- เพราะชีวิตนักเรียนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่เป็นการวิ่งมาราธอน เพื่อให้ยังอยู่ในสนามพวกเขาต้องฝึกความมุ่งมั่นสองแบบ คือ ความมุ่งมั่นระยะสั้นเรียกว่า การกำกับตัวเอง (self-control) ให้ใจจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่วอกแวก อยู่กับเป้าหมายที่บรรลุได้ในระยะสั้น และความมุ่งมั่นระยะยาวเรียกว่า อิทธิบาท 4 (grit) เพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น สอบเข้ามหาวิทยาลัย
- นักเรียนส่วนใหญ่มีคุณสมบัตินี้อยู่แล้ว แต่มีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ขาดแคลนไม่มี ทำให้พวกเขาไม่สามารถทนต่ออุปสรรคขวากหนามของการเรียน และออกจากการเรียนกลางคันไปเสียก่อน ครูเป็นหนึ่งคนที่สามารถช่วยติดตั้งและรักษาทักษะนี้ให้ติดตัวเด็กไปตลอด
- บันทึกสุดท้ายใน 3 บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จของศิษย์ (achievement mindset) บันทึกตอนนี้ว่าด้วยเรื่องการพัฒนา grit ผ่าน 5 วิธี และเครื่องมือที่ช่วยรักษาเมื่อ grit ตกต่ำ พร้อมกับไปฟังเรื่องเล่าจากในห้องเรียนของครูต้อง – นฤตยา ถาวรพรหม ครูผู้สอนหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทย โรงเรียนเพลินพัฒนาที่นำวิธีนี้ไปใช้กับนักเรียนของเธอ
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ เป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้
บันทึกนี้เป็นบันทึกสุดท้ายใน 3 บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จของศิษย์ (achievement mindset) ตีความจาก Chapter 6 Persist with Grit เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู
ชีวิตนักเรียนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่เป็นการวิ่งมาราธอน นักเรียนต้องฝึกความมุ่งมั่นสองแบบ คือ แบบระยะสั้นและแบบระยะยาว ความมุ่งมั่นระยะสั้นเรียกว่า การกำกับตัวเอง (self-control) ให้ใจจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่วอกแวก อยู่กับเป้าหมายที่บรรลุได้ในระยะสั้น เช่น จดจ่ออยู่กับบทเรียน 50 นาที ส่วนอิทธิบาท 4 (grit) เป็นความมุ่งมั่นระยะยาว เพื่อเป้าหมายระยะยาว เช่น เรียนให้จบ ม.6 เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ข่าวดีคือ นักเรียนส่วนใหญ่มีคุณสมบัตินี้อยู่แล้ว แต่มีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ขาดแคลนไม่มี ทำให้พวกเขาไม่สามารถทนต่ออุปสรรคขวากหนามของการเรียน และออกจากการเรียนกลางคันไปเสียก่อน มีผลงานวิจัยรายงานว่า grit มีผลต่อความสำเร็จในการเรียนยิ่งกว่าไอคิว
เด็กนักเรียนบางคนอาจมีความสามารถในการกำกับตัวเอง มีความมุ่งมั่นระยะสั้นที่ดี แต่ขาดอิทธิบาท 4 แต่โดยทั่วไปทักษะสองอย่างนี้มักไปด้วยกัน และข่าวดีคือ ทั้งสองทักษะนี้ฝึกได้
ผู้เขียนเคยเขียนบันทึกเรื่อง grit ไว้ ที่ ชีวิตที่พอเพียง: 2744. พลังความชอบระดับความหลงใหลและความมุ่งมานะบากบั่น และมานึกได้ภายหลังว่า องค์ประกอบแรกของ grit คือ passion (ความชอบในระดับคลั่งไคล้ใหลหลง) นั้นตรงกับฉันทะในอิทธิบาท 4 และองค์ประกอบที่สองของ grit คือ perseverance (ความมุมานะต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว) ก็ตรงกับ วิริยะ + จิตตะ + วิมังสา ในอิทธิบาท 4 ดังนั้น ผู้เขียนตีความว่า grit คือ อิทธิบาท 4 นั่นเอง
ห้าวิธีพัฒนา grit
