- ตามหลักมนุษย์ปรัชญา ทุกอุปนิสัยของมนุษย์ประกอบขึ้นจาก ‘ธาตุ’ หรือ ‘element’ ในธรรมชาติ ได้แก่ ดิน (earth) น้ำ (water) ลม (air) และ ไฟ (fire) แต่ละธาตุสื่อสารถึงอุปนิสัยต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์
- ในโลกอนุบาลตอนที่ 3 ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท ชวนรู้จัก ‘ธาตุ’ ในวัยเด็กอนุบาล เพื่อทำให้ผู้ปกครอง หรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเด็กเข้าใจเรื่องดังกล่าว ช่วยให้พวกเขาสามารถคิดวิธีสร้างสมดุลและพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความไม่เหมือนกันที่เป็นเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคน
- “บางครั้งเราจะด่วนบอกว่า ‘ไม่ได้หรอก ให้ทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องจัดการดัดนิสัยเขา’ ตัดไฟแต่ต้นลม มีคำพูดแนวนี้เยอะ เราเชื่อมั่นแน่นอนว่าเด็กจะเป็นอย่างนี้จนโต ถ้าเราเปิดกว้างสักนิด ลองมองก่อนว่า นี่คือลักษณะดิน น้ำ ลม ไฟ เข้าใจสภาวะที่เขาเป็นตอนนี้ก่อน”
The Potential Podcast รายการ ‘ในโลกอนุบาล’ รายการที่จะชวนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง แม่ครู และครูที่ต้องทำงานกับเด็กวัยอนุบาลทุกคน พูดคุยกันว่า ธรรมชาติของวัยนี้ต้องการอะไรบ้าง
โดยใน 4 เทปแรก เราเชิญ ‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ ผู้อำนวยการอนุบาลบ้านรัก ผู้เป็นแม่ครู และคุณครูของครูอนุบาลของใครอีกหลายท่าน มาคุยกันว่า ในการจัดการศึกษาแนวมานุษยปรัชญา จัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ วัยอนุบาลอย่างไร
โดยในซีรีส์นี้วางแผนไว้ว่าจะพูดถึงหัวใจ 4 เรื่องหลัก นั่นคือ
- ธรรมชาติวัยอนุบาล
- หลัก 3R (Rhythm จังหวะ, Repetition การทำซ้ำ และ Reverence การเคารพ) ในการดูแลเด็กช่วงอนุบาล
- ธาตุของเด็กที่แตกต่าง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- 4 senses อุปกรณ์ในการเรียนรู้โลกของวัยอนุบาล
สำหรับเทปที่สาม ซึ่งเรียบเรียงภาษาให้เหมาะแก่การอ่านชิ้นนี้ ว่าด้วยเรื่อง “ธาตุของเด็กที่แตกต่าง” จะเป็นอย่างไร เชิญอ่านกันได้เลย 🙂
รับฟังเป็นเสียง คลิก: ในโลกอนุบาล ‘ธาตุ’ ในวัยอนุบาล เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
คุยเรื่องธาตุของเด็ก เริ่มต้นจากอะไรดี
