- บันทึกที่ 1 ใน 3 บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จของศิษย์ (achievement mindset) บันทึกนี้จะพูดถึงการฝึกให้นักเรียนตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
- ครูเป็นบุคคลหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนฟันฝ่าจนประสบความสำเร็จ เป็นการฝึกทักษะชีวิต (life skills) และโอกาสในการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญที่สุดต่อตนเองโดยที่เราไม่รู้ตัวตัว คือ ทักษะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ (make the impossible possible)
- เริ่มต้นด้วยการเลิกตีตรา เพราะทักษะความสามารถเป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ สร้างแรงจูงใจที่มองไม่เห็นให้กับนักเรียน
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ เป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้
บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ 1 ใน 3 บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จของศิษย์ (achievement mindset) ตีความจากตอนต้นของ Part Two : Why the Achievement Mindset? และ Chapter 4 Set Gutsy Goals เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู
สำหรับครูวาทกรรมของชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จ (achievement mindset) คือ ‘ฉันสามารถสร้างเจตคติ แรงบันดาลใจ และความมานะพยายามของนักเรียนสู่ความสำเร็จได้ ทักษะเหล่านี้ฝึกได้’ ผู้เขียนขอยํ้าว่าชุดความคิดนี้ใช้ได้กับนักเรียนทุกคน
ครูเป็นบุคคลหนึ่งที่สามารถช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้ และเมื่อนักเรียนประสบกับความล้มเหลว ครูไม่ควรปลอบโยนพวกเขาด้วยประโยค ‘เธอได้ทำดีที่สุดแล้ว’ ‘เธอมีจุดแข็งอย่างอื่น’ เพราะจะไปลดแรงจูงใจของนักเรียน ทำให้พวกเขามีความคาดหวังต่อตัวเองต่ำ และผลการเรียนตกตํ่า มีผลการวิจัยบอกว่าเมื่อนักเรียนมีแรงจูงใจ effect size ต่อความสำเร็จเท่ากับ 0.48
ข้อมูลหลักฐาน
มีผลวิจัยรายงานว่า ทัศนคติความคิดของครูมีผลต่อความสำเร็จของนักเรียนมากกว่าไอคิว สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และความสามารถในการอ่านของนักเรียน ครูสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อนักเรียน โดยการเปลี่ยนวิธีจากให้การตอบสนองอย่างอ่อน เช่น การให้รางวัล การให้คำชม หรือการลงโทษ ไปเป็นวิธีการที่สร้างแรงจูงใจแบบมองไม่เห็น สร้างชุดความคิดเจริญงอกงาม และเลิกตีตรา
แรงจูงใจแบบมองไม่เห็น
แรงจูงใจแบบมองไม่เห็น (the invisible motivators) ช่วยสร้างพลัง แรงจูงใจ และความมานะพยายามให้กับนักเรียน สามารถสร้างได้ผ่านปัจจัย 5 อย่าง ได้แก่ 1.กำหนดความหมาย กรอบงาน และวิธีทำงานอย่างถูกต้องเหมาะสม 2.จัดการ ‘พูดกับตนเอง(self talk)’ ของครู และของนักเรียน 3.ช่วยฝึกทักษะย่อยที่ต้องการใช้ในการทำงาน 4.กำจัดความคิดแบบแผ่นเสียงตกร่อง และ 5.ตีกรอบความล้มเหลว ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น
สร้างชุดความคิดเจริญงอกงาม
หัวใจของชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จ (achievement mindset) คือ การเรียนรู้ฝึกฝนได้ ทั้งฝึกครูและฝึกศิษย์ มีงานวิจัยทำการทดสอบว่า ทัศนคติมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนหรือไม่ พวกเขาแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 โดยกลุ่มที่หนึ่งนักวิจัยบอกกับนักเรียนว่า ความฉลาดเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (สร้าง fixed mindset) ส่วนอีกกลุ่มนักวิจัยบอกนักเรียนว่า ความฉลาดเป็นสิ่งที่ฝึกได้ (สร้าง growth mindset) ผลการทดสอบพบว่า ผลการเรียนของนักเรียนกลุ่มหลังสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสองปีให้หลังเด็กกลุ่มหลังก็ยังมีคะแนนผลการเรียนสูงกว่า
เลิกตีตรา
การถูกตีตราว่าด้อย ส่งผลลบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เจนเซนแนะนำให้ครูเลิกการตีตรา (drop the labels) เช่น ว่าเป็นนักเรียนจากชนกลุ่มน้อย ว่าเป็นนักเรียนที่ผลการเรียนอ่อน ว่าเป็นนักเรียนเด็กด้อยโอกาสหรือพิการ
ผลของการตั้งความคาดหวังสูง
มีผลวิจัยรายงานว่า การประเมินตนเองของนักเรียน โดยให้นักเรียนตั้งความคาดหวังเกรดของตนเอง ให้ effect size ต่อผลการเรียน เท่ากับ 1.44 เกือบจะสูงที่สุดในปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
หลักการสำคัญของครู คือ ไม่อนุญาตให้นักเรียนตั้งความคาดหวังตํ่าต่อการเรียนของตน แม้ว่านักเรียนคนนั้นจะมีประวัติเรียนอ่อนก็ตาม การบรรลุผลการเรียนในระดับสูง นักเรียนต้องทำงานหนัก มีผลการวิจัยบอกว่า มีปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่กระตุ้นให้นักเรียนขยัน ได้แก่
- นักเรียนมีความเชื่อว่าตนสามารถบรรลุเป้านั้นได้
- นักเรียนมีความเชื่อว่าครูช่วยหนุนให้ตนบรรลุเป้าได้
- การประเมินตนเองของนักเรียน
- แนวความคิดเกี่ยวกับตนเองในภาพรวมของนักเรียน
ครูสามารถมีอิทธิพลต่อปัจจัยทั้ง 4 ประการนี้ ซึ่งหมายความว่า ครูมีลู่ทางช่วยให้นักเรียนทำงานหนักได้
สร้างเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญ
การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในระดับที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เพื่อท้าทายความมานะพยายามของนักเรียน โดยมีครู (และคนในครอบครัว) ช่วยสนับสนุนให้พวกเขาฟันฝ่าจนประสบความสำเร็จ เป็นสุดยอดของการเรียนรู้ในชีวิต เป็นการฝึกทักษะชีวิต (life skills) ที่สุดยอด และโอกาสในการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญที่สุดต่อตนเองโดยที่เราไม่รู้ตัวตัว คือ ทักษะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ (make the impossible possible) โดยนัยนี้คนไทยส่วนใหญ่พลาดโอกาสนี้ ต้นเหตุคือระบบการศึกษาที่เดินผิดทาง
มีผลวิจัยรายงานว่า การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ระดับ mastery ให้ effect size ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้เท่ากับ 0.96 โดยต้องตระหนักว่าเป้าหมายนี้ต้องการเวลาเรียนในห้องเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 50 ซึ่งถือว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับ
การสร้างเป้าหมายการเรียนรู้มีสองส่วนที่สำคัญเท่าๆ กัน คือ 1.เป้าหมายภาพใหญ่ (big picture goal) และ 2.เป้าหมายปลายทาง (destination) ลักษณะของเป้าหมายที่ดีคือ revised SMART goal ซึ่งประกอบด้วย
