- ครบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟ – แนวทางการศึกษาที่เน้นความเป็นมนุษย์ โดย รูดอร์ฟ สไตเนอร์
- 1 ศตวรรษผ่านไป ปัจจุบันมีโรงเรียนประถมและมัธยมสไตล์วอลดอร์ฟราว 1,100 แห่ง และโรงเรียนอนุบาลราว 2,000 แห่งทั่วโลก
- แนวทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อัตตามนุษย์ คำถามสำคัญวันนี้และอยากชวนคิดต่อว่า “วอลดอร์ฟยังทันสมัยอยู่ไหม”
7 กันยายน 2562 – วันนี้เมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้วคือวันก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟ -การศึกษามนุษยปรัชญา- ครั้งแรกของโลกที่เมืองสตุตการ์ต ประเทศเยอรมัน ไม่ใช่แค่อนุบาลบ้านรักที่จัดงานเฉลิมฉลองอย่างน่ารักเป็นกันเอง แต่โรงเรียนวอลดอร์ฟทั่วโลกต่างกำลังร่วมกันฉลองการถือกำเนิดแนวทางการศึกษาที่เน้นความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ภายในงานประกอบไปด้วยร้านรวงที่มากางโต๊ะขายของ ทั้งขนม สีเทียน (สีเทียนแท่งสีเหลี่ยม ลักษณะเฉพาะที่พบได้ในการจัดการศึกษาแนววอลดอร์ฟ) อาหารการกินที่ทุกคนพร้อมใจกันนำภาชนะจากบ้านมาเองเพื่อทำให้ ‘ขยะเป็นศูนย์’ ตามคอนเซ็ปต์ของโรงเรียนในตอนนี้
ทั้งมีวงคุย 2 วง วงแรกนำคุยโดย คุณดำรงค์ โพธิ์เตียน ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยปรัชญา ว่าด้วยประวัติศาสตร์การก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟครั้งแรก
และวงที่ 2 ว่าด้วยปรัชญาจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ว่าให้อะไรกับผู้เรียน ผ่านมาหนึ่งร้อยปี การศึกษาแนวมนุษยปรัชญายังทันสมัยและจำเป็นอยู่ไหม วงนี้ชวนคุยโดย ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่
ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี เจ้าของ ‘สตูดิโอศิลปะจากด้านใน’ (๗ Arts Inner Place)
หมอปอง-นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์ธรรมชาติบำบัดตามแนวมนุษยปรัชญา
และ หมอชาย-นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ดุษฎีบัณฑิตจากฮาร์วาร์ดที่ศึกษามานุษยวิทยา และบรรณาธิการ ‘สมุดปกขาวอากาศสะอาด’
โรงเรียนวอลดอร์ฟที่เริ่มต้นจากความคิดผู้จัดการโรงงานยาสูบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
คุณดำรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยปรัชญาและผู้ที่ได้รับการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ เริ่มต้นเล่าที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรก ณ เมืองสตุตการ์ต ประเทศเยอรมนี วันที่ 7 กันยายน 1919 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า มี 2 ข้อเท็จจริงที่ต้องเล่าไปทีละขั้น คือ…
