จะปีเก่าหรือปีใหม่ ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ก้าวหน้าอย่างที่หวัง มีความสุขความสำเร็จตามสมควร แต่หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เราเองก็ต้องฝึกฝนเพิ่มเติมศักยภาพให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการทำงาน ซึ่งทั้งหมดมีแต้มต่อมาจากฐานแน่นๆ ที่เรียกว่า ‘ทักษะชีวิต’ หรือความสามารถที่ช่วยให้สามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น พร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต เพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เมื่อปี 1997 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้บัญญัติคำว่า ‘ทักษะชีวิต’ (Life Skills) ขึ้นมา และได้กำหนดองค์ประกอบไว้ 10 องค์ประกอบ ได้แก่
- ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking skills)
- ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking skills)
- ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self awareness building skills)
- ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy skills)
- ทักษะการตัดสินใจ (Decision making skills)
- ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving skills)
- ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication skills)
- ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship skills)
- ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion skill)
- ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress skills)
แน่นอนว่าถ้าใครมีครบทุกข้อย่อมดีที่สุด แต่ก็เป็นธรรมดาที่แต่ละคนจะมีทักษะแต่ละข้อไม่เท่ากัน ถ้าอยากรู้ว่าข้อไหนคือทักษะที่ใช่ที่สุดสำหรับเราในปีนี้ ให้เอาหมายเลขภาพตามที่เลือกไว้ ไปดูคำขยายในคีย์เวิร์ดแต่ละหัวข้อ เผื่อว่าจะใช้เป็นไกด์ไลน์สำหรับชีวิตดีๆ ในปี 2021 นี้ได้บ้าง (ไม่มากก็น้อย)
1.โปรดจงตัดสินใจ
ถ้ายังรักพี่เสียดายน้อง ลังเลเลือกไม่ได้กับอะไรหลายๆ อย่าง นั่นคือสภาวะไม่กล้าตัดสินใจที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเจอกับปัญหายุ่งยากซับซ้อนตัวแปรเยอะ แต่การปล่อยให้เรื่องบางเรื่องคาราคาซังยืดเยื้อ มักย้อนวนกลับมาสร้างภาระด้านสุขภาพจิตให้กับตัวเอง
ทักษะการตัดสินใจ (Decision making) หรือการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม เป็นความสามารถอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราประเมินทางเลือกและผลที่จะได้รับจากการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่สร้างภาระทางความคิดและความรู้สึกให้กับตัวเองและผู้อื่น ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถฝึกกันได้
วิธีฝึกทักษะการตัดสินใจ
ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น > แยกแยะเหตุผลออกจากความรู้สึก > จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ > หาข้อมูลสำคัญมาประกอบ > พิจารณาทางเลือกต่างๆ > ชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย > ตัดสินใจเลือกอย่างมีสติ
2.ปัญหามาปัญญามี
ไม่มีใครที่ไม่เคยเจอปัญหาหนักอกหนักใจ แต่จะรับมือได้ดีแค่ไหน ผ่อนหนักให้เป็นเบาหรือแก้ไขให้ลุล่วงได้หรือไม่ ต้องอาศัยความสามารถในการจัดการความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างมีระบบ และทุกครั้งที่ลงมือแก้โจทย์ยาก ขอให้เชื่อเถอะว่าสิ่งที่ตามมาจะเป็นบทเรียนชั้นดีของชีวิต
ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving) นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยคลายปมต่างๆ ก่อนเข้าสู่เงื่อนตายแล้ว ยังช่วยให้ปัญหาสารพัดไม่สะสมจนเกิดเป็นความเครียด หรือลุกลามบานปลายจนยากจะแก้ไข ถ้าใครรู้สึกว่ายังแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ดู
วิธีฝึกทักษะการแก้ปัญหา
กำหนดปัญหาให้ชัดเจน > รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง > วิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยแวดล้อม > หาแนวทางการแก้ไขหลายๆ ทาง > เลือกวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุด > วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน > ประเมินผลลัพธ์ > ปรับวิธีการหากยังไม่ลุล่วง
3. ช่างคิดไม่ติดกรอบ
ชีวิตก็ไม่ได้แย่ แค่เหมือนย่ำอยู่กับที่ อาจเป็นเพราะบ่อยครั้งเราปล่อยให้ความเคยชินเป็นตัวกำหนดวิธีปฏิบัติไปจนถึงเป้าหมาย ใช้กรอบคิดเดิมๆ ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา ซึ่งดีที่สุดก็คงจะเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ต่างไปจากเดิม
