- ทักษะทางด้านเอไอเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการทำงานปัจจุบัน ผลวิจัย Work Trend Index 2024 เผยว่า ทักษะการใช้งานเอไอกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว โดยผู้บริหารไทย 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะเอไอ
- การเสริมสร้าง AI Literacy คือ ‘การรู้และเข้าใจเอไอ’ เป็นการมีทักษะพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถเข้าใจและใช้งานเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งกว้างๆ เป็น 2 ทักษะ ได้แก่ ‘ทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี’ และ ‘ทักษะทางสังคม’ (Soft Skills)
- เอไอสามารถทำงานได้เพียงบางอย่างเท่านั้นและยังมีข้อจำกัดอีกมาก เรายังคงต้องตรวจสอบการทำงานของเอไอและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ในการทำงานด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่ด้วยเอไอได้
ตอนที่แล้ว (AI Literacy (1): ทักษะจำเป็นในยุคที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธปัญญาประดิษฐ์) เราได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญและการเสริมสร้าง ‘AI Literacy’ หรือ ‘ความฉลาดรู้ทางเอไอ’ ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งการมี AI Literacy จะทำให้เราก้าวทันเทคโนโลยีเอไอที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยกระดับการประกอบอาชีพของเรา
จากผลวิจัย Work Trend Index 2024 ที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ทำร่วมกับ LinkedIn เผยว่า ทักษะการใช้งานเอไอกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว โดยผู้บริหารไทย 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะเอไอ และหากต้องเลือกระหว่างทักษะเอไอกับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทย 90% เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีทักษะเอไอ โดยไม่ได้สนใจว่าพนักงานคนนั้นจะมีประสบการณ์การทำงานมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก LinkedIn ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เน้นธุรกิจและการจ้างงาน พบถึงการเติบโตของตลาดเอไออย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้ LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้เอไออย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตัวเอง มีเพิ่มขึ้นถึง 142 เท่า
เห็นได้ชัดว่าทักษะทางด้านเอไอเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการทำงานปัจจุบัน หนึ่งในแง่มุมของการเสริมสร้าง AI Literacy คือ ‘การรู้และเข้าใจเอไอ’ เป็นการมีทักษะพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถเข้าใจและใช้งานเอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทักษะพื้นฐานดังกล่าวอาจแบ่งกว้างๆ เป็น 2 ทักษะ ได้แก่ ‘ทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี’ และ ‘ทักษะทางสังคม’ (Soft Skills)
ทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
การจะเข้าใจเอไอได้เราก็ต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเอไอ ความเข้าใจนี้ไม่จำเป็นต้องลึกซึ้งถึงขั้นวิศวกร แต่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนทั่วๆ ไปให้เข้าใจและนำไปใช้งานในบริบทของตัวเองได้ โดยทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีนี้ประกอบด้วย ‘ทักษะดิจิทัล’ ‘ความรู้ในเอไอเบื้องต้น’ และ ‘Prompt Engineering’
- ทักษะดิจิทัล
ทักษะดิจิทัล หมายถึง ความสามารถในการจัดการ ทำความเข้าใจ และประเมินความเกี่ยวข้องของข้อมูลได้อย่างเหมาะสมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ ทักษะดิจิทัลมีอยู่ 2 ขอบเขต คือ ‘การใช้อุปกรณ์ดิจิทัล’ และ ‘ความเข้าใจในสารสนเทศและข้อมูล’