- มีความชัดเจนและเป็นยุทธศาสตร์
- วัดได้
- น่าพิศวง (แทนการบรรลุได้)
- สอดคล้องกับตัวนักเรียน (แทนการมุ่งผลลัพธ์)
- มีเงื่อนไขเวลา
ผู้เขียนขอยํ้าว่า เป้าหมายระดับ mastery ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรียนวิชา ส่วนที่สำคัญยิ่งกว่าคือการช่วยให้นักเรียนพัฒนาสมรรถนะที่จะมีไปตลอดชีวิต เช่น อิทธิบาท 4 (grit) ชุดความคิดเจริญงอกงาม (growth mindset) ทักษะทางสังคม และการมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในชั้นเรียน
กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย
การเรียนรู้ในระบบการศึกษาในปัจจุบันมักบรรลุเป้าหมายในระดับการเรียนรู้ที่ผิวเผินคือ ตอบข้อสอบได้ สอบผ่าน แต่ไปไม่ถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับคล่องแคล่ว (proficiency) และยิ่งไม่ถึงระดับรู้จริง (mastery) ซึ่งนักเรียนต้องเรียนโดยเจาะลึกเข้าไปในสาระ ซึ่งต้องการความมานะพยายามอย่างต่อเนื่อง ใคร่ครวญสะท้อนคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ทำความชัดเจน วิเคราะห์ พัฒนาเป็นความเข้าใจที่ชัดเจนและซับซ้อน
เพื่อบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ดังกล่าว การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ต้องมีอย่างน้อย 4 มิติต่อไปนี้ 1.สร้างสิ่งที่มีคุณค่าสูงกว่าผลต่อตนเอง 2.เป็นเป้าที่ก่อผลกระทบสูง 3.นักเรียนเชื่อว่าครูจะหนุนให้บรรลุได้ และ 4.มีเป้าหมายรายทาง (micro goals)
เจนเซนยกตัวอย่างครูคนหนึ่ง ผลการสอนของเขาในปีที่แล้ว ครึ่งหนึ่งของนักเรียนบรรลุความคล่องแคล่ว (proficiency) ในวิชาคณิตศาสตร์ ในปีการศึกษาใหม่นี้เขาจึงกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายขึ้นมากว่า อย่างน้อยจะต้องมีนักเรียนจำนวนร้อยละ 80 คล่องแคล่วในวิชาคณิตศาสตร์ และร้อยละ 20 หรือกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับรู้จริง ผู้เขียนอยากบอกว่านี่ไม่ใช่เป้าหมายที่ท้าทาย
เป้าหมายที่ท้าทายที่ผู้เขียนขอยกมาเป็นตัวอย่าง ‘นักเรียนชั้น ป.1 ของฉันจะอ่าน เขียน คิดเลข และมีพฤติกรรมที่แสดงว่าพร้อมขึ้นไปเรียนชั้น ป.3 ไม่ใช่ ป.2’ ซึ่งเป็นการวางเป้าให้นักเรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้เพิ่มเท่ากับ 2 ปีการศึกษาไม่ใช่เพียงปีการศึกษาเดียว มีผลวิจัยรายงานว่า ตัวอย่างครูชั้นยอดเยี่ยมที่จัดการเรียนรู้ให้นักเรียนยกระดับขึ้นเท่ากับ 3 ปีการศึกษาในการเรียนเพียงปีเดียว และการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนที่ขาดแคลนใน 1 ปี ให้เกิดการเรียนรู้เท่ากับ 1.5 – 3 ปี เป็นเรื่องปกติ เพราะนักเรียนเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นที่ตํ่า เมื่อได้รับกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องจึงเรียนรู้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมหัศจรรย์
เขายกตัวอย่างเป้าหมายที่ท้าทายในต่างระดับชั้นเรียน
ระดับประถมศึกษา ‚นักเรียนชั้น ป.๒ ของฉัน จะอ่าน เขียน คิดเลข และมีพฤติกรรม ที่บอกว่าพร้อมขึ้นไปเรียนชั้น ป.๔ ไม่ใช่ ป.๓‛