เริ่มต้นปีนี้ลองติดตั้ง ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) เพื่อเป็นตัวช่วยค้นหาทางเลือกใหม่ๆ โดยเริ่มจากการมองโลกหรือมองปัญหาให้พ้นไปจากกรอบเดิม ใช้ความคิดที่หลากหลายเชื่อมโยงและหาทางออก แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
วิธีฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์
ลองตั้งโจทย์ที่ต่างออกไป หรือค้นหาเป้าหมายใหม่ > แสวงหาข้อมูลความคิดที่หลากหลาย (พูดคุยแลกเปลี่ยน) > ออกแบบทางเลือกโดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัด > ลงมือทำด้วยวิธีการที่ต่างไปจากเดิม > ยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว
4.มองรอบทิศคิดรอบคอบ
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคำถามกับทุกเรื่องราว มีความเห็นในทุกวงสนทนา เป็นไปได้ว่า ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือบางทีก็ใช้คำว่า ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ เริ่มมีในเนื้อในตัวแล้ว แต่จะพัฒนาจากการช่างวิพากษ์วิจารณ์เป็นทักษะได้จริงหรือไม่นั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ
ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) จะช่วยให้เราสามารถประเมินข้อสรุปจากหลักฐานหรือสภาวการณ์ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง โดยไม่มีอารมณ์และทิฐิมาชักนำ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ยังช่วยป้องกันการถูกครอบงำทางความคิดได้ด้วย
วิธีฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
รู้จักตั้งคำถาม สงสัยในทุกคำกล่าวอ้าง > ไม่เชื่อข้อมูลจากแหล่งเดียว > หาข้อมูลอย่างรอบด้าน > ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล > วิเคราะห์เหตุผลและความเป็นไปได้ตามหลักภววิสัย > ทบทวนและตรวจทานตนเองเสมอ
5.คารมเป็นต่อ
เป็นเหมือนกันมั้ย…แค่เตือนเพื่อนก็หาว่าด่า อุตส่าห์ชมกลับถูกมองว่ากระแนะกระแหน บอกว่า ‘ไม่’ ก็ไม่มีใครสน แต่พอไม่พูดกลายเป็นหยิ่งไปอีก ถ้าใครกำลังเจอสถานการณ์แบบนี้ บอกได้เลยว่าคุณกำลังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกว่าไม่มี ‘วาทศิลป์’ นั่นเอง
ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication) แม้จะดูไม่ได้ล้ำลึกอะไรแต่ก็สร้างแต้มต่อในชีวิตได้มากมาย เพราะความสามารถในการใช้คำพูดและท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสม ทั้งกับบริบททางวัฒนธรรมและสถานการณ์ต่างๆ คือด่านแรกที่ทำให้ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นในการแสดงความคิดเห็น การแสดงความชื่นชม การเจรจาต่อรอง การตักเตือน การช่วยเหลือ หรือแม้แต่การปฏิเสธ
วิธีฝึกทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
ชัดเจนในเรื่องที่จะสื่อสาร > ใช้ภาษา น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง สอดคล้องกับเจตนา > พูดจาชัดถ้อยชัดคำ กระชับได้ใจความ > แสดงทัศนคติหรือมุมมองที่เป็นประโยชน์ > สังเกตอากัปกิริยาและให้เกียรติคู่สนทนา > ฟังและตอบสนองด้วยความใส่ใจ
6.เติมใจให้กัน
ลองนับนิ้วดูว่าแต่ละปีที่ผ่านไป เรามีเพื่อน(ในโลกจริง)เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง และในบรรดาคนที่ได้พบปะเจอะเจอนั้นมีสักกี่คนที่สามารถแชร์สุขทุกข์กันได้จริงๆ บางครั้งจำนวนเพื่อนในโซเชียลมีเดียอาจสวนทางกับคนที่นั่งอยู่ข้างๆ เวลาเผชิญกับปัญหา และนั่นเป็นเหตุผลว่า ‘สัมพันธภาพ’ สำคัญแค่ไหน
ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship) เป็นความสามารถที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และมากไปกว่านั้นคือการรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้ได้ยาวนาน แต่ดูเหมือนว่าหลายครั้งเราอาจหลงลืมหรือตกหล่นเรื่องนี้ไป
วิธีฝึกทักษะสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
นับถือผู้อื่นเช่นเดียวกับนับถือตนเอง > เอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ > ไว้วางใจซึ่งกันและกัน > มีความยืดหยุ่น > แบ่งปันประสบการณ์ความคิดความรู้สึก > ช่วยเหลือเกื้อกูล > รู้จักการให้เท่าๆ กับการรับ
7. ฟังเสียงข้างใน
บ่อยครั้งที่สับสน ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน หรือจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร ทั้งหมดนี้อาจเริ่มต้นมาจากเรื่องง่ายๆ ที่เข้าใจยากมาก อย่างการเข้าใจตัวเอง เพราะคนเรามักถูกชักนำด้วยเสียงจากคนรอบข้าง จากครอบครัว จากสังคม จนไม่เคยฟังเสียงข้างในของตัวเองจริงๆ สักครั้ง
ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self-awareness) จะช่วยให้เราค้นหา รู้จักและเข้าใจตนเอง รู้ข้อดีข้อด้อยของตนเอง รู้ความต้องการและสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเผชิญกับความเครียดหรือสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะอื่นๆ เช่น การสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพ การตัดสินใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
วิธีฝึกทักษะการตระหนักรู้ในตน
หมั่นสังเกตและรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง > ไม่บิดเบือนความรู้สึก (รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉา เหงา เศร้า) > ให้เวลาตัวเองทำความเข้าใจกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น > รู้ข้อดีและยอมรับข้อด้อยของตัวเอง > พร้อมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
8. เข้าอกเข้าใจผู้อื่น
เพราะเราอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย การเปิดใจยอมรับคนที่ต่างไปจากเราจึงเป็นความสวยงามของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ซับซ้อนและย้อนแย้ง แต่การละวางอคติ ตีแตกมายาคติ เพื่อเข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ
ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ถือเป็นทักษะสำคัญของคนยุคนี้เลยทีเดียว เป็นความสามารถที่พึงมีในการเข้าใจความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็น เพศสภาพ สีผิว การศึกษา ศาสนา อาชีพ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งการยอมรับความแตกต่างหลากหลายนี้จะทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล ลดความขัดแย้งรุนแรง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในโลกของความเป็นจริง
วิธีฝึกทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
ไม่ตัดสินหรือตีตราผู้อื่นด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง > ละวางอคติและฟังอย่างตั้งใจ > ถามหากสงสัยไม่ใช่ตีรวน > พยายามทำความเข้าใจโดยจินตนาการให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์หรือเงื่อนไขเดียวกัน > รับรู้สุขทุกข์ของคนอื่น
9.โอบกอดตัวเอง
ปีที่ผ่านมาช่างเป็นปีที่เหน็ดเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ การเรียน การทำงาน และอีกสารพัด …สับสน เหงา เศร้า หงุดหงิด โกรธ กลัว ฯลฯ ความปั่นป่วนทั้งหมดล้วนมาจากความไม่มั่นคงทางอารมณ์ที่มากมายเกินจะรับไหว
ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion) จะทำให้เราสามารถรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น รู้ว่าอารมณ์มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมอย่างไร และรู้วิธีจัดการอารมณ์ที่สับสนปนเปนั้น ก่อนที่มันจะส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้าง
วิธีฝึกทักษะการจัดการกับอารมณ์
เมื่อเริ่มมีความรู้สึกในทางลบให้หยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่ > พิจารณาถึงเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้นๆ> หยุดโทษตัวเองและคนอื่น > มองสุขทุกข์ให้เป็นธรรมดาโลก > เมตตาต่อตัวเอง ปลอบโยนตัวเอง > ฝึกมีสติอยู่กับปัจจุบัน > เพิ่มมุมมองด้านบวก
10. ปล่อยวางบ้างก็ได้
กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น เหตุบ้านการเมือง รวมไปถึงปัญหาที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ปัจจัยที่รุมเร้าเหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งระดับความเครียดให้พุ่งสูง และถ้าเริ่มรู้สึกว่ากำลังจะเกินขีดจำกัด สิ่งแรกที่ต้องรับมือให้ได้ก็คือ ‘ความเครียด’ นี่แหละ
ทักษะการจัดการความเครียด (Coping with stress) เป็นความสามารถของแต่ละคนในการรับรู้ถึงสาเหตุของความเครียด รู้จักวิธีผ่อนคลาย และแนวทางในการควบคุมไม่ให้เครียดจนสร้างปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้กับตัวเอง
วิธีฝึกทักษะการจัดการความเครียด
หาสาเหตุของความเครียดให้เจอ > จัดอันดับความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อตัวเอง > หาวิธีรับมือหรือเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้นๆ > (ถ้ายังไม่ดีขึ้้น) ปรึกษาคนรอบข้าง หาคนรับฟัง > ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย > รู้จักปล่อยวางและพักผ่อนอย่างเหมาะสม
คำแนะนำทั้งหมดนี้อ้างอิงจากทักษะชีวิต 10 องค์ประกอบ ขององค์การอนามัยโลก (WHO: 1997) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนรู้จักดูแลตนเองทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ เน้นความสามารถในการปรับตัวและทักษะการจัดการปัญหารอบๆ ตัว เพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
ย้ำทิ้งท้ายว่า ทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอแล้วจะกลายเป็นทักษะชีวิตที่ติดตัวเราไปเผชิญกับทุกสถานการณ์ได้แบบมั่นๆ