- ความห่างระหว่างพ่อแม่และเด็กที่เกิดในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แค่อายุ แต่คือ ‘ทักษะ’ และ ‘วิธีมองโลก’ อันเกิดจากความคุ้นชินในเทคโนโลยี
- พ่อแม่ ครู และนักการศึกษาจะห่วงว่าเด็กยุคนี้ติดเทคโนโลยีเกินไป ใช้ไม่ได้แล้ว แต่ผู้ใหญ่ยุคนี้ต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนให้พวกเขาใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้นชินและเป็นประโยชน์ เพราะนี่คืออาวุธทำมาหากินของพวกเขาในอนาคตอันใกล้
- การเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้ จึงไม่ใช่แค่ทักษะวิชาการ แต่คือทักษะทางอารมณ์ และสกิลในการประมวลข้อมูลที่มากล้น พิจารณาเข้าไปในแก่นกลางและย่อยข้อมูลนั้นออกมาให้ได้
- บทความนี้รวบรวม ‘คำทำนาย’ และ ‘คำแนะนำ’ จากเครือข่ายและนักการศึกษาโลก วิเคราะห์ว่า ทักษะที่เด็กและครูควรมีในศตวรรษที่ 21 คืออะไร?!
เด็กที่กำลังจะเข้าอนุบาล หรืออายุราว 3 ขวบในวันนี้ จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีก 20 ปีข้างหน้า คือราวปี 2038 คิดดูว่าโลกของพวกเราในมือของเด็กๆ ในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน?
ในยุคดิจิตอล ยุคที่คนสมัยนี้มีตัวเลขประจำตัวจากรัฐ และมีบัญชีออนไลน์ในเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ชะตาชีวิตของพวกเรา ‘ส่วนหนึ่ง’ ถูกบอกว่าจะเป็น จะเห็น หรือควรจะเห็นอะไรบ้าง จากนโยบายเฟซบุ๊คเรื่องการปรับอัลกอริธึมของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก
นี่ไม่ใช่แค่ความกังวลจาก ‘ผู้ใหญ่ในวันนี้’ ว่าคนรุ่นใหม่จะอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไป ทำให้ขี้เกียจ มีสายตาสั้น อ้วนเพราะไม่ได้ขยับตัว ไม่อดทน หรือมีบุคลิกบางอย่างที่ไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน แต่นี่คือ ‘ดีเอ็นเอ’ ‘ทักษะ’ และ ‘อาวุธ’ ของคนรุ่นใหม่ พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี และมันจะเป็นอาชีพของพวกเขาในอนาคตอย่างไม่มีทางเป็นอื่น
21st Century Skill หรือ ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นที่พูดถึงในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ทำนายว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไร แต่งานวิจัย นักการศึกษา หรือนโยบายด้านการศึกษาของหลายๆ ประเทศต่างปรับการเรียนการสอนเพื่อ เปลี่ยนทัศนคติของครู เปลี่ยนวิธีเรียน เพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี
พูดให้ชัดกว่านั้น ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างเทคโนโลยี อาชีพ และโลกใหม่ที่คนในยุคปัจจุบันมองเห็นได้ในภาพยนตร์ไซไฟจากฮอลลีวูด
ด้วยความคิดตั้งต้นว่า
ทักษะของเด็กในศตวรรษที่ 21 จำต้องมี อาจไม่ใช่การท่องจำดังที่เคยเป็นมา แต่คือความเท่าทัน รู้ว่าจะจัดการกับข้อมูลมากล้นตรงหน้า จะพุ่งเข้าสู่แก่นกลางของเรื่อง และประมวลมันออกมาได้อย่างไร
นี่เป็นแค่ทักษะตั้งต้น ยิ่งเริ่มในเด็กเล็กเท่าไรก็ยิ่งดี
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง
คำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามเอากับใคร เพราะงานวิจัยหลายชิ้นยังคงให้คำตอบที่ไม่ตรงกัน แต่คำอธิบายหลายชิ้นตั้งแต่ กลุ่ม P21 เครือข่ายทำงานด้านความรู้ในศตวรรษที่ 21, Tony Wagner อาจารย์และผู้ร่วมก่อตั้ง Change Leadership Group แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจากนโยบายด้านการศึกษาจากรัฐไอโอวา สหรัฐ ชี้คล้ายกันว่า…
ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 คือ ‘ทักษะทางด้านอารมณ์’ (soft skills) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมอารมณ์ แต่ทักษะทั้งหมด และเขียนอย่างเป็นทางการในภาษาวิชาการ คือสูตร 3R x 7C
3R หรือ ทักษะด้านความรู้ (hard skills)
- Reading (อ่านออก)
- (W) Riting (เขียนได้)
- (A) Rithmetics (คิดเลขเป็น)
7C หรือ ทักษะทางอารมณ์ (soft skills)
- Critical thinking & Problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
- Creativity & Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม)
- Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
- Collaboration, Teamwork & Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
- Communications, Information & Media literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ)
- Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
- Career & Learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ ‘ครู’ ควรสอนในห้องเรียน จึงควรเป็นอะไรบ้าง
เจอปัญหาโลกแตกอีกแล้ว เพราะถ้าเราบอกว่า เราควรพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ควบคู่กับทักษะพื้นฐานทางความรู้ แต่การเรียนการสอนไม่ได้เป็นสิ่งตายตัว แต่เคล็ดลับ หรือแนวการสอนสมัยใหม่โลก แนะนำไว้ดังนี้
การเรียนแบบ Sustained Shared Thinking (SST) หรือการที่ครูให้ความสำคัญกับ ‘บทสนทนา’ ของนักเรียน และขึ้นกับ ‘ความสัมพันธ์’ ของเด็กและครู ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี แนวคิดนี้เป็นวิธีคิดง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องอิงกับหลักสูตรในห้อง และไม่ต้องแบ่งออกเป็นคลาสๆ เพราะการเร่ง กระตุ้น ตั้งคำถามด้วยการใช้คำศัพท์ใหม่ๆ กับนักเรียน เป็นเรื่องที่ทั้งครู พ่อแม่ กระทั่งแม่บ้านในโรงเรียน เจ้าหน้าที่ขับรถรับส่ง ทำไปพร้อมๆ กันได้
และ SST ไม่ใช่แค่การชวนคุย แต่คือการชวนคุยในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา อธิบายคอนเซ็ปท์ของเรื่องที่กำลังคุยกันอยู่ ร่วมกันประเมินหรือวางแผนว่าวันนี้จะเรียนอะไร จะทำอะไร หรือชวนกันแต่งเรื่องนิทาน แต่งเรื่องจากคำทีละคำ
ซิสซานา พาลเมอร์ (Tsisana Palmer) ครู และเจ้าของเว็บไซต์ techteachercenter.com เล่าประสบการณ์การสอนของเธอใน Edutopia มูลนิธิที่ทำงานเพื่อการศึกษา อธิบายการปรับตัว และทักษะที่ครูต้องมีเพื่อสอนเด็กในศตวรรษที่ 21 ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. จุดศูนย์กลางอยู่ที่นักเรียน ไม่ใช่ครู
เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่ใต้นิ้วและจอสมาร์ทโฟนของนักเรียน การเข้าถึงข้อมูลของเด็กๆ ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ครูอีกต่อไป และนี่ไม่ใช่ศตวรรษของห้องเรียน ‘สำเร็จรูป’ ครูต้องเคารพในความหลากหลาย การบอกว่านักเรียนต้องทำตามกฎใดหนึ่ง จึงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเด็ดขาดอีกต่อไป แต่การเรียนการสอนต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียน เด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะกำหนดว่า ‘วันนี้พวกเขาอยากรู้อะไร’