- ช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าของเป้าหมายที่ท้าทายอยู่เสมอ หาวิธีเตือนใจนักเรียนให้ผูกพันอยู่กับเป้าหมายระยะยาว เช่น เขียนติดเป็นโปสเตอร์ในห้องเรียน ฉลองเมื่อบรรลุเป้าหมายรายทางไปสู่เป้าหมายปลายทางที่กำหนด และอาศัยการฉลองตอกยํ้าถึงเป้าหมายปลายทาง เล่าเรื่องของความมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย ฯลฯ
- ให้นักเรียนได้รู้จัก grit เช่น ให้ดูภาพยนตร์ที่สะท้อน grit อย่างเช่น เรื่อง Forrest Gump, Bend It Like Beckham, Remember the Titans (ผู้เขียนไม่ใช่นักดูหนัง จึงไม่มีความสามารถแนะนำหนังไทยหรือละครไทย) หลังจากเปิดหนังให้นักเรียนดูด้วยกันแล้ว ช่วยกันแชร์ความคิดว่า หนังสอนใจเรื่อง grit อย่างไรบ้าง หรือในบริบทไทยช่วยกันแชร์ความคิดว่า ได้ข้อสอนใจในเรื่องอิทธิบาท 4 อย่างไรบ้าง
- สร้างเงื่อนไขให้เกิด grit เงื่อนไขหลัก คือ บรรยากาศเชิงบวก ซึ่งสร้างได้ผ่านการฉลอง บทกวี นิทาน เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ เพลงที่เร้าใจ มีผลวิจัยรายงานว่า การสร้าง grit ให้ได้ผลสูงสุด โดยเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่าง บรรยากาศเชิงบวก : บรรยากาศเชิงลบ เท่ากับ 3 : 1 ครูลองหาวิธีให้นักเรียนรับความรู้สึกเชิงบวก มากกว่าความรู้สึกเชิงลบก่อนกลับบ้านในแต่ละวัน และมีช่วงเวลาให้นักเรียนได้เล่าเรื่องราวของตนที่สะท้อนการพัฒนา grit ของตน
- ทำให้ grit เป็นสิ่งที่จับต้องได้ในหลายแง่มุม โดยใช้คำเปรียบเทียบ (อุปมา) คำคม (quotes) คำคล้ายคลึง บอกนักเรียนว่า ‘เวลาเราล้มเราไม่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการล้ม แต่เราต้องรับผิดชอบต่อการลุกขึ้น’ ‘คนเราล้มเพื่อจะได้ฝึกลุก ซึ่งจะช่วยให้เราแข็งแรงขึ้นเก่งขึ้น’ มีครูในสหรัฐอเมริกาคิดวิธีเป็นรูปธรรมให้นักเรียนเข้าใจ โดยเอาของรูปร่างกลมๆ มาสองอย่าง คือ ไข่ กับ super ball (ลูกบอลที่เด้งดีมาก) เอามาให้นักเรียนดู แล้วตั้งคำถามว่าพวกเขาอยากจะเป็นไข่ หรือเป็น super ball จากนั้นก็ปล่อยของทั้งสองอย่างลงพื้น ซึ่งแน่นอนว่าไข่แตก แต่ super ball เด้งดึ๋ง ครูลองถามซํ้า ‘เธอจะเป็นอะไร’ นักเรียนส่วนใหญ่มักจะตอบไม่เต็มเสียง ‘super ball’ ครูลองยํ้าให้นักเรียนพูดดังๆ ว่า ‘เราจะเป็น… super ball’
- ใช้ grit ให้เห็นผล และเพิ่มความตระหนักในคุณค่าของ grit ในสถานการณ์จริง เมื่อใดที่ครูเห็นนักเรียนกำลังใช้ความพยายามทำงานอยู่ ครูลองกล่าวชมว่า ‘ครูดีใจมาก ที่เห็นเธอกำลังฝึก grit (อิทธิบาท 4) อยู่’ ขณะที่นักเรียนมีปัญหาในการทำงาน ครูลองพูดว่า ‘ไม่มีใครหรอก ที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องฟันฝ่า’ แต่อย่าพูดว่า ‘ไม่ทุกคนหรอกที่ประสบความสำเร็จ’ หรือ ‘เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่เธอถนัด’ จะเห็นว่าคำพูดของครูในสถานการณ์จริง มีความหมายมากในการบ่มเพาะหรือทำลาย grit
ครูพึงตระหนักว่า การบ่มเพาะ grit เป็นกิจกรรมระยะยาวให้ทำต่อเนื่อง อย่าใจร้อน โดยต้องเริ่มทำตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก หน้าที่หลักของครูในการบ่มเพาะ grit ให้แก่ศิษย์ คือ การร้องขอ ไม่ใช่การบอกหรือให้คำตอบ ครูต้องร้องขอสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่บรรลุยากจากศิษย์ เพื่อเป็นโจทย์ให้ศิษย์ฝึก grit โดยมีครูคอยให้กำลังใจ
เริ่มจากกิจกรรมที่ทำเสร็จในเวลาสั้นๆ เช่น 20 นาที แล้วค่อยๆ ยาวขึ้นเป็นวัน สัปดาห์ จนกระทั่งยาวเป็นปี เมื่อไรก็ตามที่นักเรียนท้อ ถือเป็นโอกาสทองของครูที่จะได้ฝึกทักษะการฟื้นความมุ่งมั่น