ธาตุตามธรรมชาติ ที่เราเคยรู้ๆ กันก็จะมี ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปที่ไหนๆ จะมีคำพูดเกี่ยวกับเรื่องธาตุต่างๆ ประกอบกันในโลกนี้ เราเองก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ โลกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ดูแล้วอธิบายไม่ได้ยากเลย แต่พอมามองดูเด็ก อาจจะรู้สึกไม่ค่อยคุ้นว่าเด็กแต่ละคนที่พูดถึงตามธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เราจะมองเห็นสิ่งนี้ในตัวเด็กยังไง เพราะจริงๆ ในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งปฐมวัย ธาตุเขาก็ไม่ได้เด่นชัด แต่เสมือนว่าธาตุทั้งสี่จะรวมอยู่ในตัวเด็กทุกคน แต่พอเป็นผู้ใหญ่สิ ชัดกว่า เช่น “หูย โมโหอย่างกับไฟแหนะ” “โอ้ คนนี้ไปไหนก็เข้ากับคนได้เหมือนน้ำเลยนะ” อันนี้คือผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็ก เขาจะรวมๆ วันนี้ลูกฉันเป็นไฟ พรุ่งนี้จะเป็นลม มะรืนนี้เป็นน้ำ
ตรงนี้อยากให้คนเลี้ยงเด็ก ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่หรือแม่ครูที่ดูแลเด็กๆ แค่รับรู้ว่าทุกๆ คนในโลกนี้มีสี่ธาตุที่เราควรจะสังเกต โดยเฉพาะเด็ก ขอให้สังเกตแค่สภาวะตามธาตุของเขาว่า อ๋อ… สภาวะตรงนี้คืออะไร แต่สิ่งหนึ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ อย่าเพิ่งสรุป การเรียนรู้ธาตุ เรียนรู้เพื่อให้เราอย่าเพิ่งสรุป เพราะว่าถ้าเราสรุปแล้ว เราอาจมองว่าเด็กคนนั้นจะต้องเป็นธาตุนี้ตลอดไปหรือเปล่า ให้แค่มองพื้นๆ ว่า เขาอาจจะมีธาตุนั้นอยู่
งั้นเรามาเริ่มกันทีละธาตุนะคะ ธาตุไฟค่ะ
ธาตุที่เห็นชัดที่สุดคือ ธาตุไฟ เอาลักษณะของไฟก่อนแล้วกัน เราอย่าเพิ่งมองว่าเป็นเด็กอายุเท่าไหร่ อย่าเพิ่งไปแตะที่ตรงนั้น มองว่าการเป็นสภาวะของธาตุไฟเขามีลักษณะยังไง
เวลาเรามองไฟลุกโชน เรามองดูลักษณะของคนๆ นั้น เขาก็โชนจริงๆ “พรึ่บ” ขึ้นมา คนๆ นี้อาจจะเป็นคนริเริ่มอะไรง่าย บางครั้งเราต้องการไอเดียดีๆ คนที่เป็นไฟเขาจะช่วยเราได้ แต่เขาอาจช่วยเราไม่ได้ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ต้องการประนีประนอม เขาอาจไม่ประนีประนอม เพราะความเป็นไฟของเขามันลุกพรึ่บ ไฟเป็นเปลวพุ่ง (ทำท่าประกอบ) ก็จะมีลักษณะให้เห็นเลยว่า อืม… บอกไม่ถูกว่าจะใช้คำว่าขี้โมโหได้ไหม แต่บอกได้ว่าอะไรก็ตาม ถ้ามาจุดกระตุ้นปั๊บ เขาจะแรง ตัวเขาเองและคนที่อยู่รอบข้างอาจพลอยไม่ดีไปด้วย แต่โดยรวมไฟเป็นผู้ริเริ่ม ไฟดีที่ไม่ขี้โมโหก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ถูกไหม
