- Five Minds for the Future โดย โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ เจ้าของทฤษฎีพหุปัญญา หนังสือที่ว่าด้วย ‘จิต 5 แบบที่ควรมีเพื่ออนาคต’ การตกผลึกทางความคิดผ่านการเรียนรู้เฉพาะตัวบุคคล คือ จิตวิทยาการ, จิตแห่งการสังเคราะห์, จิตแห่งการสร้างสรรค์, จิตแห่งการเคารพ และ จิตแห่งคุณธรรม คือเครื่องมือสำคัญที่พ่อแม่และโรงเรียนต้องติดตั้งให้เยาวชนในโลกยุคใหม่
- ยกตัวอย่าง จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) หมายถึง จิตที่สามารถคัดกรอง แยกแยะ จัดลำดับข้อมูล ให้เหลือเพียงสิ่งสำคัญและตรงกับจุดมุ่งหมาย นำมาสรุปใหม่ตามความเข้าใจและถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
“The public is indoctrinated to believe that skills are valuable and reliable only if they are the result of formal schooling.”
“เราถูกฝังหัวกันมาว่าทักษะความรู้จะมีค่าและน่าเชื่อถือ ก็ต่อเมื่อถูกสอนจากโรงเรียนเท่านั้น”
ข้อความข้างต้นมาจากหนังสือ Deschooling Society ของ ไอวาน อิลลิช (Ivan Illich) นักคิดนักเขียนเชิงวิพากษ์ หนังสือที่ออกมาตั้งแต่ปี 1971 เล่มนี้โด่งดังถล่มทลายจากการปลุกกระแสให้คนทั่วโลกตาสว่างกับระบบการศึกษาในโรงเรียน ที่นอกจากจะไม่ได้ถ่ายทอดทักษะความรู้ที่เป็นเนื้อเดียวกับความเป็นไปของชีวิต ยังฝังหัวให้นักเรียนเข้าใจว่าการสั่งสอนให้ ‘ทำตาม’ กับ ‘การเรียนรู้’ เป็นเรื่องเดียวกัน การทำคะแนนยอดเยี่ยม และ ประกาศนียบัตร คือเป้าหมายการศึกษาและตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพของบุคคล
อิลลิช อธิบายที่มาของการศึกษาภาคบังคับซึ่งสอนวิชาสามัญแปลกแยกจากกันชัดเจนว่า ในสมัยที่ทุนนิยมเข้าครองโลกช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ระบบการศึกษาพยายามวางกรอบให้นักเรียนจบไปเป็นแรงงานสายการผลิตที่มีเครื่องจักรกลเป็นเครื่องมือ สภาพเศรษฐกิจขณะนั้นก่อให้เกิดการแบ่งแยกสายงานและแรงงานแบบปัจเจก การศึกษาจึงไม่ไปแตะพื้นที่ความชอบ ความสนใจของบุคคล หรือการเดินตามฝัน หากเป็นแต่เพียงเฟืองขับเคลื่อนชิ้นหนึ่งที่พยายามรับใช้ระบบทุนนิยม พูดง่ายๆ คือ การเรียนรู้และพัฒนาการทางศักยภาพของบุคคลไม่ใช่สาระสำคัญของการศึกษาสมัยนั้น
อิลลิชวิพากษ์ถึงสังคมผูกขาดการศึกษาให้อยู่แต่ในโรงเรียนอย่างหมดศรัทธาว่า
โรงเรียนทุกวันนี้เป็นระบบที่มีไว้เพื่อกีดกันตำแหน่งงานให้คนที่มีเงินมากพอจะเข้าไปเรียนในระบบและจบจากสถาบันเท่านั้น ทั้งที่จริง การเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพและประสบการณ์ชีวิตให้ลูกหลานของเรานั้นเกิดขึ้นจากนอกโรงเรียนก็ได้
เช่น การตั้งเครือข่ายการเรียนรู้ประจำท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้ที่ตกทอดกันมาในชุมชน หรือการอนุรักษ์สืบสานประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่นให้ยั่งยืนสืบไป ไม่ใช่การผูกขาดอนาคตของพวกเขาไว้กับการศึกษาในระบบเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ปริญญาบัตรหรือวุฒิการศึกษาอาจลวงให้ใครหลายคนคิดว่าระยะเวลาสำหรับการเรียนรู้สิ้นสุดลงทันทีที่พวกเขาเรียนจบ หรือถึงกับดูแคลนความรู้ชาวบ้านหรือทักษะความรู้นอกเหนือไปจากที่โรงเรียนสอน
ในประเด็นการศึกษา แม้แต่ปรมาจารย์ด้านจิตวิทยา โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ยังแสดงความเป็นห่วงต่อหลักสูตรของโรงเรียนในปัจจุบันที่ยังล้าหลังเช่นกัน บุคลากรจากระบบการศึกษาซึ่งไร้ประสิทธิภาพในการคิดและการเข้าสังคม ก็เป็นตัวชี้วัดว่าการศึกษากำลังสอนเนื้อหาที่อยู่คนละทิศกับโลกจริง และยังสร้างกับดักลวงให้คนหนุ่มสาวคิดว่า การเป็นดาวเด่นในโลกยุคใหม่ต้องเป็นคนเก่งสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
ปลูกฝังจิต 5 แบบเพื่อโลกศตวรรษที่ 21
การ์ดเนอร์ชี้ว่า โลกจะแห้งแล้งแค่ไหนเมื่อเราเอาแต่ยึดตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล ความเที่ยงตรงแม่นยำแห่งวิทยาศาสตร์มาอธิบายสุนทรียภาพที่จะได้จากวรรณกรรม ศรัทธาความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ความตาย ความหมายของการมีชีวิต
การให้น้ำหนักการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือ เทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงความรู้ที่สอนมิติความเป็นมนุษย์ เช่น สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ศิลปะ การเมืองการปกครอง ปรัชญา สาธารณสุขเป็นอันตรายใหญ่หลวง เพราะแม้ความก้าวหน้าต้องพึ่งพาวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากแค่ไหน เราจะละทิ้งคุณค่าความเป็นมนุษย์ไว้กลางทางไม่ได้
ในหนังสือ Five Minds for the Future การ์ดเนอร์เอ่ยถึง ‘จิต 5 แบบที่ควรมีเพื่ออนาคต’ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ที่ออกมาก่อนหน้า ทฤษฎีพหุปัญญาจำแนกปัญญาหรือความรอบรู้ของมนุษย์ออกเป็น 9 ด้าน ส่วนลักษณะจิตหรือ minds ในที่นี้คือการตกผลึกทางความคิดผ่านการเรียนรู้เฉพาะตัวบุคคล ซึ่งการ์ดเนอร์อธิบายว่าลักษณะจิตทั้ง 5 แบบที่จะกล่าวถึงนี้คือเครื่องมือสำคัญที่พ่อแม่และโรงเรียนต้องติดตั้งให้ลูกหลานเยาวชนทุกคนในโลกยุคใหม่
1. จิตวิทยาการ (Disciplined Mind)
คือจิตที่มีความรู้แตกฉานในวิชาการหรือศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง เช่น ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ศิลปศาสตร์ หัตถกรรม วิศวกรรม พฤกษศาสตร์ การวางแผน การเขียน การบริหาร ผ่านการเรียนรู้ ทำความเข้าใจและฝึกฝนอย่างต่อเนื่องยาวนานจนสามารถนำความรู้นั้นไปสร้างประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์หรือสร้างอาชีพได้
จิตวิทยาการอาจไม่ได้เกิดจากการสั่งสอนที่โรงเรียนเสมอไป แต่เป็นความเชี่ยวชาญเชิงวิชาชีพหรือวิถีชีวิตจากการคลุกคลีทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น ชุมชนชาวประมงที่สืบทอดทักษะการหาแหล่งปลาและคาดคะเนสภาพอากาศเหมาะสมในการเดินเรืออย่างแม่นยำ หรือพ่อค้าผลไม้ที่สามารถรู้ระยะสุกห่ามของทุเรียนจากการเคาะ มีทักษะการใช้มีดปอกได้คล่องแคล่วแม่นยำและคิดเลขในใจได้เร็ว
กระบวนการปลูกฝังจิตวิทยาการนี้ การ์ดเนอร์ระบุว่าควรเริ่มสอนในเด็กก่อนพวกเขาโตเป็นวัยรุ่น เพราะกว่าบุคคลจะมีจิตวิทยาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้เต็มตัว อาจใช้เวลาเป็นสิบปี จากนั้นจิตที่มีความรู้ความเข้าใจนี้จะดำรงอยู่และต่อยอดการเรียนรู้เพิ่มเติมไปตลอดชีวิต
การท่องจำหลักทฤษฎีเป็นนกแก้วนกขุนทอง หรือทำตามที่เรียนมาเป๊ะๆ ไม่ใช่จิตวิทยาการ สำคัญคือบุคคลนั้นต้องมีเจตคติที่จะเรียนรู้เพื่อเป้าหมาย รู้จักใช้ไหวพริบพลิกแพลงนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์
หากไม่มีจิตวิทยาการในศาสตร์ใดเลย บุคคลนั้นจะทำได้เพียงอาชีพที่ต้องทำงานตามสูตรสำเร็จที่วางมาให้ จึงมักเป็นแรงงานที่ทดแทนได้ รายได้ต่ำและไม่เติบโต
2. จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind)
คือจิตที่สามารถคัดกรองข้อมูลหรือความรู้ต่างๆ และลำดับจัดการแยกแยะรายละเอียดเหล่านั้นให้เหลือเพียงสิ่งสำคัญและตรงกับจุดมุ่งหมาย นำมาสรุปใหม่ตามความเข้าใจและถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ ยกตัวอย่างเช่น การนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการตอบข้อสอบ การเขียนหนังสือ งานวิจัย หรือ สรุปความคืบหน้าโครงการเพื่อนำเสนอที่ประชุม
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นโลกในปัจจุบัน จิตแห่งการสังเคราะห์ควรได้รับการสั่งสอนตั้งแต่วัยเด็กและต่อเนื่องไปตลอดชีวิต หากเติบโตไปโดยปราศจากจิตแห่งการสังเคราะห์ บุคคลนั้นจะไร้วิจารณญาณในการตัดสินใจ มีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด
3. จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creating Mind)
คือจิตที่เห็นมุมมองหรือไอเดียจัดการปัญหาแปลกใหม่แตกต่างจากเดิม เห็นโอกาสในวิกฤติ กล้าคิดกล้าทำสิ่งแหวกแนวไม่ซ้ำเก่าเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า กับทั้งต้องเห็นด้วยว่าสิ่งที่จะทำนั้นยืดหยุ่นรับความผันผวนเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้
การ์ดเนอร์กล่าวว่า จิตแห่งการสร้างสรรค์มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนตั้งแต่วัยเยาว์ มาพร้อมกับสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นทุกอย่างรอบตัว
ครอบครัวหรือโรงเรียนที่ปิดกั้นการคิดการถาม และวางกฎระเบียบให้อยู่ในกรอบปฏิบัติตายตัวคือตัวการสำคัญที่หยุดยั้งไม่ให้จิตแห่งการสร้างสรรค์งอกงามขึ้น
คนที่ไม่มีจิตลักษณะนี้จะขาดคุณสมบัติสำคัญคือ การคิดพลิกแพลงนอกกรอบ ซึ่งสามารถเอาชนะเหนือมันสมองประดิษฐ์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ดังนั้นจึงมีโอกาสเสียเก้าอี้ให้หุ่นยนต์จักรกลเข้ามาแย่งงานไปอย่างช่วยไม่ได้
4. จิตแห่งการเคารพ (Respectful Mind)
คือจิตที่เข้าใจจุดยืนของตนแต่สามารถยอมรับความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างของคนอื่นอย่างอ่อนน้อม ไม่ดูแคลนความเชื่อหรือวิถีดำเนินชีวิตของผู้อื่นว่าไม่จริงหรือด้อยกว่า
จิตแห่งการเคารพคือการมองทะลุจิตใจคนอื่นที่มีปัจจัยต่างกันเหล่านั้น และเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น ที่โรงเรียน การร่วมงานกับเพื่อนจากต่างพื้นเพ หรือครูที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเราเป็นเรื่องธรรมดา ในที่ทำงาน มุมมองขัดแย้งจากต่างแผนกอาจมาจากข้อจำกัดและความเป็นไปได้คนละมุมมอง
การ์ดเนอร์ย้ำว่าการปลูกฝังจิตลักษณะนี้ ต้นแบบคือพ่อแม่ เพราะเด็กจะพัฒนาจิตแห่งการเคารพได้ตั้งแต่แรกเกิด จากนั้นสภาพแวดล้อมทางสังคมอื่นๆ เช่น โรงเรียน เพื่อน สื่อต่างๆ และที่ทำงานก็มีส่วนขัดเกลาด้วยเช่นกัน
หากมีคนที่ขาดจิตแห่งการเคารพอยู่ในครอบครัว โรงเรียนหรือออฟฟิศ เราจะสัมผัสได้ถึงมลพิษทางความสัมพันธ์และพบเจอปัญหาความขัดแย้งอย่างแน่นอน
5. จิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind)
คือจิตที่ตระหนักรู้ในคุณค่าของภาระหน้าที่การเป็นมนุษย์ ครอบคลุมถึงการเป็นพลเมืองของชุมชน ของประเทศชาติและโลกใบนี้โดยยึดมั่นอยู่บนความดีงาม เช่น เกษตรกรที่คิดถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสารเคมีฆ่าแมลง และมีกรรมวิธีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ หรือสื่อมวลชนที่ยึดในจรรยาบรรณความรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าว
จิตแห่งคุณธรรมนี้ต้องปลูกฝังในเด็กที่โตพอจะเริ่มคิดได้และกำลังอยู่ในช่วงเริ่มพัฒนาตัวตนด้านลักษณะนิสัย พ่อแม่คุณครูและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมีส่วนสำคัญในการปลูกจิตแห่งคุณธรรมให้เกิดขึ้นอย่างมาก โลกที่ผู้คนปราศจากจิตแห่งคุณธรรมคือหายนะของมนุษยชาติอย่างไม่ต้องพูดถึง
อ้างอิง:
Gardner, H. (2007). Five Minds for the Future. Boston, MA: Harvard Business School Publishing.
Scheidler, F. (2015, July 22). Learning Beyond Growth: Deschooling as a Path to Social-Ecological Transformation. Retrieved from Resilience