ผู้เขียนขอตีความจากประสบการณ์ของตนเองว่าการฝึกพัฒนา grit ให้แก่ศิษย์นั้น ไม่มีทางทำได้หากใช้การเรียนแบบครูบอกให้นักเรียนจดจำ ต้องใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบ active learning / activity-based learning / inquiry-based learning เท่านั้น ผู้เขียนเตรียมโจทย์ให้นักเรียนฝึกพัฒนา grit และครูเองก็จะได้ฝึกพัฒนา grit ไปด้วยในตัว
เครื่องมือช่วย เมื่อ grit ตกต่ำ
นักวิจัยได้ทดลองและแนะนำวิธีฟื้นการฝึก grit หลังจาก grit ตกตํ่า โดยการเชื่อมโยงคุณค่าและอัตลักษณ์ของ grit เข้ากับงาน เพื่อใส่พลังและความพยายามเพิ่มเข้าไป โดยวิธีการดังต่อไปนี้
ครูลองให้นักเรียนพัก 5 นาที ใช้เวลา 2 นาทีแรกให้นักเรียนยืดเส้นยืดสาย หายใจลึกๆ และทำกายบริหารเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและผ่อนคลาย และใช้เวลา 3 นาทีหลังให้นักเรียนเขียนรายการคุณลักษณะส่วนตัวของตัวเองซึ่งอาจมีเป็นโหล การเขียนนี้จะช่วยเตือนสตินักเรียนว่าตัวเองคือใคร จะช่วยเรียกความมุ่งมั่นกลับคืนมา
เปลี่ยนเอกลักษณ์ของนักเรียนไปเป็น ผู้เชี่ยวชาญระหว่างการฝึก (expert-in-training) หรือเรียกว่าเป็น ปราชญ์น้อย (scholar) ซึ่งเป็นคำยกย่อง และชักจูงให้นักเรียนอดทน เมื่อประกอบกับคำพูดเชียร์ให้เดินหน้าต่อ นักเรียนจะลุกขึ้นสู้
ใช้โปสเตอร์ปลุกใจ เช่น ‘ทำงานหนัก เพื่อความสำเร็จข้างหน้า (Working Harder Gets You Smarter)’
ใช้เครื่องมือ 3 ขั้น
ขั้นที่ 1 : ฟัง
บอกนักเรียนว่าเมื่อจะทำงานสำคัญ ให้เริ่มจากฟังเสียงจากภายในตนก่อน ตรวจสอบหาชุดความคิดหยุดนิ่ง (fixed mindset) และเปลี่ยนไปเป็นชุดความคิดเจริญงอกงาม (growth mindset) เสีย บอกตัวเองว่าจะไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีตหรือความผิดพลาด จะเรียนรู้และแก้ปัญหานี้ให้จงได้
ขั้นที่ 2 : ฟื้นพลัง
ให้นักเรียนบอกตนเองว่าตนมีเป้าหมายอะไร เป้าหมายนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อตัวเอง ที่จะต้องบรรลุให้ได้ จินตนาการถึงสภาพความสำเร็จ ความรู้สึกของตนเองเมื่อบรรลุความสำเร็จนั้น และแชร์ความรู้สึกนั้นต่อเพื่อนๆ ในชั้น
ขั้นที่ 3 : เลือกอีก
เลือกข้างระหว่างเสียงในหัวว่า ‘ฉันไม่คิดว่าจะสามารถทำสิ่งนี้ได้’ กับ ‘ฉันเคยทำสิ่งที่ยากและไม่คิดว่าจะทำได้ให้บรรลุความสำเร็จมาแล้วมากมาย ฉันจะพยายามต่อ ฉันเชื่อว่าสามารถขอความช่วยเหลือได้ ในระหว่างทางหากประสบความล้มเหลว ฉันก็จะได้เรียนรู้ และหาทางแก้ไขจนบรรลุเป้าหมายให้จงได้’
ในภาคปฏิบัติ การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวย่อมมีขึ้นมีลงในเรื่องความมุ่งมั่นเป็นธรรมดา ครูต้องมีเครื่องมือฟื้นพลังของนักเรียน และหมั่นใช้อยู่เสมอ เช่น 1.ลองให้นักเรียนหาคลิปในยูทูปที่มีเนื้อหาสื่อสารคุณค่าของเป้าหมายที่กำลังทำอยู่ นำมาดูในชั้นและร่วมกันแชร์ความคิดเห็น 2.ขอให้นักเรียนเตรียมใช้เวลา 30 วินาที เสนอเป้าหมายที่ท้าทายของตน และเพราะอะไรตนจึงต้องการบรรลุเป้าหมายนั้น 3.ให้นักเรียนทำผังเส้นทางสู่เป้าหมายว่า เริ่มตรงไหน เวลานี้อยู่ตรงไหน ขั้นตอนต่อไปคืออะไร เพื่อการบรรลุเป้าหมายสุดท้าย 4.ให้นักเรียนยืนขึ้น เดินไป 10 วินาที ไปหาคู่ เพื่อแชร์เป้าหมาย อุปสรรค และวิธีเอาชนะอุปสรรคนั้น
กระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าเป้าหมายของตนเป็นสิ่งจับต้องได้ แชร์ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของตน
เปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม
เพื่อให้ตัวเองมีความมุ่งมั่นในการหนุนให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในระดับ “รู้จริง” (mastery) ครูต้องเปลี่ยนวาทกรรมในหัวของตนจาก ‚เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ลูก ไม่ใช่หน้าที่ของครู‛ ไปสู่ ‚ฉันจะกระตุ้นความพยายาม แรงจูงใจ และเจตคติสู่ความสำเร็จของศิษย์ ทักษะเหล่านี้ฝึกได้‛
ใคร่ครวญสะท้อนคิด และตัดสินใจ
จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและยั่งยืนเริ่มที่ ‘กระจก’ คือ ครูต้องประเมินตนเองเป็นปฐม ผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิดว่า มีความท้าทายเรื่องความสำเร็จและความมานะพยายามของนักเรียนในชั้นหรือไม่ แล้วจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางว่า จะทำหน้าที่ ‘ครูเพื่อศิษย์’ ที่เน้นการสร้างชุดความคิด และทักษะเพื่อบรรลุความสำเร็จระดับ mastery ให้แก่ศิษย์หรือไม่
เรื่องเล่าจากในห้องเรียน
นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า และข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้ คือ บทเรียนในสัปดาห์แรกที่นักเรียนชั้น 2 โรงเรียนเพลินพัฒนาได้พบตั้งแต่ต้นปีการศึกษา เพื่อการสร้างความเพียรพยายามในการเรียนรู้ให้แก่พวกเขา
นอกจากนิทานเรื่องนี้แล้ว คุณครูต้อง – นฤตยา ถาวรพรหม ครูผู้สอนหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทย ยังได้นำเอาคุณค่าของความพยายามนี้ไปใส่ไว้ในดวงใจเล็กๆ ทุกดวง ด้วยการเปิดคลิปวีดิทัศน์เรื่องลูกหมีตัวหนึ่งที่พยายามปีนขึ้นไปบนภูเขานํ้าแข็งครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งความพยายามของมันสำเร็จ
แต่ถึงกระนั้นครูก็ยังต้องพบกับโจทย์ยาก… เมื่อการเรียนรู้ดำเนินมาถึงช่วงเวลาที่นักเรียนต้องทำโครงงาน ครูต้องบันทึกการเรียนรู้ในช่วงนี้เอาไว้ว่า
ห้องเรียนวิชาโครงงานถือเป็นโจทย์ยากสำหรับเด็กและตัวฉัน ผลจากการสำรวจเจตคติของนักเรียนพบว่านักเรียนร้อยละ 14 มีความรู้สึกไม่อยากเรียน นักเรียนให้เหตุผลว่า เขารู้สึกว่ามันยาก ไม่สนุก การบ้านเยอะเกินไป และไม่อยากทำงาน
เมื่อฉันอ่านผลงานของนักเรียนก็พบว่า ผลงานของพวกเขาสอดคล้องกับเหตุผลและความรู้สึกที่นักเรียนแสดงออก นั่นคือนักเรียนเขียนงานสั้นๆ ด้วยลายมือที่ไม่มีระเบียบ ข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่ครบถ้วน มีการเขียนสะกดคำที่ผิดพลาดและตกหล่นอยู่เต็มไปหมด เมื่อครูให้นำงานกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาด สีหน้าของนักเรียนก็จะแสดงออกถึงความไม่อยากทำให้เห็นอย่างชัดเจน หรือรีบทำให้เสร็จโดยไม่ได้คำนึงว่าจะพัฒนาให้งานของตนเองดีขึ้นแต่อย่างใด
จากท่าทีที่แสดงออก ประกอบกับเหตุผลที่นักเรียนสะท้อนกลับมา และผลงานที่ครูตรวจพบนั้น ทำให้ฉันกับคุณครูกิ๊ฟ- จิตตินันท์ มากผล ซึ่งเป็นครูคู่วิชาที่สอนในระดับชั้นเดียวกัน และคุณครูที่สอนในหน่วยวิชามานุษกับโลกที่ทำโครงการบูรณาการด้วยกัน ต้องกลับมานั่งจับเข่าคุยกัน เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน ร่วมกันหากลวิธีพิชิตใจนักเรียน สร้างโจทย์ที่ท้าทายความสามารถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากทำมากขึ้น และโจทย์ที่สำคัญคือ ครูจะทำอย่างไรให้นักเรียนอยากทำ และเพียรพยายามที่จะทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้
ก่อนการเริ่มต้นทำโครงงานสังเคราะห์ต่อยอดของนักเรียนชั้น 2 เพียงไม่กี่วัน ฉันได้รับบันทึกชุดสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ที่กล่าวถึงการให้คำแนะนำป้อนกลับที่ทรงพลังแก่ผู้เรียน มาจากคุณครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ในบันทึกพูดถึงวิธีการที่ครูจะให้คำแนะนำป้อนกลับกับนักเรียน วิธีการที่ครูจะประเมินเพื่อพัฒนาการทำงานของนักเรียน ควบคู่ไปกับการประเมินตนเองของนักเรียน และการตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่การสร้างผลงานที่เป็นเลิศ