การเป็นธาตุไฟก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีเสมอไป
อาจมีทั้งสองอย่าง และเราต้องการคนแบบนี้ในบางเรื่อง เพราะเขาเป็นต้วกระตุ้นที่ดี “ทำเลยสิ! ทำเลย ฉันว่าตอนนี้ต้องทำเลยนะ” อันนี้คือธาตุไฟ ซึ่งเขาก็ริเริ่มทำได้ด้วย แต่เขาอาจทำแล้วให้คนอื่นทำต่อ นี่คือคนธาตุไฟ
ทีนี้พอเรามองเด็ก หรือตอนเราเป็นเด็กเราก็จะมีเพื่อนแบบนี้ หรือเราเป็นซะเอง (หัวเราะ) เวลาไปที่ทำงานเราก็จะต้องอาศัยเพื่อนร่วมงานที่เป็นแบบนี้ เป็นคนริเริ่มแต่ทำแปปๆ ก็จะ… “อ้าว ไปซะละ” ทิ้งงานให้คนอื่นทำซะแล้ว แต่ให้เข้าใจว่าลักษณะแบบนี้เขาเรียกว่า ไฟ ลักษณะของคนที่มีธาตุไฟ
ธาตุน้ำ
ถ้ามีธาตุไฟ ธาตุที่ช่วยกันได้ก็คือ ธาตุน้ำ ธาตุนี้ไปไหนก็ไปได้ เขาจะเข้าได้ไปหมด กินที่ไหนก็กินได้ นอนที่ไหนก็นอนได้ เป็นคนที่ไม่ว่าอะไร “ยังไงก็ได้” แต่ความ “ยังไงก็ได้” ของเขา ข้างในน่ะเป็นน้ำนะ คือซึมไปได้ทุกที่ น้ำตรงไหนเสียก็เอาน้ำดีไปเจือได้หมด แต่การจะทำอะไรให้แข็งแรงขึ้นมาหรือทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จก็จะยากหน่อย ถ้าองค์กรไหนมีน้ำเยอะ แล้วใครจะเป็นคนริเริ่มล่ะ? แต่ถ้าเป็นเด็กในห้องเรียน เด็กที่มีธาตุน้ำเยอะ ครูก็สบายหน่อย
การช่วยเด็กที่มีธาตุน้ำให้เขาประสบความสำเร็จ ก็ต้องช่วยกระตุ้นเขาให้เดินงาน เพราะว่าเขา “ยังไงก็ได้” ไง ได้หมด ก็ดีนะ แต่ถ้าคุณครูรู้เอาไว้ว่าเขามีส่วนความเป็นธาตุน้ำเยอะ งานของเขามันจะใช้เวลา หรือเขาอาจจะ “พอใจเท่านี้” เนื่องจากเขา “ยังไงก็ได้” เราต้องช่วยเขาให้มันสำเร็จ ซึ่งบางคนก็ได้รับการช่วยเหลือไม่เหมือนกันหรอก เพราะแต่ละคนโดยพื้นฐานที่เป็นธาตุน้ำแล้ว ก็ยังมีเหตุและปัจจัยในแต่ละบุคคลอีก
ธาตุลม
เรามองเห็นอะไรบ้างที่อยู่ในอากาศ อยู่ในลมซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต? ก็คืออะไรที่บินได้ใช่ไหม ครูบาอาจารย์ของเราก็จะบอกว่า ลองสังเกตดูสิว่าเขาเหมือนผีเสื้อนะ คือเขาจะบินไปรอบๆ ดอกไม้ บินทีอะไรก็สวยหมด แต่เขาก็จะบินไปดอกนั้นดอกนี้น่ะสิ บินไปก็เกาะตุ๊บ ไปอีกที่นึงก็เกาะตุ๊บ เท่ากับว่าลักษณะของเด็กที่เป็นธาตุลมเขาก็ไปทั่ว บินไปได้ทั่ว สิ่งที่ดีคือเขาจะสร้างความเบิกบานให้กับกลุ่มนั้น องค์กรนั้น หรือว่าห้องเรียนนั้น เขาจะบินไปสร้างความรื่นรมย์ไป ชีวิตนี้ก็มีความสุขสนุกไปหมด
เปรียบเด็กเวลาอยู่ในห้อง เขาก็จะไปทำความรู้จักกับเพื่อนคนนู้นคนนี้?