อุปกรณ์ดิจิทัลในที่นี้คือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ การมีทักษะดิจิทัล หมายถึง เราสามารถใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลในการทำงานพื้นฐานได้เป็นอย่างดี เช่น สามารถใช้เมาส์คลิกเลือกข้อความ ใช้คีย์บอร์ดพิมพ์ข้อความต่างๆ ได้ เป็นต้น
ความเข้าใจในสารสนเทศและข้อมูล หมายถึง ความสามารถในการค้นหาและประมวลผลข้อมูลในบริบทที่หลากหลาย เช่น ค้นหาข้อมูลที่ต้องการในอินเทอร์เน็ต รู้จักคัดกรองข้อมูลที่พบ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากหลายๆ แหล่งอ้างอิง
- ความรู้ในเอไอเบื้องต้น
การจะใช้งานสิ่งใดก็ควรที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีคุณสมบัติอะไร และมีข้อจำกัดอะไร โดยอธิบายตามความเข้าใจของคนทั่วไป ‘เอไอ’ หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ คือ เทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ได้ในบางแง่มุม เช่น สามารถรับรู้และเรียนรู้ข้อมูล ใช้เหตุผล และใช้ภาษา
คุณสมบัติของเอไอเบื้องต้นคือ สามารถคำนวณข้อมูลในปริมาณมากๆ ได้รวดเร็วและเกิดข้อผิดพลาดน้อย, สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการเรียนรู้ จดจำ หรือจำแนกข้อมูล และสามารถทำงานเดิมซ้ำๆ โดยคงคุณภาพของงานไว้ได้
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเอไอก็ยังมีข้อจำกัด เช่น เอไอไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเอไอไม่สามารถสร้างสิ่งต่างๆ โดยปราศจากการเทรนข้อมูลได้, เอไอทำความเข้าใจและตอบสนองช้ากว่ามนุษย์ เพราะเอไอต้องแปลงข้อมูลเป็นรูปแบบที่ตัวเองเข้าใจได้เสียก่อนแล้วจึงตอบสนอง, เอไอถูกพัฒนามาให้ถนัดในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะการสร้างเอไอใช้ทรัพยากรมหาศาลจึงไม่สามารถทำให้เก่งในหลายๆ ด้านพร้อมกันได้
- Prompt Engineering
การใช้งานเอไอสำหรับคนทั่วไปคือการป้อนคำสั่ง (Prompt) เข้าไปแล้วให้เอไอปฏิบัติตาม ในที่นี้ Prompt Engineering เป็นศาสตร์ในการป้อนคำสั่งอย่างเหมาะสมให้กับเอไอแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่เราต้องการ อาจเรียกว่าเป็นศาสตร์ใน ‘การรีดศักยภาพของเอไอ’ หรือ ‘การสื่อสารกับเอไออย่างมีประสิทธิภาพ’ ก็ว่าได้ โดยหลักการของ Prompt ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- มีความชัดเจน – ระบุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการให้เอไอทำอะไร ไม่ใช้ภาษาที่กำกวม ไม่มีข้อปฏิบัติที่ขัดแย้งกันเอง คำสั่งมีความสมเหตุสมผล
- มีบริบทครบถ้วน – อธิบายบริบทหรือให้รายละเอียดของข้อมูลที่มากพอจนกระจ่างว่าคำสั่งของเราเกิดขึ้นในสถานการณ์แบบไหน
- มีโครงสร้างที่ดี – คำสั่งไม่ควรมีความซับซ้อนหรือข้อปฏิบัติที่มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เอไอสับสนว่าเราต้องการอะไร หากคำสั่งมีความซับซ้อนควรแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ แล้วค่อยสั่งทีละคำสั่ง
ตัวอย่าง Prompt ที่ไม่ดี
- “เขียนเกี่ยวกับแมว” ❌ – คำสั่งกำหนดวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนว่าต้องการงานเขียนแบบไหน เช่น บทความ เรียงความ หรือกลอน อีกทั้งยังระบุไม่ชัดเจนว่าต้องการให้เขียนถึงแมวในแง่มุมไหน เช่น แมวสายพันธุ์ต่างๆ การเลี้ยงดูแมว หรือวิวัฒนาการของแมว
- “แต่งกลอนเกี่ยวกับความรัก” ❌ – คำสั่งไม่อธิบายบริบทหรือรายละเอียดว่าเป็นความรักแบบไหน เช่น รักแบบสมหวัง/ไม่สมหวัง รักแบบครอบครัว หรือรักแบบคนรัก
- “เขียนบทความเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเปรียบเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม // วิเคราะห์เชิงลึกถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ // และคาดการณ์อนาคตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต่อโลก” ❌ – คำสั่งมีความซับซ้อนและสั่งหลายอย่างมากเกินไป ควรแบ่งคำสั่งออกเป็น 2-3 ส่วนแล้วสั่งทีละคำสั่ง