ฉันลองนำวิธีการที่น่าสนใจ ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครูผู้สอนเพื่อทดลองใช้ในห้องเรียน โดยให้ความสำคัญกับจุดเริ่มต้นคือ การสร้างเป้าหมายร่วมกันของครูและเด็ก เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าชิ้นงานที่มีคุณภาพเป็นเลิศมีลักษณะอย่างไร ให้ผู้เรียนตั้งความคาดหวังว่าเขามีความสามารถจะไปถึงเส้นชัยได้ และหาวิธีการที่จะไปถึงเส้นชัยด้วยวิธีการที่เหมาะสม หน้าที่สำคัญของครูคือการสร้างความเชื่อมั่นว่านักเรียนทุกคนมีศักยภาพและสามารถทำได้
เป้าหมายในการทำงานครั้งนี้ ฉันต้องการให้นักเรียนรู้สึกท้าทาย สนใจ และเกิดแรงบันดาลใจอยากที่จะทำโครงงานด้วยแรงขับเคลื่อนของตัวเอง ฉันเริ่มสร้างแรงบันดาลใจด้วยการชักชวนให้เขามาทำหนังสือเล่มเล็ก ชวนคุยถึงรายละเอียดของหนังสือเล่มเล็กนั้นว่า ในหนังสือจะมีเพียงสี่หน้า คือ หน้าที่หนึ่ง หน้านี้เป็นรูปต้นไม้ที่เขาวาดขึ้นเอง ซึ่งต้องวาดให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยที่ทุกคนต้องดึงทักษะที่ได้เรียนรู้จากหน่วยวิชามานุษกับโลกมาใช้อย่างเต็มที่
หน้าที่สองคือ การเล่าเรื่องต้นไม้ด้วยบทกลอน ที่นักเรียนจะแต่งคำคล้องจองสนุกๆ เกี่ยวกับต้นไม้ของตนเอง ตามความสามารถของเขา ไม่ว่าจะคิดได้มากหรือน้อยก็ตาม แต่มีข้อแม้ว่านักเรียนจะต้องเขียนด้วยลายมือที่บรรจงมากที่สุด หน้าที่สาม คือ การเล่าเรื่องต้นไม้ที่ชื่นชอบด้วยการเขียนบรรยายเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นทักษะที่นักเรียนฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในคาบเรียนภูมิปัญญาภาษาไทยอยู่แล้ว หน้าที่สี่เป็นหน้าสุดท้าย ให้ชื่อว่า ตามใจฉัน คือนักเรียนสามารถออกแบบว่าอยากนำเสนอเรื่องต้นไม้ของตนเองอย่างไรก็ได้ เช่น เกม ลายไทย แต่งนิทาน เป็นต้น
จากข้อมูลเดิมที่ครูพบคือ มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีความรู้สึกไม่อยากเขียน ไม่อยากทำงาน รู้สึกว่ายาก ท้อแท้ใจและคิดว่าตนเองทำไม่ได้ ครูคาดการณ์ว่าถ้าเดินเข้าไปในห้องเรียน แล้วบอกว่าจะให้นักเรียนเขียน ให้แต่งกลอนโดยที่นักเรียนยังไม่เกิดแรงบันดาลใจ นักเรียนคงรู้สึกไม่อยากทำแน่ๆ
ดังนั้น ครูจึงเปลี่ยนวิธีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ด้วยการบอกกับนักเรียนว่า ‘ครูอยากชวนเด็กๆ มาเป็นนักเขียน เขียนหนังสือที่มีอยู่เพียงเล่มเดียวและไม่เหมือนใคร อยากให้เด็กๆ เล่าเรื่องต้นไม้ที่ตนเองปลูกให้คนที่อ่านหนังสือเรื่องนี้มีความสุขที่ได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เด็กๆ คิดว่าคนอ่านน่าจะอยากรู้อะไร หรืออยากอ่านอะไรเกี่ยวกับต้นไม้ของเราบ้างคะ’
สีหน้าของพวกเขาดูตื่นเต้นมากที่ตนเองกำลังจะได้กลายเป็นนักเขียน ทุกคนพยายามนึกว่าคนอ่านน่าจะอยากอ่านอะไรในหนังสือ คำตอบจากเด็กๆ เช่น ‘ความสวยงามของต้นไม้’ ‘จุดเด่นและความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร’ ฯลฯ ความคิดสร้างสรรค์มากมายก่อเกิดขึ้น แต่ละคนเริ่มวางแผนว่าตนเองอยากเล่าอะไรให้คนอ่านฟัง แล้วลงมือเขียนเล่าเรื่องจากไอเดียความคิดที่เขามีอยู่
