้วย โดยไม่จำเป็นต้องตอบคำถามตรงไปตรงมาเสมอไป (หากไม่รู้คำตอบ) แต่หันมาใช้คำถามปลายเปิด หรือถามด้วยความสงสัยของตัวเอง เพื่อชวนเด็กคิดต่อไปเรื่อยๆ
เช่น ลูกรู้เรื่องนี้มาจากที่ไหน? ลูกสงสัยเรื่องนี้มานานหรือยัง? ทำไมลูกถึงคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ?
ตัวอย่างคำถามที่ว่ามานี้จะช่วยให้ผู้ปกครอง สร้างบทสนทนาต่อไปได้ และไม่หยุดความสงสัยของเด็กๆ ทั้งนี้ สิ่งที่ไม่ควรทำเลย คือ การแสดงความรำคาญ หรือ การตอบออกไปว่า “ไม่รู้!” “หยุดถามได้แล้ว!”
การจัดการตัวเอง: กุญแจแห่งยุค new normal และโลกอนาคต
ตลอดระยะเวลาราวหนึ่งปี ที่ผู้คนทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤติโควิด-19 โรงเรียนในหลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจากชั้นเรียนแบบเดิมมาใช้ระบบการสอนทางไกล เป็นความท้าทายใหม่สำหรับผู้สอนและผู้เรียน โดยเฉพาะสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมที่อายุยังน้อย เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องเรียนจากที่บ้าน ช่วงเวลานี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสร้างทักษะการจัดการตนเอง (self-management skill) สำคัญมากขนาดไหน ความสำเร็จของการจัดการตนเองได้ดี เห็นได้จากการทำตามแผนการเรียน ทำงานที่ได้รับมอบหมาย และติดตามแผนการเรียนอย่างสม่ำเสมอ
แม้ผู้ปกครองหลายบ้านไม่มีเวลามากนักในการเข้ามาดูแลเรื่องการเรียนให้ลูกแต่ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนให้กับพวกเขาได้ ด้วยการช่วยวาง ตารางประจำวัน ตารางประจำสัปดาห์ และตารางส่งงาน เพื่อให้เด็กรับรู้หน้าที่ และลงมือจัดการตัวเองได้อย่างมีแบบแผน กระบวนการวางแผนเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้การจัดการตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าเด็กๆ จะใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการทำอะไรบ้าง มีเวลาว่างช่วงไหน ใช้เวลาว่างทำอะไร ไม่ลงเอยด้วยคำพูดทำร้ายจิตใจทำนองว่า “วันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย!”
นอกจากการจัดตารางเวลาเพื่อการเรียนแล้ว ผู้ปกครองต้องเข้าใจด้วยว่า บางคนสนุกกับการใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ซึ่งปัจจุบันอาจอยู่ในรูปแบบของเกมหรือโลกออนไลน์ (ข้อที่สอง We) บางคนสนุกกับการใช้เวลาทำงานอดิเรกที่ชอบ ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ (ข้อที่สาม Why) แต่ท้ายที่สุดความสามารถในการจัดการตนเอง (ข้อที่หนึ่ง Me) จะแสดงออกให้เห็นผ่านการสร้างวินัยในตนเอง เช่น การบริหารจัดการเวลา แบ่งเวลาเรียน เวลาเล่น เวลาพักผ่อน การรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือถูกบังคับ ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ปกครองสามารถประเมินได้
Me, We และ Why เป็นทักษะเบื้องต้นที่ทำให้เด็กเรียนรู้การจัดการตัวเอง สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และยังคงมีความอยากรู้ความเป็นไปในโลกภายนอก
ส่วน Will, Wiggle, Wobble และ What if ที่จะนำเสนอในครั้งต่อไป เป็นคีย์ที่จะช่วยให้เด็กเห็นภาพความเป็นไปได้ในชีวิตชัดเจนขึ้น แม้ไม่เคยรู้จักสิ่งนั้นมาก่อน
ดร.จานา เล่าว่า เธอเป็นนักศึกษาสาขาอณูชีววิทยา สาขาที่ผสมผสานระหว่างชีววิทยาและเคมีในระดับเซลล์ ที่ต้องอาศัยการอ่านตำราเรียนจำนวนมาก ใครมีความสามารถท่องจำได้ดีย่อมได้เปรียบคนอื่น และถูกชื่นชม เธอเป็นหนึ่งในนั้น แต่วันเวลาผ่านไปการจดจำเนื้อหาในตำราแทบไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อทุกคนค้นเจอคำตอบเดียวกันได้จากสมาร์ทโฟนของใครของมัน
ในโลกยุคดิจิทัล การได้คำตอบที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องที่น่าคำนึงถึง แต่การตั้งคำถามที่ดีเพื่อนำไปสู่การค้นหาคำตอบมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งกว่า
ยิ่งเด็กรู้ความต้องการของตัวเองว่าพวกเขาต้องการเรียนรู้อะไร สนใจเรื่องอะไร และมีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลจำนวนมหาศาล แทนการตอบรับข้อมูลที่ถูกแนะนำขึ้นจากแอพพลิชั่นได้ พวกเขาจะมีศักยภาพมากพอต่อกรและเอาชนะอัลกอริทึม ที่กำลังพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ได้ในอนาคต
อัลกอริทึม คือ ชุดคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ถูกวางขึ้น เพื่อรับข้อมูลสู่การประมวลผลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ตามที่โปรแกรมเมอร์กำหนดโครงสร้างไว้ |