หนึ่ง นี่คือการจัดการศึกษาด้วยแนวคิดมนุษยปรัชญาโดย รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ซึ่งสมัยนั้นถือว่าการจัดการศึกษาด้วยแนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มาก (อันที่จริงการจัดการศึกษาระบบโรงเรียนทั้งหลายก็เป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด เช่น การเกิดขึ้นของโรงเรียนอนุบาลหรือ kindergarten ก็เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1837 (ไม่เกิน 200 ปี) ที่ประเทศเยอรมนี ใหม่ขนาดที่ว่าสมัยนั้นไม่มีครูคนใดที่จัดการศึกษาแนวนี้ได้ เมื่อตั้งใจจะเปิดโรงเรียน ครูจำนวน 12 คนต้องผ่านการอบรมอย่างเข้มงวด – เข้มข้น และด้วยเงื่อนเวลาที่งวดมากๆ เพียง 14 วันก่อนเปิดเรียน อย่างที่สไตเนอร์เรียกว่า นี่เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างครูและเด็กเลยทีเดียว
สอง การก่อตั้งโรงเรียนที่ชวนสไตเนอร์มาเป็นผู้ออกแบบการศึกษา ริเริ่มโดย เอมิล โมลท์ (Emil Molt) ผู้จัดการโรงงานยาสูบที่เมืองสตุตการ์ต เยอรมนี ครูดำรงค์เล่าประวัติอย่างคร่าว (แต่ก็ยาวพอจะเข้าใจประวัติศาสตร์เยอรมนีสมัยนั้นเลยทีเดียว!) เพราะในสมัยนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีและประเทศในยุโรปเต็มไปด้วยโรงเรียนอุตสาหกรรม คนงานในโรงงานยาสูบมีจำนวนมากขึ้น โมลท์ต้องการให้การศึกษากับคนงาน ทั้งวิชา โดยช่วงแรกถึงขนาดให้คนงานเรียนตั้งแต่ ประวัติศาสตร์ การผลิตกระดาษ การเก็บเกี่ยวใบยาสูบ รวมถึงวรรณกรรม ต่อมาค่อยเปลี่ยนไปเรียนหลังเลิกงาน แต่คนงานบอกว่าวิชาพวกนี้มันยากเกินไปและเริ่มมาเข้าเรียนน้อยลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม โมลท์เห็นว่าการศึกษาสำคัญ และจะสำคัญมากกว่าถ้ามอบมันแก่ลูกหลานของคนงานที่เขาดูแลอยู่
โมลท์เจอกับสไตเนอร์ครั้งแรกในงานวิชาการปี 1904 เขาตั้งใจเลยว่า ความรู้ทางมนุษยปรัชญาที่สไตเนอร์มีนี่แหละที่ควรจะนำมาใช้จัดการศึกษาจริง คุณดำรงค์เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ ว่า แม้วันนี้จะถือเป็นวัน ‘เปิดเทอมวันแรก’ แต่เด็กๆ ได้เข้าห้องเรียนจริงๆ ก็เข้าวันที่ 8 กันยายน 1919 เนื่องจากว่าเฟอร์นิเจอร์ได้มาส่งในวันนั้น จุดนี้ทำเอาคนในห้องกระจกสีชมพูมีเสียงหัวเราะตามเบาๆ
ในช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโรงเรียนวอลดอร์ฟจำนวน 32 แห่งในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฮอลแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฮังการี ออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนเหล่านี้บ้างถูกสั่งปิดหรือถูกทำลายด้วยเหตุผลการสงคราม อย่างไรก็ตาม หลังจบสงครามคือราวปี 1945-1989 โรงเรียนวอลดอร์ฟถูกก่อตั้งเพิ่มขึ้นและกระจายไปทั่วโลกมากขึ้น ปัจจุบันมีโรงเรียนประถมและมัธยมสไตล์วอลดอร์ฟราว 1,100 แห่ง และโรงเรียนอนุบาลราว 2,000 แห่งทั่วโลก
ก่อนจบวง ครูดำรงค์ตั้งคำถามให้แก่วิทยากรทั้ง 3 ท่านและผู้ปกครองในช่วงถัดไปว่า ผ่านมาแล้ว 100 ปี วอลดอร์ฟยังจำเป็นอยู่ไหม ทันสมัยอยู่ไหม และปัจจุบันอะไรที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้?