ฉันมองเห็นความสนุกจากเด็กๆ ที่มักจะคอยถามว่า ‘ถ้าเขียนเรื่องนี้คนอ่านจะชอบไหมนะ’ ‘ผมใส่มุกตลกลงไปด้วยนะครับ’ นักเรียนในห้องนำพลังมาจากไหนก็ไม่รู้เพื่อที่จะเขียน เขาเขียนด้วยความรู้สึกว่าคนอ่านต้องชอบเรื่องที่เขาเขียนแน่ๆ ไม่มีนักเรียนคนใดถามว่า ‘ต้องเขียนกี่บรรทัด’ แต่คำถามนั้นเปลี่ยนเป็น ‘คิดว่าสนุกพอหรือยังครับ’ ฉันบอกเด็กๆ ไปว่า ‘ครูไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเด็กๆ จะเขียนสนุกพอหรือยัง แต่ครูมีวิธีการที่จะรู้ว่างานของเด็กๆ ดีพอหรือยัง’
วิธีที่ว่าก็คือลองอ่านให้เพื่อนทุกคนฟังแล้วช่วยกันบอกดีไหมว่างานของเราสนุกหรือยัง นักเรียนออกมาอ่านให้เพื่อนฟัง เพื่อนๆ ตั้งใจฟังและแสดงความรู้สึกอย่างตั้งใจว่างานที่ฟังรู้สึกสนุกหรือยัง พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพิ่มเติม บางคนเขียนได้ดีมากจนเพื่อนขอนำวิธีการเล่าเรื่องไปใช้ในงานเขียนของตนเองบ้าง
ฉันที่ยืนสังเกตชั้นเรียนอยู่ ชวนนักเรียนคอยสังเกตจุดเด่นในงานของเพื่อนที่ออกมานำเสนอเรื่องเล่าของแต่ละคน นักเรียนเริ่มมีสายตาที่มองได้อย่างละเอียด เขาบอกได้ว่างานของเพื่อนแต่ละคนนั้นต่างกันอย่างไร เช่น ‘เพื่อนคนนี้เขียนเหมือนกับว่ากำลังคุยเรื่องต้นไม้ให้เราฟังอยู่เพราะภาษาที่ใช้ เหมือนคุยกับเพื่อน ส่วนเพื่อนอีกคนจะแตกต่างกันคือมีวิธีเขียนที่เหมือนเราอ่านในหนังสือเลย เพื่อนคนที่สามเขียนเรื่องเล่ามาสั้นๆ แต่เลือกเขียนเรื่องเด่นๆ ทำให้น่าสนใจ’
การนำเสนอผลงานเป็นที่ชื่นชอบและสนใจของนักเรียนทุกคนในห้อง คนเขียนอยากอ่านให้เพื่อนฟัง ส่วนคนฟังก็อยากรู้ว่าเพื่อนแต่ละคนเขียนอะไรมานำเสนอ นักเรียนรู้สึกสนุกที่ได้ถกเถียงกัน ครูอย่างฉันก็ตื่นเต้นมากที่เห็นว่า นักเรียนกำลังทำสิ่งที่ฉันไม่เคยเห็นได้ชัดเจนเท่านี้มาก่อน คือ การที่เขาร่วมเรียนไปด้วยกันทั้งชั้นจนเวลาหมดลง นักเรียนลงความเห็นว่าอยากฟังงานของเพื่อนให้ครบทุกคนเลย คนที่เขียนไม่เสร็จก็จะตั้งใจเขียนจนเสร็จและจะออกมาอ่านให้เพื่อนฟังก่อนจะเขียนลงไปในหนังสือให้ได้
ช่วงพักกลางวัน เด็กๆ นั่งเขียนเล่าเรื่องต้นไม้ของตนเองกันต่อ เมื่อถึงเวลาที่ได้เจอกันในคาบโครงงานอีกครั้ง นักเรียนยังคงยืนยันว่าอยากที่จะฟังงานของเพื่อนให้ครบทุกคน ครูเลยเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้นำเสนองานเขียนของตนเอง โดยมีเพื่อนๆ รอฟังกันอย่างใจจดใจจ่ออีกครั้ง
จากวันที่ทำนักเรียนให้เห็นเป้าหมายการสร้างผลงานของตนเอง จนถึงการเริ่มต้นการทำงานของเขา ฉันได้นำวิธีการสังเกตชั้นเรียนประเมินเพื่อพัฒนาการทำชิ้นงานของนักเรียน ด้วยการใช้หลัก SEA (strategy, effort และ attitude) และพยายามจัดจังหวะให้นักเรียนได้รับคำแนะนำจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งใน 4 แหล่ง คือ จากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน จากกิจกรรมที่ทำ จากการใคร่ครวญสะท้อนคิด และจากครู ตลอดช่วงเวลาที่ลงมือทำงาน เพื่อเป็นการชื่นชม ให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งของ SEA ที่เป็นการเสริมพลังในการฟันฝ่าความยากลำบาก
ในการให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงคุณภาพ ที่มาจากคำแนะนำของครูเป็นผู้สะท้อนการสร้างผลงาน คำแนะนำจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และจากการสะท้อนการเรียนรู้ของตัวนักเรียนเองนั้น ฉันสังเกตว่านักเรียนสนใจที่จะฟังว่าครูและเพื่อนมีมุมมองอย่างไรต่องานของเขา เขาชอบที่จะฟังว่าเพื่อนคิดอย่างไร หรือครูจะบอกว่างานของเขามีจุดเด่นอย่างไร ต่างจากเพื่อนคนอื่นตรงไหน เขายินดีที่จะกลับไปพัฒนางานของตนเองเมื่อได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ซึ่งคำพูดจากเพื่อนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคำพูดแนะนำเชิงการให้กำลังใจ และนำเสนอวิธีการปรับปรุงผลงานจากการสังเกตงานเพื่อนที่ออกมานำเสนอจริงๆ ยกตัวอย่าง เช่น ‘หนูคิดว่าเรื่องนี้ถ้าเพื่อน ตัดคำว่า และ ที่มีจำนวนมากออกไป จะทำให้คนฟังเข้าใจง่ายขึ้น แต่ก็ขอชมว่าเพื่อนเขียนได้ดีขึ้นมากจากครั้งก่อนค่ะ’
