- ตามมาฟังวงเสวนาที่พูดคุยถึงวิธีเตรียมพร้อมให้ลูกก้าวทันโลกศตวรรษที่ 21 โดยเริ่มจากพ่อแม่ลุกขึ้นมา relearn เพื่อเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก
- วิธีการเรียนรู้ที่พ่อแม่ทำร่วมกับลูกได้ง่ายๆ คือ การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง อินไปกับสิ่งที่ลูกทำ และมีพื้นที่ให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำ
- เตรียมให้ลูกเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกที่ทำได้หลายแบบ คิดได้หลายโหมด และอาจไม่จำเป็นต้องเก่งในทุกอย่างที่ทำ
ภาพ: Flock Learning
เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราตื่นเต้นกับการสื่อสารด้วยอีเมล แต่ในปัจจุบันมีการสื่อสารที่รวดเร็วกว่าอีเมล เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อีกทั้งยังมีรูปแบบที่หลากหลายทั้งพิมพ์ โทรคุย หรือวิดีโอคอลแบบเห็นหน้า ตัวอย่างการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดและคาดไม่ถึงเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามไม่ใช่แค่ว่าในอนาคตโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงนี้ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะสามารถอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วได้อย่างไร?
การเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ การกลับมาเรียนรู้กันอีกครั้ง หรือ relearn จึงถูกพูดถึงในฐานะวิธีการที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและคาดไม่ถึงนี้ ทั้งพ่อแม่ ผู้ใหญ่ และเด็กๆ ต่างต้อง relearn เราจึงมาหาคำตอบในวงเสวนา ‘Why Relearn: ไล่ตามปัจจุบันให้ทัน’ ที่จัดขึ้นในงาน Parent Relearn Festival โดย Flock Learning ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2563 ว่าทำไมพ่อแม่ต้องลุกขึ้นมา relearn ไปพร้อมๆ กับลูก วิธีที่จะเรียนรู้ และบทบาทของพ่อแม่ในฐานะพลเมืองสังคมที่ต้องช่วยกันลุกขึ้นมาปฏิรูประบบการศึกษาไทยคืออะไรบ้าง
ผู้ที่จะมาร่วมพูดคุยในวงสนทนาครั้งนี้ประกอบด้วย
- ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดที่ว่าพ่อแม่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญของการสร้างศักยภาพทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ก่อตั้งเถื่อนเกมและเชื่อว่าการเรียนรู้มีหลากหลายวิธีการ
- วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่จะมาช่วยอธิบายว่าถึงเราจะต่าง Gen กันแต่ก็สามารถอยู่ในสังคมเดียวกันได้
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ ศิลปิน นักร้อง นักแสดง นักวิชาการ และอาจารย์ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทำไมพ่อแม่ต้อง Relearn?