เขาเรียกว่า “เจ๊าะแจ๊ะ” ไหม? (ยิ้ม) ถ้าองค์กรไหนมีเพื่อนร่วมงานแบบนี้ สังเกตเลยว่าถ้าคนนี้เดินเข้ามานะ เสียงหัวเราะจะมาเลย แต่ถ้าถามว่าจะให้ริเริ่มอะไรหรือทำงานให้สำเร็จ คนอื่นก็ต้องช่วยเขาหน่อย โอ๊ย… นั่งสักที บินจังเลย แต่เราพูดไม่ได้ไง แต่สังเกตได้ว่าถ้าคนนี้มาแล้วจะเป็นแบบนี้ นี่เป็นลักษณะของลม
ทีนี้ถ้าเรามองดูในเด็ก เด็กทั่วไป เด็กเล็กๆ เขาก็บินอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เด็กๆ ก็ไปทั่วเหมือนกัน ยิ้มหวานให้คนนั้นคนนี้ไปทั่ว อย่างนั้นเราจะบอกได้ยังไงว่าเด็กคนนี้เป็นธาตุลม? ก็ยังบอกไม่ได้ไง ถึงได้บอกว่าอย่างเพิ่งสรุป แต่ให้มองดูลักษณะความรื่นรมย์ ดีซะอีกนะที่เขาจะรื่นเริงและเบิกบาน แต่ถ้าเด็กคนไหนมาอนุบาลแล้วซึม โมโห อันนี้เราก็หนักใจหน่อย ต้องช่วยเขาเยอะหน่อย แต่เด็กที่สบายๆ แบบนี้เราก็รู้สึกว่าดีจังเลย ยินดีกับพ่อแม่เขาด้วยที่ลูกเขาเป็นเด็กที่เบิกบาน อันนี้คือลักษณะของลม
ธาตุดิน
สุดท้าย ธาตุดิน เราลองดูมวลของดินเป็นไงคะ? แน่น ถ้าลองจับดินจะรู้สึกว่าแน่น ดินอยู่กับพื้น หนักแน่น เขาอยู่กับที่ ส่วนที่ดีก็คือว่า “ฝากของไว้หน่อยนะลูก” ไม่หายไปไหน แต่ถ้าฝากของกับน้องที่เป็นลมล่ะ? ไม่รู้ไปไหนแล้ว หาไม่เจอ เขาอาจจะไปทักทายคนอื่นในขณะที่ของยังอยู่ แต่ถ้าฝากของกับเด็กที่เป็นดิน เขาจะยังนั่งอยู่กับของนั้น เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร เขานั่งได้ อยู่ได้ ที่ดีส่วนหนึ่งคือเขาจะทำงานเรื่อยๆ ซ้ำๆ แล้วก็อยู่กับที่ เป็นคนที่เรากลับมากี่ครั้งเขาก็ยังอยู่ ณ ที่ตรงนั้น
ถามว่าจะมีความสุขหรือทุกข์หรือเปล่า? เราก็บอกไม่ได้ แต่ส่วนหนึ่งที่เราเห็นชัดเลยคือนิ่งและแน่น อันนี้เป็นเรื่องดี บางครั้งเราต้องการคนแบบนี้ในองค์กร หรือเพื่อนสักคนที่เราต้องการใครที่อยู่กับที่ ไม่วิ่งวุ่นวายหวือหวาไปมามาก หันกลับมาทีไรก็ยังเจออยู่ เราก็อุ่นใจ สบายใจอะเนอะ
แต่เราก็ต้องช่วยเขามากหน่อย ให้เขาเคลื่อนไหวขึ้นอีกนิดนึง หรือบางทีเขาอาจจะชอบใจละ ฉันจะอยู่กับที่ ฉันไม่เดือดร้อนอะไร ทำไมเธอจะมาเดือดร้อนแทนฉันล่ะ? แต่ว่าชีวิตคนเรามันก็อยู่กับที่ไม่ได้เนอะ ก็ต้องช่วยคนเหล่านี้ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง
ฉะนั้นรู้ไว้ว่า ไม่ต้องสรุปว่าอะไรดีหรือไม่ดี แค่รู้ตามสภาวะของธาตุที่แท้จริง ถ้าเรารู้แล้วไม่ต้องสรุป ให้รู้เป็นสภาวะไปว่านี่เป็นสภาวะตามธรรมชาติ ก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