วิธีการที่นักเรียนจะมองเห็นจุดเด่นในงานของเพื่อนได้ดีและสะท้อนได้อย่างตรงประเด็นนั้น จุดสำคัญคือการที่ครูต้องฝึกการสังเกตข้อดีในงานของเด็กๆ ทุกคนแล้วหมั่นสะท้อนข้อดีและจุดเด่นของนักเรียนแต่ละคนอย่างสมํ่าเสมอ
ชวนนักเรียนสังเกตและตั้งคำถามในผลงานของตนเองและเพื่อน ชวนนักเรียนให้มองเห็นความสำคัญของความเพียรพยายามของนักเรียนแต่ละคน ว่าเพื่อนทุกคนรวมทั้งตัวเราสามารถพัฒนาตนเองได้โดยที่เราทุกคนในห้องต้องช่วยกันมองหา
นอกจากนี้วิธีการให้คำแนะนำป้อนกลับกับนักเรียนแบบ 3M (milestone, mission และ method) ก็เป็นวิธีการแนะนำป้อนกลับที่ฉันเห็นว่าใช้ได้ผลกับนักเรียน ที่จะทำให้เขาค่อยๆ เดินไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยตัวเขาเอง โดยการฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ตรวจสอบเป้าหมายของตนเองเป็นระยะๆ มองหาความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงานของตนเอง และหาวิธีที่จะปรับปรุงผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ในขั้นตอนการทำหนังสือของนักเรียน ครูนำพาเด็กๆ ให้ร่วมกันมองและตั้งเป้าหมายก่อนการทำชิ้นงานว่า นักเรียนอยากเห็นหนังสือต้นไม้ของตนเองเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเขียนเป้าหมายที่ทุกคนร่วมกันคิดไว้ที่กระดานเพื่อให้นักเรียนเห็นภาพปลายทางที่จะเกิดขึ้น หลังจากนั้นนักเรียนก็เริ่มทำงานของตนเอง ภาพของชั้นเรียนขณะที่นักเรียนทำงาน เป็นภาพที่ดูจริงจัง พวกเขาขะมักเขม้นกับการคัดตัวหนังสือให้สวยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบว่าเขาเขียนถูกต้องหรือยัง บางคนอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนแล้วไม่ถูกใจ จะขอเขียนเพิ่มเติม ในขณะที่บางกลุ่มเริ่มต้นด้วยการวาดภาพ อยากจะวาดภาพให้เหมือนจริงที่สุด เขาพยายามหาแบบที่ถูกใจ โดยการค้นหาข้อมูลที่มีจากการบ้านเชิงโครงงาน จากภาพที่เตรียมมาจากที่บ้าน และจากสมุดวิชามานุษกับโลก เขานำรายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มารวมกันแล้วค่อยๆ วาดภาพของตัวเองออกมา จนเกิดเป็นภาพที่มีรายละเอียดสวยงาม
หลังการทำงานทุกๆ ครั้ง นักเรียนและครูจะนำผลงานมารวมกันแล้วนั่งล้อมวง เพื่อให้นั่งเรียนได้ใคร่ครวญประเมินตนเอง สะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างการทำงาน นักเรียนจะพิจารณาผลงานของตนเองและผลงานของเพื่อนๆ ทุกคนไปพร้อมกัน ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมของผลงานในห้องเรียน และมองเห็นผลงานของตนเองที่รวมอยู่กับเพื่อน
ในวงสนทนานักเรียนจะสะท้อนความรู้สึกของตนเอง ข้อค้นพบของตนเองที่อยากบอกเพื่อน หรืออาจเป็นปัญหาที่พบเจอแล้วอยากเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง นักเรียนจะเดินดูงานของเพื่อนแต่ละคน ร่วมกันสะท้อนและชื่นชมถึงผลงานที่ชื่นชอบประทับใจ ผลงานที่เพื่อนๆ สนใจจะได้แชร์การทำงานของตนเองให้เพื่อนๆ ได้รู้เทคนิควิธีการทำงานอย่างมีคุณภาพ ข้อค้นพบระหว่างการทำงาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะทำงาน เป็นต้น