ดร.สมเกียรติตอบคำถามนี้ว่า ถ้าพ่อแม่ไม่เรียนรู้ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ได้ เพราะความรู้นั้นอายุสั้นแต่คนอายุยืนยาว มีการประมาณการอายุของเด็กไทยว่าจะมีอายุเฉลี่ยเกิน 90 ปี เด็กที่เกิดในช่วง 2-3 ปีนี้จะมีอายุยืนยาวไปถึงศตวรรษที่ 22 ส่วนอายุของความรู้นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปีก็จะไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ในเมื่อลูกต้องอาศัยอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเตรียมพร้อมลูกให้เขารับมือได้ ผ่านการลุกขึ้นมา relearn ตัวเอง
ดร.เดชรัตเสริมว่า พ่อแม่เองไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อ 30 ปีที่แล้วเราคาดเดาได้ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2563 คำตอบคือไม่ได้ เพราะโลกมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ การเรียนรู้ไปกับมัน เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก
“เรามักพูดว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เคยมี ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นสิ่งที่เราต้องประสบพบเจอในอนาคต พ่อแม่มีความจำเป็นที่จะต้อง relearn” ดร.เดชรัตอธิบาย
การเรียนรู้คือความสนุก พ่อแม่มีสิทธิที่จะไม่รู้
ดร.เดชรัตอธิบายว่า สาเหตุที่พ่อแม่ไม่อยาก relearn เพราะรู้สึกว่ามันไม่สนุก คิดว่าลงเรียนตั้งเยอะแล้วทำไมไม่เป็นไปอย่างที่เรียน มันทำให้พ่อแม่เกิดความรู้สึกเครียด แต่ถ้าพ่อแม่ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า “เออ มันมีแบบใหม่นะ ลองดูเส้นทางใหม่ๆ” เปลี่ยนความคิดที่ว่าเรียนแล้วเครียดเป็นยิ่งเรียนรู้ยิ่งสนุก แล้วยิ่งเรียนกับลูกด้วยแล้วยิ่งสนุกมากขึ้น
อีกด้าน วีรพรก็ได้เสนอให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ลืมที่จะสนุกไปกับลูก
“การเป็นพ่อแม่สักระยะหนึ่งมันจะลืมว่าความสนุกเป็นยังไง เพราะพ่อแม่จะวางตัวเป็นคนสอนลูกตลอดเวลา พ่อแม่ต้องคิดอยู่ตลอดว่าจะแนะนำลูกอย่างไรดี มันทำให้พ่อแม่อาจจะพลาดกับการได้สนุกกับสิ่งใหม่ๆ การเป็นพ่อแม่มันก็คือการได้เรียนรู้โลกในอีกช่วงเวลาหนึ่ง
“บางครั้งลูกก็มีบทบาทเป็นคนสอนพ่อแม่ ยังมีหลายสิ่งที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้จากลูก บอกลูกบ้างว่าฉันไม่รู้ พ่อแม่มีสิทธิที่จะไม่รู้”
โรงเรียนช่วยให้ลูกก้าวทันโลกไม่ได้ แต่พ่อแม่ทำได้
ดร.สมเกียรติบอกว่า การเรียนในโรงเรียนทุกวันนี้ไม่ได้ช่วยทำให้เด็กสามารถก้าวตามโลกได้ทัน ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันองค์กรต่างๆ สนใจรับคนเข้าทำงาน เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ทำงานเป็นทีมได้ มีความสามารถในการสื่อสาร เป็นต้น ในขณะที่โรงเรียนบางส่วนยังมุ่งเน้นให้เด็กทำงานเองคนเดียว เช่น ถ้าเด็กคุยกับเพื่อนในห้องถือว่าไม่มีวินัย หรือการสอบที่ต้องค้นคว้าหาคำตอบคนเดียว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีบริษัทไหนห้ามพนักงานคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือห้ามทำงานเป็นทีม เป็นต้น
