- สมองมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการเชื่อมต่อทางสังคมและอารมณ์เพื่อสร้างการเรียนรู้ การมีความฉลาดทางสังคมและอารมณ์นำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี หรือที่ถูกนิยามว่า ‘พลเมืองเข้มแข็งและตื่นรู้’ Active Citizenship ได้
- เริ่มต้นจากการรับผิดชอบตัวเองในระดับบุคคลก่อน แล้วสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นร่วมกัน เป็นคนละเรื่องกับวิธีคิดที่บอกว่า “ฉันเป็นพลเมือง ฉันมีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้”
- ในโลกที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต การรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้ตัวเราเองต้องเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบกับข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองสื่อสารไปสู่สาธารณะ
“ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็นพลเมืองที่ดี เป็นนักประชาธิปไตยที่ดี หรือเป็นผู้นำที่ดี ทั้งหมดต้องใช้เวลาและการศึกษา” โคฟี อันนัน (Kofi Annan) นักการทูตชาวกานาและชาวแอฟริกันผิวสีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ตั้งแต่ปี 1997 – 2006 ผู้ประกาศนโยบายการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมกัน ตลอดจนการส่งเสริมด้านการศึกษาและการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ กล่าวไว้
การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและตื่นรู้ หรือ Active Citizenship เป็นเรื่องที่ถูกเอ่ยถึงอย่างกว้างขวางในทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเชื่อว่าพลเมืองที่เข้มแข็งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ Active Citizen หมายถึง พลเมืองที่มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมทั้งในระดับประเทศและสังคมโลก มีความเชื่อว่าทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะไม่มีตำแหน่งหรือบทบาทด้านการปกครอง
สหราชอาณาจักร หรือ ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่ริเริ่มแนวคิดการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง หลักสูตร ‘Citizenship’ ถือกำเนิดขึ้นและเป็นหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียนทุกระดับชั้นจนถึงอายุ 14 ปี ด้านยูเนสโก หรือ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้ความสำคัญกับการออกแบบหลักสูตรต้นแบบเพื่อพัฒนาพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL: Social and Emotional Learning) สำหรับวัยรุ่นอายุ 12-14 ปี โฟกัสไปที่การทำความเข้าใจระบบการทำงานของสมองและจิตวิทยาวัยรุ่น
The Potential เน้นย้ำมาตลอดว่านโยบายการศึกษาทั่วโลกไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การประเมินทดสอบความรู้ของนักเรียนเพียงอย่างเดียว งานวิจัยด้านการศึกษามากมายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสมองมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการเชื่อมต่อทางสังคมและอารมณ์เพื่อสร้างการเรียนรู้ การมีความฉลาดทางสังคมและอารมณ์นำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี หรือที่ถูกนิยามว่า พลเมืองเข้มแข็งและตื่นรู้ ได้
สำหรับหลักสูตรสมรรถนะของประเทศไทยให้ความหมาย การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง หมายถึง การปฏิบัติตนอย่างรับผิดชอบในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก รู้เคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพในกฎกติกาและกฎหมาย มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีวิจารณญาณ อยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความหลากหลาย เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีบทบาทในการตัดสินใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยยึดมั่นในความเท่าเทียมเป็นธรรม ค่านิยมประชาธิปไตย และสันติวิธี
พลเมืองที่เข้มแข็งไม่มองแค่ความต้องการตัวเอง แต่มองเห็นและเข้าใจผู้อื่น
ปัจจุบันการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาทั้งในประเทศอังกฤษ ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง จีนและอีกหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเชื่อว่าการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ในระบบโรงเรียน จะทำให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง นำไปสู่การตัดสินใจลงมือทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยความรับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาตัวเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมรอบข้าง
จะเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งได้ต้องทำอะไรบ้าง?
- ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
- มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
- วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในโซเชียลมีเดีย
หลายคนน่าจะพอมีประสบการณ์ข้างต้นอยู่บ้าง
แต่หากถามว่า ครั้งสุดท้ายที่เราได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการตัดสินใจหรือลงมือทำเรื่องในท้องถิ่น ละแวกบ้านหรือชุมชนของเรา นอกเหนือจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการระดับประเทศคือเมื่อไร? คำตอบของแต่ละคนมีอะไรกันบ้าง….