ระดับมัธยมศึกษา เป้าหมายเชิงกระบวนการของครูวิทยาศาสตร์ ‘ฉันจะสอนนักเรียนให้รู้วิธีการสร้างเมืองขึ้นใหม่หลังจากประสบภัยพิบัติ’ ครูวิชาภาษาไทยชั้น ม. ต้น อาจมอบงานให้นักเรียนร่วมกันเขียนเรียงความเรื่องเปลี่ยนโลก นำผลงานที่ปรับปรุงแล้วไปอ่านให้ผู้นำชุมชนฟัง คำแนะนำป้อนกลับที่ได้รับจะมีผลในระดับเปลี่ยนชีวิตของนักเรียน ครูวิชาคณิตศาสตร์อาจกำหนดเป้าหมายว่า ‘ในช่วงปลายปีการศึกษา นักเรียนจะช่วยกันเขียนหนังสือ ‘วิธีการเรียนที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในวิชาคณิตศาสตร์’ เป็นหนังสือคู่มือการเรียน’
เป้าหมายความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ‘ฉันจะรู้จักชื่อเล่นของนักเรียนทุกคนในชั้น’
ให้เหตุผลเพื่อให้เชื่อว่าบรรลุได้
ในหนังสือบอกว่า ครูใช้เวลาเพียง 20 วินาทีเท่านั้น ยืนยันให้ศิษย์เชื่อว่าพวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายร่วมกันได้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือ โดยใช้คำพูดในทำนองนี้ ‘เป้าหมายที่เราช่วยกันกำหนดนี้สำคัญมากต่อชีวิตของพวกเธอ ครูเชื่อว่าพวกเธอทำได้ หากพยายามอย่างฉลาด ครูแคร์พวกเธอ แคร์ผลการเรียนของพวกเธอ ครูจะไม่ท้อถอย จะสอนพวกเธอคนใดคนหนึ่งซํ้าอีกกี่ครั้งก็ได้ จนทุกคนบรรลุเป้าหมาย เราต้องบรรลุเป้าหมายทุกคน หากใครคนใดคนหนึ่งล้มเหลว หมายความว่าพวกเราทุกคนล้มเหลว รวมทั้งครูด้วย’ หรือ ‘ครูแคร์พวกเธอ ครูชำนาญหน้าที่ครู ครูจะทำงานหนัก ต่อเนื่อง และเรียนจากการทำผิดพลาด ขอให้พวกเธอทำหน้าที่ส่วนของพวกเธอ ครูจะทำหน้าที่ส่วนของครู ครูจะไม่ให้พวกเธอล้มเหลวแม้แต่คนเดียว เราเริ่มต้นทำงานกันได้แล้ว’
ส่วนที่สำคัญที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายคือ การสอนให้นักเรียนรู้วิธีจัดการความผิดพลาดล้มเหลว บอกนักเรียนว่า ความผิดพลาดหรือล้มเหลวเป็นสิ่งที่จะพบเสมอในชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญก้าวหน้า ความล้มเหลวเป็นบทเรียน ความล้มเหลวช่วยสอนเรา คนเราเป็นอย่างไรให้ดูที่การตอบสนองต่อความล้มเหลว
อย่างไรก็ตามการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายต้องการแรงเสริม หรือกำลังใจ เป็นระยะๆ และนั่นคือความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายรายทาง
ใช้เป้าหมายรายทางเพื่อเชื่อมรอยต่อ
การกำหนดเป้าหมายสูงลิ่วสร้างความตื่นเต้นแก่นักเรียนแทบทุกคน แต่เป็นการยากที่จะทำให้นักเรียนดำรงความตื่นเต้นเอาจริงเอาจังกับเป้าหมายดังกล่าวได้ในระยะยาว จึงต้องใช้กลยุทธกำหนดเป้าหมายรายทางที่สามารถบรรลุได้ภายในหนึ่งสัปดาห์หรือสั้นกว่านั้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียน
- มีความมั่นใจในขีดความสามารถจำเพาะเรื่องของพวกตน
- ประจักษ์ด้วยตนเองว่ามีความคืบหน้าสู่เป้าหมาย วัดได้ชัดเจน
- สร้างอารมณ์ร่วม และกำลังใจ จากการบรรลุความสำเร็จและการเฉลิมฉลอง
การใช้เป้าหมายรายทางเป็นเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการเรียนรู้นี้ มี effect size สูงถึง 0.97
เมื่อนักเรียนตั้งคำถามที่ถูกต้อง หรือบรรลุเป้าหมายรายทาง ครูพึงจัดการเฉลิมฉลอง และจัดการพูดคุยเพื่อบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ในระดับที่สูงยิ่งขึ้น