เมื่อเราฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนไม่ได้แล้ว พ่อแม่ต้องเป็นคนช่วยลูกเองผ่านการเรียนรู้ไปด้วยกัน ช่วงเวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวันที่ลูกอยู่กับพ่อแม่ควรทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่ง ดร.สมเกียรติแนะนำวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ที่ต้นทุนต่ำ คือ การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ถือเป็น quality time ที่ดีที่สุด ข้อดีคือ ลูกจะมีคลังศัพท์ในหัวเยอะ คลังศัพท์คือระบบคิดของคน การมีคลังศัพท์เยอะเด็กสามารถต่อยอดไปหาความรู้ใหม่ๆ พอถึงวัยเข้าโรงเรียนเด็กก็จะมีความสามารถในการเรียนรู้หรือเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
ดร.เดชรัตเสริมต่อว่า การอินกับสิ่งที่ลูกทำถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้พ่อแม่เรียนรู้กับลูกได้ เพราะถ้าพ่อแม่ไม่อินกับสิ่งที่ลูกทำจะคิดว่าพฤติกรรมลูกนั้นแปลก พ่อแม่จะไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นมีค่าอะไร กลายเป็นไม่ได้สนับสนุนลูก
ดร.เดชรัตยกตัวอย่างว่า ตัวเขาเองเคยเจอเหตุการณ์ที่ลูกมาบอกว่าอยากไปดูประเพณีวันสงกรานต์ของชาวมอญ ถ้าเขาไม่อินไม่พาลูกไป ลูกเขาก็จะไม่มีทางได้เรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจได้ สิ่งที่เขาทำคือพาลูกขึ้นรถไปหาข้อมูลถึงที่ เวลาไปเขาก็จะดูว่าลูกเป็นยังไง หาข้อมูลแบบไหน สุดท้ายลูกเขาค้นพบสิ่งที่ชอบ กลายเป็นตอนนี้เรียนต่อทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
“สิ่งเล็กๆ ที่ดูไม่มีอะไรมันเป็นการสร้างตัวตนเขาขึ้นมา ถ้าลูกชอบเล่นเกมพ่อแม่ลองไปเล่นด้วยจะได้เข้าใจว่าทำไมลูกถึงชอบ เป็นการให้โอกาสตัวเราและลูก”
ให้เขาเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่
แม้ว่าการ relearn การเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างพ่อแม่กับลูกจะสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม ในวงเสวนาก็ย้ำประเด็นว่า การให้พื้นที่กับลูกยังคงสำคัญ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เขาเป็นในสิ่งที่อยากเป็น
วีรพรบอกว่า พ่อแม่บางคนอาจมีทัศนคติว่า “ลูกเป็นของของเรา” ซึ่งวิธีคิดแบบนี้จะทำให้เผลอหยิบยื่นสิ่งที่คิดว่าดีไปให้ลูก เช่น แม่เป็นนักเขียน ก็จะเอาแต่สิ่งพวกนี้ไปให้ลูก อย่างดีลูกอาจจะชอบ อยากเป็นนักเขียนเหมือนแม่ อย่างร้ายอาจกลายเป็นลูกไม่ชอบ หาทางตัวเองไม่เจอ ซึ่งพ่อแม่อาจเปลี่ยนความคิดว่า “ลูกไม่ใช่สิ่งของหรือสมบัติของพ่อแม่” พ่อแม่ไม่สามารถช่วยลูกไปได้ตลอดชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ช่วยลูกได้ คือ ทำให้เขาค้นพบศักยภาพของตัวเอง
“การกำหนดบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นว่าเราจะดูแลลูกแบบไหน ลูกจะค้นหาทางไปด้วยตัวเขาเอง ผ่านความชอบ ความถนัด ความลุ่มหลง”
ดร.สมเกียรติเสริมว่า พ่อแม่จะโตมากับความคิดที่ว่าความฉลาดมีแบบเดียว คือ ต้องเก่งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะมีภาพในหัวเป็นไอน์สไตน์ แต่งานวิจัยค้นพบแล้วว่าความฉลาดมีอย่างน้อย 7-8 แบบ ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดเรื่องใช้กล้ามเนื้อ ดนตรี หรือกีฬา หรือความสามารถในการอยู่ในโลกให้มีความสุขก็มีองค์ประกอบหลายอย่าง เหมือนการกินอาหารต้องมีเครื่องเคียง มีของชูรส สมองของมนุษย์มีหลายส่วนทั้งซีกซ้ายและซีกขวา หากพ่อแม่ช่วยกันบาลานซ์ให้มันสามารถอยู่ร่วมกันได้ ชีวิตของลูกจะมีความสุขขึ้น