จากการสำรวจ พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในท้องถิ่นใกล้ตัวน้อยมาก
หลายครั้ง ไม่ใช่เพราะไม่สนใจ และ ไม่ใช่เพราะมองว่าปัญหาเหล่านั้นไม่สำคัญ
แต่เป็นเพราะเราอาจยังไม่เข้าใจหน้าที่ของพลเมืองในทุกมิติ หรือเราไม่มีโอกาสเพราะไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม พลเมืองที่เข้มแข็งไม่รอคอยโอกาสแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรื่องใกล้ตัว เพราะการพัฒนาในระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็งสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ขยายวงกว้างออกไปได้
ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มของพลเมืองที่เข้มแข็งในหลายชุมชนทั่วโลก โดยเฉพาะชุมชนที่สนใจเรื่องเดียวกัน กำลังแก้ปัญหาและลงมือทำสิ่งที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเชื่อมโยงถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย มีการเดินทางแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะและทำงานร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับนานาชาติ
พลเมืองที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ “ฉันจะทำอะไรก็ได้” หรือ “ฉันอยากทำอะไรก็ทำ”
การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเริ่มต้นจากการรับผิดชอบตัวเองในระดับบุคคลก่อน แล้วสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นร่วมกัน เป็นคนละเรื่องกับวิธีคิดที่บอกว่า “ฉันเป็นพลเมือง ฉันมีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้”
หัวใจของการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
Me – ตัวฉัน การรู้จักและเข้าใจตนเอง การพัฒนาการตระหนักรู้ ทั้งด้านความคิด อารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงความมั่นใจและการให้คุณค่ากับมุมมองที่แตกต่าง
Me and you – ตัวฉันและเธอ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เรียนรู้เพื่อใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือสร้างความเห็นใจ ความเชื่อมั่นและความเข้าใจซึ่งกันและกัน
We – พวกเรา (ครอบครัว/ ชุมชน/ สังคม) การสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง จากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในชุมชน
Social Action – การลงมือทำร่วมกัน การวางแผนโครงการเพื่อชุมชน แล้วให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ผ่านการวางแผน ลงมือทำ แล้วประเมินผลลัพธ์
- วางแผน (Get planning) การกำหนดเป้าหมายและทิศทางการทำงาน
ขั้นที่ 1 ถามตัวเองว่าสนใจเรื่องอะไร?
ขั้นที่ 2 เราสามารถช่วยใครและอะไรได้บ้าง?
ขั้นที่ 3 เราต้องลงมือทำอะไรบ้าง?
ขั้นที่ 4 เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ?
ขั้นที่ 5 วางแผนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เตรียมอุปกรณ์และความพร้อมของบุคลากร
- ลงมือทำ (Take action) การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เคารพกติกาสังคม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
- ประเมินผลลัพธ์ (Measure impact) สะท้อนความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จ เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และวางแผนปรับปรุงแนวทางการทำงานอย่างต่อเนื่อง
แนวทางพัฒนาตัวเองให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
ทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนตนเองให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งได้ ในระดับโรงเรียนผู้สอนสามารถประยุกต์แนวคิดต่อไปนี้นำไปจัดการเรียนการสอน ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถแนะนำและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือทำด้วยตัวเอง
1. อาสาสมัคร
เมื่อให้คำตอบกับตัวเองได้ว่าอยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร ลำดับต่อไปคือ การเริ่มทำเรื่องนั้นกับตัวเอง แล้วอาสาเข้าร่วมทำกิจกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ของ “การให้” หรือ “งานอาสา” นั้นยิ่งใหญ่มาก นอกจากได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์แล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่างานอาสาที่ทำแล้วไม่ได้ค่าตอบแทนกลับทำให้หลายคน “มีความสุข” กับตัวเองและรู้สึกดีกับการใช้ชีวิตมากขึ้น เมื่อสุขภาพใจดี สุขภาพกายก็ดีตามไปด้วย
“ไม่มีเวลา” “ไม่สามารถจัดสรรเวลาได้” เป็นคำตอบที่อยู่ในความคิดของหลายๆ คน แต่นิตยสาร ‘Harvard Business Review’ รายงานว่า คนที่ทำงานอาสาสมัครรู้สึกว่าตัวเองมีเวลา (ให้กับตัวเองและคนรอบข้าง) มากกว่าตอนไม่ทำงานจิตอาสาเหมือนคนทั่วไป
2. ทำความรู้จักเพื่อนบ้านรอบข้าง
เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมเมือง ลองจินตนาการถึงตัวเองย้ายเข้าอยู่บ้านหลังใหม่ คอนโดหรืออพาร์ตเม้นท์ใหม่ในชุมชนที่ไม่คุ้นเคย การทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านข้างเคียงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านอาจทำให้เราได้พบเจอความเชื่อและมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนกับเรา การทำความรู้จักไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วย ความชอบ-ไม่ชอบ ถูกใจ-ไม่ถูกใจ ไม่ต้องกลายเป็นคนสนิท แต่ “Active Citizen” จะใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจและยอมรับความแตกต่าง