เราเข้าใจเรื่องธาตุไปทำไม
เอามาประกอบเข้ากับการมองเด็กเพื่อทำให้เราเข้าใจเด็ก แค่เข้าใจแต่ไม่ต้องไปตัดสินเขานะ เพราะเราเรียนรู้เรื่องนี้เพื่อที่จะไม่ต้องสรุป ณ ตอนนี้ เด็กยังเปลี่ยนแปลงได้ เด็กยังโตได้ เช่น มองที่ดินนะ ดินที่แข็งแน่นเมื่อเจอน้ำ ต้นไม้ก็โตได้ เดินอันนี้เปลี่ยนแปลงแล้ว น้ำถ้าเจอลมก็กระเพื่อม ฉะนั้นเขาไม่ได้เป็นน้ำตลอดไป ถ้าลมถ้าเจอไฟ ไฟก็วูบไปวูบมา แค่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาวะนี้ ถ้ามีอะไรที่เข้าหากันแล้วเปลี่ยนแปลงได้ เด็กคนนึงถ้าให้เราต้องมอง ถ้าให้เราต้องสังเกต
แต่จะมีอย่างนี้ค่ะ ถ้าเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 7 ขวบ เด็กยังอยู่ในวัยที่ต้องพึ่งผู้ใหญ่มาก เหมือนกับอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร ฉะนั้นเขาเติบโตภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นอย่างไรก็จะสะท้อนออกมาเสมือนเป็นอย่างนั้น
เรียกว่าสภาวะหรือว่าธาตุที่เราคุยกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากการเลี้ยงดู?
ต้องดูตามอายุด้วยนะ ครูอุ้ยเคยเจอเด็กคนหนึ่ง ต้องบอกว่าเวลาเขามา เขาจะน่ารักมากเลย จ๋าจ้ะมาเลย มาอนุบาลทีเขาจะมีถุงสองถุงซึ่งคืออาหารที่คุณแม่เขาซื้อตามทางก่อนที่จะมาถึงอนุบาลตอนเช้านั่นแหละ มาถึงปั๊บเขาจะไล่แจกทุกคนตั้งแต่หน้าบ้านกระทั่งถึงห้องเขาเลย “ทานไหมๆๆ” ใจดีมากเลย พอมาถึงปุ๊บครูก็เออออว่า “ทานเลยๆ” แล้วเขาก็จะมา “ไม่ทานเหรอๆ อร่อยมากเลยนะ” ยิ้มแย้มแจ่มใสมาก เชื้อเชิญ เป็นเด็กที่อารมณ์ดีมากเลย
แต่พอมีสักนิดนึง ปิ๊ง! ขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ เธอก็อาจจะโมโห อาจจะทุบโต๊ะ เกรี้ยวกราดขึ้นมา ครูก็ “โอ… ภาพหวานๆ เมื่อกี้ ถ้าเธอไม่พอใจอะไรขึ้นมาสักแปปนึง เธอก็จะเปลี่ยนไปได้เลยนะ” แล้วครูก็จะบอกว่า “อะ ไม่เป็นไร ลุกขึ้นก่อนอย่าเพิ่งทาน ไปดับโมโหตัวเองให้เรียบร้อยก่อน ถ้ายังหยุดไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่อย่าเพิ่งทานนะ” เขาก็จะแบบ (ทำท่ากระฟัดกระเฟียดประกอบ) ออกแอคชั่นทุบนั่นทุบนี่ แต่ไม่ได้อันตรายหรอกนะ แต่โวยวายหน้านิ่วคิ้วขมวดไปสักแปปนึง เราก็ “ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวคงหาย”