“ให้เขาได้ค้นหาสิ่งที่ชอบ อย่าไปยัดของของเราใส่ในตัวเขา เขาอาจจะเป็นอะไรได้หลายอย่างที่ไม่เหมือนเราเลย โลกของผมเก่งวิทย์เป็นได้แค่หมอกับวิศวะ แต่สมัยนี้คุณสามารถทำอะไรได้เยอะแยะเลย
“ฝรั่งเรียกคนที่เก่งอย่างเดียวว่าตัวเม่น เพราะมันเก่งที่จะขุดดินลงไปลึกที่สุด แล้ววิวัฒนาการการเรียนรู้มีแนวโน้มจะลงลึกไปทุกที ต่อไปอาจจะมีหมอที่รักษาหูด้านซ้ายแต่รักษาด้านขวาไม่เป็น แต่กระแสแบบนี้เมืองนอกบอกไปไม่รอดแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว เราต้องเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งคือหมาจิ้งจอก ทำได้หลายแบบ คิดได้หลายโหมด และอาจไม่จำเป็นต้องเก่งในทุกอย่างที่ทำได้ จะเก่งเพียงอย่างเดียวก็ได้” ดร.สมเกียรติขยายความ
ดร.เดชรัตบอกว่า คำถามที่พ่อแม่ชอบถามลูก คือ “โตขึ้นจะเป็นอะไร” มันทำให้พ่อแม่กังวลกับอนาคตของลูก แต่สำหรับตัวเด็กเขาไม่ได้สนใจว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร เขาสนใจว่า “เขาจะทำอะไรบ้าง” เด็กอาจจะเขียนหนังสือ หรือสร้างการ์ตูน พ่อแม่เป็นคนช่วยให้ลูกสะสมความสามารถเอาไว้ สุดท้ายลูกจะไปทำอาชีพอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ แล้วโลกก็จะตอบรับสิ่งที่เขาทำเอง
“เวลาเรามองตาลูกเรารู้เลยว่าเราไม่อาจควบคุมมนุษย์คนนี้ได้เลย สิ่งที่เราทำได้คือเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างน้อยในช่วงหนึ่ง” ประโยคจาก ดร.เดชรัต
ดร.เดชรัต แชร์ 3 สเต็ปที่เขาตั้งไว้เป็นเป้าหมายในการเลี้ยงลูก ประกอบด้วย 3 ขั้น คือ
- ผู้ผลิต เพราะโลกยุคหน้าเป็นแค่ผู้บริโภคอย่างเดียวอาจลำบาก พ่อแม่ช่วยส่งเสริมเขาให้มีไอเดียที่จะสร้างอะไรก็ได้ ผ่านการเชียร์ ให้กำลังใจเมื่อเขาล้มเหลว
- ผู้ประกอบการ สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ สร้างสิ่งของผ่านการร่วมมือกับคนอื่น
- ผู้เปลี่ยนแปลง ให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต้องให้โลกจดจำเขา แต่เป็นสิ่งเล็กๆ เป็นก้าวก้าวหนึ่ง ที่ตัวเขาเองจำได้ว่าทำอะไร
ก่อนวงสนทนานี้จะจบลง ดร.สมเกียรติได้ทิ้งท้ายไว้ว่า เมืองไทยมีโจทย์อยู่ข้อหนึ่ง คือ เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถ้าเป็นพ่อแม่ชนชั้นกลางก็พอจะหาทางออกให้ลูกได้ มีเงินส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งโรงเรียนพวกนี้ก็มีน้อย โรงเรียนส่วนใหญ่ที่เด็กต้องเผชิญก็เป็นโรงเรียนที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ทำให้เด็กส่วนใหญ่ยังต้องอยู่ในระบบการศึกษาแย่ๆ พ่อแม่ควรร่วมมือกัน ช่วยกันปฏิรูประบบการศึกษาไทย เปลี่ยนค่านิยมสังคม เรียกร้องให้ภาครัฐจัดการการศึกษาที่ดี อย่าจำยอมกับสภาพความเป็นอยู่ที่เป็น
“นอกจาก relearn ตัวเองแล้ว ต้องมา reform การเรียนรู้ของประเทศด้วย อย่าไปคิดว่ามีโรงเรียนแล้ว จ่ายเงินค่าเทอมไปแล้ว มองโรงเรียนรับจ้างผลิตของไม่ได้ เวลาหนึ่งในสามของลูกอยู่ที่บ้าน เวลาต่างๆ เหล่านี้ควรทำให้เกิดการเรียนรู้”