การศึกษามนุษยปรัชญาที่ต้องการเก็บ ‘จินตภาพ’ มากกว่า ‘ความทรงจำ’
พักเบรกสิบห้านาทีเพื่อให้ผู้ฟังพักไปชมตลาดและเติมของว่างใส่ท้องแล้วค่อยกลับมาต่อที่วงคุย 3 หนุ่ม หมอชาย ดุษฎีบัณฑิตจากฮาร์วาร์ดที่ศึกษามานุษยวิทยา หมอปอง-แพทย์ธรรมชาติบำบัดตามแนวมนุษยปรัชญา และ ครูมอส-เจ้าของ ‘สตูดิโอศิลปะจากด้านใน’ (๗ Arts Inner Place)
หมอชาย เป็นผู้กล่าวเปิดวงโดยอธิบายก่อนว่าจุดเริ่มต้นที่สนใจการศึกษาวอลดอร์ฟก็เพราะลูกๆ ของคุณหมอเข้าเรียนด้วยแนวคิดนี้ และเพราะทำงานกับผู้ป่วย ต้องเห็นปัญหาสังคมที่ตามมากับชีวิตคนไข้ หมอชายตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาจนมาเจอกับแนวคิดเรื่อง Social Three Folding ของสไตเนอร์ที่ว่าด้วยปัญหาสังคม 3 มิติและเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ส่วนคำตอบของคำถามที่ว่า การศึกษาวอลดอร์ฟยังทันสมัยอยู่ไหม? หมอชายยกบทเรียนที่สไตเนอร์ใช้อบรมครูรุ่นแรกในคลาสว่าด้วยภารกิจพื้นฐานหนึ่งของการศึกษาคือการเอาชนะอัตตา หรือ egoism
“การที่สไตเนอร์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อัตตามนุษย์ มันพอจะทำให้คิดต่อได้นะครับว่าวอลดอร์ฟยังทันสมัยอยู่ไหม?” หมอชายตั้งคำถามปลายเปิดก่อนอธิบายต่อว่า อีโก้ที่ว่าไม่ใช่การสร้างให้มีเพื่อโอ้อวดหรือให้ความรู้สึกน่าหมั่นไส้ แต่เป็นการศึกษาที่ทำให้เข้าใจอัตตา ความมีตัวตนของตัวเอง ก่อนที่จะเรียนรู้เพื่อจัดการกับมัน โดยเฉพาะถ้ามองไปที่จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่เน้นให้เด็กมีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ซึ่งเป็นทักษะที่ถูกพูดกันบ่อยๆ ในโลกยุค disruption และเป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 แล้ว วอลดอร์ฟยิ่งน่าจะถูกนำไปปรับใช้ในการศึกษากระแสหลัก
“แล้วเราจะ empathy ได้อย่างไรถ้าไม่เข้าใจตัวเอง?” หมอชายตั้งคำถามชวนคิดให้หมอปองและครูมอสขยายประเด็นต่อ
ขณะที่ หมอปอง กล่าวถึงการศึกษาแนวมานุษยปรัชญาที่เชื่อมกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า แต่ก่อนในวงการศึกษาและแพทย์บอกว่าการเรียนรู้ของมนุษย์มีศูนย์กลางอยู่ที่สมองและ DNA ฉะนั้นการจัดการศึกษาจึงเน้นไปที่การฝึกคิดและท่องจำองค์ความรู้ แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยอมรับว่า การเรียนรู้ของเราไม่ได้อยู่แค่สมองและ DNA แต่อยู่ในชีวนิเวศจุลชีพ (microbiome) อย่างมีนัยสำคัญ
“การเรียนรู้ของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่สมองอีกต่อไป แต่อยู่ภายในร่างกาย ลำไส้ จิตใจ ทุกอย่างเชื่อมกันหมด ”
หมอปองกล่าวและอธิบายว่า การจัดการศึกษาจึงไม่ใช่แค่การท่องจำ แต่คือการฝึกปฏิบัติและพัฒนา senses ต่างๆ ของร่างกายให้ทรงพลังยิ่งขึ้น
ต่อมาที่ประเด็น การศึกษาวอลดอร์ฟยังทันสมัยอยู่ไหม หมอปองยกตัวอย่างดีเบต AI ใน World AI Conference ที่เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง แจ็ค หม่า ผู้ทรงอิทธิพลในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ อีลอน มัสก์ ผู้สร้างนวัตกรรมระดับโลก แม้ทั้งคู่จะแสดงจุดยืนที่ต่างกัน แต่มีประเด็นร่วมที่น่าสนใจและหมอปองหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นคือ…