ฉันสังเกตว่านอกจากนักเรียนจะเลือกผลงานที่โดดเด่นสวยงามในแต่ละครั้งแล้ว นักเรียนมักจะเลือกผลงานที่พัฒนาจากงานครั้งก่อนขึ้นมาชื่นชม เช่น ผลงานของเพื่อนคนหนึ่งที่แต่เดิมนั้นเขียนด้วยลายมือโย้เย้ ตัวหนังสือขนาดเล็ก–ใหญ่ไม่สมํ่าเสมอ แต่เมื่อเพื่อนสะท้อนให้ฟังในครั้งก่อน เขาจึงนำไปปรับปรุงมาใหม่เขียนด้วยลายมือบรรจงเป็นระเบียบ อีกทั้งเพื่อนในชั้นเรียนยังคงเกาะติดพัฒนาการเขียนของเขาอยู่ คอยมองและชื่นชมเขา ยิ่งทำให้เขาอยากฝึกฝนการเขียนของตนเองให้ดีขึ้น
หลังจากแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันแล้วครูจะชวนนักเรียนขบคิดเพื่อตั้งเป้าหมายว่าในครั้งต่อไปนักเรียนอยากจะฝึกฝนตนเองในเรื่องใดเพื่อพัฒนาผลงานของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นักเรียนชื่นชอบและสนใจการสะท้อนวิธีทำงานและการมองผลงานของเพื่อนๆ มาก เขาสะท้อนว่า การดูผลงานทำให้เขาได้เห็นตัวเอง ได้เห็นเพื่อน และได้พัฒนาฝีมือตัวเองจากคำแนะนำของเพื่อนๆ การชื่นชมและแนะนำของเพื่อนกับครูทำให้เขาเกิดความมั่นใจว่าเขาสามารถทำได้ ถ้าเป็นไปได้เขาอยากไปดูผลงานของเพื่อนห้องอื่นๆ อีก
จากวงสะท้อนวงเล็กๆ จึงกลายเป็นวงสะท้อนวงใหญ่ของทั้งระดับชั้น ที่สร้างพลังการเรียนรู้ที่เกิดจากการมองและสะท้อนคิดจากการได้ชมผลงานของเพื่อนต่างห้อง ในวันสุดท้ายที่ผลงานของนักเรียนเสร็จสมบูรณ์ นักเรียนนั่งล้อมวงกันแล้วมองผลงานของเพื่อนทุกๆ คน ฉันถามนักเรียนว่า ‘เมื่อเห็นผลงานของเพื่อนทุกคนแล้วเด็กๆ อยากบอกอะไร’ คำตอบของนักเรียนคือ ‘ภูมิใจมาก’ ‘ไม่อยากเชื่อว่าตัวเองจะทำได้’ ฯลฯ
ภาพห้องเรียนที่เกิดขึ้นตรงหน้าทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า
เมื่อครูพาให้นักเรียนเห็นเป้าหมายของการเรียนรู้ที่ชัดเจน นักเรียนจะเกิดแรงบันดาลใจอยากจะลงมือทำ มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถทำได้ เขาจะมองข้ามปัญหาอุปสรรคเรื่องความไม่อยากเขียน ไปสู่เป้าหมายของความสนุกสนานในโลกของการใช้ภาษาเล่าเรื่องราวต่างๆ
ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่จะนำพาให้นักเรียน พัฒนาศักยภาพภายในของเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เขียนเก่งหรือไม่ก็ตาม เดิมในห้องเรียนนี้มีเด็กที่เขียนหนังสือไม่คล่องอยู่ประมาณ 2 – 3 คน ฉันสังเกตว่านักเรียนกลุ่มนี้มีพัฒนาวิธีการทำงานของตัวเองที่น่าสนใจ โดยการเขียนเรื่องต้นไม้จากความรู้จักของตนเองก่อน นั่นคือการได้ข้อมูลที่จะเขียนจากการไปสังเกตของจริง จากนั้นเขาจึงเรียบเรียงโดยเลือกใช้ภาษาง่ายๆ ที่ตนเองรู้จัก แล้วคอยปรึกษาเพื่อนข้างๆ เป็นระยะว่า ‘ฉันจะเขียนเรียบเรียงแบบนี้ดีไหม’ และพยายามเขียนสะกดคำด้วยตนเองทั้งหมด
เมื่อนักเรียนกลุ่มนี้ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนแล้วได้รับเสียงชื่นชมจากเพื่อนในห้องเรียนและครู ถึงความเพียรพยายามในการฝึกฝนตนเอง ส่งผลให้นักเรียนมีความรักและอยากที่จะพัฒนาการเขียนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
ฉันพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ชั้นเรียนขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ก็คือ การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความคิดเห็นที่สร้างให้นักเรียนทุกคนตั้งใจมองผลงานของตนเองอย่างใคร่ครวญ แล้วนำเสนอสิ่งที่ตนเองค้นพบ ห้องเรียนจึงห้องที่ทุกคนตั้งใจฟังเพื่อน ในขณะเดียวกันก็มีการถกเถียงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และมีการแสดงความชื่นชมยินดีในงานที่มีคุณภาพ ที่ทำให้นักเรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน