- หลายครั้งที่ต้องเลือกระหว่าง ‘สิ่งที่หลงใหลอยากทำ’ กับ ‘สิ่งที่ต้องทำเพราะความจำเป็น’ คงจะดีไม่น้อยถ้าทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน
- ไม่ว่า passion จะมาจากทางไหน ปัจจัยร่วมคือค้นหา ‘คุณค่า’ ของงานที่ทำ จนพบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ที่ตรงกับความเชื่อหรือพลังภายในของตนเอง
- แต่เมื่อค้นพบคุณค่า จนทำให้เรารักและหลงใหลในงานตรงหน้า แต่สิ่งที่จะพัฒนาต่อยอดความรักนั้น คือความอดทนที่จะพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
- ทั้งหมดนี้ ‘พ่อแม่’ ช่วยลูกสร้างได้
ความสำเร็จของนักกีฬาชื่อดังหลายคนไม่ได้อยู่ที่พรสวรรค์ใดๆ เพราะคงไม่มีใครเล่นกีฬาเก่งมาตั้งแต่เกิด ซึ่งกว่าจะมาถึงวันแห่งชัยชนะได้ นอกจากหลงใหลคลั่งไคล้ในกีฬาชนิดนั้นๆ แล้ว พวกเขายังต้องมุมานะพยายามฝึกซ้อมยาวนานหลายปี
กล่าวกันว่า ความมุมานะพยายาม (grit) มีหลายระดับ แต่ละระดับล้วนมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป
แต่ความมุมานะเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาวมี 2 องค์ประกอบคือ passion ที่หมายถึงความชอบระดับหลงใหล กับ perseverance ที่หมายถึงความอดทน มานะพยายาม ไม่ท้อถอย
หลายคนเข้าใจผิดว่า passion หรือความชอบความหลงใหลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ฟ้าประทานให้ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช กล่าวไว้ว่า passion มาจาก 2 ทางคือ
- ทางที่เลือก หมายความถึงคนที่โชคดีในชีวิต ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และได้เลือกอย่างนั้น
- ทางที่ไม่ได้เลือก หมายถึง ชะตาชีวิตพาไปพบ เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ จึงต้องเรียนและหางานทำ และชะตาชีวิตพาไปทำงาน ‘ที่ใช่’ นั้นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มนี้
ไม่ว่าจะได้ passion มาจากทางไหน ปัจจัยร่วมคือการค้นหา ‘คุณค่า’ ของงานที่ทำ จนพบคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ ที่ตรงกับความเชื่อหรือพลังภายในของตนเอง ที่เป็นแรงผลักดันให้ทำสิ่งนั้นจนประสบผลสำเร็จ
ทำอย่างไรเราจะค้นพบ ‘คุณค่าที่ยิ่งใหญ่’ ในชีวิตได้เร็วขึ้น?
มนุษย์เรียนรู้ได้หลายมิติ จากการกระทำของตนเอง ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง และค้นหาคุณค่าลึกๆ ของสิ่งที่เผชิญ เมื่อค้นพบคุณค่าก็จะเกิดความรักความหลงใหล (passion) ในสิ่งนั้น การเรียนรู้แนวทางนี้จะงอกงามทั้ง passion และทำให้เราอดทนทำในสิ่งที่เราหลงใหล หรือ perseverance ที่ทำให้เรา ‘ต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ’ เพื่อต่อยอดความหลงใหลของเรา
แอนเจลา ดัคเวิร์ธ (Angela Duckworth) บอกว่า คนมักเข้าใจผิดว่า พลังของความมุมานะ หรือ grit มาจาก ‘จำนวน’ หรือการใช้เวลามากกับการฝึกฝน ซึ่งถูกเพียงเล็กน้อย แต่พลังของ grit ส่วนใหญ่มาจาก ‘คุณภาพ’ หรือวิธีการฝึกฝนที่ถูกต้อง
การฝึกเฉยๆ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่ต้องฝึกและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา (deliberate practice) ซึ่งกรณีนี้พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือโค้ชที่ดีจะช่วยได้
การฝึกและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลามี 4 องค์ประกอบ ดังนี้
- มีเป้าหมายที่ยากแต่ชัดเจน
- ฝึกอย่างมีสมาธิ และพยายามเต็มที่
- มี feedback หรือการสะท้อนกลับทันทีอย่างมีข้อมูลหลักฐาน
- ฝึกซ้ำโดยมีการไตร่ตรองสะท้อนคิดและหาทางปรับปรุง
อ่านมาถึงตรงนี้คงพอเข้าใจแล้วว่า grit เป็นสิ่งที่งอกงามขยายตัวได้ และมีธรรมชาติงอกงามตามอายุ วิธีพัฒนา grit มี 2 แนวทางคือ แนวทางเติบโตจากภายในตนเอง กับแนวทางสนับสนุนจากภายนอก
แนวทางเติบโตจากภายใน
มี 4 วิธีคือ
- ความสนใจและได้รับประโยชน์ (interest)
- การฝึกปฏิบัติ (practice)
- มีเป้าหมายเชิงคุณค่า (purpose)
- มีความคาดหวัง (hope)
แนวทางสนับสนุนจากภายนอก
ได้แก่
- การเลี้ยงดูของพ่อแม่ (parenting)
- การมีพื้นที่ให้ grit ทำงาน (grit player)
- มีวัฒนธรรมที่ส่งเสริม grit (grit culture)
เห็นได้ว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ grit งอกงามขยายตัวได้ แต่พ่อแม่ต้องเป็น ‘พ่อแม่ที่ฉลาด’ โดยตั้งความหวังกับลูกไว้สูง และต้องให้การสนับสนุนลูกในเวลาเดียวกัน
พ่อแม่ที่ไม่ฉลาดมีอยู่ 3 แบบคือ
- พ่อแม่ที่ตั้งความหวังไว้สูง แต่ไม่เอาใจใส่ลูก
- พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูก แต่ไม่ตั้งความคาดหวังให้สูง
- พ่อแม่ที่ไม่เอาใจใส่และไม่ตั้งความหวัง
หากคุณอยากเป็นพ่อแม่ที่ฉลาดก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ grit ของลูกได้ทำงานหรือออกกำลัง ซึ่งทำได้โดยส่งเสริมให้ลูกได้ฝึกฝนเรียนรู้สิ่งที่ยาก ที่ต้องใช้ความพยายาม มานะ อดทน ซึ่งภาษาการศึกษาเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า Project-Based Learning (PBL) เป็นการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ grit ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้พ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีทักษะในการมอบหมายงานที่ยากและท้าทายให้ลูกหรือลูกศิษย์ในระดับที่เหมาะสมกับช่วงวัยและความสามารถ
การศึกษาที่ดีเป็นการสร้าง grit ไปในตัว โดยไม่ต้องไปฝึก grit ด้วยการเรียนพิเศษแต่อย่างใด เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง grit สำคัญกว่า talent
และหากคิดตามแนวของแอนเจลา การมีกระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset) เป็นเพียงพื้นฐานสู่ความสำเร็จ แต่มนุษย์จะประสบความสำเร็จได้จริงต้องมีการฝึกปฏิบัติอย่างมีคุณภาพและต้องฝึกมากพอ เหมือนคำกล่าวที่ว่า ยิ่งฝึกยิ่งชำนาญนั่นเอง