มนุษย์จะเอาชนะ AI ได้หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการประมวลผลเกิดขึ้นจาก ‘ความจำ’ (memory) กล่าวคือ ระบบปฏิบัติการจะจำความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นเป็นพันๆ รูปแบบแล้วประเมินผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น หากระบบปฏิบัติการนั้นถูกเซ็ตขึ้นมาให้เป็นอัจฉริยะการเล่นหมากรุก มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะไม่มีวันชนะเจ้า AI ตัวนี้ มนุษย์เอาตัวรอดได้ทุกวันนี้ก็เพราะ ‘ความจำ’ เช่นกัน สมองของเราจะประมวลและจำลองภาพอย่าง before & after -เพราะเราเคยทำสิ่งนี้ ผลเลยเกิดแบบนี้ ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าต่อไปเราจะทำหรือไม่ทำพฤติกรรมนั้น- เมื่อรวมความทรงจำมากๆ เข้า เราจะมีชุดข้อมูล (data set) บางอย่างประกอบการพิจารณาตัดสินใจ
นี่คือสิ่งที่เหมือนและถ้าแข่งกันเรื่องความจำ ให้ตายอย่างไร AI ก็จะถูกพัฒนาแซงความสามารถของมนุษย์ แต่สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ในเร็ววัน คือ ‘จินตภาพ’
“การศึกษาของเรามาแบบท่องจำ นั่นคือการสร้าง data set ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างคือเรามีการคิดแบบ ‘จินตนาการ’ เพื่อสร้างไอเดียใหม่ๆ”
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำให้เกิดในระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นเรื่อง will หรือ ความมุ่งมั่น การลงมือทำ ที่ทำให้เราสร้างตัวตนของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น
ขณะที่ ครูมอส ต่อประเด็นเรื่อง ‘จินตนาการ’ ว่า การศึกษาที่ควรเป็น โดยเฉพาะในโรงเรียนอนุบาลคือไม่ใช่แค่ให้เด็กมี ‘ความจำ’ ในฐานะ memory แต่ต้องทำให้มี imaginary หรือ จินตภาพ
อธิบายก่อนว่าหนึ่งในการศึกษาวอลดอร์ฟคือการใช้ศิลปะเป็นฐานการเรียนรู้ เด็กเล็กอย่างน้อย 0-7 ปีจะไม่ได้รับสื่อ เช่น สื่อจากโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และจะไม่ได้ฝึกท่องหนังสือในช่วงวัยนี้เลย ที่ไม่ให้รับสื่อก็เพราะไม่ต้องการให้เด็กได้รับ ‘สารที่ถูกตีความแล้ว’ จากสังคม เช่น ตอนเด็กๆ เรามีภาพวาดไม้ตายและเป็นตำนาน คือ ภาพบ้านริมทะเล ที่มีภูเขา ดวงอาทิตย์มีริ้วแฉก และนกเป็นตัวเอ็มมีขีดตรงปาก คำถามคือ จินตนาการภาพแบบนี้ มาจากจินตภาพของเรา หรือรับมาจากใครอีกทอดหนึ่ง หรือ ทำไมเจ้าหญิงของเราจึงเป็นหญิงผิวขาวผมบลอนด์ มาจากภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน หรือมาจากอะไร?
ครูมอส เล่าว่าในการทำงานศิลปะกับเด็กๆ ถ้าเราอยู่กับเด็กเล็กและปล่อยให้เขาวาดรูป เราจะอดทึ่งไม่ได้กับจินตภาพในหัวของเด็กๆ เป็นเส้นวาดที่ไม่ได้พบเห็นง่ายๆ เป็นความสร้างสรรค์ที่ไม่รวม ‘ความคิด’ ซึ่งมาจากการเก็บสะสมความทรงจำที่อาจสร้างกรอบคิดให้กับเด็กๆ (เช่น ตอนนี้เราคงไม่อาจวาดดวงอาทิตย์โดยไม่มีริ้วแฉกได้แล้ว ไม่แน่ใจว่าได้ ‘ความคิด’ เรื่องดวงอาทิตย์มาจากการ์ตูนเรื่องเทเลทับบี้หรือเปล่า) ซึ่งจินตภาพที่น่าทึ่งเหล่านี้ แม้จะค่อยๆ หายไปตาม ‘ความคิด’ หรือความทรงจำใหม่ที่ได้จากสังคม แต่อิสรภาพจากการถูกปล่อยให้ได้มีจินตภาพเช่นนี้ในวัยเด็ก จะเป็นดั่งของขวัญที่ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต
สุดท้ายนี้ ตกลงการศึกษาวอลดอร์ฟยังทันสมัยไหม?
ถ้าการศึกษาคือการที่ทำให้มนุษยชาติแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้ การทำให้คนรุ่นใหม่มีจินตนาการ มีแรงบันดาลใจที่จะแก้ปัญหาใหม่ๆ ร่วมกัน การบ่มเพาะจินตนาการ ความสร้างสรรค์ และสำนึกร่วมในการสร้างสังคม ก็ถือว่ายังจำเป็น เพราะเรามีคุณค่าต่างจาก AI ที่ใช้เพียงข้อมูลในการแก้ปัญหา
คงไม่ใช่แค่ทำให้เราชนะ AI ได้ แต่มันคือการเรียนรู้ที่ทำงานในระดับ ‘ชีวิต’