พอตอนหลังเฉลย ที่บ้านจะมีลักษณะของคนในบ้านที่เป็นแบบนี้ ถ้าเขาเห็น มันก็ต้องมีบ้างที่เขาคงจะมีอะไรติดค้างอยู่ข้างในแล้วแสดงออกมาเหมือนกับเป็นภาพสะท้อน แต่เขาตอนขยับไปเรียนประถม เราก็ไม่เห็นภาพนั้นแล้วนะ เขาก็ไม่ใช่คนที่เป็นอารมณ์ฉุนเฉียวแบบนั้น เขาไม่ต้องมาตีอกชกหัวนั่นนี่ เพราะว่ามันไม่ใช่เขา หมายความว่าเราจะสรุปตั้งแต่ตอนเล็กๆ ไม่ได้ว่าเขาเป็นไฟ เอาแค่ที่เห็นคือ เธอก็เป็นน้ำ แต่เธอก็ยังเป็นไฟอยู่
ฉะนั้นเมื่อไม่มีข้อสรุปอันนี้ ก็เลยต้องหาสาเหตุ จริงๆ ถ้าเด็กเขายังเติบโตภายใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร เติบโตใต้ร่มเงาของพวกเรา บางครั้งสิ่งที่แสดงออกอาจไม่ใช่ตัวเขา แต่อาจเป็นบางส่วนที่เป็นตัวตนของผู้ใหญ่ก็ได้ เลยอย่าเพิ่งสรุปว่านั่นคือตัวเขา ให้แค่เข้าใจเขาว่า อะ… ตอนนี้เธอเป็นไฟ เดี๋ยวมานั่งตากพัดลมก่อนนะ ให้ลมพัดก่อน หายเหงื่อออกแล้วค่อยไปเล่น ไม่เห็นเป็นอะไร
ซึ่งบางครั้งเราจะเผลอตัดสินเนอะ และก็คิดว่าต้องตัดไฟแต่ต้นลม
ก็เป็นอะไรที่แม่ครูอนุบาลทั้งหลายต้องทำความเข้าใจกับเด็กๆ อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นนิสัยของลูก บางครั้งเราจะด่วนบอกว่า “ไม่ได้หรอก ให้เขาทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้หรอก เราจะต้องจัดการ จะต้องดัดนิสัยเขา” ต้องตัดไฟแต่ต้นลม โห… มีคำพูดแนวนี้เยอะเลยว่า เราเชื่อมั่นแน่นอนเลยว่าเขาจะเป็นอย่างนี้จนโต ซึ่งถ้าเราเปิดกว้างสักนิด แล้วลองมองก่อนว่า อันนี้คือลักษณะดิน น้ำ ลม ไฟ ทำความเข้าใจกับสภาวะที่เขาเป็นตอนนี้ก่อน แล้วลองดูผู้ใหญ่รอบๆ ว่าจริงๆ แล้วตัวเขาได้อะไรมา แล้วสิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวเขาจริงๆ มันจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นชัดเจน อย่างน้อยถ้าเราเห็นได้ชัด คือประมาณวัยประถมขึ้นไป ลักษณะแบบนี้ก็จะชัดขึ้นๆ
แล้วก็ถ้าเกิดเรารู้ชัดแล้วว่าเด็กเป็นน้ำ ดิน ลม ไฟ เป็นอะไรได้แล้ว แต่ยังไงคนเราก็ต้องโตต่อไป ถูกไหม? อย่างน้อยคนเราต้องโตแล้วผ่านวัยรุ่น ยิ่งพอเจอช่วงวัยรุ่นแล้ว จะบอกได้เลยว่าอารมณ์คุณเธอจะหวือหวามาก พวกเราก็ผ่านอะไรแบบนั้นมาแล้ว ฉะนั้นการเป็นวัยรุ่น ถ้ามองประกอบกับการรู้เรื่องสภาวะตามธาตุ จะทำให้เราเข้าใจเด็กในวัยรุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะคุณครูประถม ครูประถมจะมีกิจกรรม มีเกมอะไรเยอะแยะเลยที่น่ารักๆ
กิจกรรมที่ว่า เช่นอะไรคะ
ย้อนกลับไปที่วัยประถมใหม่ ถ้าเด็กนั่งใกล้กัน ไฟกับไฟ จะเกิดอะไรขึ้น ไหม้! คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นเพื่อนๆ นะ ก็รำคาญกันอะ แต่ครูก็จะจับให้สองคนนี้นั่งใกล้กัน ถ้าเธอเป็นอย่างนี้แล้วเพื่อนเธอเป็นอย่างนี้เหมือนเธอ เขาจะรู้ว่า “โอ๊ย!” (ทำเสียงแบบหงุดหงิด รำคาญ) “ไม่ชอบ! รำคาญ!” แต่ครูก็จะแอบยิ้มนิดหน่อยว่า คิดใจใจ นั่นล่ะ เธอก็หัดดูตัวเองนะ แต่จะไม่พูดไปนะ ให้เขาเรียนรู้ว่า นี่ไง ถ้าเธอมีลักษณะเหมือนไฟแล้วนั่งกับคนที่เป็นไฟด้วยกัน อีกหน่อยก็จะเบื่อกันไปเอง จะรู้ตัวเอง แล้วก็จะลดลง เพราะฉะนั้นเขาก็จะจัดให้คนคล้ายๆ กันอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อที่จะมองกันและกัน อาจมีอะไรที่กระตุ้นตัวเองขึ้นมาว่า “ไม่ชอบเลยแบบนี้” ถ้าไม่ชอบแล้วยังไงล่ะ ก็ต้องเปลี่ยน
ทีนี้เราจะมาบอกให้ใครเปลี่ยนใครนี่เป็นเรื่องยาก นอกจากการเรียนรู้ในตัวของบุคคลคนนั้นจะทำให้ตัวเองเปลี่ยน แต่ครูช่วยเหลือจัดสิ่งแวดล้อมข้างนอก ช่วยเหลือเรื่องการทำความเข้าใจระหว่างทีมครูด้วยกัน แล้วก็คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านว่าจะช่วยเด็กคนนี้ได้ยังไง เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นการช่วยเหลือของคนที่อยู่รอบๆ แล้วก็ทำการศึกษาเด็กคนนี้ด้วยกัน
เรียกว่าเราเข้าใจเรื่องธาตุ เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เขาได้
ได้สิ เพราะว่าจริงๆ เป้าหมายของเด็กคือการเรียนรู้ เด็กในอายุของเขา เขาต้องเรียนรู้โลก แต่ด้วยสภาวะของเขามันอาจจะมีอุปสรรคบ้าง ถ้าแม่ครูอนุบาลรู้แล้วว่าสภาวะตอนนี้เราต้องช่วยแก้ไข จริงๆ แล้วเด็กคนนี้เป็นเด็กที่เย็นนะ แต่เวลาเขาโมโหร้ายเราจะช่วยเขายังไง เพราะบางทีเขาอาจจะเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ใช่ตัวเขาจริงๆ เพราะเขาเป็นน้ำเย็น เป็นอะไรที่น่ารักจะตายไป เราก็ต้องช่วยเขาก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนั้น ไม่อย่างงั้นเขาก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าเรามองสิ่งนี้แล้วทำความเข้าใจเด็ก เราก็ช่วยเขาได้ เขาอาจจะติดเรื่อง “โอ๊ย..งานไม่เสร็จอ่า มันเขียนไม่เป็น” นึกออกไหม “ก็พอใจแค่นี้อะ” พวกนี้น้ำเยอะ (หัวเราะ) แล้วผู้ใหญ่จะช่วยยังไงล่ะ เราก็มาดูว่า หนูต้องการอะไรอีกลูก ไหนดูซิ มาช่วยกัน มาดูว่าอะไรคืออุปสรรคที่เราจะต้องพาเขาก้าวข้ามผ่าน ถ้าเรามัวแต่ต่อว่าเขา ชี้ปัญหาให้เขา แล้วเขาจะเข้าใจตัวเองได้ยังไง