และนี่ยังเป็นโอกาสดีให้ครูสร้างการเรียนรู้อย่าง ‘Project-based Learning’ หรือการเรียนการสอน การบ้านที่มาจาก ‘สิ่งที่นักเรียนสงสัย’ ไม่ใช่สิ่งที่ครูบอกให้สงสัย
2. สมาร์ทโฟน โทรศัพท์ ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในห้องอีกต่อไป
ครูต้องเลิกอคติเห็นว่าสมาร์ทโฟนหรือเทคโนโลยีคือตัวร้าย บ่อนทำลายสมองของเด็ก เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาคือ ‘มนุษย์สายพันธุ์ดิจิตอล’ ต้องเลิกมองว่านักเรียนคือนักเรียน แต่ให้คิดว่าพวกเขาคือ ‘Producer’ ที่สร้างสรรค์งาน ทำการบ้าน หรือออกแบบวิธีเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เขียนบล็อก ทำคลิปวิดีโอ พรีเซนต์งานผ่านเครื่องมือดิจิตอลต่างๆ
การสอนด้วยเทคโนโลยี และสร้างกติกาที่เคารพความคิด และตระหนักว่าจะไม่เข้าขัดขวางจินตนาการของเด็ก คุณครูอาจเห็นงานสุดล้ำ ที่มาจากไอเดียแจ่มๆ ของเด็กก็ได้
3. จะทำข้อ 2 ได้ ครูต้องตามให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย
การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ครูก็ด้วยเช่นกัน พาลเมอร์เห็นว่าเพื่อที่จะช่วยคิดและเสนอไอเดีย ครูจำต้องให้คำแนะนำไอเดียใหม่ๆ แก่เด็กได้ด้วย และนี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างศิษย์และครู แต่คือการร่วมกันพัฒนา
4. ใช้เทคโนโลยีในมือ ออกเดินทางไปทั่วโลก
เทคโนโลยีคือการเปิดโลกกว้าง คงจะดีไม่น้อยที่ครูและศิษย์จะใช้มันเพื่อการเรียนการสอน ออกเดินทางและค้นหาวัฒนธรรมรอบโลก
5. เขียนเล่าประสบการณ์ครู ในบล็อก
พาลเมอร์เสนอว่า ครูควรเขียนเรื่อง อธิบายประสบการณ์ สิ่งที่เจอแต่ละวันในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว ไม่ใช่แค่การเล่าเรื่อง แต่มันคือการพัฒนาทักษะการเขียน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียบเรียงและจัดลำดับข้อมูล
6. สร้างพื้นที่ทำงานออนไลน์ร่วมกันระหว่างครูและศิษย์
การทำงานสมัยใหม่ ใครๆ ก็มีกรุ๊ปแชท กรุ๊ปไลน์ ซึ่งเราไม่ได้ใช้มันแค่เป็นพื้นที่พูดคุย แต่คือพื้นที่ทำงาน แล้วทำไมครูกับศิษย์จะมีไม่ได้ ก็ในเมื่อมันคือการทำงานร่วมกัน นอกจากจะได้ติดตาม คอยให้คำแนะนำนักเรียนเรื่องการบ้าน ยังเป็นพื้นที่สื่อสารระหว่างครูและศิษย์ด้วย
7. ให้เด็กๆ เขียน Code ด้วยตัวเอง
การเรียนด้วยปากกา ดินสอ สมุด เป็นอาวุธของนักเรียนเรื่อยมา แต่ถ้าเรากำลังมองถึงทักษะของเด็กๆ ที่เกิดมาก็อยู่กับคอมพิวเตอร์แล้ว การสื่อสาร การสร้างคอนเทนต์ของพวกเขาจึงไม่ใช่แค่การพูด ฟัง อ่าน เขียนหนังสือ แต่คือการสร้างพื้นที่สื่อสารใหม่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลย
เช่น การสอนให้ทำเว็บเพจ การเขียนโค้ด HTML และอื่นๆ
8. อย่าหมดไฟกับการเรียนรู้
เป็นครูในยุคเปลี่ยนผ่าน จากการเรียนการสอนในหนังสือไปสอนด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ง่าย เพราะต้องผ่านการต่อสู้กับศีลธรรม และกฎระเบียบในห้องเรียนที่ครูปัจจุบันเคยถูกสอนมา แต่อย่าหมดไฟกับการเรียนรู้ และจงสนุก เพราะมันสนุก พาลเมอร์ย้ำเช่นกัน