ทักษะทางสังคม (Soft Skills)
ในยุคที่เอไอกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจคิดว่า ‘ทักษะทางสังคม’ หรือ ‘Soft Skills’ คงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเราก็แค่ป้อนคำสั่งให้เอไอทำงานแทนเราได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เอไอสามารถทำงานได้เพียงบางอย่างเท่านั้นและยังมีข้อจำกัดอีกมาก เรายังคงต้องตรวจสอบการทำงานของเอไอและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ในการทำงานด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่ด้วยเอไอได้
‘ทักษะทางสังคม’ หรือ ‘Soft Skills’ หมายถึง ทักษะที่ไม่ใช่ความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำงานของเรา โดยทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้เอไอในที่นี้ประกอบด้วย ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ‘การสื่อสาร’ และ ‘จริยธรรมเอไอ’
- การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
‘การคิดเชิงวิพากษ์’ หรือ ‘การคิดอย่างมีวิจารณญาณ’ หมายถึงความสามารถในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และประเมินข้อมูล ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลจำนวนมากหลั่งไหลมาจากอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และเอไอ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราแยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือเท็จ
ผศ.ดร.ธรรณพ อารีพรรค (2567) ผู้อำนวยการศูนย์บริการทางวิชาการและอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต เตือนว่า หากสิ่งที่เอไอกล่าวถึงเป็นเรื่องที่ใหม่และยังไม่มีข้อมูลในระบบ หรือเรื่องนั้นมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตน้อยหรือไม่มีเลย เอไออาจ “สร้างเนื้อหาที่ผิดพลาดหรือเท็จอย่างมั่นใจเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งของผู้ใช้” ซึ่งเรียกอาการลักษณะนี้ว่า Hallucination (ประสาทหลอน) หรือ Confabulation (การสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่)
เห็นได้ว่าเอไอก็มีโอกาสสร้างข้อมูลเท็จด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ การวิเคราะห์ว่าข้อมูลนั้นจริงหรือเท็จผ่านการใช้การคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเราสามารถฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้ผ่านการถามคำถามต่อไปนี้เมื่อเราได้รับข้อมูลอะไรมาก็ตาม
- ประเด็นหลักคืออะไร?
- หลักฐาน/ข้อโต้แย้งที่สนับสนุนประเด็นนั้นมีอะไรบ้าง?
- หลักฐานนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่? / ข้อโต้แย้งนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่?
- มีคำอธิบายหรือมุมมองอื่นหรือไม่?
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI เช่น ChatGPT, Gemini) จะสามารถสร้างสรรค์งานต่างๆ เช่น บทความ เพลง รูปภาพ ฯลฯ ออกมาได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเอไอไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริง เพราะเราต้องเทรนเอไอด้วยข้อมูลต่างๆ เสียก่อนถึงทำให้เอไอสามารถสร้างงานออกมาได้ ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน เราไม่สามารถหวังให้เอไอสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาจากอากาศได้
จากการสำรวจการใช้เอไอช่วยเขียนงานของนักแสดงตลกมืออาชีพโดยทีมนักวิจัย Google DeepMind พบว่า การวางโครงบทหรือร่างต้นฉบับแบบหยาบๆ ครั้งแรกเป็นสิ่งที่เอไอสามารถทำได้ดี แต่การสร้างมุกตลกที่เป็นต้นฉบับของตัวเองยังทำได้ไม่ดี พูดง่ายๆ ก็คือ มุกที่เอไอเขียนมันไม่ตลกเลย อย่างไรก็ดี นักแสดงตลกที่เข้าร่วมการสำรวจกล่าวว่า การมีร่างหยาบๆ ของเอไอก็ช่วยให้ตัวเองนำมาเขียนและแต่งต่อได้ง่ายกว่าการเริ่มตั้งแต่ศูนย์
การสำรวจในครั้งนี้ทำให้รู้ว่า เอไอไม่สามารถสร้างงานเองได้ทั้งหมด เพราะงานนั้นจะไม่มีเอกลักษณ์และขาดความคิดสร้างสรรค์ที่มากพอจนกลายเป็นงานที่มีคุณภาพ หากจะใช้เอไอช่วยสร้างสรรค์งาน เราควรนำเอไอมาใช้ในการกำหนดโครงร่างหรือปรึกษาเกี่ยวกับไอเดียต่างๆ
ความคิดสร้างสรรค์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในยุคของเอไอ เราสามารถใช้เอไอคิดโครงร่างให้เบื้องต้น จากนั้นจึงนำโครงร่างนั้นมาแต่งเติมและขยายต่อในฉบับของตัวเองจนออกมาเป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เอไอยังไม่สามารถทำได้
- การสื่อสาร (Communication)
ในปัจจุบันเราคงได้ยินมาบ้างแล้วว่าบางบริษัทได้นำเอไอแชตบอตมาใช้ในการตอบคำถามและให้บริการที่พบบ่อยกับลูกค้า จากเหตุการณ์นี้อาจทำให้เราคิดไปว่าทักษะการสื่อสารคงเป็นสิ่งไม่จำเป็นแล้วเพราะเอไอก็ทำแทนเราได้ ความคิดนี้ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไรนัก ทักษะการสื่อสารยังคงมีความสำคัญทั้งในแง่ของการสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันเองและการสื่อสารกับเอไอ
การสื่อสารกับเอไอได้กล่าวไปแล้วในส่วนของ Prompt Engineering ที่ทำให้เห็นว่าการสั่งงานเอไอให้มีประสิทธิภาพต้องมีการเรียบเรียงคำสั่งให้เหมาะสม ไม่ใช่จะสั่งอย่างไรก็ได้ กล่าวได้ว่า Prompt Engineering ก็คือการประยุกต์ใช้ทักษะการสื่อสารกับเอไอนั่นเอง
ส่วนการสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เราอาจจะไปถามเอไอได้ว่าในสถานการณ์แบบนี้ เราควรสื่อสารอย่างไร แต่ผู้ที่จะเป็นคนสื่อสารจริงๆ ก็คือเรา เอไอไม่ได้เข้าใจการสื่อสารของมนุษย์อย่างถ่องแท้ เพราะการสื่อสารของมนุษย์ไม่ใช้แค่การเปล่งคำพูดออกไป แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อวัจนภาษา บริบท สังคม วัฒนธรรม ลักษณะหรือปฏิกิริยาของคู่สนทนา ฯลฯ
Kwame Christian (2023) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ American Negotiation Institute กล่าวว่า พนักงานที่มีทักษะการสื่อสารที่ดีจะสามารถถ่ายทอดไอเดีย ทำงานร่วมกัน และเข้าใจความต้องการของเพื่อนร่วมงานและลูกค้าได้ดีขึ้น เมื่อพูดคุยในเรื่องสำคัญ ลูกค้าต้องการความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความสนิทสนมเฉพาะตัว ซึ่งมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำได้ โดยเรามีแนวโน้มที่จะไว้วางใจและตอบสนองเชิงบวกต่อตัวแทนที่เป็นมนุษย์ เนื่องจากเราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์และอารมณ์ของตัวเองกับอีกฝ่ายได้
นอกจากนี้ ทฤษฎีความสัมพันธ์ (Relevance Theory) ของ Sperber และ Wilson (1995) กล่าวว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่การพูดสารที่เราต้องการจะสื่อออกไป แต่ผู้พูดต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ฟังมีสภาพแวดล้อมด้านการรับรู้ (Cognitive Environment) อย่างไร ซึ่งหมายถึงว่าผู้ฟังมีความรู้ ความเชื่อ ประสบการณ์ และความคิดอย่างไร สิ่งที่ผู้พูดกล่าวออกไปต้องสัมพันธ์หรือสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมด้านการรับรู้ของผู้ฟัง จึงจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจสารของเราได้ถูกต้อง
ตัวอย่างเช่น ผู้พูดเป็นวิศวกรเอไอ ส่วนผู้ฟังเป็นคนธรรมดาที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเอไอ สมมุติว่าผู้พูดได้อธิบายผู้ฟังว่าเอไอคืออะไร โดยที่ผู้พูดไม่ได้พิจารณาเลยผู้ฟังมีความรู้ในด้านนี้หรือไม่ ต่อให้อธิบายอย่างไรผู้ฟังก็จะไม่มีทางเข้าใจ กลับกันถ้าผู้พูดพิจารณาเสียก่อนว่าผู้ฟังมีความรู้เกี่ยวกับเอไอมากน้อยแค่ไหน ก็จะทำให้ผู้พูดปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารของตัวเองให้สอดคล้องกับความรู้ที่ผู้ฟังมี จนในที่สุดผู้ฟังก็จะเข้าใจสารที่ผู้พูดต้องการจะสื่อได้
- จริยธรรมเอไอ (AI Ethics)
จริยธรรมเอไอเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้สำคัญ เห็นได้จากเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอเกี่ยวกับแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) โดยให้กระทรวงดีอีเร่งสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติดังกล่าว
จริยธรรมเอไอในส่วนที่ประชาชนอย่างเราควรปฏิบัติได้กล่าวไปแล้วในตอนที่แล้ว ซึ่งโดยสรุปคือ เราต้องคำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered Considerations) ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น มีความรู้เท่าทันในข้อมูลที่ใช้เทรนเอไอว่ามีที่มาอย่างไร อีกทั้งต้องปฏิบัติตามภาระรับผิดชอบ (Accountability) ในฐานะผู้ใช้และผู้พัฒนาเอไอ เช่น ผู้ใช้ต้องทำความเข้าใจฟังก์ชันของเอไอและไม่นำไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนผู้พัฒนาต้องตรวจสอบว่าเอไอของตนได้รับการออกแบบและเทรนมาอย่างมีจริยธรรม
การเน้นย้ำถึงจริยธรรมเอไอเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการวางแนวปฏิบัติและควบคุมการใช้งานเอไอให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่าการมาถกเถียงกันทีหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นไปแล้ว
กล่าวง่ายๆ คือ เราจะไม่ใช้การปฏิบัติแบบวัวหายล้อมคอก เราต้องวางแนวควบคุมไว้ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นในอนาคต
ท้ายที่สุดนี้ เราทุกคนต้องตระหนักว่าเทคโนโลยีเอไอกำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลและความรู้ที่เรามีในวันนี้อาจไม่เพียงพอหรือกลายเป็นเรื่องล้าสมัยในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตในยุคของเอไอคือการไม่หยุดที่จะเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อที่เราจะสามารถเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา [กสศ.]. (2567). ทิศทางพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ.
จิตต์สุภา ฉิน. (2567). มุขตลกของ AI ที่ไม่ทำให้ใครขำ. มติชนสุดสัปดาห์, 44(2288), 21.
ชูพันธุ์ รัตนโภคา. (2559). เอกสารคำสอน วิชา ความรู้เบื้องต้นทางปัญญาประดิษฐ์. วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์. (2567). Prompt Engineering รีดศักยภาพ AI แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ | คำนี้ดี EP.1148 Feat. ดร.ณภัทร.
ทรงธรรม อินทจักร. (2550). แนวคิดพื้นฐานด้านวัจนปฏิบัติศาสตร์. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ธรรณพ อารีพรรค. (2567). Generative AI สร้างเนื้อหาที่ผิดพลาดอย่างมั่นใจ. มติชนสุดสัปดาห์, 44(2288), 2.
ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์. (20 มิถุนายน 2567). พฤติกรรม ‘คน’ ที่เปลี่ยนไปในยุค AI Economy. กรุงเทพธุรกิจ, 14.
วริยา คำชนะ. (20 มิถุนายน 2567). ‘AI’ เขย่ามายด์เซ็ตผู้บริหาร. กรุงเทพธุรกิจ, 2.
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (4 กุมภาพันธ์ 2564). ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 74. แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline).
Bernard Marr. (2023). Six essential human skills to stay competitive in the age of AI.
David O’Hara (2024). Why People Skills Are Still Important In The Age Of AI.
Kwame Christian. (2023). The Future Of Communication In The Age Of Artificial Intelligence.
Nopnithi Khaokaew. (2023). ChatGPT และ Prompt Engineering คืออะไร? — ทักษะใหม่ที่ทุกคนควรเรียนรู้.