ผลการศึกษาวิจัยในประเทศออสเตรเลีย พบว่า ชาวออสเตรเลีย 1 ใน 3 ไม่ไว้ใจเพื่อนบ้านข้างเคียง สาเหตุไม่ได้เกิดจากพวกเขารู้จักกัน แต่เป็นเพราะพวกเขาแทบไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ความไม่รู้นำมาสู่การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาสู่การละเลย มองข้ามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
3. มีส่วนร่วมในประชาธิปไตยท้องถิ่น
หลายหมู่บ้านจัดการประชุมประจำปี มีการจัดตั้งกรรมการหมู่บ้าน คอนโดบางแห่งจัดกิจกรรมให้ลูกบ้านได้ร่วมสนุก การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น การจ่ายภาษีท้องถิ่น หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างค่าธรรมเนียมการกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย เราได้รับผิดชอบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน? ถ้าคำตอบ คือ “ไม่” ถึงเวลาแล้วที่ควรมีส่วนร่วมทำอะไรบางอย่าง
4. เลิกบ่นกล่าวโทษผู้อื่น แต่ลงมือทำ
ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ รัฐบาลแต่ละประเทศมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพลเมือง ทั้งในเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพการใช้ชีวิต เช่น การปรับปรุงสาธารณูปโภค ถนนหนทาง การเข้าถึงด้านสาธารณสุขและการศึกษา ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรถูกผลักดันในระดับนโยบาย แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า หลายๆ ปัญหาเกิดขึ้นและแก้ไขได้จากความเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลและความร่วมมือของชุมชน
ปัญหากองขยะเกลื่อนกลาดที่อยู่ตรงมุมถนนหน้าปากซอย ปัญหาขยะพลาสติก ปัญหามลภาวะทางอากาศ เราเคยหยุดตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า…ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นหรือไม่? ปัญหาน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นหลอด โรคหัวใจ ฯลฯ ที่กลายเป็นโรคยอดฮิตและเป็นวิกฤตระดับโลก เราเคยหยุดตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า…เราสนใจดูแลอาหารการกินของตัวเอง จัดสรรเวลาให้กับการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพกายใจของตัวเองมากน้อยแค่ไหน?
ด้วยเหตุนี้ การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจาก “ตัวเอง” จึงเป็นหัวใจที่เป็นบันไดขั้นแรกของการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เพราะหนึ่งคนเปลี่ยนสามารถสร้างแรงบันดาลและเป็นแรงกระตุ้นให้คนรอบข้างเปลี่ยนแปลงได้ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้ต้องใช้เวลา แต่ก้าวแรกของการเดินทางไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากเราไม่ก้าวไปข้างหน้า
5. คิดก่อนโพสต์และแชร์
ในโลกที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต การรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้ตัวเราเองต้องเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบกับข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองสื่อสารไปสู่สาธารณะ
เพราะข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นสามารถส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อตัวเองและผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เราจึงควรคิดก่อนโพสต์และแชร์ข้อมูลต่างๆ
- แยกแยะข้อคิดเห็น ข้อเท็จจริง และความถูกต้องของข้อมูล
- ไม่ตกเป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวปลอม สร้างความตื่นตระหนกทางสังคม เป็นต้น
- ไม่บูลลี่ ใช้คำพูดหรือข้อความ ทำร้ายจิตใจด้อยค่าผู้อื่น พลเมืองที่ตื่นรู้สามารถควบคุมการสื่อสารด้วยความเคารพในความคิด ความต่างและความรู้สึกของผู้อื่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาสมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาสมรรถนะด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร และการรวมพลังทำงานเป็นทีม The Potential ได้นำเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถนะต่างๆ ไว้ในบทความต่อไปนี้
การจัดการตนเอง https://thepotential.org/knowledge/self-management-for-cbe/
การคิดขั้นสูง https://thepotential.org/knowledge/system-thinking/
การสื่อสาร https://thepotential.org/knowledge/communication-skills/
การรวมพลังทำงานเป็นทีม https://thepotential.org/knowledge/teamwork-and-collaboration/
อ้างอิง
https://active-citizens.britishcouncil.org/about
https://www.opensocietyfoundations.org/voices/active-citizenship-can-change-your-country-better
https://www.cmcaindia.org/5-ways-to-become-an-active-citizen-and-make-an-impact/